About
RESOUND

The Vinyl Man

นิทานชีวิตหกคะเมนตีลังกาของนก-พงศกร เจ้าของร้านแผ่นเสียงธรรมดาย่านประดิพัทธ์

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • นก-พงศกร ดิถีเพ็ง จากเด็กขายเทป คนที่บวชเกือบปีหลังทำธุรกิจเจ๊ง การปลดหนี้ 3 ล้านบาทใน 10 เดือน การเป็นที่ปรึกษาให้กับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ สู่เจ้าของร้านแผ่นเสียงธรรมดาๆ ที่มีบรรยากาศอบอุ่นในซอยประดิพัทธ์ 19

แผ่นเสียง

คำนำผู้เขียน

นิทานที่คุณกำลังจะได้อ่านต่อไปนี้ไม่ใช่เรื่องราวสำหรับเด็กๆ พูดตามตรงนี่อาจเป็นเรื่องสุดท้ายที่ผู้ปกครองอยากเล่าให้ลูกฟังก่อนนอน เพราะคงไม่อยากยกตัวอย่างเส้นทางชีวิตที่ขึ้นก็สุดลงก็สุดของ นก-พงศกร ดิถีเพ็ง ให้เป็นบทเรียน

แน่ล่ะ พวกเขาอยากให้เส้นทางชีวิตของลูกเรียบง่ายกว่ามาก เสียเวลากับดอกไม้พิษริมทางน้อยกว่า และประสบความสำเร็จง่ายกว่า แต่เอาเข้าจริง มีชีวิตไหนที่เรียบง่ายขนาดนั้นด้วยหรือ

เรารู้จักนกครั้งแรกผ่านยูทูป ครั้งที่สองผ่านการพูดคุยตัวต่อตัวที่ร้านแผ่นเสียงในฐานะพ่อค้ากับลูกค้า และครั้งที่สามผ่านการสัมภาษณ์ยาวกว่า 1 ชั่วโมง เราพบว่าเรื่องราวชีวิตของนกสนุกจนอยากเล่าต่อแบบไม่ตัดทอนบรรยากาศ เลยตัดสินใจเปลี่ยนบทสัมภาษณ์เป็นนิทานที่มีตัวละครพูดคุยโต้ตอบกันผสมกับการเขียนบรรยายยาว

ชีวิตของคนรักเสียงเพลงอย่างนกเป็นเหมือนภาพสะท้อนชีวิตของดนตรีตั้งแต่ 40 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน บางช่วงถึงขั้นสะท้อนอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศไทย เพราะเขาได้ก้าวขึ้นไปมีบทบาทสำคัญในฐานะกูรูแผ่นเสียงที่ให้คำปรึกษากับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่หลายราย

‘นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…’ จะไม่ใช่ประโยคจบของนิทานแผ่นเสียง เรื่องที่คุณกำลังจะอ่านอาจเข้าถึงใจคุณ เพราะนกเป็นคนชอบฟังเพลง วัยรุ่นประสบการณ์โชกโชน เจ้าของกิจการ หรือพ่อคนหนึ่งก็ได้ แต่นิทานเรื่องนี้จะไม่ทิ้งคติสอนใจใดๆ ไว้ จะเหลือเพียงปลายเสียงของแผ่นเสียงที่ชื่อว่า “นก” เท่านั้น

แผ่นเสียง

นิทานแผ่นเสียง
1

วัยเด็กของนกต้องพบเจอกับความผิดหวังไม่ต่างจากเด็กคนอื่น เด็กชายตัวเล็กยืนน้ำตาซึมท่ามกลางชั้นวางของเล่นภายในห้างสรรพสินค้า ข้างๆ มีพ่อแม่ที่ไม่อนุญาตให้เขาซื้อของเล่น พอเด็กชายไม่ยอมก็โดนตีซ้ำกลางห้างฯ วัยเด็กของเขาเลยไม่ได้มีของเล่นในครอบครองมากมายเท่าใดนัก
ความเพลิดเพลินของนกจึงมาจากไม่กี่สาเหตุ หนึ่งในนั้นคือ แผ่นเสียง พ่อแม่ของนกชอบฟังเพลง เขาเลยเห็นแผ่นเสียงมาตั้งแต่ 10 ขวบ ดังนั้นจะบอกว่าโตมากับแผ่นเสียงก็ไม่ผิด

ช่วงปี 2526 นกเข้าเรียนชั้นมัธยมปลาย ดิสโก้เทคเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมมาก ซึ่งดีเจเปิดเพลงจากแผ่นเสียงให้เหล่านักท่องราตรีแสดงลีลาการเต้นบนฟลอร์ท่ามกลางแสงไฟสาดส่อง นกเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่การจะเข้าดิสโก้เทคได้ต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย สมัยนั้นแผ่นเสียงราคาราว 100 – 150 บาท ส่วนค่าเข้าดิสโก้เทคคือ 240 บาท สำหรับวัยรุ่นคนหนึ่งที่ได้เงินไปโรงเรียนวันละ 20 บาทจึงถือว่าแพงมาก แต่นกมีวิธี

“มึงเอาปะ ถ้าเอาจ่ายกู 25 บาท”

ตอนนั้นแผ่นเสียงเริ่มถูกลืมและจางหายไปจากชีวิตประจำวันของคน โดยมีเทปกับ Walkman เข้ามาแทนที่ในการเสพดนตรีของผู้คนมากขึ้น นกเอาบัตรนักเรียนของตัวเองไปแลกปกเปล่าเทปมาให้เพื่อนที่โรงเรียนเลือก แล้วรับยอดจากเพื่อนไปส่งที่ร้านขายเทปอีกทีหนึ่ง นกเก็บเงินเพื่อนสูงกว่าราคาเทปเพื่อเอากำไร เป็นการลงทุนด้วยแรง เงินทุนเท่ากับศูนย์ ผลตอบแทนดี

พอได้เข้าดิสโก้เทคสมใจ นกก็ตามล่ารายชื่อเพลงที่ชอบเพื่อกลับไปฟังเองทีหลัง

“พี่ เพลงนี้ชื่ออะไร จดให้หน่อย” นกตะโกนแข่งเสียงดังภายในดิสโก้เทค พลางถลกแขนเสื้อเชิ้ตให้ดีเจจดชื่อเพลงลงแขนตัวเอง

แผ่นเสียง

นกเข้าดิสโก้เทคตั้งแต่มัธยมปลายได้ เพราะสมัยนั้นไม่จำกัดอายุสำหรับการเข้าสถานบันเทิง แต่ก็มีกฎเรื่องเครื่องแต่งกาย ชายใส่เชิ้ตกับกางเกงสแล็ก หญิงใส่ชุดกระโปรงกับรองเท้ารัดส้น พอชายก็หล่อเท่หญิงก็สวยสะดุดตา นอกจากเที่ยวฟังเพลง เรื่องราวของนกเลยหนีไม่พ้นเรื่องรัก เขาอยู่ในดิสโก้เทคยาวจนเลยเที่ยงคืน จุดประสงค์คือรอให้เพลงช้าขึ้นแล้วจะได้เต้นรำกับกอดหญิงสาวใต้มนต์เสน่ห์ของ Mirror Ball

“เธอ จะกลับแล้วนะ ไม่ให้เบอร์เราเหรอ” นกถาม

“บ้านฉันไม่มีโทรศัพท์” หญิงสาวตอบด้วยน้ำเสียงผิดหวัง

โทรศัพท์เป็นสินทรัพย์ราคาแพงมากในยุคนั้น ใช่ว่าบ้านไหนก็มีได้ แต่นกไม่ยอมแพ้ เขาใช้วิธีอัดเพลงใส่เทปเสียงไปจีบสาวอยู่บ่อยๆ บ้างก็แอบสอดจดหมายเข้าไปด้วย แต่หากสาวที่หมายตาคนไหนมีโทรศัพท์บ้านใช้ เขาก็ต่อสายไปหาเพื่อชวนออกมาดูหนังที่สยาม

แล้ววันสำคัญก็มาถึง นกยืนกระสับกระส่ายอยู่ที่จุดนัดพบ เหงื่อแตกพลั่กจนเห็นเป็นวงอยู่ใต้จั๊กกะแร้ จะไปเข้าห้องน้ำยังไม่กล้า เพราะกลัวคลาดกัน แต่รอแล้วรอเล่า สาวก็ไม่โผล่มาให้เห็น

ช่วงวัยรุ่นนกเป็นนักเรียนสายปีนรั้ว เขาโดดเรียนไปนั่งสูบ Marlboro อยู่สยามหลายครั้ง ถึงไม่มีเงินพอซื้อทั้งกล่อง ก็ซื้อแยกมวนละ 1.50 บาท ชื่อเสียงในตอนนั้นเลยออกจะเป็นชื่อเสียซะมากกว่า พ่อแม่ของเด็กผู้หญิงก็คงไม่อยากให้ลูกมาข้องเกี่ยวด้วย

แต่ถ้านกมีโชคกับคนไหน เขาจะได้เดินเล่นจับมือกับเธอกลางสยาม ซื้อโดนัทกับโค้กไปนั่งดูหนัง และเพียงแค่ข้อศอกเสียดสีกันก็ทำให้นกพึงพอใจมากแล้ว

แผ่นเสียง

2

พอโตขึ้น นกร่วมทำธุรกิจของครอบครัว ซึ่งก็คือร้านอาหาร และเขาหยิบสิ่งที่เขาชอบมาผสมด้วย

นกยังคงเที่ยวดิสโก้เทคเหมือนเดิม แต่จุดประสงค์คราวนี้ไม่ใช่ไปจดชื่อเพลงใส่แขนแล้ว พอได้รู้จักนักดนตรีมากขึ้นเลยชวนมาเล่นดนตรีที่ร้านอาหารตั้งแต่เที่ยง ตกดึกหน่อยก็ดื่มเหล้าที่ร้านแล้วเลี้ยงลูกค้าตามอำเภอใจ พอเทียบเงินที่ลงทุนไปกับเงินที่เข้ากระเป๋าเลยได้ไม่คุ้มเสีย หนักกว่านั้นคือนิสัย ‘ทำมาหาเที่ยว’ ตระเวนเข้าดิสโก้เทค เข้าบ่อน ไม่เก็บเงินหรือวางแผนการเงิน แล้ววันหนึ่งธุรกิจของนกก็พังไม่เป็นท่า

“ทำธุรกิจอะไรก็เจ๊ง” นกคิดกับตัวเอง

วัย 30 ช่วงอายุสำคัญที่ใครๆ ต่างก็เฝ้ารอด้วยความกังวล บางคนอาจไปถึงฝั่งฝันที่จินตนาการถึงมาตั้งแต่เยาว์วัย ส่วนนกในวัย 30 ตัดสินใจไปบวชที่วัดถ้ำขาม จังหวัดสกลนคร

เนื่องจากชีวิต 29 ปีที่ผ่านมาไม่เคยสวดมนต์เลย นกใช้เวลาถึง 3 เดือนในการท่องบทสวดที่จำเป็นต้องจำให้ได้เพื่อจะบวช วัดที่นกไปอยู่เป็นวัดป่าที่ฉันข้าววันละมื้อ ไม่รับกิจนิมนต์ และไม่รับปัจจัย นกต้องจำวัดที่นั่น 6 เดือน รวมระยะเวลาใกล้ชิดกับพุทธศาสนาทั้งหมด 9 เดือน

หลังสึกนกหันมาทำอาชีพพ่อค้า เขาขนเสื้อผ้าใส่กระสอบพลาสติกสีฟ้าใบโตไปขายที่ตลาดนัด ในตอนหลังนกรับงานเป็นผู้จัดการผับด้วย ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นความเคยชินดึงดูดดนตรีเข้ามาในชีวิต หรือเพราะต้องการสร้างรายได้ก็ตาม นกใช้วิธีเดินจากบ้านไปกลับตลาดนัดทุกวัน ขายของตั้งแต่ 10.00 – 14.00 น. พอตกกลางคืนจึงไปผับ ทำอย่างนี้อยู่ 3 ปีเต็ม ทั้งยังระมัดระวังในการใช้เงินมากกว่าแต่ก่อน แต่เขาก็ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ขณะเดียวกันนกมีลูกคนแรกตอนอายุ 36 ปี และไม่นานหลังจากนั้นก็มีลูกอีก 2 คน ภาระทางการเงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่แล้วผับก็ดันปิดตัวลง ช่องทางหารายได้ของนกจึงหายไปด้วย

แผ่นเสียง

ปี 2551 นกได้ติดต่อกับเจ้าของร้านแผ่นเสียงบางกอกไฮไฟ ทั้งสองรู้จักกันอยู่แล้วจากการเป็นเพื่อนบ้านกัน และเขายังเคยเป็นลูกค้าของนกสมัยที่เปิดร้านอาหารด้วย เจ้าของร้านมาชวนนกไปขายแผ่นเสียงที่ฟอร์จูน ทาวน์ และอาชีพนี้ทำให้นกค้นพบตัวตนของตัวเอง

ความชอบในเสียงเพลงเป็นต้นทุนสำหรับการเริ่มอาชีพใหม่ นกทำมาหากินกับแผ่นเสียงที่ตัวเองเห็นมาตั้งแต่เด็ก แม้จะห่างหายจากกันไปเพราะเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมดนตรี แต่พอได้จับอีกครั้งก็พบว่ายังถนัดมือ

นกเป็นนักขายที่ดีเยี่ยม เขาเปิดเพลงให้ลูกค้าฟังจนซื้อตามหลายคน บางคนไม่มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงด้วยซ้ำ พอทำไปนานเข้าก็ได้เรียนรู้เรื่องหลังบ้านด้วย ทั้งการนำเข้าแผ่นเสียงและมีคอนเนกชั่นประมาณหนึ่ง 2 ปีให้หลังนกจึงตัดสินใจลาออก เพื่อจะไปเปิดร้านแผ่นเสียงของตัวเองที่งามวงศ์วาน
“ลูกพี่ ผมจะออกแล้วนะ จะไปลองดู” นกพูดกับเจ้าของร้านแผ่นเสียง

“เอาร้านนี้ไหม ขาย ให้ผ่อนยาวๆ” เจ้าของร้านตอบกลับ

ความนิยมของแผ่นเสียงในตอนนั้นไม่เท่ากับเมื่อก่อนแล้ว ซีดีเป็นสินค้าที่นิยมมากถัดจากยุครุ่งเรืองของเทป นกเคยกระทั่งโดนวัยรุ่นหัวเราะเยาะใส่ เพราะเขาขายของเก่าอย่างแผ่นเสียง พ่อค้าแผ่นเสียงเก่าแก่หลายเจ้าก็เริ่มเบื่อ แต่นกกลับปล่อยมือจากมันไม่ลง

แผ่นเสียง

ปี 2553 นกจึงมีร้านแผ่นเสียงเป็นของตัวเอง พร้อมกับข้อตกลงผ่อนยาว 10 เดือน เดือนละ 300,000 บาท และเลี้ยงลูก 3 คนไปด้วย ในทีแรกนกจ้างเนิร์สเซอรีมาเลี้ยงลูก แต่สู้ราคาไม่ไหว สุดท้ายเลยให้ภรรยาออกจากราชการมาเป็นแม่บ้านเต็มเวลา ส่วนตัวเองเป็นเสาหลักของบ้าน หารายได้และบริหารเงินใช้วันละ 500 บาท

นกได้ร้านมาพร้อมแผ่นเสียงเก่าจำนวนมาก เขาปั่นราคาขายแผ่นเก่าๆ หายากๆ ขึ้น จนทำกำไรได้พอผ่อนร้านจนหมดภายในระยะเวลาที่กำหนด และวัย 43 ปีก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของขาขึ้นชีวิตนกเท่านั้น

แผ่นเสียง

3

ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นกระแสแผ่นเสียงเริ่มกลับมา คนนำเข้าแผ่นเสียงก็คอยส่งสินค้ามาวางขายที่ร้านของนก ค่ายเพลงต่างๆ ก็กลับมาผลิตแผ่นเสียงขาย ค่ายยักษ์ใหญ่ทั้ง GMM Grammy Sony Music Thailand และ Warner Music Thailand มาหานก เพื่อขอ Know-how ทุกอย่างเกี่ยวกับการทำและเล่นแผ่นเสียง

ตอนนั้นประเทศไทยยังไม่มีโรงงานผลิตแผ่นเสียง การผลิตจึงต้องติดต่อโรงงานต่างประเทศ ซึ่งมักเป็นอังกฤษไม่ก็อเมริกา นกซึ่งมีช่องทางติดต่อจึงให้คำแนะนำไป รวมถึงหลังผลิตแผ่นเสียงแล้ว พนักงานค่ายก็เอาแผ่นเสียงมาทดลองเปิดที่ร้านแผ่นเสียง เพราะนกมีอุปกรณ์ครบครัน ทั้งเครื่องเล่นและเครื่องเสียงคุณภาพดี

เมื่อจะวางขายแผ่นเสียง ร้านนกจึงเป็นเจ้าที่ได้แผ่นเสียงของศิลปินค่ายใหญ่มาขายคนเดียวทั้งหมด ขนาดที่ว่าศิลปินเจ้าของเพลงยังต้องตามมาซื้อแผ่นเสียงกับนก นอกนั้นค่ายเพลงก็ให้ Credit Term ยาวเหยียดกับเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งที่สูงลิ่ว

แผ่นเสียง

ปี 2559 นกย้ายร้านมาอยู่ในซอยประดิพัทธ์ 19 ด้วยภายนอกของร้านที่เหมือนบ้าน การตกแต่งแบบโฮมมี่ และลักษณะของร้านที่เป็นแบบ Standalone ทำให้ที่นี่เป็นจุดหมายอันเงียบสงบและเป็นส่วนตัวของคนฟังแผ่นเสียง ยังไม่นับว่ามีร้านกาแฟ สุขโข สโลว์บาร์ อยู่ในรั้วเดียวกันด้วย
หลังจากนั้น 3 ปี แต่ละปีล้วนเป็นหมุดหมายสำคัญของร้านแผ่นเสียง

ปี 2560 กระแสแผ่นเสียงเริ่มกลับมาแต่ร้านแผ่นเสียงดันหายาก ร้านของนกที่เปิดมากว่า 10 ปีเมื่อเทียบกับเจ้าอื่นในตลาดที่เปิดมาไม่กี่ปี จึงเป็นที่ไว้วางใจของลูกค้า สำหรับนก ปีนี้เป็นปีที่ร้านแผ่นเสียงบูมจริงๆ

ปี 2561 – 2562 นกเปลี่ยนสวนหน้าร้านเป็นลานดนตรีขนาดย่อม กลายเป็นพื้นที่ให้วงดนตรีมาจัดโชว์ของตัวเอง โดยเฉพาะวง Folk ซึ่งทั้ง เขียนไขและวาณิช กับ อภิรมย์ ก็เคยมา

ปี 2563 ยุคที่โควิดตีกรอบการใช้ชีวิตของคนอย่างไร้ความปรานี ผู้คนทำงานที่บ้าน รับรายได้เท่าเดิม เป็นเหตุให้คนลงทุนกับสิ่งที่ซื้อเข้าบ้านมากขึ้น หนึ่งในสินค้าที่มาแรงคือแผ่นเสียง ยอดขายของร้านจึงพุ่งขึ้นตามไปด้วย

แผ่นเสียง

แผ่นเสียง

และในเดือนพฤษภาคม ปี 2565 นกจ้าง Modern Dog มาจัดคอนเสิร์ตที่ร้านของตัวเอง วงดนตรีนี้เป็นหนึ่งในสองวงที่นกรักมาก ในช่วงที่ค่ายเพลงมาทำแผ่นเสียงกับนก เขาก็เป็นเจ้าภาพให้วงนี้ถึง 4 อัลบั้ม นกยังสนิทกับนักร้องนำอย่างป๊อดถึงขั้นที่เขาให้ผลงานศิลปะมาติดไว้ในร้านแผ่นเสียงฟรีๆ

พอได้โอกาส นกเปิดสวนหน้าร้านอีกครั้ง คราวนี้จัดพื้นที่รองรับคนจำนวน 200 ที่นั่ง จ้างวงที่สุดแสนจะรักมาด้วยค่าตัวที่สุดแสนจะถูกสำหรับวงระดับนี้ คืนนั้นนกสนุกสุดเหวี่ยง แถมได้ขึ้นบนเวทีอีกตะหาก นกถึงกับปรินต์รูปถ่ายของจังหวะนั้นมาแปะไว้บนชั้นของสะสมในร้าน

ตอนนี้นกเหลือความฝันอีกหนึ่งอย่าง นั่นคือจ้าง Groove Riders มาเล่นที่ร้าน ส่วนกิจการของนกก็ดำเนินด้วยดีเรื่อยมา มีขึ้นบ้างลงบ้างตามประสา แต่รู้แน่ว่าอยู่ตัวแล้ว

แผ่นเสียง

บทส่งท้าย

โฮ่ง! โฮ่ง! โฮ่ง! เสียงแจ๊ก รัสเซลล์ 3 ตัวเห่าทักทายผู้มาเยือน เด็กหญิงผู้เป็นลูกค้าคนสุดท้ายของร้านแผ่นเสียงในค่ำคืนนั้นดูคุ้นเคยกับแก๊งสี่ขาแก๊งนี้เป็นอย่างดี

เธอเดินเข้ามาในห้องกลางของร้าน แวะดูแผ่นเสียงเข้าใหม่ในลัง ก่อนจะย้ายไปห้องทางขวาซึ่งเก็บแผ่นเสียงเก่า เพลงที่เธอชอบคงเป็นเพลงแจ๊ส ดูจากที่เธอสนอกสนใจแผ่นของ Duke Ellington เหลือเกิน แต่เธอก็ยังไม่จับจองแผ่นเสียงแผ่นไหน เด็กหญิงเดินตัวเปล่าไปที่ห้องทางซ้ายของร้าน นั่งลงบนโซฟาสีเหลืองพลางกวาดสายตามองแผ่นเสียงจำนวนนับไม่ถ้วนที่มีลายเซ็นศิลปินบนปกกับของสะสมเกี่ยวกับวงดนตรีดังมากมาย

“สบายดีไหม ไม่เจอกันนานนะ” นกทักทายเด็กหญิง

“สบายดีค่ะ” เด็กหญิงตอบกลับด้วยรอยยิ้ม

นกบอกเธอว่าเขาจำเธอได้ เพราะละม้ายคล้ายคลึงกับลูกสาวผู้ขยันขันแข็งของเขา

แผ่นเสียง

ลูกสาวของนกเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย เธอได้รับเงินค่าขนมและค่าใช้จ่ายจำเป็นจากนก แต่ก็ขายแผ่นเสียงเอาค่าคอมมิชชั่นด้วย ส่วนลูกชายอีก 2 คนคือลูกคนโตและคนเล็ก คนโตนั้นนกส่งไปเรียนที่อเมริกาตั้งแต่ขึ้นมัธยมต้น ปัจจุบันเป็นนักศึกษาทุนคณะแพทยศาสตร์ปีที่ 3 ส่วนลูกคนสุดท้องกำลังเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2

นกตั้งใจทำร้านมากว่า 10 ปี ก็เพื่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัวและการศึกษาของลูก และเมื่อพูดถึงพวกเขาทั้งสาม น้ำเสียงราบเรียบปนความภูมิใจของนกก็ทำให้เด็กหญิงยิ้มออกมา

แผ่นเสียง

นกเดินไปเปิดแผ่นของธเนศ วรากุลนุเคราะห์ อัลบั้ม แดนศิวิไลซ์ ให้เด็กหญิงฟัง ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเธอเด็กเกินกว่าจะรู้จักดีเจและนักร้องชื่อดังคนนี้ แต่ไม่นานเธอก็ตั้งใจฟังเนื้อเพลงเป็นพิเศษ ไม่รู้ว่าเพราะอะไรกันแน่นะ

เด็กหญิงเข้าไปชวนนกคุย ถามเรื่องเจ้าตัวบ้างเรื่องเพลงบ้าง คุยกันสัพเพเหระจนถึงช่วงเปลี่ยนแผ่นเสียงที่บรรยากาศเงียบลงชั่วขณะ

แผ่นเสียง

แผ่นเสียง

“ถ้าวันนั้นไม่มีคนขายร้านแผ่นเสียงให้ คิดจะเปิดร้านของตัวเองไหมคะ” เด็กหญิงผู้ไม่รู้เรื่องราวชีวิตของนกถามซื่อๆ

“เปิด มันเป็นความฝันของเรา” นกยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

เด็กหญิงส่งยิ้มให้นกแล้วพยักหน้าเบาๆ ก่อนจะขอตัวกลับราวกับมาที่ร้านเพื่อถามคำถามนี้โดยเฉพาะอย่างไรอย่างนั้น

ในห้องจึงเหลือนกที่ยังคงดื่มด่ำกับเสียงเพลงดังก้องกังวาน ซึ่งสะท้อนความทรงจำในวันเก่าๆ เหมือนเพื่อนสนิทเล่าเรื่องราวสู่กันฟัง

ร้านแผ่นเสียง
ซอยประดิพัทธ์ 19 แขวงพญาไท กรุงเทพฯ 10400
เปิดทุกวัน เวลา 11.00 – 19.00 น.
แผนที่ : https://maps.app.goo.gl/yikvD6AyVxwkfcou6

Tags: