About
ART+CULTURE

ปลูกหญ้าปักใจ

Piet Oudolf ชายผู้ปลุกกระแสให้หันมาปลูกหญ้าเป็นสวนมีค่า(ทางใจ)ไปทั่วโลก

เรื่อง สุภักดิภา พูลทรัพย์ Date 16-12-2022 | View 1220
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • พีท อูดอล์ฟ นักออกแบบสวนชาวดัตช์ เจ้าของเอกลักษณ์สวนที่มีลักษณะเหมือนทุ่งหญ้าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งสร้างชื่อให้เขามา 40 ปี และมีผลงานออกแบบสวนมากมายตั้งแต่ลอนดอน ชิคาโก จนถึงนิวยอร์กและเดนมาร์ก
  • พืชพรรณที่พีทหลงรักคือต้นหญ้าและพืชล้มลุกทุกชนิด ซึ่งเขาจะเพาะขึ้นจากเมล็ดพันธุ์และมีโรงเรือนอนุบาลต้นกล้าที่ ‘ฮึมเมอโล’ บ้าน สตูดิโอทำงานและโรงเพาะชำในเนเธอร์แลนด์
  • สวนฮึมเมอโลไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมแล้ว แต่ผู้คนยังติดตามไปชมผลงานออกแบบสวนของพีทยังที่ต่างๆ ได้ อาทิ สวน High Line ที่นิวยอร์ก หรือสวนที่แกลเลอรี Hauser & Wirth ในอังกฤษ ซึ่งเป็นผลงานมาสเตอร์พีซ หรือชมสารคดี Five Seasons ที่ติดตามการทำงานและสัมภาษณ์แนวคิดเรื่องสวนของนักออกแบบสวนคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21

ด้านหลังแกลเลอรีที่ Hauser & Wirth ในมณฑลซอมเมอร์เซ็ต ประเทศอังกฤษ คือสวนโล่งกว้างที่เต็มไปด้วยแมกไม้นานาพรรณกว่า 57,000 ชนิด อาทิ ต้นหญ้า หญ้า และหญ้า

ถ้ามองไปทางไหนก็เจอหญ้าสารพัดชนิด จนไม่แน่ใจว่านี่คือสวนที่ถูกออกแบบโดยนักจัดสวนระดับโลก หรือว่าเป็นพื้นที่รกร้างที่มีหญ้าขึ้นรก คุณมาถูกที่แล้ว ยินดีต้อนรับเข้าสู่จักรวาลของ Piet Oudolf

pi 7

ผู้สร้างกระแสคลั่งหญ้า

“มันเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง และมีพลังมาก” พีท อูดอล์ฟ นักออกแบบแลนด์สเคปชาวเนเธอร์แลนด์กล่าวถึงเหตุผลที่เขาหลงรักต้นหญ้า พร้อมบอกต่อว่า “แค่มีหญ้า คุณก็จัดภูมิทัศน์ สร้างป่า เนรมิตโลกของคุณเองได้แล้ว”

pi 6

และนั่นก็เป็นภาพที่เกิดขึ้นจริงที่ Hummelo ‘บ้าน’ ของพีทและอันยา คู่ชีวิตในเกลเดอร์ลันด์ จังหวัดใหญ่ที่สุดของเนเธอร์แลนด์

pi 17

พีทและอันยาเข้าไปบุกเบิกโรงนาเก่าโทรมที่สร้างตั้งแต่ช่วง ค.ศ.1850 แล้วนับตั้งแต่ปี 1982 ก็ได้สร้างโรงเรือนอนุบาลให้ต้นอ่อนของหญ้าและพืชล้มลุก ซึ่งได้กลายเป็นพืชประจำตัวของพีทไปอีก 4 ทศวรรษ ตั้งแต่หญ้ามิสแคนทัส หญ้าเส้นผม หญ้าดอกขาว สาบเสือ ต้นแสงอรุณหรือดอกเอ็กไคเนเซียที่นิยมทำเป็นยาแก้หวัดหรือสมุนไพรเสริมภูมิคุ้มกัน ดอกอัสดง ตี้หวี ไปจนถึงครามป่า ซึ่งลำต้นล้วนอ่อนบางไหวเอนแม้โดนลมเบาโบกโบย ใบสีเขียวตัดกับใบแก่โรยสีน้ำตาล ช่อดอกสีฟ้า ชมพู ขาว ม่วง และทุกๆ สีที่ธรรมชาติจะสร้างได้ แทรกซ้อนสลับกันเป็นพรมทุ่งหญ้าเต็มพื้นที่เกือบ 4 ไร่

pi 5

ภาพเช่นนี้เองที่ใครได้มาเห็นเข้าที่ฮึมเมอโลก็เป็นอันต้องมนตร์ กระแสธารแห่งความปลาบปลื้มในสวนของพีทและอันยาได้ก่อเกิดเป็นกระแสที่เรียกว่า New Perennial ที่ผู้คนลุกขึ้นมาคลั่งไคล้สวนสไตล์ทุ่งหญ้าและพืชล้มลุกที่หน้าตาน่าถอนเหมือนวัชพืช ไม่แค่เฉพาะในเนเธอร์แลนด์ หาก ‘ไข้หญ้า’ แพร่ระบาดลามไปทั่วโลก

ลายเซ็นในสวน

เสน่ห์ของสวนพีท อูดอล์ฟอยู่ตรงไหน

สวนของเขาคล้ายว่าจะให้ต้นไม้ใบหญ้างอกเงยอย่างอิสระ หากก็ไม่ใช่เสียทีเดียว กลับกันพีทจะใช้เวลาร่างแบบสวนนานนับปี หรืออาจจะหลายปีกว่าที่พืชทั้งหลายจะได้สัมผัสดิน เขาวาดภาพให้หญ้ามิสแคนทัสที่ขึ้นเป็นพุ่มหนาและช่อดอกขาวเรียวยาวราวกับไม้กวาด ประกบกับพุ่มต้นแองเจิลไต้หวันที่ช่อดอกสีม่วง หรือแม้แต่ทางเดินที่มีช่องว่างระหว่างก้อนอิฐ เขาจะหาหญ้าที่ไม่สูงเกินไปนักไปลงดินไว้ ดังนั้นสวนของพีทจึงเป็นเส้นบางๆ ระหว่างการจัดวางอย่างมีระเบียบกับการเติบโตอย่างอิสระ

pi 16

เอกลักษณ์อีกอย่างในสวนของพีทคือ สวนที่งอกงามในทุกฤดูกาล เขารู้จักต้นไม้ดีราวกับพ่อที่รู้จักลูกของตัวเอง พีทรู้ว่าลูกของเขาในฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวจะมีสีสัน รูปทรง ผิวสัมผัสหรือกระทั่งอารมณ์เช่นไร นั่นทำให้สวนของพีทได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘สวน 5 ฤดูกาล’ ดังที่ Rick Darke นักพฤกษศาสตร์กล่าวไว้ในสารคดี Five Seasons สารคดีที่ติดตามการทำงานของพีทว่า

“สวนของเขาสอนให้เราได้เห็นในสิ่งที่เราไม่เคยมอง” เพราะเมื่อได้สัมผัสสวนของพีทก็ราวกับได้สดับบทกวี ผู้คนจะเห็นมากกว่าสิ่งที่ตาเห็น แต่รู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติอย่างดำดิ่งยิ่ง ซึ่งนั่นคือฤดูกาลที่ 5 ที่เกิดขึ้นภายในใจ

 

pi 3

pi 2

พีทกล่าวว่า การทำสวนคือ ‘การงานที่ไม่มีวันจบสิ้น’ เพราะไม่มีวันไหนเลยที่สวนจะเหมือนเดิม เมื่อวานไม่มีดอกไม้แต่วันนี้ดอกไม้บาน พรุ่งนี้ดอกไม้เริ่มโรยรา วันต่อมาใบไม้เริ่มเปลี่ยนสี สวนจึงเป็นสัญลักษณ์ของความหวัง เป็นดั่งคำมั่นสัญญาของการเปลี่ยนแปลง นั่นเป็นเหตุผลเดียวกับที่เขายืนยันเสมอมาว่าควรจะมีสวนในเมือง เพราะสวนที่มีความหลากหลายจะช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับผู้คน หรืออย่างน้อยก็ได้กระตุกความคิดคนได้ว่า “โอ๊ะ โลกมีพืช (หรือแมลง) หน้าตาแบบนี้ด้วยรึ” แค่นั้นหน้าที่ของนักออกแบบสวนอย่างเขาก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

pi 12

pi 1

พีทยังให้ความสำคัญกับรูปทรงของใบมากกว่าสีสันของดอก เพราะว่าดอกไม้จะบานเพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่สิ่งที่เราจะเห็นทุกเมื่อเชื่อวันก็คือใบ ดังนั้นใครที่คิดจะทำสวน อย่าคาดหวังแค่จะได้มองดอก และใครที่จะเริ่มปลูกต้นไม้หรือทำสวนก็ให้เลือกต้นไม้ที่ตัวเองชอบและก็ปลูกไปเลย อย่าคิดมาก และก็ “อย่าพยายามจะเป็นนักจัดสวน” พีทกล่าว

โลกจะต้องการสวนมากขึ้นเรื่อยๆ พีทแสดงทัศนะ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สามารถเกิดวิกฤตร้ายแรงได้ตลอดเวลา คนยิ่งเครียดก็ยิ่งต้องการแหล่งระบายหรือพื้นที่บำบัดใจ และสวนก็ทำหน้าที่นั้นได้เป็นอย่างดี ดังที่โควิด-19 ได้สอนพวกเรามาแล้ว ช่วงล็อกดาวน์ที่ไม่มีอะไรทำ กระแสปลูกต้นไม้ทำสวนก็เกิดบูมขึ้นมา เมื่อโควิดคลายลง กระแสเดินป่า ปีนเขา ตั้งแคมป์ใกล้ชิดธรรมชาติก็กลายเป็นกิจวัตรใหม่

pi 8

pi 13

pi 10

Lurie Garden

pi 11

Lurie Garden

หลังจากเปิดให้ผู้คนเยี่ยมชมสวนฮึมเมอโล ซึ่งเป็นเสมือนเทศกาลพฤกษศาสตร์แห่งเนเธอร์แลนด์มาหลายทศวรรษ พีทและอันยาตัดสินใจปิดสวนไปเมื่อปี 2010 เพื่อจะได้มีเวลาส่วนตัวและชื่อเสียงของพีทก็โด่งดังมากจนเขาเป็นที่ต้องการตัวไปทั่วโลก ซึ่งเปิดทางให้ผู้คนสามารถสัมผัสสวนของพีทได้ตามที่ต่างๆ อาทิ สวน High Line ที่นิวยอร์ก Lurie Garden ในสวนสาธารณะมิลเลนเนียลพาร์กในชิคาโก Maximilian Park ที่เมืองฮัมม์ เยอรมนี Scampston Hall ในมณฑลยอร์กเชอร์ อังกฤษ สวนหลังร้าน Noma ร้านอาหารมิชลินสตาร์ชื่อดังในกรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก สวนภายใน Serpentine Gallery ในลอนดอน หรือสวนที่แกลเลอรี Hauser & Wirth ซึ่งเป็นผลงานมาสเตอร์พีซของพีท อูดอล์ฟ

pi 14

Noma Restaurent Denmark

pi 15

Noma Restaurent Denmark

ที่มา: https://thenewperennialist.com/closing-time-goodbye-to-hummelo/
https://flowermag.com/
https://www.gardenista.com/posts/
https://www.instagram.com/pietoudolf/
https://oudolf.com/

Tags: