About
ART+CULTURE

Expect The Unexpect

‘พยัคฆ์’ อาร์ตสเปซในบ้านไม้ที่มากมายด้วยความทรงจำ ความเมามันและเรื่องบังเอิญ

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • Payaq Gallery Cafe & Bar ตั้งอยู่ในตรอกตึกดิน ใกล้ลานคนเมือง ย่านพระนคร เป็นคอมมูนิตี้ของคนรักศิลปะที่ใครๆ ก็ว่าไวบ์สนุกจนไม่อยากกลับ เราเลยต้องไปบุกถึงที่นี่เพื่อชวน ‘ต้น-ดร.ศราวุฒิ ปิ่นทอง’ และ ‘เติ้ล-ธีระยุทธ พืชเพ็ญ’ 2 ใน 3 ผู้ร่วมก่อตั้งมาบอกเล่าเรื่องราวการเกิดอาร์ตสเปซในบ้านไม้โบราณอายุกว่า 150 ปีแห่งนี้สักหน่อย

Payaq Gallery Cafe & Bar คือผลลัพธ์ของการแปลงบ้านโบราณให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อคอมมูนิตี้แลกเปลี่ยนความคิดของคนรักศิลปะ โดย 3 ผู้ก่อตั้ง ได้แก่ ต้น – ดร.ศราวุฒิ ปิ่นทอง อาจารย์คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เติ้ล - ธีระยุทธ พืชเพ็ญ หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม TRK ศิลปินสตรีตอาร์ต และ แก๊ป - ดร.ยศพร จันทองจีน อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบภายใน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

ทั้งสามใช้เวลารีโนเวตบ้านเก่าให้เป็นอาร์ตสเปซในระยะเวลาไม่กี่เดือน ก่อนจะโชว์ความเป็นพยัคฆ์กับการเปิดตัวสเปซในชื่อ ‘พยัคฆ์ 11 ตัว’ ที่ทั้งสามชวนศิลปิน 11 คนมาตีความคำว่า ‘เสือ’ เพื่อสร้างสรรค์ชิ้นงานศิลปะในรูปแบบของตนเอง และนับจากวันที่เปิดตัวมาสู่วันนี้ก็มีอายุครบ 1 ปีกว่าแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ พยัคฆ์เป็นอาร์ตสเปซในบ้านเก่าก็จริง แต่ทำไมถึงสร้างไวบ์ที่ดูสนุกเมามันและเป็นกันเองได้ถึงขนาดนี้

Payaq

บ้านไม้โบราณที่เก็บภาพชีวิตมากว่า 150 ปี

บ้านไม้ขาวโบราณในรูปทรงขนมปังขิงอายุกว่า 150 ปีหลังนี้ สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ได้โฉนดที่ดินในรัชกาลที่ 6 เป็นบ้านของครอบครัวเพื่อนสนิทต้น ซึ่งอยู่อาศัยกันมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า และก่อนที่บ้านจะถูกปิดร้างจนสภาพผุพังกินเวลามาเกือบ 25 ปี บ้านหลังนี้ประกอบด้วยไป บ้านหลักที่เคยเป็นบ้านของคุณย่า ปัจจุบันใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ ส่วนพื้นที่คาเฟ่และบาร์ทางขวามือเคยเป็นบ้านของเพื่อนสนิทต้น ถัดไปพื้นที่ครัวเคยเป็นบ้านของแม่บ้านมาก่อน ทั้ง 3 หลังจะมีพื้นที่ชั้นล่างเพื่อเชื่อมตัวบ้านเข้าด้วยกัน

ตอนเด็กๆ ต้นมักจะวิ่งเข้าออกบ้านหลังนี้เพื่อไปเล่นกับเพื่อน หรือบางทีชวนกันออกไปเที่ยว กินดื่มตั้งแต่เด็กยันเรียนจบมหาลัย ที่ยังจำได้ขึ้นใจคือตอนที่แวะเข้าไป เด็กชายต้นจะพบปะ ทักทายคุณย่าที่หน้าบ้านอยู่เสมอ จนกระทั่งคุณย่าเสียชีวิตลง ครอบครัวเพื่อนสนิทต้นก็พากันย้ายไปอยู่ที่อื่น บ้านหลังนี้จึงถูกปิดไปโดยปริยาย

Payaq

ชีวิตของต้นยังคงผูกติดอยู่กับย่านพระนคร เพราะหลงใหลในสถาปัตยกรรม บ้านเรือนในชุมชนที่มีความเก่าแก่เสมือนโดนหยุดกาลเวลาเอาไว้ที่ตรงนั้น และถ้าจะให้ขยายความ ต้นมองว่าคนที่ชอบเดินย่านพระนครคงจะสัมผัสได้ถึงวิถีชีวิตเก่าแก่ ที่ทับซ้อนภาพสมัยใหม่จนเกิดเป็นความหลากหลายของผู้คน อาชีพและวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี เหตุผลนี้เองที่ทำให้หลังเสร็จการสอน เขาจะแวะมากินข้าวจานโปรดตามร้านริมทางหรือมาแฮงก์เอาต์กับเพื่อนๆ เป็นประจำ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คือ เติ้ล ชาวฝั่งธนอีกคนที่หลงใหลเสน่ห์ย่านนี้ไม่ต่างกัน หากใครติดตามเขาทางไอจีก็จะเห็นว่าเติ้ลชอบวิ่งมาก บางครั้งเขาจะวิ่งทั่วพระนครยามเช้า แล้วถ่ายคลิปแชร์เรื่องราวที่พบเห็นอยู่บ่อยๆ

Payaq

บ้านไม้หลังนี้แม้ว่าจะหลบซ่อนอยู่ในตรอกตึกดินที่ต้องเดินลัดเลาะผ่านบ้านคนในพื้นที่หลายหลังสักหน่อย แต่ตำแหน่งที่ตั้งของบ้านที่อยู่กึ่งกลางพระนครกำลังพอเหมาะนี้ ต้นก็อยากทำอะไรสักอย่างกับบ้านของเพื่อนให้เกิดประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

“พอได้กลับมาเจอเพื่อนอีกครั้ง ก็ถามไปว่าจะทำอะไรกับบ้านหลังนี้ไหม ซึ่งเพื่อนเขาย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว เขาก็ไม่รู้จะทำอะไร เราเลยขอแล้วบอกว่าเดี๋ยวจัดการต่อให้เอง พอดีกันกับผมรู้จักเติ้ลอยู่แล้ว มีอีกคนคือแก๊ปเป็นศิษย์ที่ทำงานวิจัยด้วยกัน ผมก็พามาดูบ้าน เราก็เกิดแนวคิดไปทางเดียวกันว่า อยากจะทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์” ต้นย้อนเล่าที่มาของโปรเจ็กต์สร้างอาร์ตสเปซในบ้านเก่าให้ฟัง

Payaq

พอได้บ้านมา ทั้งสามคนก็แชร์ไอเดียร่วมกัน แต่เห็นตรงกันว่าจะเก็บโครงสร้างเดิมของบ้านไว้ทั้งหมดเพื่อคงกลิ่นอายบ้านเก่าเอาไว้ ส่วนหลังคาที่เกิดความเสียหายไปบางส่วนคงต้องรื้อออก แล้วต่อเติมเสริมฟังก์ชันบางส่วนผนวกกับหยิบสิ่งของที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์

ต้นไม้ที่รายล้อมบ้านหลังนี้มานานกว่า 90 ปี มีความบังเอิญที่ชวนเรียกรอยยิ้มนั่นก็คือ ทุกต้นมักจะออกดอกไม้สีขาวทั้งหมด ทั้งสามก็เลยหยิบมาใช้ตั้งชื่อโปรเจ็กต์บ้านหลังนี้ว่าเป็น “บ้านไม้ขาว”

Payaq

Payaq

ความบังเอิญของรอยสัก เรื่องราวที่ถือกำเนิดเป็นถ้ำเสือ

จาก “บ้านไม้ขาว” จู่ๆ ทำไมถึงมาเปลี่ยนใจเป็นชื่อ “พยัคฆ์” ได้ล่ะ เรายิงคำถามใส่ไป ต้นและเติ้ลหลุดหัวเราะก่อนจะเปรยมาว่า ทั้งหมดเกิดจากเรื่องบังเอิญล้วนๆ (อีกแล้ว)

บังเอิญแรก ทั้งสามเพิ่งมารู้ว่าต่างคนต่างก็มีรอยสักเป็นรูปเสือเหมือนกัน บังเอิญสอง เสือดูจะเกี่ยวโยงกับพวกเขาใกล้มากจนไม่คาดคิด อย่างเติ้ลที่แชร์การทำงานศิลปะของเขาให้ฟังว่า ตั้งแต่จำความได้ก็เอาแต่วาดรูปเสือมาตั้งแต่ไหนแต่ไร “อาจมาจากอินเนอร์ข้างในที่ไม่รู้อะไรดลใจ แต่มันทำให้เราเกิดความผูกพันกับเสือ”

Payaq

ต้นที่ได้ยินตำนานศาลเจ้าพ่อเสือมาตั้งแต่เด็ก และก่อนหน้านี้เองก็เคยออกแบบสถานที่เลี้ยงเสือ ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ที่จะต้องรีเสิร์ชวิถีชีวิตและพฤติกรรมของเสือด้วย ก็พลอยทำให้เขารู้สึกผูกพันไปกับความน่ากลัวของมัน

ทั้งคู่ชวนเราหันไปดูช่องลมของบ้านที่มีหน้าตาคล้ายกับหน้าผากเสือ โดยเฉพาะช่วงที่แสงส่องผ่านช่องลมเข้ามา จนพื้นบ้านสะท้อนกลับมาเป็นเงาเสือ ทุกเรื่องที่บังเอิญเป็นเสือนั่นแหละ ทำให้พวกเขาตัดสินใจเปลี่ยนชื่อมาเป็น “พยัคฆ์ แกลเลอรี คาเฟ่ แอนด์ บาร์” เติ้ลเองก็ถอดลวดลายจากช่องลมมาออกแบบเป็นโลโก้พยัคฆ์

Payaq

Payaq

Payaq

หลังหยิบความเชื่อมโยงของแต่ละคนแล้ว ก็ขยายไปสู่การหยิบบริบทของย่านเข้ามาไว้ที่บ้านหลังนี้ด้วย ด้วยการเอาโลโก้มาออกแบบเป็นยันต์ให้ล้อไปกับยันต์ศาลเจ้าพ่อเสือ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์บอกทางระหว่างเดินเข้ามาในตรอกตึกดิน บอกเลยว่าทุกคนจะไม่มีวันหลงแน่นอน นอกจากนี้ ภายในบ้าน 2 ชั้น เริ่มจากพื้นที่ชั้นบนจะแบ่งห้องจัดแสดงผลงานออกเป็น 4 ห้อง ต่อการจัดแสดงผลงานในทุกรูปแบบ และแต่ละห้องจะตั้งชื่อชนิดของเสือให้พ้องไปกับขนาดห้องด้วย ได้แก่ ‘ห้องเสือสมิง’ เคยเป็นห้องพระเก่าแก่ที่ดูขลังสมควรแก่การได้ชื่อนี้ไปครอง ‘ห้องเสือโคร่ง’ ห้องที่มีขนาดใหญ่สุด รองลงมาเป็น ‘ห้องเสือพาดกลอน และห้องที่เล็กสุดคือ ‘ห้องเสือลายเมฆ’

Payaq

Payaq

Payaq

ชั้นล่างนอกจากจะมี ‘ห้องพยัคฆ์พาณิชย์’ ไว้ซื้อขายของสะสมและผลงานศิลปะของศิลปิน ยังมี ‘ห้องดอกไม้ขาว’ เป็นเสมือนห้องเก็บความทรงจำของบ้าน โดยจะจัดแสดงเฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ของเจ้าของบ้านหลังนี้ด้วย ส่วนกองหนังสือเก่าที่ประกอบไปด้วยหนังสือการ์ตูนและหนังสือโป๊ ต้นก็ตั้งใจจัดวางเพื่อระลึกถึงมิตรภาพระหว่างเขากับเพื่อนด้วยเช่นกัน

Payaq

สร้างคอมมูนิตี้คนรักศิลปะ เริ่มต้นด้วยวงเหล้า

“เมื่อคุณเดินเข้ามาแล้ว คุณจะได้พบกับคอมมูนิตี้ของเหล่านักสร้างสรรค์ ได้เจอกับศิลปินขาประจำที่นั่งคุยแบบเป็นกันเอง ซึ่งมันไม่มีที่ไหนที่ศิลปินจะมานั่งคอยรับแขกแบบนี้เลย” เติ้ลพูดถึงจุดเด่นของพยัคฆ์ให้เราฟัง

ทั้งคู่มองว่า การจะสร้างพื้นที่หนึ่งให้เกิดเป็นคอมมูนิตี้แห่งความสร้างสรรค์ได้นั้น พื้นที่จะต้องรับรองอีเวนต์และกิจกรรมได้หลากหลายรูปแบบ เพื่อเปิดกว้างให้ผู้คนต่างอาชีพได้เข้ามาพบปะกันได้อย่างง่ายดาย เติ้ลเป็นคนคิวเรตงานศิลปะให้พยัคฆ์อธิบายให้เราฟังว่า เขาไม่อยากไม่เจาะจงว่าศิลปินที่เข้ามาจะเป็นใคร เป็นรุ่นใหญ่หรือหน้าใหม่ ขอแค่เจ้าของมีผลงานที่อยากนำมาจัดแสดง ก็ลองเข้ามาพูดคุยทำความรู้จักกันก่อนเพื่อดูว่าพื้นที่ตรงนี้สามารถรองรับงานศิลปะได้มากน้อยแค่ไหน

Payaq

ไม่เพียงเท่านี้ ในฐานะที่เติ้ลเป็นศิลปินที่อยู่ในแวดวงศิลปะมานาน เขาย่อมเข้าใจข้อสำคัญของการสร้างบรรยากาศแกลเลอรีให้เข้าถึงผู้คนได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องเกร็งหรือเครียดเวลาที่เข้ามาเดินดูงาน ด้วยความที่เป็นคนเฮฮา อันดับแรกที่เขาบอกกับเรา คือใช้ความเป็นนักดื่มของตัวเองนี่แหละเข้าหาผู้คน

Payaq

Payaq

Payaq

“พวกเราอยากให้ที่นี่เป็นคอมมูนิตี้ของคนรักศิลปะ นอกจากจะพยายามจัดหาอีเวนต์มาตลอดแล้ว ความที่พวกเราชอบดื่ม ชอบสังสรรค์ และเชื่อว่าทุกอย่างเป็นศิลปะ พยัคฆ์เลยมีทั้งจัดฉายหนัง แฟชั่น ดนตรีสดหลากหลายสไตล์ คอนเสิร์ตทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่จากเพื่อนๆ ที่ผมจะชักชวนกันมา คือศิลปินที่เป็นขาประจำของที่นี่ก็เพื่อนๆ ผมนี่แหละ ข้อดีก็คือเวลาคนมาดูงาน เขาสามารถคุยกับศิลปินตัวเป็นๆ ได้เลย และถ้าพูดขำๆ เราจะใช้ความตลก เน้นบ้าบอและบรรยากาศของวงเหล้าเพื่อชักชวนผู้คนเข้ามา โดยมีศิลปะเป็นส่วนหนึ่ง คนจะสนุกเฮฮาได้ง่ายขึ้น แล้วมันก็ทำให้เขารู้สึกว่า มาเมื่อไหร่ก็เหมือนได้มาเจอเพื่อน”

Payaq

Payaq

Payaq

จะยื้อให้ผู้คนอยู่ได้นานขึ้น แน่นอนว่าต้องมีอาหาร ที่ขาดไม่ได้ก็คือเครื่องดื่ม หรือค็อกเทล 3 แก้ว ที่เป็นซิกเนอเจอร์ของบาร์ ซึ่งบอกเล่าตัวตนของต้น เติ้ล แก๊ป และสถานที่นี้เข้าด้วยกัน อย่าง ‘พยัคฆ์’ เป็นตัวคลาสสิกที่มีคาแรกเตอร์เคร่งขรึม ดุดัน ส่วน ‘พยัคฆ์เปรี้ยวตีน’ ดื่มง่าย และให้ความสดชื่นมากกว่า และ ‘ดอกไม้ขาว’ เป็นเมนูเพื่อระลึกถึงเจ้าของบ้าน จึงเลือกใช้ดอกไม้ขาวมาเป็นวัตถุดิบผสมในชั้นล่างของครื่องดื่ม แล้วท็อปด้วยน้ำเต้าหู้จากฟาร์มของต้นมาตีให้เป็นโฟมเพิ่มความละมุน

Payaq

อีกเรื่องที่ขอเล่าถึงก็คือห้องน้ำของพยัคฆ์ที่ต้นและเติ้ลชวนผู้คนไปละเลงเขียนประโยคเด่น วลีเด็ดได้เต็มที่ “เราต้องการให้คนมาเขียน เพราะที่นี่คือพื้นที่ศิลปะ พื้นที่เพื่อการแสดงออก ศิลปะมีหน้าที่หลักคือการแสดงออกทางอารมณ์ เพราะงั้นใครรักใคร เกลียดใคร รู้สึกอย่างไรก็ไปเขียน มีนักมวยแชมป์โลกเข้ามาเขียนด้วยนะ พระก็ยังเขียน (หัวเราะ)”

Payaq

Payaq

ย่านที่มีศิลปะจะช่วยขับเคลื่อนความคิดผู้คน

นอกจากความตั้งใจของทั้งสามที่อยากทำให้อาร์ตสเปซของที่นี่กลายเป็นคอมมูนิตี้ของทุกคนแล้ว พยัคฆ์ แกลเลอรีฯ จะเข้ามาซัพพอร์ตด้านการศึกษาด้วย “เพราะผมเป็นอาจารย์อยู่ในแวดวงการศึกษาด้วย ที่นี่เลยกลายเป็นห้องเรียนบ้างบางครั้ง ซึ่งผมจะชวนลูกศิษย์มานั่งทำงานที่นี่ อย่างล่าสุดมีโปรเจ็กต์เกี่ยวกับภาพยนตร์เพื่องานวิจัยของนักศึกษา เราก็ให้พวกเขามาใช้พื้นที่ตรงนี้ทำเป็นแคมป์เขียนบท เติ้ลเองก็เข้ามาช่วยด้วย การชวนออกวิ่งทั่วพระนครเพื่อหาแรงบันดาลใจเขียนบทหนัง ซึ่งเรามองว่ามันดีมากๆ เพราะได้ทั้งส่งเสริมการศึกษา และยังเกิดกลุ่มก้อนคอมมูนิตี้เพื่อคนรักหนังเพิ่มขึ้นมาด้วย”

Payaq

การมีอาร์ตสเปซฝังตัวแบบลับๆ อยู่ในย่านชุมชน อาจจะทำให้บางคนรู้สึกว่าเข้าถึงยาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าระหว่างทาง คุณจะได้ซับซึมวิถีชีวิตคนในพื้นที่ ได้มองดูร้านอาหารริมทางที่อาจชวนให้หยุดแวะอุดหนุนสักแป๊บก่อนจะไปทิ้งตัวกันที่พยัคฆ์ แกลเลอรีฯ ก็ได้

Payaq

Payaq

“พอเข้ามาที่นี่คุณอาจจะสนุกจนลืมว่าเมื่อกี้คุณไปเจออะไรมา แต่ข้อดีก็คือ คนที่เดินเข้ามาจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในย่านนี้ไปพร้อมๆ กันด้วย โดยที่อาร์ตสเปซเราอาจเป็นตัวกลางที่เรียกคนจากหลากหลายที่ให้เข้ามาเจอกัน และสำหรับคนละแวกนี้เอง การเดินเข้ามาดูว่าบ้านหลังนี้ทำอะไรกัน จนเข้ามาร่วมวงสนทนา กินดื่มไปกับเราได้อย่างเป็นกันเอง ก็ทำให้เขาได้ซึมซับความสร้างสรรค์เข้าไปในชีวิตประจำวันด้วย” เติ้ลเล่า

Payaq

Payaq

“เพราะเราอยากเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา เราเลยค่อยๆ สร้างความสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ ชักชวนพวกเขาให้มาที่นี่ หรือบางทีเราก็นำสิ่งดีๆ ไปให้เขา เพราะถ้าจะให้พูดถึงเรื่องศิลปะ มันต้องการพื้นที่ในการแสดงออก และเมืองที่เจริญคือเมืองที่ศิลปะ มันพัฒนาไปควบคู่กับคน ศิลปะจะหล่อหลอมผู้คนในสังคมเข้าด้วยกัน เราจะต้องทำให้สถานที่และผู้คนเข้าถึงง่ายเพื่อขับเคลื่อนสังคมนี้ไปด้วยกัน ซึ่งหวังว่าพื้นที่เล็กๆ ตรงนี้จะเปิดกว้างสำหรับผู้คนได้” ต้นสรุปจุดประสงค์หลักของพยัคฆ์ แกลเลอรีฯ ให้เราฟังเป็นการทิ้งท้าย

Payaq Gallery Cafe and Bar
ที่อยู่ : พยัคฆ์ แกลเลอรีฯ 58 ตรอกตึกดิน ถนนดินสอ เสาชิงช้า พระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
โทรศัพท์ : 081-913-1877
Facebook : Payaq Gallery Cafe & Bar และ Instagram : payaq.gallery
เว็บไซต์ : https://payaqgallery.com/

Tags: