About
ART+CULTURE

Sea Something

ปรัชญา เจริญสุข ศิลปินนักเก็บเศษไมโครพลาสติกปั้นเป็นงานศิลปะ Best Painting of The Year

เรื่อง สุทธิดา หทัยศรัทธา ภาพ Annetology Date 30-04-2024 | View 2021
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับ ผึ้ง-ปรัชญา เจริญสุข ศิลปินที่เปลี่ยนขยะไมโครพลาสติกจากชายหาดในจังหวัดชุมพร กลายเป็นงานศิลปะเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องการจัดการขยะ และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับแหล่งน้ำ

เรานัดกับผึ้ง - ปรัชญา เจริญสุข ที่โฮมสตูดิโอในย่านพระรามสอง…ทำไมต้องเป็นศิลปินคนนี้ เพราะเราสะดุดตากับผลงานศิลปะจากไมโครพลาสติก ‘ปากน้ำชุมพร’ ที่เธอคว้ารางวัล 2023 UOB Southeast Asian Best Painting of The Year งานชิ้นนี้จัดแสดงอยู่ที่ National Gallery ที่สิงคโปร์

จากเด็กน้อยที่หลงรักงานประดิษฐ์เติบโตเป็นผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งต้องการส่งเสียงเรื่องไมโครพลาสติกผ่านงานศิลปะ และทำให้งานศิลปะนั้นเข้าถึงทุกคนได้ด้วยการเวิร์กช็อป อะไรคือแรงบันดาลใจ ตัวตน จุดยืนที่แน่วแน่

และหลังจากอ่านบทความนี้แล้ว การกลับไปทะเลครั้งหน้า คุณอาจมองทะเลด้วยสายตาที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป…เชื่อเลย

ขยะไมโครพลาสติก

จากประเพณีสู่ธีสิสไมโครพลาสติก

สนใจในการทำงานกับวัสดุตั้งแต่ตอนประถม เธอรู้ตัวมาตั้งแต่เด็กว่าชอบงานประดิษฐ์มากกว่าศิลปะประเภทอื่น วิชาการงานอาชีพคงเป็นความสุขเล็กๆ ในช่วงเวลานั้น ความหลงใหลในงานสร้างสรรค์ผลักดันให้เธอตัดสินใจเลือกเรียนคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ในรั้วศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

ขยะไมโครพลาสติก

ช่วงที่ต้องทำงานเรื่อง ‘‘ประเพณีไทย’ ผึ้งเลือกกลับไปสำรวจหาดทรายรีที่บ้านเกิดจังหวัดชุมพรในวันลอยกระทง ตอนนั้นเองเธอพบวัสดุทำงานศิลปะชิ้นใหม่ นั่นก็คือเศษซากขยะของกระทงที่เกลื่อนกลาดบนหาดทรายรี

เธอผูกพันกับชายหาดนี้ และรู้สึกตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่คิดว่าการขอขมาพระแม่คงคาจะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาคือขยะปริมาณมหาศาล “มันสะเทือนใจจริงๆ รู้สึกว่าเมื่อก่อนเราไม่เห็นเลย แต่พอกลับไปครั้งนี้ มันเปลี่ยนแปลงไป เราเลยตัดสินใจทำ”

ขยะไมโครพลาสติก

เธอสร้างสรรค์งาน Installation จากดอกไม้พลาสติก เศษกระทง ไฟแช็ค และเศษไม้ที่เจอบนชายหาด ของที่คนทิ้งไว้ เพื่อตะโกนบอกให้ทุกคนรู้ว่านี่แหละคือเศษซากที่เกิดจากการขอขมาพระแม่คงคาของพวกเราและไม่ได้ถูกจัดการอย่างถูกวิธีนะ

ขยะไมโครพลาสติก

ช่วงเรียนปริญญาตรีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมของผึ้งเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงช่วงเรียนปริญญาโทและต้องทำธีสิส เธอเลือกประเด็นขยะไมโครพลาสติกเป็นจุดโฟกัสหลักด้วยเหตุผลสั้นๆ ที่มาจากปลาทู!

“เราเห็นข่าวว่าพบไมโครพลาสติกในปลาทูที่จังหวัดตรัง เฉลี่ยต่อตัว 178 ชิ้น คือเราทำงานเกี่ยวกับขยะมา 2-3 ปีแล้ว ก็เคยได้ยินมาบ้างถึงขยะไมโครพลาสติก แต่ไม่รู้ว่ามันหน้าตาเป็นยังไง จนมาเห็นข่าว เฮ้ย! มันคือปลาทู ปลาที่เราชอบกิน รู้สึกว่ามันใกล้ตัวมากๆ เลยมาดูว่าหาดที่เราไปเก็บขยะเนี่ยมันมีไมโครพลาสติกไหม ปรากฏว่าก็มีจริงๆ”

ขยะไมโครพลาสติก

จากหาดทรายรีถึง ‘ปากน้ำชุมพร’

หลังจากรู้ว่าปัญหาขยะไมโครพลาสติกมันใกล้ตัวกว่าที่คิด เธอเริ่มศึกษาและสะสมเศษขยะพลาสติกจากหาดทรายรีที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร นำมาใช้เป็นวัสดุหลักในการทำงานศิลปะของเธอหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคือผลงาน ‘ปากน้ำชุมพร’ งานศิลปะขยะไมโครพลาสติกบนผืนผ้าใบสีดำที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2023

ขยะไมโครพลาสติก

ขยะไมโครพลาสติก

ขยะไมโครพลาสติก

อุปกรณ์หลักที่ผึ้งใช้ มีทั้งกระชอน ผ้าตาข่ายขนาดเล็กเท่ามุ้งลวดเพื่อร่อนเศษทรายออกก่อนจนเหลือเศษกิ่งไม้ พลาสติกชิ้นเล็กใหญ่ปะปนกัน จากนั้นค่อยแยกขนาดของพลาสติกอีกที จนเหลือเศษไมโครพลาสติกเล็กจิ๋ว

ขยะไมโครพลาสติก

ขยะไมโครพลาสติก

ขยะไมโครพลาสติก

งานศิลปะของผึ้งไม่ได้อาศัยพู่กัน แต่ใช้คีมคีบเศษไมโครพลาสติกแปะลงบนแคนวาสสีดำที่เธอวาดโครงร่างไว้ด้วยดินสอ แปะลงไปทีละชิ้นๆ จนกลายเป็นผังเมืองมุมมองแบบ bird’s-eye view ของชุมชนริมน้ำต่างๆ โดยแหล่งน้ำที่เห็นทำจากเศษไมโครพลาสติกสีขาวเพื่อให้ดูโดดเด่นและแตกต่างจากชุมชนที่ทำจากไมโครพลาสติกหลากหลายสีสัน ที่มองเผินๆ แล้วเหมือนหินสีเล็ก ๆ กลายเป็นผลงานทั้งสวยงามและมีความหมาย

ขยะไมโครพลาสติก

ขยะไมโครพลาสติก

ขยะไมโครพลาสติก

“เราอยากให้เห็นภาพรวม คนที่ดูไม่จำเป็นต้องรู้เลยว่าที่นี่ที่ไหน แต่รู้ว่านี่คือแหล่งน้ำที่ไหลออกสู่ทะเล มีชุมชนอยู่ ถ้าเราจัดการขยะไม่ดี มันก็จะไหลออกสู่ลำคลอง แม่น้ำ ออกสู่ทะเล และมันก็จะตีกลับมาหาเรา มันมีช่องทางที่เชื่อมกันอยู่” ผึ้งย้ำถึงเรื่องราวของเธอพยายามชี้ให้เห็นว่าทุกสิ่งมันเชื่อมโยงถึงกัน

ขยะไมโครพลาสติก

จากศิลปะสู่งานเวิร์กช็อป

เพราะศิลปินทำหน้าที่เป็นเพียงผู้บอกเล่า และผึ้งเชื่อว่าหน้าที่ของเธอคือการทำให้ปัญหานั้นถูกมองเห็นด้วยการเล่า แต่กระบวนการทำความเข้าใจจะเกิดได้จากการลงมือทำ

เวิร์กช็อป “ศิลปะจากขยะพลาสติก” จึงเกิดขึ้นตามมา เธอพร้อมพาทุกคนมาเรียนรู้ แยกขยะด้วยตัวเองก่อนำไปสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะที่มีแค่ชิ้นเดียวในโลก!

ไมโครพลาสติก

เครดิตภาพ : ปรัชญา เจริญสุข

ไมโครพลาสติก

เครดิตภาพ : ปรัชญา เจริญสุข

ไมโครพลาสติก

เครดิตภาพ : ปรัชญา เจริญสุข

กระบวนการเวิร์กช็อปของผึ้งไม่ซับซ้อนเลย เราแค่ลงมือเลือกวัสดุด้วยตัวเองในกระบะทรายขนาดใหญ่ที่ผสมปนเปด้วยก้อนหิน ดิน เศษไม้ เศษพลาสติก และอะไรต่ออะไรมากมายซึ่งร่อนมาจากทรายชายหาดจริงๆ ก่อนเอาไปคราฟต์เป็นงานอาร์ตตามใจชอบด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่า “เราไม่สามารถพาทุกคนไปที่ชายหาดได้ เราเลยเลือกจำลองชายหาดในกระบะทรายไปเพื่อให้เขาเข้าถึงสถานการณ์ได้ในแบบที่เราเคยเจอ”

ขยะไมโครพลาสติก

ขยะไมโครพลาสติก

กิจกรรมนี้จัดครั้งแรกที่ Art 4C อาร์ตแกลเลอรี่ย่านบรรทัดทอง ปรากฏว่าได้ฟีดแบ็กค่อนข้างดี มีกำลังใจจัดในครั้งต่อๆ มา “งานศิลปะมันสร้างการรับรู้ที่ต่างจากตัวหนังสือเพราะมันมีสุนทรียะที่เข้ามาบวกด้วย” เธอบอก

ขยะไมโครพลาสติก

จากนั้นทุกสิ่งก็เริ่มเปลี่ยน…

การลงพื้นที่ด้วยตัวเองทำให้ผึ้งได้ไปคลุกคลีอยู่กับคนในชุมชนละแวกหาดทรายรี ได้พูดคุยแลกเปลี่ยน และเห็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่เกิดขึ้น

ทุกครั้งที่เธอกำลังเก็บขยะ นั่งติดไมโครพลาสติกริมทะเล คนในชุมชนหลายวัยจะเข้ามาทักถามสิ่งที่เธอทำด้วยความสงสัย และเข้าใจมากขึ้นเมื่อเห็นภาพปริมาณขยะที่เก็บได้ “มีน้องคนหนึ่งบอกว่า ทำไมขยะถึงเยอะอย่างนี้ มันอิมแพ็กนะ เราเลยรู้สึกว่ามันก็ส่งผลให้ชุมชนเห็นได้เหมือนกัน”

ขยะไมโครพลาสติก

นอกจากชุมชนแล้ว ในครอบครัวเธอก็เริ่มเปลี่ยน จากเมื่อก่อนที่ไม่มีใครสนใจเรื่องนี้เลย วันนี้ทุกคนกลับชวนเพื่อนๆ หิ้วกระสอบคนละใบไปเก็บขยะกันตามชายหาดต่างๆ และส่งมาให้ผึ้งใช้ทำงานศิลปะที่กรุงเทพฯ เรียกได้ว่านี่คือกิจกรรมที่ไม่ได้แค่กระชับความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติ แต่กระชับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวผึ้งและส่งต่อไปถึงคนในชุมชน

หรือกระทั่งกับตัวเธอเอง การสะสมขยะพลาสติกกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว

ขยะไมโครพลาสติก

ขยะไมโครพลาสติก

เมื่อมองไปข้างหน้า

ในอนาคตผึ้งยังคงอยากบอกเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมต่อไป แม้ประเด็นสื่อสารอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น การขยายตัวของเมืองจนขวางทางเดินน้ำนำไปสู่ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กระทบสุขภาพของคนไทยเป็นวงกว้าง ซึ่งเธอนิยามมันว่าคือ “ความเปลี่ยนแปลงที่มนุษย์สร้างให้กับโลกใบนี้”

ขยะไมโครพลาสติก

ขยะไมโครพลาสติก

สำหรับงานศิลปะแล้ว ผึ้งอยากขยายพรมแดนของศิลปะไว้โชว์ไปสู่ศิลปะที่ใช้ได้จริง อยากเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นเครื่องประดับที่เราสวมใส่กันได้ทุกวันเลยด้วยซ้ำ “เราอยากทำจิวเวลรี่ เราอยากให้มันกลับมากลายเป็นของที่ใช้ได้จริง นึกถึงพวกเม็ดโอปอล ไข่มุกหอย เราว่ามันก็เป็นอัญมณีในยุคนี้ได้เหมือนกัน”

ขยะไมโครพลาสติก

ผึ้งกำลังจะมีนิทรรศการเดี่ยวปลายปีนี้ที่อาร์ตแกลเลอรี่ในเชียงใหม่ และประเด็นก็ยังคงอยู่กับไมโครพลาสติก เพราะไม่เพียงเป็นงานชิ้นเอกของเธอ แต่มันเป็นงานศิลปะที่เธอเชื่อว่าใครได้ดูจะรับรู้อิมแพคของมันได้ว่า ปัญหาไมโครพลาสติกในทะเลตอนนี้…มันวิกฤตแแล้วใช่ไหม?

Tags: