About
ART+CULTURE

Polychrome

‘กรรณชลี งามดำรงค์’ ผู้สร้างงานทอพลาสติกฉีกกรอบศิลปะ สู่ความอิสระ ยืดหยุ่น ไร้พรมแดน

เรื่อง เบญญาภา ขวัญเมือง Date 22-10-2022 | View 1033
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • แอน-กรรณชลี งามดำรงค์ คือเจ้าของสตูดิโอออกแบบ Slowstitch Studio ดีไซเนอร์และศิลปินอิสระผู้สร้างสรรค์งานศิลปะด้วยเทคนิคการทอ จนเกิดเป็นลวดลายอันงดงามที่ไม่มีขีดจำกัดของคำว่ารูปแบบและกฎเกณฑ์
  • Polychrome เป็นนิทรรศการครั้งที่สองของเธอ โดยครั้งนี้เธอนำเอาพลาสติกมาทดลองตัดเย็บขึ้นรูปผ่านการถักทอ และหยิบจับเอาฟอร์มของลวดลายและรูปทรงของชิ้นงานที่ทำร่วมกับศิลปินในท้องถิ่นมานำเสนอ เพราะมองเห็นว่าความเรียบง่ายในรูปทรงเรขาคณิตเป็นภาษาสากลของคนหลายชาติพันธุ์ที่สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันได้

Polychrome คือนิทรรศการครั้งที่สองของ แอน-กรรณชลี งามดำรงค์ เจ้าของ Slowstitch Studio ที่สร้างสรรค์งานศิลปะจาก ‘พลาสติก’ ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่น ผ่านเทคนิคการทอที่ไร้ขีดจำกัดจากกรอบของคำว่ารูปแบบและกฎเกณฑ์ อาศัยมุมมองของศิลปินสิ่งทอแตกลายในสิ่งที่เห็นและทดลองเล่นกับไอเดียของตัวเอง

นิทรรศการชุดนี้ แอนทำงานร่วมกับศิลปินอีกสองคน เธอมองว่า ‘ความยืดหยุ่น’ ในการทำงานร่วมกับผู้อื่นที่ต้องอาศัยการรับฟัง แลกเปลี่ยน ก็คงไม่ต่างจากคุณสมบัติสำคัญของพลาสติกที่มีความยืดหยุ่นเช่นกัน

วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักตัวตน แนวคิด และกระบวนการทำงานของ แอน – กรรณชลี ผ่านบทสนทนา และผลงานครั้งนี้ของเธอ

PO 12

แอน-กรรณชลี งามดำรงค์ เจ้าของ Slowstitch Studio

อยากทำในสิ่งที่ต่างจากเดิม

“จริงๆ เราทำงาน Textile มานานแล้ว ที่เรียนมาก่อนหน้านี้ก็คือออกแบบสิ่งทอ แต่หลังจากเรียนจบเรามีไปเป็นดีไซเนอร์บ้าง ออกมาทำแบรนด์บ้าง มันก็เลยห่างหายจากการทอไปค่อนข้างนาน” นิทรรศการครั้งนี้เหมือนทำให้แอนได้เคาะสนิมความรู้สึกและทบทวนตัวเองอีกครั้ง

แม้เธอจะบอกกับเราว่าอยากกลับมาจับงานทอ แต่ดูเหมือนความรู้สึกครั้งนี้จะแตกต่างออกไปจากทุกทีเพราะเธอไม่ได้อยากทำงานทอหรืองาน Textile ให้ออกมาในเชิงดีไซน์ที่เน้นฟังก์ชันการใช้งาน กลับอยากสร้างงานศิลปะเพื่อสื่อถึงกระบวนการทำงานของวัสดุเป็นสำคัญ

“พอมันอยู่ในบทบาทของศิลปะ เรารู้สึกว่ามันให้อิสระมากกว่าที่จะทำงานดีไซน์เพื่อฟังก์ชัน หรือว่าเพื่อให้มันใช้งานได้จริง นิทรรศการครั้งนี้เราเลยอยากพูดถึงเรื่องฟอร์มแล้วก็วิธีการในการทำงานมากกว่า” คู่สนทนาเล่าถึงแนวคิดในการทำงานช่วงนั้น

ทำไมถึงเลือกใช้พลาสติกในการบอกเล่าเรื่องราว คงเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยเหมือนกับเรา…ไม่นานแอนก็คลายความสงสัยให้เราได้ฟังว่า “พี่ชายเราทำโรงงานถุงพลาสติกแบบสำหรับอาหารแช่แข็ง แล้วมันจะมีถุงที่เวลาผลิตแล้วไม่ผ่านคิวซีถูกกองๆ ไว้ เรารู้สึกว่ามันเยอะมากบวกกับเราเป็นคนที่เสียดายของในทุกๆ มิติการทำงาน เราเลยขอส่วนที่ไม่ผ่านคิวซีมาเก็บไว้แล้วหยิบมันมาทำงาน”

เธอมองว่าพลาสติกมีคุณสมบัติที่น่าสนใจ จะทำให้แข็งหรืออ่อนก็ได้ มีความโปร่งแสงมีความทึบที่ไม่เหมือนกัน บวกกับมีสีสันให้เลือกค่อนข้างเยอะ เพราะรับจากโรงงานทำถุงหลากสี

PO 15

Polychrome จึงเริ่มจากตัวศิลปินสนใจในวัสดุ ควบคู่กับความรู้สึกที่อยากกลับมาทำงานทออีกครั้ง ในจังหวะที่ค้นพบความสนใจอีกหนึ่งสิ่งในช่วงที่ผ่านมา “สองปีที่แล้วเรามีโอกาสได้ไปทำงานกับชุมชนมากขึ้น ได้เห็นอะไรหลายอย่างในชุมชนและกลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์ ที่เราเข้าไปทำงานด้วย” แอนมีความสนใจเรื่องเครื่องแต่งกาย วัฒนธรรม การจับวางในชิ้นงาน ไปจนถึงสกิลที่แต่ละชาติพันธุ์มีเป็นทุนเดิม เธอจึงคิดว่าหากได้ร่วมทำงานกับพวกเขาเหล่านั้นอาจจะเกิดอะไรบางอย่างที่ไม่คาดคิด

PO 1

บทสนทนาระหว่างเรา

ชิ้นแรกในนิทรรศการเป็นผลงานผ้าทอสองมิติที่เกิดขึ้นจากกระบวนการแลกเปลี่ยนและทดลองร่วมกันกับช่างฝีมือจากลีซู เป็นลวดลายที่คุ้นตา เพราะเรามักจะเห็นบ่อยครั้งตามลายกระเป๋าหรือเครื่องแต่งกายชาวเขาลีซู งานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงฝีไม้ลายมือของศิลปินได้อย่างดี ทั้งเทคนิคและประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น การจับวางโทนสีต่างๆ รวมถึงการไม่ยึดติดอยู่กับวัสดุเดิม

“อันนี้ก็จะเป็นลายผ้าของเขาเลย แต่เราให้เขาทำใหญ่ขึ้นมา นอกนั้นเราให้อิสระเขาเต็มที่ในการทำงาน เพราะเราอยากให้มันเป็นเรื่องของกระบวนการ เลยแค่ส่งวัสดุให้เขาอย่างเดียว ถ้าเราทำในฐานะดีไซเนอร์เราต้องเป็นคนกำหนดสีว่าจะเอาแถบนี้สีนี้ แต่ครั้งนี้เราอยากหลุดออกมาจากกรอบเดิม”

PO 11

พร้อมกับความตั้งใจที่อยากถอดฟอร์มของลวดลายออกมา เพราะเธอมองเห็นว่าความเรียบง่ายในรูปทรงเรขาคณิตน่าจะเป็นภาษาสากลที่ผู้คนสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเส้น สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม หรือกากบาท ล้วนเป็นภาษาดีไซน์ที่คนเข้าใจทั่วโลก หรือที่แอนบอกกับเราว่ามันเป็นฟอร์มแบบ Geometric ด้วยความเป็นสากลตรงนี้เธอจึงอยากดึงฟอร์มลายผ้าของลีซูเพื่อสื่อสารผ่านรูปแบบงานศิลปะที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

PO 14

ผลงานผ้าทอสองมิติที่เกิดขึ้นจากกระบวนการแลกเปลี่ยนและทดลองร่วมกันกับช่างฝีมือจากลีซู

หลายคนอาจมองว่าทำงานกับชุมชนต้องดึงเอาเอาอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนแต่ละชนเผ่าออกมา ต้องเฟ้นหาความหมายของลวดลาย ต้องรักษาอัตลักษณ์และแสวงหาวิธีการเพื่อนำมาสู่โลกสมัยใหม่…แต่นั่นไม่ใช่สำหรับเธอ “สิ่งเหล่านั้นสำหรับเราพอได้ไปถามพวกเขา เขาไม่ค่อยรู้หรอกว่าลายนี้แปลว่าอะไร เขาจะบอกเสมอว่าก็แม่สอนมาแบบนี้ ยายสอนมาแบบนี้ เราเองก็มองว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดา สิ่งใดที่มันไม่เข้ากับยุคสมัยมันก็อาจจะไม่ได้อยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนที่เขาจะต้องรู้ แต่เมื่อเขายังมีสกิลอยู่ นั่นคือสิ่งที่เราสนใจ”

PO 8

“เมื่อคุณมีสกิลอยู่ ณ วันนี้เราก็อยากรักษาไว้ แต่ถ้าอีก 10 ปี 20 ปีมันจะหายไปก็ไม่เป็นไรเพราะว่ามันเป็นไปตามธรรมชาติของวัฒนธรรม ถ้าไม่มีความต้องการแล้วจะหายไปก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้” แอนค่อยๆ พาเราเดินดูผลงานทีละชิ้น ขณะเดียวกันก็ค่อยๆ บอกเล่ากระบวนการการทำงานและความตั้งใจ ทำให้เราได้รู้จักตัวตนและมุมมองของเขาผ่านผลงานไปพร้อมๆ กัน

PO 10

แม้เธอจะสนุกที่ได้ทำงานร่วมกับบุคคลมากฝีมือ ได้แลกเปลี่ยนบทสนทนาและได้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ แต่แอนก็ไม่ลืมที่จะพูดคุยกับบุคคลที่เธอควรจะทำความเข้าใจเขามากที่สุดอย่าง ‘ตัวเธอเอง’ มีหลายชิ้นงานที่แอนนำพลาสติกมาตัดเย็บและร้อยเรียงเข้าด้วยกันเหมือนเป็นการกลับมาจดจ่อและทบทวนความรู้สึกที่เธอมีต่องานทออีกครั้งหลังจากห่างหายไปนานสิบปี “ตอนนี้เราไม่ได้อยากทอผ้าเพื่อมาเป็นผ้าพันคอ ผ้าห่ม หมอน แต่เรามองว่าการทอเป็นกระบวนการที่คล้ายๆ กับ Painting หรือ Drawing เพียงแต่เราใช้เส้นด้ายเป็นตัวสร้างแพทเทิร์น สร้างสี สร้างเทกเจอร์ เหมือนเราใช้ภาษาของ Textile ในการทำงานตามแบบของเรา” เสียงจากก้นบึ้งความรู้สึกบอกกับเธอ

PO 13

แอนเลือกทิ้งความเป็นดีไซเนอร์ไว้ชั่วขณะ “ตอนที่ทอก็คือทำโดยที่ไม่ได้คิดแพทเทิร์นไว้ในหัว เรามีวัสดุอะไรที่อยู่ใกล้ตัวแล้วมันน่าสนใจเราก็เอาหลายๆอย่างมามิกซ์กัน อย่างที่บอกว่าเหมือนกับเราทำ Painting แต่ว่าใช้ด้ายเป็นตัวสื่อ” เธอสนุกกับการนำพลาสติกมาใช้เป็นวัสดุและจดจ่อกับสิ่งตรงหน้าในทุกครั้งที่ได้เริ่มลงมือทำ ใช้จินตนาการที่ไร้แบบแผนเป็นเข็มทิศในการออกแบบผลงาน กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงานของเธอจึงมักเริ่มต้นจากการนำความรู้สึกในแต่ละช่วงเวลามาใช้เป็นวัตถุดิบหลัก “อย่างชิ้นนี้เส้นยุ่งเหยิงวุ่นวายไปหน่อยช่วงนั้นเสพข่าวยูเครนเยอะ” (หัวเราะ)

PO 4

หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่สมาธิและการมีอิสระทางความคิด “เราชอบที่มันตั้งต้นจากความว่างเปล่า แต่พอเริ่มเอาเส้นสายมาขัดกันมันจะเกิดเป็นพื้นผิว สีสัน และมีเทคเจอร์ขึ้นมาทีละนิดๆ ชอบตอนทอไปทีละเส้น ในจังหวะนั้นเราจะค่อยๆ เห็นงานก่อร่างขึ้นมา ทุกขั้นตอนต้องอาศัยความละเอียดแม่นยำ มือ ตา สมอง ร่างกาย มันเป็นส่วนหนึ่งไปกับกระบวนการนี้ทั้งหมดเลย” หญิงสาวผมสั้นผู้หลงใหลในการทำงานฝีมือกำลังพูดถึงเสน่ห์ของงานทอให้เราได้ฟัง

PO 7

ทุกคนล้วนเป็นศิลปิน

นอกจากนี้พลาสติกในนิทรรศการยังตีความและหมายรวมถึงผ้าใยสังเคราะห์ หรือโพลีเอสเตอร์ ทำให้ Polychrome ได้ก้าวไปเล่าเรื่องอีกชุมชนงานฝีมือทางภาคเหนือในจังหวัดลำพูน จึงมีชิ้นงาน 3 มิติ ที่เธอได้ทำร่วมกับศิลปินท้องถิ่น นำหมอนปล่องมาเป็นสื่อกลางในการนำเสนอกระบวนการการทำงานร่วมกัน ไม่ได้เน้นหนักในด้านฟังก์ชันของการเป็นหมอน ยังคงเน้นเรื่องการหยิบจับเอาฟอร์มที่โดดเด่นออกมาสู่สายตาผู้คนให้มากขึ้น ผ่านการใช้เทคนิคผ้าพิมพ์ลายมัดย้อมเพื่อสร้างมิติให้ชิ้นงาน

เธอยังคงย้ำบอกกับเราว่า สิ่งใดประกอบขึ้นโดยมีเส้นเป็นพื้นฐาน เมื่อแยกองค์ประกอบยิบย่อยเหล่านั้นออกมา จะเห็นเลยว่ามันเป็นภาษามินิมอลอาร์ตที่เข้าใจง่าย

PO 3

ทำให้เรานึกถึงประโยคที่ว่า ‘ศิลปะเข้าถึงยาก’ นั่นอาจเป็นเพียงความจริงบางส่วน แต่ความจริงประการหนึ่งที่เราได้สัมผัสจากพื้นที่จัดแสดงงานแห่งนี้คือ ‘ศิลปะอยู่ในชีวิตประจำวันและสิ่งรอบตัว’ เรารู้สึกแบบนั้น ผลงานของ แอน กรรณชลี ยังสื่อให้เห็นอีกว่า งานศิลปะนั้นมีคุณค่าในตัวเองแม้จะใช้เพียงเทคนิคง่ายๆ ในการทำก็ตาม

PO 9

ส่วนลวดลายและสีสันบนหมอนปล่องมองผิวเผินก็ดูจะเป็นความสวยงามของลายย้อมตามปกติ แต่เธอกลับแฝงนัยบางอย่างเอาไว้ “หลายๆ ครั้งคนจะชอบนิยามว่าสิ่งนี้คืองานคราฟต์ งานโอทอป งานศิลปะ มันเกิดการแบ่งแยกขึ้นซึ่งเราไม่ค่อยชอบเรื่องเหล่านี้ การที่เลือกย้อมลายเส้นแบบเบลอๆ เพราะเราเองก็หวังจะให้เส้นเหล่านี้มันเบลอเข้าหากัน มันไม่ควรมีการแบ่งแยกหรือไม่ควรมีใครถูกลดทอนคุณค่าชิ้นงาน อย่างเราทำงานกับชุมชนก็ไม่ได้บอกว่าคนในชุมชนไม่ใช่ศิลปิน เขาเป็นทั้งช่าง ทั้งศิลปิน ทั้งดีไซเนอร์ ก็เหมือนกับเรา”

PO 6

และถ้าถามว่างานศิลปะที่ดีคืออะไร คงอยู่ที่ว่าเรากำลังใช้อะไรเป็นตัววัด ศิลปะจะเป็นอะไรก็ได้ การทำงานศิลปะไม่มีข้อจำกัด ไม่จำเป็นต้องอ้างอิงตามกรอบหรือหลักเกณฑ์ อาจเป็นเพียงผลงานที่ศิลปินนั้นพอใจและสนุกที่ได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ออกมาให้ผู้คนได้รับรู้และมองเห็น นั่นก็ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสารด้วยงานศิลปะที่สะท้อนให้เห็นตัวตนและความชอบของศิลปิน

PO 5

PO 2

“จริงๆ เราไม่ได้อยากให้คนมาตีความงานเรา แค่อยากให้เห็นว่าวัสดุนี้มันก็ทำแบบนี้ได้ อยากให้คนที่ได้มาดูเห็นถึงความสนุกเพราะเรารู้สึกว่าสีสันแล้วก็วัสดุที่เราเลือกใช้ รวมถึงการทำงานกับคนอื่นมันคือความสนุกที่เราอยากส่งต่อ แต่ถ้าเขาจะเห็นถึงเรื่องวัฒนธรรมว่ามาจากลีซู มาจากหมอนปล่องลำพูนก็เป็นเรื่องที่ดี กลับกันถ้ารู้สึกว่าเป็นงานอาร์ตอย่างเดียว นั่นก็โอเค” ผู้เป็นเจ้าของนิทรรศการบอกกับเรา ก่อนเธอจะทิ้งท้ายอย่างน่าประทับใจไว้ว่า

“ถ้าเรามองว่าการทำงานศิลปะมันเป็นเรื่องของไอเดีย ใครก็เป็นศิลปินได้” (ยิ้ม)

Polychrome
สถานที่: SAC Gallery ชั้น 3
เวลา: 10.00 – 18.00 น. (ปิดวันอาทิตย์- วันจันทร์ และวันนักขัตฤกษ์)
ระยะเวลาจัดแสดง: ตั้งแต่วันนี้ถึง 19 พฤศจิกายน 2565

Tags: