About
ART+CULTURE

PAPERRECORDS VOL.1

PAPERRECORDS VOL.1 ค่ายเพลงสมมติที่ปล่อยศิลปะหลายมิติที่ไม่จำกัดแค่การฟัง

เรื่อง สุธาสินี สุทธะโส Date 06-12-2023 | View 1348
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • เจาะเบื้องหลัง PAPERRECORDS VOL.1 นิทรรศการที่เป็นเสมือนค่ายเพลงสมมติ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของศิลปินสายกราฟฟิกดีไซน์หยิบ Music Playlist ของแต่ละคนมาสร้างสรรค์ศิลปะรูปแบบใหม่ๆ บอกเล่าบทบาทของดนตรีที่มีผลต่อมุมมองชีวิต รวมถึงต้องการสร้างวัฒนธรรมร่วมของการชมศิลปะหลากหลายมิติที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่การฟังเท่านั้น

พูดถึง ‘ค่ายเพลง’ ก็ต้องนึกถึงผลงานเพลงที่ทางค่ายผลิตออกมาใช่ไหมล่ะ แต่ในปี 2023 ยุคที่ศิลปะถูกนำเสนอออกมาได้หลายมิติ คำบางคำไม่ได้ถูกจำกัดความแบบเฉพาะเจาะจงอีกต่อไป พี - ภัทรพี เอกสุภาพันธุ์ บิ๊ก - ปริวัฒน์ อนันตชินะ และ อั้น - พัฒนภูมิ เพ็ชรกระจ่าง 3 ศิลปินที่คลุกคลีอยู่ในวงการ Creative Designer ร่วมด้วย SPRUCE_CULTURE ที่พากันลุกขึ้นมาสร้างค่ายเพลงสมมติซะเลย

PAPERRECORDS VOL.1 จึงเป็นนิทรรศการกึ่งการเปิดตัวค่ายเพลงที่อยากชูคอนเซปต์หลักคือ ดึง Visual ของบทเพลงและดนตรีจากเพลย์ลิสต์ของพวกเขามาสร้างสรรค์ผลงานตามความถนัดของศิลปิน เราในฐานะผู้ชมก็จะเข้าไปสำรวจว่า ดนตรีมีอิทธิพลและทำงานกับมุมมอง ความคิดของศิลปินแต่ละคนอย่างไร

นิทรรศการจัดแสดงที่ The Shophouse 1927 เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แม้จบลงไปแล้ว แต่เราอยากชวนพวกเขามานั่งคุยกันถึงเบื้องหลัง เพราะในอนาคต PAPERRECORDS จะไม่หยุดที่ VOL.1 แน่นอน

PAPERRECORDS

เริ่มต้นจากกลุ่มเพื่อน
และความชอบปกเพลง

จริงๆ ชื่อ PAPERRECORDS เกิดจากการที่พีตั้งชื่อนี้ในไอจี เพราะตั้งใจลงผลงานศิลปะเป็นโปรเจ็กต์ส่วนตัวของเขา แต่แล้วไอเดียของการอยากทำโปรเจ็กต์ให้เป็นเหมือนค่ายเพลงสมมติเพื่อสร้างสรรค์ชิ้นงานศิลปะก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ในวันที่พวกเขา 3 คนได้มานั่งคุยกัน

ทั้งพี บิ๊กและอั้นเป็นเพื่อนที่มีความคิดคล้ายกันหลายอย่าง แต่ละคนต่างก็มีประสบการณ์ทางด้านดนตรีกันมาก่อนด้วย “ตอนเด็กๆ เราอาจไม่ได้รู้จักนักดนตรีมากเท่าไหร่ แต่เราชอบเข้าร้าน Tower Records ไปดูอาร์ตเวิร์กเจ๋งๆ ดูการจัดวางตัวหนังสือบนปกเพลง ปกดนตรี ดูภาพประกอบ การถ่ายรูปปกไวนิลและปกซีดี เราเรียนรู้งานดีไซน์ผ่านปกดนตรีเลยก็ว่าได้ อยู่กับมันทั้งวัน”

PAPERRECORDS

PAPERRECORDS

PAPERRECORDS

“ในยุคอะนาล็อก การเล่าเรื่องคงไม่ได้เน้นเล่าผ่านมิวสิกวิดีโอเหมือนในวันนี้ แต่ต้องเล่าทุกอย่างให้อยู่ในกรอบเล็กๆ ของเทปและแผ่นซีดีให้คนเห็นและเข้าใจในทันที ถึงภาพรวมของเพลงในอัลบั้มนั้นๆ ตรงนี้เป็นเสน่ห์ของงานดีไซน์ปกเพลงสมัยก่อนเลย ดนตรีมันทำให้เราเห็นปกและอยากออกแบบปก คิดว่ามันเจ๋งนะ แล้วมันทำให้เราไปอยู่ในสังคมที่ชอบแบบเดียวกันกับเราด้วย” ทั้ง 3 คนเล่าถึงจุดที่ทำให้พวกเขาสนใจงานด้านกราฟฟิกดีไซน์

PAPERRECORDS

ดนตรีจึงไม่ได้ใช้แค่ ‘เสียง’ เพื่อสื่อสารกับผู้คนเท่านั้น ทั้ง 3 คนเชื่อว่า ดนตรียังเป็นทั้งแพสชั่น แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ และมีอิทธิพลการต่อการแสดงออกของมนุษย์ด้วย “พวกเราเลยอยากตั้งโปรเจ็กต์ PEPERRECORDS ให้เป็นเหมือนค่ายเพลงสมมติที่เกิดขึ้นมาเพื่อเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างพวกเรากับดนตรี เริ่มจากการฟังเพลงผ่านหู สู่ตาหรือหู สู่การต่อยอดการสร้างสรรค์เป็นสิ่งอื่นๆ หรือสู่แผ่นกระดาษตามความถนัดของแต่ละคน ที่เราอยากชวนศิลปินมาทำเพลงในแบบของตัวเองแต่ออกมาเป็นชิ้นงานศิลปะ” และนี่คือคอนเซปต์หลักที่อั้นบอกเรา

PAPERRECORDS

จากเสียงดนตรี
สู่ศิลปะ 3 สไตล์

ศิลปินทั้ง 3 คนจะมี Music Playlist ที่เป็นแรงบันดาลใจต่อการสร้างงานครั้งนี้มาให้เราได้ลองเปิดฟังด้วย ทีนี้ดนตรีเหล่านั้นน่ะทำงานกับศิลปินทั้ง 3 คนอย่างไร เริ่มจากผลงานของบิ๊กก่อนเลย ว่าด้วยเรื่องของดนตรีสไตล์ Lo-Fi ที่มีมาตั้งแต่ราวยุค 50 แต่มาฮิตเอามากๆ ในช่วงล็อกดาวน์โควิด-19 บิ๊กเองเริ่มสนใจ Lo-Fi เพราะลองเปิดฟังระหว่างที่นั่งทำงานเพลินๆ นี่ล่ะ เขาว่า “มันเป็น Playlist รันไปยาวๆ ที่เราไม่สามารถแยกแต่ละเพลงออกจากกันได้เลย ทำให้เราเริ่มอยากสำรวจดนตรีแนวนี้ เข้าไปทำความรู้จักมัน”

ในท่วงทำนองมีสิ่งหนึ่งดึงดูดความสนใจของเขานั่นคือ เสียง Noise ซ่าๆ ต่างๆ ที่แทรกเข้ามา เป็นเสียงที่เกิดจากคราบฝุ่นของแผ่นเสียงบ้าง หรือจากเครื่องมือ ซาวด์เอฟเฟกต์ในห้องอัดเสียงยุคอะนาล็อกบ้าง ซึ่งกลายเป็นมนต์เสน่ห์ของความไม่สมบูรณ์ที่หาไม่ได้แล้วในยุคนี้

PAPERRECORDS

‘Hi Lo-Fi’ ศิลปะคอลลาจทั้ง 8 ชิ้น ที่เริ่มจากทำมือในชิ้นเล็กๆ สู่การนำไปขยายออกกว่า 100 เปอร์เซ็นต์แล้วพรินต์ออกมาด้วยคุณภาพสูง ทำให้เม็ดสีของภาพมองเห็นคราบกาว รอยยับหรือรอยย่นของกระดาษที่มักเกิดขึ้นจากการทำงานคอลลาจด้วยมือได้อย่างชัดเจน ซึ่งบิ๊กตั้งใจนำมาเทียบเคียงกับเสียงรบกวนที่ได้ยินในดนตรี Lo-Fi นั่นเอง

สำหรับชุดผลงานของอั้น ‘Proportion of N (Now No Nothing)’ ศิลปะในรูปแบบ Handmade Graphic Mixed Media ทั้ง 12 ชิ้น เริ่มต้นจากการมององค์ประกอบดนตรีให้เป็นสัดส่วนเหมือนสัดส่วนของรูปภาพที่มักชอบครอปกันก่อนลงโซเชียล อั้นแบ่งงานศิลปะของเขาออกเป็น 3 กลุ่ม Now, No และ Nothing เพื่อบอกเล่าถึงองค์ประกอบจากอดีตที่หล่อหลอมมาเป็นอั้นในวันนี้ ผ่านการแบ่งสัดส่วนดนตรีที่ทำให้เราเห็นว่า ดนตรีทำให้เขาผ่านช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิตมาได้อย่างไร

PAPERRECORDS

PAPERRECORDS

“Now คือสิ่งที่เราเรียนรู้ในปัจุบัน ชิ้นงานที่ใช้วัสดุทำเป็นแผงโมเดล ไล่สัดส่วนของสเกลให้ลดลงมาจนเผยให้เห็นเป็นโครงสร้าง เปรียบเสมือนความคิดที่เริ่มทับซ้อนขึ้นมาเรื่อยๆ จนมาชิ้นที่ 3 ที่ความคิดของเราเริ่มถูกปรับเปลี่ยน ส่วน Nothing จะพูดถึงเรื่องที่ ทำไมต้องห้าม จนเรามีความหัวร้อน เราก็จะพยายามเลือกดนตรีที่ดูเกรี้ยวกราด จังหวะเร็วแบบ Punk บ้าง Alternative Rock บ้าง สัดส่วนในชิ้นงานก็จะดูยุ่งเหยิง โผงผาง ตัวหนังสือก็จะตัวใหญ่ ให้อารมณ์เหมือนการตะโกน โกรธแค้น” อั้นเล่าถึงความหมายของชุดผลงานให้ฟัง

PAPERRECORDS

PAPERRECORDS

No คือการตัดใจจากบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ชีวิตเดินหน้าต่อ อั้นเลือกใช้ลายเส้นคล้ายเส้นปะ เส้นสั้น เส้นน้อย แสดงถึงความหอบถี่ที่เกิดจากอารมณ์โกธร หรือรู้สึกอึดอัด เสียใจก็จริง “แต่เราจะทำอีกเลเยอร์หนึ่งมาฉาบมือให้ความรู้สึกเหมือนมาฝังเรื่องพวกนี้”

‘Some situation, some forever’ ผลงานกราฟฟิกทั้ง 9 ชิ้นของพี ที่เปรียบเหมือนการบันทึกเรื่องราวส่วนตัวซึ่งเขาไม่เคยบอกใคร ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงการเสพดนตรีที่ผ่านมา ซึ่งมีอิทธิพลและเป็นแรงบันดาลใจให้ได้เดินตามความฝันกับการได้เป็นนักดนตรีตั้งแต่ยุค 90 เป็นต้นมา การตั้งชื่อผลงานแต่ละชิ้น แม้เป็นชื่อเพลงที่เขายังได้เล่นดนตรีอยู่ในทุกวันนี้ แต่เนื้อหาของเพลงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับความหมายของชิ้นงาน

อย่างเช่น ผลงานในชื่อ LIVE FOREVER : OASIS พีเล่าว่า “ผลงานชิ้นนี้ เราเล่าถึงครั้งแรกที่ได้ฟังเพลง Brit Pop คือเพลง Don’t Look Back in Anger แต่เพลงที่ทำให้รู้สึกอยากเล่นดนตรี อยากเป็นมือกีตาร์คือเพลงนี้เลย แต่ชีวิตจริงเรากลับต้องไปเล่นเบส นั่นคือความหมายของการฉลุเส้นลาย 4 เส้นลงในงานแทนสายเบส”

PAPERRECORDS

Next Station
เผยแพร่วัฒนธรรมศิลปะหลากมิติ

จริงๆ แล้วความสำคัญของนิทรรศการนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ผลงานของพวกเขาเท่านั้น แป้ง – ลลิส วรพชิรากูร ตัวแทนจาก SPRUCE_CULTURE บอกกับเราว่า ภายในงานยังมี Live Performance จาก น้าผี GHQST และแขกรับเชิญพิเศษอย่าง WAWO หรือ วรุตม์ ปันยารชุน และ วรวุฒิ ลี้วัฒนะ Art & Design Directors คนสำคัญที่เป็นเสมือน All Time Inspiration ของศิลปินทั้ง 3 คนด้วย รวมถึงทั้งแสง สีที่เข้ามาสาดความสนุก สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญ ถือเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่จะช่วยขยายมิติการรับรู้ศิลปะแบบใหม่ให้ผู้ชมได้อีกด้วยนะ

PAPERRECORDS

บิ๊กยังเสริมอีกด้วยว่า “หลายคนที่มาดูนิทรรศการพูดกับเราว่า เขาไม่ได้เห็นการรวมตัวกันของกลุ่มศิลปินสายกราฟฟิกดีไซน์ที่ออกมาจัดนิทรรศการรูปแบบนี้มานานแล้ว เอาจริงๆ ก็แทบนับครั้งได้เลย เราเลยอยากจัดงานรูปแบบนี้ให้มันเกิดขึ้นอีก”

PAPERRECORDS

แม้ PAPERRECORDS Vol.1 จะจบลงแล้วแต่อย่างที่บอกไปว่า ครั้งนี้ถือเป็นการเปิดตัวค่ายเพลงสมมติอย่างเป็นทางการ ทั้งสามคุยกันว่าในอนาคตจะมี VOL. 2 3 4 ยาวอย่างต่อเนื่อง แต่ละ VOL จะชวนศิลปินสายดีไซน์ ทั้งที่เคยทำงานร่วมกัน หรือคนรุ่นใหม่ๆ มาร่วมสร้างสรรค์ศิลปะให้เกิดเป็นมิติที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์การรับชมที่มากกว่าแค่การฟังให้คนที่มาดูงาน เป็นความตั้งใจอยากจะสร้างวัฒนธรรมร่วมที่ไม่ได้จำกัดประเภทแค่เพลงเพียงอย่างเดียว

PAPERRECORDS

PAPERRECORDS

“ดนตรีมันอยู่ในชีวิตของเรา มันขับเคลื่อนเราทุกคนอยู่ ไม่ใช่ในแง่มุมของนักดนตรี หรือนักฟังดนตรีแค่นั้น PAPERRECORDS จะเป็นค่ายเพลงที่พรีเซนต์ Visual Graphic Paper มันเหมือนการทำเพลงเลยที่เดี๋ยวดูสิว่า ศิลปินช่วงนั้นกำลังอินกับเรื่องอะไร แล้วพวกเราจะออกอัลบั้มใหม่นะกับโปรเจ็กต์ที่เกิดขึ้นนี้”


เครดิตภาพถ่าย : Mc Suppha-riksh Phattrasitthichoke

สามารถติดตามโปรเจ็กต์พวกเขาได้ที่ Instagram : PAPERRECORDS

Tags: