About
ART+CULTURE

เชิดหุ่น

หุ่นกาเหล้ มหรสพมงคลฉบับแรร์ไอเท็มสะท้อนวิถีคนภูเก็ตที่หาชมได้ที่เดียวในเมืองไทย

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง Date 22-04-2023 | View 4455
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • หุ่นกาเหล้ คือ หุ่นเชิดจีนที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน นำแสดงในพิธีไหว้เทวดา หรือองค์หยกอ๋องส่งเต่ของศาลเจ้าต่างๆ ในภูเก็ตตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน มีตัวละคร 3 ตัว ได้แก่ เซ่งกั่งเอี๋ย จอหงวน และฮูหยิน มีบทร้องเป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน ประกอบเครื่องดนตรี 3 ชิ้นคือ ฆ้อง ผ่าง และปี่
  • แม้จะเป็นวัฒนธรรมที่มาจากเมืองจีนก็จริง แต่ตอนนี้กลายเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของภูเก็ต ที่มีที่เดียวในประเทศไทย ถือเป็นมหรสพแห่งความสุข บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่น สะท้อนวิถีชีวิตคนภูเก็ตได้เป็นอย่างดี และมีความเชื่อว่าการได้ชมจะเป็นสิริมงคลต่อชีวิต
  • อดีตหาชมได้ยากเพราะจัดแสดงแค่ในวันไหว้เทวดาปีละครั้ง แต่ปัจจุบันมีการต่อยอดเล่นในงานพิธีต่างๆ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

จำได้ว่าเราได้ยินชื่อ ‘หุ่นกาเหล้’ ครั้งแรกเมื่อ 5 ปีก่อน

ครั้งนั้นภูเก็ตจัดงานเทศกาลหุ่นโลก (PHUKET HARMONY WORLD PUPPET FESTIVAL 2018) โดยมีหุ่นกาเหล้ เข้าร่วมกับหุ่นนานาชาติจาก 50 คณะทั่วโลก เป็นการรู้จักแบบผิวเผินในฐานะศิลปะหุ่นสายของจังหวัดที่สืบเนื่องมาจากพิธีกรรมในเพณีท้องถิ่น มีประวัติศาสตร์มายาวนานตั้งแต่ยุคแร่ดีบุกรุ่งเรือง

ล่าสุดมีโอกาสได้พูดคุยกับ อ.ลิขิต หล้าแหล่ง อาจารย์โรงเรียนสตรีภูเก็ต ผู้สืบสานและถ่ายทอดศิลปะการเชิดหุ่นกาเหล้ บอกเลยว่านี่คือศิลปวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ไม่เพียงมีอยู่ที่เดียวในประเทศไทย หากยังเป็นมหรสพแห่งความสุข บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่น สะท้อนวิถีชีวิตคนภูเก็ตได้เป็นอย่างดี

ที่สำคัญตามความเชื่อว่ากันว่า ใครได้ชมการเชิดหุ่นกาเหล้จะถือเป็นสิริมงคลต่อชีวิตและครอบครัว

มหรสพแห่งความสุข

อย่างที่ทราบกันดีว่าอดีตในยุคแร่ดีบุกรุ่งโรจน์นั้น มีชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งรกรากในภูเก็ตเป็นจำนวนมาก พวกเขาไม่เพียงหลั่งไหลเข้ามาใช้แรงงานแต่ยังมาพร้อมกับประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ และหนึ่งในนั้นก็คือ หุ่นกาเหล้ นี่เอง

หุ่นกาเหล้ คือ หุ่นเชิดจีนที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน นำแสดงในพิธีไหว้เทวดา หรือองค์หยกอ๋องส่งเต่ของศาลเจ้าต่างๆ ในภูเก็ตตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน เพื่อให้ท่านปกป้องคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุข มีตัวละคร 3 ตัว ได้แก่ เซ่งกั่งเอี๋ย (เลาเอี๋ย หรือ เตียนฮู้หงวนโส่ย เปรียบได้กับพ่อแก่หรือพระพิฆเนศในด้านศิลปินการแสดง) จอหงวน และฮูหยิน มีบทร้องเกี่ยวกับการสรรเสริญองค์เทพเจ้าเป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน ประกอบเครื่องดนตรี 3 ชิ้นคือ ฆ้อง ผ่าง และปี่

…เป็นมหรสพแห่งศรัทธาที่ฝังลึกอยู่ในวิถีชีวิตของคนภูเก็ตเชื้อสายจีน

“เมื่อก่อนมหรสพมีไม่เยอะ การได้ดูหุ่นกาเหล้จึงถือเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่ง บทอาจไม่มาก เล่นไม่กี่นาที แต่มันคือความสุข สุขที่ได้พบ สุขที่ได้เจอ สุขที่ได้นำมาบูชาบ้าน เป็นความสุขที่เทพเจ้าจะอวยพรกลับมา” อ.ลิขิต เล่าภาพความทรงจำในอดีต

ด้วยความเชื่อว่าหุ่นกาเหล้เป็นตัวแทนของเทพเจ้า จึงนิยมเล่นแค่ในวันไหว้เทวดา ซึ่งหนึ่งปีมีครั้ง บวกกับการถ่ายทอดที่มักส่งต่อกันภายในครอบครัวและยุคสมัยที่เปลี่ยนไปมีสิ่งเร้าเกิดขึ้นมากมาย ทำให้คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่รู้จักหุ่นกาเหล้ แม้กระทั่งคนภูเก็ตเองก็ตาม

เชิดหุ่น

เชิดหุ่น

อัตลักษณ์ที่มีคุณค่า

“มันเป็นวัฒนธรรมที่มาจากเมืองจีนก็จริง แต่ตอนนี้มันกลายเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นของทุกคนในภูเก็ต เป็นสิ่งที่เราจะควรต้องสืบสานและส่งต่อออกไป ที่สำคัญการเชิดหุ่นกาเหล้มีที่เดียวในประเทศไทย”

นี่คือคุณค่าที่ อ.ลิขิต บอกกับเรา…และคงน่าเสียดายหากต้องเลือนหายไป

เชิดหุ่น

ย้อนไปเมื่อกว่า 10 ปีก่อน เขาได้ยินเสียงขับร้องบทหุ่นกาเหล้ดังออกมาจากพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว เขาจำได้ว่าเป็นเสียงของ แป๊ะเกี๋ยว – ดิโรจน์ เลิศเอกกุล จึงเข้าไปสอบถามและเป็นจุดเริ่มต้นของการสืบสานและอนุรักษ์หุ่นกาเหล้อย่างจริงจังผ่านการถ่ายทอดให้กับนักเรียน

เชิดหุ่น

ตอนนั้น อ.ลิขิตเพิ่งเข้าเป็นอาจารย์ภาษาไทยของโรงเรียนสตรีภูเก็ตได้ไม่นาน มีความสนใจด้านวัฒนธรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากการซึมซับผ่านวิถีชีวิตของครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก บวกกับเป็นช่วงที่ทางโรงเรียนเน้นเรื่องวัฒนธรรมประเพณี สืบสานความเป็นภูเก็ตส่งต่อให้กับคนรุ่นหลัง เลยขอให้แป๊ะเกี๋ยว สอนการเชิดและบทร้องให้ โดยมีแป๊ะเฉ่ง-เฉ่ง เลิศกิจสมบูรณ์ เป็นคนแกะหุ่นกาเหล้รุ่นแรกให้นำมาเล่นและสอนเด็กๆ

เชิดหุ่น

การเชิดหุ่นกาเหล้ในยุคแรกๆ มีอยู่หลายคณะ หนึ่งในนั้นคือ ‘คณะแป๊ะจุ่ยห้าย’ และมีการสืบทอดต่อกันมาจากชาวคณะ ซึ่งแป๊ะเกี๋ยวถือว่ามีสัมพันธภาพที่ดีกับบ้านแป๊ะจุ่ยห้ายและได้สืบทอดความรู้เรื่องหุ่นกาเหล้มา

เชิดหุ่น

“ส่วนที่แป๊ะเกี๋ยวแกสอนให้มาถ่ายทอดในโรงเรียน เพราะมีแนวคิดว่าหากอยู่กับโรงเรียน ศิลปวัฒนธรรมการเชิดหุ่นกาเหล้จะไม่หายไปไหน แต่จะมีการส่งต่อและสืบทอดต่อไป”

เชิดหุ่น

ภาพ : หม่อเส้งมิวเซียม

ปรับเปลี่ยนเพื่ออนุรักษ์

หลังได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการเชิดหุ่น ช่วงแรก อ.ลิขิต เริ่มต้นฝึกหัดจากการเล่นในศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย เพราะมีการขาดช่วงของการแสดงไปและต้องการเล่นถวายพระ ตามความเชื่อว่ากาเหล้จะอวยพรให้เป็นสิริมงคลในชีวิต ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ

เชิดหุ่น

จากนั้นผู้ดูแลศูนย์สืบค้นและเผยแพร่ข้อมูลบาบ๋าภูเก็ต โรงเรียนสตรีภูเก็ต ก็มีการนำนักเรียนที่ได้รับการฝึกออกแสดงในงานพิธีต่างๆ แทนที่จะจำกัดอยู่แค่วันไหว้เทวดา พร้อมเปิดโอกาสให้นักเรียนหญิงเป็นคนเชิดและขับร้องได้เช่นเดียวกัน จากธรรมเนียมปฏิบัติเดิมที่จะมีผู้ชายเป็นคนทำหน้าที่ โดยหุ่น 1 ตัวจะใช้เด็ก 1 คน คนร้อง 1 คน และคนเล่นดนตรีอีก 1 คน

“อย่างที่จีนก็ยังมีการแสดงหุ่นกาเหล้อยู่ แต่ได้พัฒนารูปแบบการในพิธีทั่วไป ต่างจากบ้านเราที่ยังค่อนข้างหาดูได้ยาก”

เชิดหุ่น

ภาพ : หม่อเส้งมิวเซียม

แม้ปัจจุบันจะมีความคิดสมัยใหม่มีการนำไปแสดงในโอกาสพิเศษ เพื่อการศึกษาและการท่องเที่ยวมากขึ้น แต่ไม่นิยมจัดแสดงในงานอวมงคล เช่น งานศพ หรืออยู่ในช่วงไว้ทุกข์ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตามความเชื่อของคนภูเก็ต

เชิดหุ่น

ขณะที่ตัวหุ่นกาเหล้ของประเทศจีนที่มีกลไกมากกว่า สามารถแสดงท่าทางและเคลื่อนไหวได้มากกว่า เช่น เดินได้ ขยับนิ้ว ขยับปากได้ ขณะที่กลไกหุ่นของบ้านเรายังเป็นแบบดั้งเดิมมีแค่ดึงขา ดึงแขน ซึ่งช่วงโควิดที่ผ่านมา ทางโรงเรียนได้รับความอนุเคราะห์จากสมาคมศิษย์เก่าฯ ซื้อหุ่นกาเหล้จากเมืองจีน ตกประมาณตัวละ 30,000 บาทมาให้ใช้เพิ่มเติม ช่วยเพิ่มสีสันและความน่าสนใจได้ยิ่งขึ้น

เชิดหุ่น

ภาพ : หม่อเส้งมิวเซียม

อย่างเช่นที่เมืองจีนตอนนี้มีหลากหลายตัวละครมาก ไม่ว่าจะเป็นจอหงวน ชาวบ้าน เทพธิดา นางฟ้า ฯลฯ ส่วนของภูเก็ตก็อาจเพิ่มมิติเสริมกลิ่นอายบาบ๋า มีตัวละครผู้หญิงใส่ผ้าถุง ร้องเป็นสำเนียงใต้หรือภาษาภูเก็ต

เชิดหุ่น

“เมื่อหุ่นกระบอกมาเล่นกับคนได้ พี่คิดว่าหุ่นกาเหล้ก็นำมาเล่นกับคนได้เหมือนกัน มันอยู่ที่การสร้างสรรค์วิธีการแสดง และตามความเชื่อโบราณว่าไว้ถ้าหุ่นกาเหล้ไปเล่นบ้านใคร จะได้รับความเป็นสิริมงคล”

เชิดหุ่น

ดั่งบทร้องของฮูหยินที่ว่า… “ข้า ส้อหยกหลาน สตรีมีใจเข้มแข็งอดทน สมเป็นกุลสตรี ไม่เปลี่ยนแปลงดุจขุนเขาและมหาสมุทร วันสำคัญนี้ ขอแต่งโฉมด้วยอาภรณ์อันวิจิตร มาร่วมกับทุกท่าน ทุกเคหสถานกราบไหว้เทพยดาฟ้าดิน ขอให้ทุกท่านจงรับพร อันเป็นมงคลจากเทพเทวดา อันศักดิ์สิทธิ์ ขอทุกท่านจงประสบแต่ความสุขสวัสดิ์ตลอดไปเทอญ”

เชิดหุ่น

สนใจชมการเชิดหุ่นกาเหล้ คณะอาจารย์ลิขิตและลูกศิษย์โรงเรียนสตรีภูเก็ต สามารถติดต่อผ่านกลุ่มท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต
โทร. : 084 305 3960
Facebook Fanpage : วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต

Tags: