About
ART+CULTURE

NoGoodwithCat

ลัลล้า Nogoodwithcat กับตัวตนที่คมชัดในลายเส้น ความคิด และใช้ชีวิตวาดเพื่อตัวเอง

เรื่อง ณัฐฐินันท์ วงศ์จีน ภาพ Annetology Date 17-06-2024 | View 1549
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • บทสนทนากับ ลัลล้า Nogoodwithcat ศิลปินรุ่นใหม่ที่มักสื่อสารความคิดเรื่องเพศและ Queer ผ่านลายเส้นคมๆ ทุกวันนี้ตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าจะต้องวาดเพื่อตัวเอง

เมื่อเวลาผ่านไปใกล้ถึงช่วงเที่ยงครึ่งหรือเวลานัดหมายสัมภาษณ์พอดี เราหันไปรอบๆ ร้านแกลเลอรี่คาเฟ่ที่นัดไว้กับศิลปินที่จะคุยด้วยวันนี้ แล้วสะดุดตากับผู้หญิงคนหนึ่งที่แต่งตัวสุดแสนจะยูนีคกว่าใครหลายคนแถวนั้น ก่อนจะโบกมือทักทายส่งสัญญาณให้กับ ลัลล้า - ปารย์ โพธิ์ปริสุทธิ์ หรือ Nogoodwithcat ซึ่งเธอเองก็รีบเดินเข้ามาทักทายเราด้วยรอยยิ้มอันสดใสไม่แพ้แสงอาทิตย์ของวันนั้นเลย

ระหว่างที่รอเครื่องดื่มและก่อนจะเริ่มคุยอย่างจริงจัง พวกเราก็คุยสัพเพเหระกัน ตั้งแต่กินข้าวมาหรือยัง เดินทางมายังไง จนถึงงานที่ลัลล้าไปออกบูธมาล่าสุด

พอได้เครื่องดื่มพร้อมจิบให้ชื่นคอระหว่างคุย เราก็ไม่รอช้าที่จะเริ่มการสัมภาษณ์ เพราะไม่อยากเสียเวลาไปฟรีๆ ในโอกาสที่จะได้ฟังเรื่องราวของศิลปินคนนี้ จากที่ได้เห็นผลงานผ่านโซเชียลมาตลอด วันนี้จะได้ฟังเบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานสวยๆ ของเธอบ้างแล้ว

คำถามแรกก็ไม่พ้นเกี่ยวกับการตั้งนามปากกา เห็นชื่อแบบนั้นที่จริงแล้วลัลล้าไม่ได้เกลียดแมวนะ แต่ที่จริงชอบมากต่างหากถึงได้ตั้งแบบนี้ ตอนแรกกะจะตั้งเป็น Nogoodwithbunny แต่ตัวอักษรมันดันเกินลิมิตที่แอปกำหนดไว้ เลยมาลงเอยกับชื่อ Nogoodwithcat แทน ลัลล้าเล่าเหตุผลให้เราฟังพร้อมเสียงหัวเราะ

Nogoodwithcat

Where it all began

ลัลล้าเหมือนศิลปินหลายคนที่ชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก แม้พ่อแม่ไม่ค่อยซัพพอร์ตเรื่องนี้ อาจเพราะสังคมตีตราว่า “เป็นศิลปินจะไส้แห้ง” แต่ในที่สุด แม่คือคนที่เข้าใจและหันมาสนับสนุนเต็มกำลัง

“เขาบอกว่าเขาชื่นชมเรา แล้วก็ admire สิ่งที่เราทำมากๆ สนับสนุนทุกทาง แม้ว่าในตอนนั้นเขาจะยังไม่เข้าใจว่า สิ่งนี้มันเป็นยังไงหรือทำไมนะ” ลัลล้าเล่าด้วยน้ำเสียงสดใส

แต่พอเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เธอแทบไม่ได้วาดรูปเลย เพราะในช่วงปี 3 เลือกเรียนทางด้านศิลปะภาพถ่าย ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้ชอบการถ่ายภาพขนาดนั้น แต่แค่อยากลองเรียนกับอาจารย์ที่ไม่เคยเรียนด้วยมาก่อน เพราะเธอเชื่อว่ามันจะช่วยปรับความคิดและมุมมองให้เติบโตได้

Nogoodwithcat

ลัลล้ากลับมาวาดรูปจริงจังช่วงทำงาน ทั้งแบบ Traditional และ ดิจิทัลอาร์ต ซึ่งเป็นการวาดในคอมพิวเตอร์ที่ต้องใช้อุปกรณ์ 2 อย่างประกอบกันคือจอคอมพิวเตอร์และ กราฟิกส์แท็บเล็ต (Graphics Tablet) การวาดในรูปแบบนี้ต้องอาศัยทักษะ เพราะมือต้องวาดบนกราฟิกส์แท็บเล็ต ตาก็มองจอคอมพิวเตอร์ไปด้วย ลัลล้าบอกว่า เธอวาดภาพในรูปแบบนี้ไม่ได้ ถึงลองฝึกฝนแล้ว แต่มือกับตาก็ยังไม่ไปด้วยกัน

“มันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่า เรามีปัญหากับการวาดทั้ง 2 แบบ ทั้งการวาดดิจิทัล และการวาดแบบ Traditional เพราะวาดแล้วมันไม่สร้างความพอใจให้ตัวเอง”

สุดท้ายลัลล้าก็เจอทางที่ใช่ ทุกอย่างเริ่มขึ้นจากการขอยืมไอแพดน้องสาวมาวาดรูปเล่นๆ “พอเอามาแล้วก็วาดไม่หยุดเลย เหมือนเข้าใจว่านี่คือสิ่งที่เราขาดมาตลอด ก็เอาอีกเครื่องไปละกัน” เธอพูดไปหัวเราะไปด้วย

Nogoodwithcat

I read therefore I am

บทสนทนาดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งเราก็ถามออกไปด้วยความสงสัยว่า อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เธอรังสรรค์ผลงานมากเสน่ห์เหล่านี้

ลัลล้านิ่งคิด ก่อนยกชื่อนักเขียนการ์ตูนคนโปรดอย่าง นาโอกิ อุราซาวะ (Naoki Urasawa) มาเป็นคำตอบ เจ้าของผลงานมังงะชื่อดังหลากหลายเรื่อง เช่น Monster, 20th Century Boys และ Pluto เพราะนอกจากความน่าสนใจปนน่าติดตามของส่วนเนื้อเรื่องแล้ว การสื่อสารอารมณ์ผ่านใบหน้าของตัวละครก็ทำให้เธอประทับใจในลายเส้นไม่น้อยเลย

Nogoodwithcat

นอกจากนี้ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่เป็นแรงบันดาลใจของลัลล้า ทุกเล่มต่างมีเนื้อหาที่สามารถนำไปต่อยอดในการวาดได้ แม้บางเล่มอาจต้องใช้เวลาตีความสักหน่อย ถึงอย่างนั้นมันก็มีข้อดี นั่นคือ สิ่งที่ตกผลึกอยู่ในใจที่สามารถหยิบออกมาใช้งานได้เสมอ แม้ว่าเธออ่านหนังสือเล่มนั้นจบแล้ว หรือไม่ได้อ่านต่อแล้วก็ตาม

Nogoodwithcat

เครดิตภาพ : nogoodwithcat

“ทุกวันนี้เราอ่านหนังสือน้อยลงมาก แต่ก็ยังได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านอยู่เรื่อยๆ อย่างเรื่อง เอเรนดีรา ผู้บริสุทธิ์ (The Incredible and Sad Tale of Innocent Eréndira and Her Heartless Grandmother) ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel Garcia Marquez) เป็นเรื่องของเด็กสาวที่ถูกขายให้กับโรงค้าประเวณี มันมีวิชวลบางอย่างที่ทำให้นึกถึง The Tale of The Princess Kaguya ของสตูดิโอจิบลิ เราก็เลยเอามาวาด”

Nogoodwithcat

เครดิตภาพ : nogoodwithcat

สิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวันก็เป็นแรงบันดาลใจให้ลัลล้าเหมือนกัน อย่างสายไฟหรือถังขยะ สำหรับใครหลายคนคงมองว่ามันไม่สวย แต่ลัลล้ากลับคิดว่าถ้ามัวตัดสินกันแค่ความสวย มันไม่ค่อยได้อะไรเท่าไหร่หรอก เพราะแต่ละสิ่งต่างมีเสน่ห์หรือความน่าสนใจในตัวเอง

Nogoodwithcat

เครดิตภาพ : nogoodwithcat

All About Diversity

เรื่องเพศหรือเควียร์ (Queer) เป็นอีกแนวคิดที่เรามักเห็นผ่านผลงานของลัลล้า เธอบอกว่า เรื่องความเป็นหญิงคือหัวข้อที่ชอบและคุ้นชินมานาน มันเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่เธอชอบถ่ายทอดลงในผลงานเสมอตั้งแต่สมัยเรียน

Nogoodwithcat

เครดิตภาพ : nogoodwithcat

ลัลล้าเชื่อว่าแท้จริงแล้วเรื่องเพศนั้นกว้างและหลากหลายกว่าที่คิด คนเราไม่จำเป็นต้องยึดติดกับกรอบเพศสองขั้ว (Gender Binary) เสมอไป การนิยามอัตลักษณ์ทางเพศหรือเพศวิถีที่หลุดจากกรอบเดิมๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรอีกต่อไปแล้ว

Nogoodwithcat

เครดิตภาพ : nogoodwithcat

Nogoodwithcat

เครดิตภาพ : nogoodwithcat

“เรารู้สึกว่าในการวาดมนุษย์ มันไม่ใช่เรื่องแค่ของผู้หญิง แต่มันมีอะไรมากกว่านั้นในการเป็นมนุษย์คนหนึ่ง มันมีสเปกตรัม (Spectrum) ที่หลากหลายมากๆ ในความสนใจทางเพศแบบนั้น เราเลยเริ่มใส่เรื่องพวกนี้ลงไป”

Nogoodwithcat

เครดิตภาพ : nogoodwithcat

ที่สำคัญ…ลัลล้านิยามตัวเองว่าเป็น Aromance กับ Asexual คือผู้ไม่ฝักใฝ่ในความรักและเซ็กส์ ทั้ง 2 อัตลักษณ์นี้อยู่ในสเปกตรัม LGBTQIAN+ การที่เป็นส่วนหนึ่งในคอมมูนิตี้ทำให้เธอเข้าใจและตระหนักถึงความหลากหลายของมนุษย์ ผลงานลัลล้าจึงถ่ายทอดความเป็นเควียร์อยู่หลายครั้ง เหมือนดั่งตัวแทนที่นำเสนอตัวตนของคนในคอมมูนิตี้

Nogoodwithcat

เครดิตภาพ : nogoodwithcat

Working in Progress

เราถามถึงสไตล์งานของเธอเอง ลัลล้าหัวเราะ และดูลังเลในคำตอบ ด้วยเหตุผลว่าเธอชอบเปลี่ยนแนววาดไปเรื่อยๆ ยิ่งช่วงนี้เหมือนกำลังอยู่ในห้องทดลองที่เธอสนุกกับงานวาดหลากหลายแนว จึงไม่อยากปิดกั้นตัวเองให้อยู่แค่สไตล์ใดสไตล์หนึ่ง

การทำงานหนึ่งชิ้นหนึ่งวันสำหรับเธอก็เพียงพอแล้ว เพราะเธอแพลนไว้ในหัวล่วงหน้าแล้วว่าอยากวาดอะไร หัวข้อและเนื้อหาแบบไหน ทำเช่นนี้บ่อยเข้ามันก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยเมื่อต้องลงมือถ่ายทอดมันออกมาจริงๆ

เครดิตภาพ : nogoodwithcat

อย่างงานแฟนอาร์ตภาพยนตร์ Challengers ลัลล้าใช้เวลาวาดไม่กี่ชั่วโมง เพราะว่าข้อมูลทุกอย่างมันพร้อมในหัว มันเป็นสิ่งที่เธออยากเล่าหลังจากดูหนังจบ แต่ดันเล่าเป็นคำพูดไม่ได้ พอได้ลงมือวาดก็เหมือนได้ปลดปล่อยตัวเองและสิ่งที่ตีกันในหัวออกมา

Nogoodwithcat

เครดิตภาพ : nogoodwithcat

เมื่อเราชวนเธอเปรียบเทียบการทำงานระหว่างแฟนอาร์ตกับงานออริจินอล เธอบอกว่าการวาดแฟนอาร์ตมันดีตรงที่มีทุกอย่างครบอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือ เราจะถ่ายทอดออกมายังไงโดยที่ยังเคารพความเป็นคาแรกเตอร์เดิม ถึงจะอยู่ในลายเส้นแตกต่างออกไปก็ตาม แต่งานออริจินัลกลับต้องทำการบ้านมากขึ้น เพราะเป็นงานที่สร้างขึ้นใหม่ นักวาดจึงต้องหาความรู้เพิ่มเติม สำหรับลัลล้าการวาดงานออริจินัลมันลึกไปมากกว่านั้น

Nogoodwithcat

Fulfillment

แน่นอนว่าการวาดรูปเป็นงานอดิเรกที่ช่วยเติมเต็มจิตใจลัลล้าได้ดี เวลาที่เธอวาดก็จะวาดเพื่อให้ตัวเองพอใจเป็นหลัก คำชมจากคนอื่นถือเป็นกำไร

แต่เมื่อมีคนชื่นชอบผลงานเยอะขึ้นและถามถึงการว่าจ้างเรื่อยๆ ลัลล้าก็เริ่มเข้าใจว่า การวาดรูปมันไม่ได้เติมเต็มจิตใจให้เธอแค่อย่างเดียวแล้ว แต่ยังสามารถเติมเต็มด้านการเงินให้เธอได้เหมือนกัน

“ด้วยความที่เราชอบการวาดมากๆ อยู่แล้ว มันเลยเหมือนดับเบิ้ลเข้าไปอีก เรารู้สึกดีใจมาก” ลัลล้าเล่า

Nogoodwithcat

โมเมนต์ที่ลัลล้าประทับใจในฐานะศิลปินมีมากมาย หนึ่งในนั้นคือตอนที่ได้มีโอกาสวาดภาพให้กับลูกค้าคนหนึ่ง ซึ่งมาคอมมิชชันให้กับแฟนที่ชื่นชอบผลงานลัลล้า เมื่องานเสร็จ ลัลล้าต้องตกใจกับทิป เพราะมันเยอะมากกว่าที่เคยได้ในครั้งก่อนๆ แถมคำชมของลูกค้ายังทำให้นักวาดอย่างเธอรู้สึกชื่นใจ

“การทำงานเชิงพาณิชย์ เราต้องใจกว้างมากเลยนะ” ลัลล้าบอกด้วยน้ำเสียงที่จริงใจ เธอเชื่อว่าการสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญมากในขั้นตอนการทำงาน ถ้านักวาดกับลูกค้าเข้าใจตรงกัน ผลงานก็จะออกมาเป็นที่น่าพอใจของทั้งสองฝ่าย

“ถ้าทำงานให้กับลูกค้า ยังไงก็ต้องมีสเก็ตช์ให้อีกฝ่ายเห็นอย่างชัดเจน แม้ว่าสเก็ตช์แรกมันจะตรงใจหรือไม่ตรงใจ ยังไงก็ต้องรอรับคอมเมนต์นั้นๆ เพราะมันคือการสื่อสารที่ดีที่สุดที่ลูกค้าจะให้เราได้แล้ว ถ้ามันไม่มีการพูดคุย ทุกอย่างคือจบเลย”

Nogoodwithcat

บทสนทนาใกล้จบลง เราถามถึงโปรเจกต์ที่อยากทำในอนาคต เธอบอกด้วยน้ำเสียงที่มุ่งมั่นว่า เพราะชอบการ์ตูนมากๆ เลยตั้งใจอยากเขียนการ์ตูน ซึ่งเธอได้ส่งผลงานเข้าร่วมงานแฟร์ที่ญี่ปุ่นเพื่อให้สำนักพิมพ์พิจารณาแล้ว ส่วนฝันใหญ่ไกลๆ ของเธอคือการเปิดสำนักพิมพ์การ์ตูน

Nogoodwithcat

อยากฝากบอกอะไรที่คนอยากลองวาดภาพหรืออยากเป็นนักวาด แต่ยังไม่กล้าลงมือทำไหม — เราถามลัลล้าคำถามสุดท้าย

“วาดเลย จริงๆ ให้สนใจตัวเองเป็นหลักค่ะ เราอยากทำให้ทำเลย ถ้าคิดจะทำอะไรสักอย่าง หรือถ้าคิดว่าเราจะวาดเพื่ออะไร ให้วาดเพื่อตัวเองอย่างแรก แล้วเรื่องอื่นๆ มันจะตามมาเอง”

พอเปรียบเทียบกับสิ่งที่เธอเล่าก่อนหน้า คำแนะนำของลัลล้าไม่ได้เกินความเป็นจริงสักเท่าไหร่ เพราะลัลล้าเริ่มต้นจากการวาดเพื่อเติมเต็มจิตใจตัวเองเป็นหลัก จนเริ่มมีคนมาชื่นชอบและซัพพอร์ต่เสมอมา

และหวังว่า…ในอนาคตเราจะได้อ่านการ์ตูนฝีมือลัลล้ากันนะ

Nogoodwithcat

ติดตามผลงานของลัลล้าได้ทาง
IG : nogoodwithcat

Tags: