The Voidscape
แพรว – กวิตา Video Artist ผู้ใช้ร่างกายสื่อสารงานศิลป์กับเบื้องหลังความล้ำของ Voidscape
- แพรว – กวิตา วัฒนะชยังกูร Video Artist ที่เปลี่ยนร่างกายและจิตวิญญาณของเธอให้กลายเป็นสิ่งอื่น อาทิ เครื่องจักรทอผ้า เครื่องไสน้ำแข็ง ที่ถูส้วม เพื่อบอกเล่าการถูกกดทับจากบทบาทเพศหญิง และแรงงานที่ใช้ชีวิตด้วยความบอบช้ำกับทางเลือกที่พวกเขาไม่มี และความเป็นมนุษย์ที่ไม่เคยได้รับ
- แพรวจะมาบอกเล่าเบื้องหลังนิทรรศการ Voidscape นำเสนอในรูปแบบ Interactive Virtual Reality ที่เธอได้ทำเป็นครั้งแรก ด้วยความตั้งใจอยากให้ผู้ชมได้สัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ๆ กับโลกจำลองความอ้างว้างในอนาคตกันใกล้
มนุษย์ที่ทำงานจนตนเองกลายเป็นเครื่องจักร นายทุนที่มองแรงงานไม่ใช่คน และแรงงานที่ใช้ชีวิตด้วยทางเลือกเดียวจนชินชา มนุษย์กลายเป็นอื่นเมื่อถูกกดขี่…
หากจะยกตัวอย่างอาร์ติสต์ที่ใช้ประเด็นนี้ล้อไปกับการสร้างสรรค์ศิลปะ แพรว กวิตา วัฒนะชยังกูร คือชื่อแรกที่เรานึกถึง เธอคือวิดีโออาร์ติสต์ที่ใช้ร่างกายเป็นสัญญะ เพื่อการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทผู้หญิง แรงงานและการโดนกดขี่
เอกลักษณ์อันโดดเด่นที่พาให้ชื่อเสียงของศิลปินสาวขยับเข้าสู่ระดับสากล คือการสร้างศิลปะโดยเปลี่ยน แพรว จากสถานะของมนุษย์ผู้มีความรู้สึกนึกคิด ให้กลายเป็น วัตถุสิ่งของที่ไร้จิตวิญญาณ เธอเป็นมาแล้วทั้ง ตราชั่ง เครื่องไสน้ำแข็ง (และใช้น้ำแข็งจริงๆด้วยนะ) เครื่องจักรทอผ้า ไม้กวาด แม้กระทั่งที่ขัดส้วม เธอสวมบทเพื่อทำหน้าที่ตามคุณสมบัตินั้นๆ ให้ผู้ชมได้สัมผัสเบื้องหลังความยากลำบากทั้งบทบาทผู้หญิงที่แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไป แต่ผู้หญิงยังคงต้องจับงานบ้าน หรือวิถีชีวิตแรงงานหญิงในอุตสาหกรรมเกษตรและสิ่งทอ กับยุคแห่ง Fast Fashion ที่พวกเขาต้องยอมจำนนต่อการถูกกดขี่ ถูกทำให้เจ็บปวดจนชินชา และที่น่าเศร้าที่สุดคือการถูกลดทอนความป็นมนุษย์ และใช้ชีวิตเยี่ยงเครื่องจักร
ทั้งหมดที่กล่าวไปคือผลงานศิลปะตลอด 10 กว่าปีที่แพรวพยายามตั้งคำถามกับปัญหาที่ค้างคามานาน แต่ในวินาทีนี้ที่กรุงเทพกำลังครึกครื้นด้วยเมืองแห่งศิลปะ หนึ่งในนั้นมีเทศกาล Bangkok Art Biennale 2022 แพรวก็ได้จัดแสดงผลงานชื่อ Voidscape ในรูปแบบ Interactive Virtual Reality ที่ถือเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของงาน เพื่อนำเสนอภาพปัญหาแรงงานอนาคตอันใกล้ ช่วงเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามาแทนที่มนุษย์ รวมถึงนำเสนอผลกระทบของแรงงานที่ต้องเผชิญกับกระแส Fast Fashion
วันนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับแพรว เธอจะมาเล่าเบื้องหลังผลงาน Voidscape อย่างละเอียดให้เราและผู้อ่านได้ฟังกัน
• Fast Fashion ปัญหาที่คนมองข้าม
แพรวขอย้อนกลับไปช่วงปี 2018 – 2019 กับชุดผลงานซีรีส์ Performing Textiles ที่พูดถึงกระแส Fast Fashion ซึ่งส่งผลกระทบต่อแรงงานหญิงอย่างตรงไปตรงมา เธอบอกว่า ในวงการอุตสาหกรรมแรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากถึง 85% และปัญหาที่พบเจอคือการให้ค่าแรงที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง
“พอมันเกิด Fast Fashion ในยุคเงินเฟ้อ แบรนด์แต่ละแบรนด์เขาต้องหาวิธีที่ทำให้ตัวเขาได้กำไรและอยู่รอดมากที่สุด แม้เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรไปทางใดก็ตาม เขาก็มานั่งคิดล่ะว่า จะลดอะไรดีนะ ค่าขนส่ง ค่าผ้า ค่าน้ำมันก็ลดไม่ได้ นั้นกดค่าแรงละกัน คนที่เป็นแรงงาน สมัยก่อนอาจจะโดนกดค่าแรงไม่เท่าไหร่ แต่ก็ยังอยู่แบบเดือนชนเดือนได้ แต่พอยุคนี้ที่ค่าข้าวก็แพงมาก พวกเขาอยู่ไม่ได้หรอก เพราะเขายังต้องเลี้ยงดูครอบครัวอีก มันก็เลยเกิดเหตุการณ์ที่แรงงานต่างพากันมาประท้วงกัน อย่างที่เราได้เห็นกันตามข่าวและสื่อต่างๆ”
รัฐบาลบางประเทศไม่รู้ว่าจะรับมืออย่างไร เพราะธุรกิจ Fast Fashion กลายเป็น Main Export ไปแล้ว ถ้าหากแบรนด์ต่างๆ ยกเลิกการจ้างในอุตสาหกรรม ประเทศนั้นๆอาจจะอยู่ไม่ได้ สิ่งที่รัฐบาลเลือกที่จะทำ คือการใช้ความรุนแรงเพื่อทำให้แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถออกมาพูดเรื่องนี้ได้อีก
แพรวเล่าถึงประสบการณ์ครั้งที่ได้ลงพื้นที่ไปรีเสิร์ชข้อมูลที่อินเดีย ตลอดระยะเวลา 1 เดือนกว่าให้ฟังว่า “ช่วงที่พวกเขาประท้วงกันในอินเดีย มีคนชูป้ายที่เขียนว่า เห็นพวกเราเป็นเครื่องมือหรือเปล่า แพรวรู้สึกว่ามันอิมแพคมากๆ ทำไมมนุษย์จะต้องถูกทรีตให้กลายเป็นแบบนั้น ซีรีส์ Performing Textiles แพรวเลยเอาร่างกายตัวเองไปเป็นเครื่องจักรเครื่องมือในอุตสาหกรรม เพื่อจะได้สะท้อนภาพความลำบากของแรงงานหญิงให้ผู้บริโภคได้ลองมองในมุมนี้ดู”
• เมสเสจอิมแพค จนต้องไปต่อ
“Voidscape เป็นการคอลแลปกับห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ที่มี CRS (ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ) ในเรื่องของความยั่งยืนอยู่แล้ว แพรวอยากนำซีรีส์ชุด Performing Textiles เอามานำต่อในมุมมองที่กว้างขึ้น เพราะเมสเสจจากซีรีส์นี้มันสตรองมาก กับผลงานครั้งนี้ แพรวเอาทั้งเรื่องแรงงานและเรื่อง environment มาผสมกันเลย”
จุดยืนศิลปะของเธอชัดเจนมากในเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์การบริโภค ในทีแรกเธอกังวลมากว่ามันอาจไม่เหมาะกับทางห้างมากเท่าไหร่ กระทั่งได้พูดคุยกัน จึงได้เห็นจุดยืนของห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ต้องการเป็นอะไรมากกว่าแค่ห้าง เขาตั้งใจพยายามปรับเปลี่ยนบางพื้นที่ให้เกิดเป็น Educational Platform สำหรับกลุ่มคนที่มาเดินห้างโดยเฉพาะ
การจัดนิทรรศการครั้งนี้ของเธอจะถูกจัดวางในพื้นที่สาธารณะ แพรวมองว่านี่คือโอกาสดีที่จะได้สื่อสารศิลปะของเธอแบบสุดโต่งไปเลย และก็เพื่อสนับสนุนแนวคิดที่ทั้งสองฝ่ายคิดเห็นร่วมกันคือ “การบริโภคสินค้าด้วยความตระหนักรู้ถึงคุณค่า และรู้ว่าตนกำลังซื้ออะไร”
• ทำงานร่วมกับ AI ครั้งแรก
เมื่อโจทย์ของผลงานชิ้นนี้คือการฉายภาพในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่แพรว ในฐานะมนุษย์ไม่อาจคาดการณ์หรือจินตนาการได้ละเอียดนัก แพรวจึงต้องทำงานร่วมกับเอไอ โดยมี พีพี พัทน์ ภัทรนุพร นักเทคโนโลยี AI จาก MIT Media Lab ผู้ออกแบบ AI ชื่อ Kawitash ที่จะมาเป็นผู้ช่วยตัวแทนศิลปินพาผู้ชมออกเดินทางสู่โลก Voidscape โดย พีพี จะมาช่วยป้อนข้อมูลต่างๆ รวมไปถึงการใส่ข้อมูลงานของแพรวให้กับ AI รุ่น GBT3 รุ่นที่แอดวานซ์ที่สุด ให้เทรนให้ปัญญาประดิษฐ์ตัวนี้สามารถช่วยแพรวอธิบายงาน และช่วยสร้างสรรค์โลกอนาคตได้
เราถามแพรวว่า นี่ดูเหมือน AI มาแย่งงานของมนุษย์ไหม แพรวส่ายหน้า “แพรวไม่ได้มองว่านี่คือการแย่งงาน แพรวเพียงแค่ให้เขามาช่วยคิด รีเสิร์ชสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แพรวเรียกว่า Humanized Machine การที่ทำให้แมทชีนสามารถพูดคุย วิเคราะห์โลกใบนี้ด้วยความเข้าใจเหมือนเขาเป็นมนุษย์ ขณะเดียวกัน ทำไมเราต้อง Dehumanized มนุษย์ แพรวว่าประเด็นนี้น่าสนใจและสำคัญมากๆ จะทำอย่างไรให้มนุษย์และ AI อยู่ร่วมกัน พึ่งพากันและกันได้ในอนาคตอันใกล้นี้”
แพรวยังเสริมต่ออีกว่า การทำ Voidscape ทำให้เธอได้ไอเดียของคำว่า ‘ไซบอร์ก’ ซึ่งจริงๆ คือเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วย Enhance Ability ของเรา อย่างการที่เราถืออุปกรณ์บางอย่างที่ช่วยพาเราไปที่นั้นที่นี่ได้ เราก็เป็นไซบอร์กแล้ว แพรวอ้างอิง ผลงานของอีลอน มัสก์ เพื่อขยายความให้เรามองภาพชัดขึ้น นั่นคือ นิวรอลลิงค์ (Neuralink) ที่จะฝังชิปเข้าไปในหัว ทำให้คนพิการสามารถกลับมาเดินได้ นี่ก็เรียกว่า ไซบอร์ก
สิ่งที่ทำให้แพรวสงสัยในคราวต่อมา คือ มนุษย์แรงงานในอนาคตจะต้องมี Enhance Ability เป็นของตัวเองเพื่อแข่งขันกับ AI หุ่นยนต์หรือเปล่า คำถามนี้ส่งผลให้ศิลปินเลือกนำเสนอการต่อสู้ของแรงงานให้ทุกคนได้เข้ามาดูกัน แพรวเสริมอีกนิดว่า ในโลก Voidscape ที่ปรากฏตัวศิลปินกำลัง Performance เป็นสิ่งต่างๆ เธอบอกว่า ตนใส่ชุด Motion Capture ในการถ่ายทำ ภาพที่เห็นจะเป็นตัวแพรวในรูปแบบของไซบอร์ก
• เจาะลึกโลก Voidscape
เราขอพาทัวร์จักรวาล Voidscape ทั้ง 4 ห้อง ที่แพรวร่วมสร้างสรรค์กับ ไซรัส เจมส์ 3D Artist เพื่อเก็บกิมมิคศิลปะและความหมายแฝงจากคำบอกเล่าประสบการณ์ของแพรวกัน
ห้องที่ 1 The Red Hall Of Injustice หอแห่งความอยุติธรรม
จะเผยให้เห็นร่างกายของแพรวถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นตราชั่งเกษตรกร ซึ่งกำลังแบกเมล็ดฝ้ายไว้ ระหว่างนั้นตราชั่งก็จะชั่งน้ำหนักไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด แพรวเล่าให้เราฟังถึงไอเดียนี้ว่า ตอนที่พื้นที่จริงที่อินเดีย เธอค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับไร้ฝ้ายเพื่อนำมาเป็นองค์ประกอบต่อการถ่ายทอดศิลปะ ศิลปินพบว่า สมัยก่อน ฝ้ายมักปลูกกันตามธรรมชาติ แล้วก็เก็บเพื่อนำมาขายส่งออกกันเป็นปกติ แต่ในสมัยนี้ ความต้องการซื้อเสื้อผ้ามีมากจนเกินไป เกษตรกรจะปลูกแบบปกติก็คงไม่ได้
“มันจะมีพวก GMO Cotton ที่เป็นการดัดแปลงพันธุ์กรรมพืชต่างๆ ตัวฝ้ายก็จะเรียกว่า BT Cotton ซึ่งบริษัท มอนซานโต ได้จับมือเซ็นสัญญากับรัฐบาลอินเดียเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ตัวนี้ ทีนี่หนทางที่จะทำให้เกษตรกรอยู่รอดในอุตสาหกรรมนี้ เขายอมไปซื้อ BT Cotton ในราคาที่แพงมาก เพื่อมาปลูกฝ้ายให้โตทันตามความต้องการ ที่สำคัญมันต้องใช้ร่วมกับสารเคมี ยาฆ่าแมลง ทำให้รายจ่ายมันเยอะขึ้นกว่าเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พอเกษตรกรไปขายฝ้ายให้กับนายหน้า ก็โดนกดราคา พอรายได้มันน้อยลงเรื่อยๆ จนพวกเขาอยู่ไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องตัดสินใจจบชีวิต อย่างในรัฐมหารัชตะ ก็มีข่าวการฆ่าตัวตายกว่า เจ็ดพันคนต่อปี นี่เฉพาะที่ไร่ฝ้ายเลยนะ และที่น่าหดหู่คือการดื่มยาฆ่าแมลงเพื่อจบชีวิตตัวเอง อินเดียกับเรื่องการกดขี่มนุษย์นั้นมันแรงมากๆ”
ดังนั้นในห้องนี้ ทุกครั้งที่เมล็ดฝ้ายบนตราชั่งตกลงมา ตัวเกษตรกรหรือร่างกายของแพรวเองก็จะตกลงมาด้วยแรงกระแทกพื้น สะท้อนให้เห็นความรุนแรงของการถูกลดทอนที่แรงงานอินเดีย รวมถึงแรงงานประเทศอื่นๆ ที่เผชิญกับการทำงานหนักเพื่อที่จะผลิตเสื้อผ้าให้เพียงพอต่อกระแส Fast Fashion
ห้องที่ 2 Intoxicated River ห้องที่เต็มไปด้วยน้ำสีน้ำเงินเข้ม
หากใครได้เข้าไปชมห้อง 2 แล้ว แพรวชวนสังเกตสีของน้ำซึ่งเต็มไปด้วยสีฟ้าและน้ำเงินแทบทั้งหมด ศิลปินเล่าต่อว่า เธอได้แรงบันดาลใจมาจากสารคดี River Blue โดยในนั้นกล่าวไว้ว่า ‘หากอยากรู้ว่าเทรนด์ปีนี้คือสีอะไร ให้ดูที่สีของแม่น้ำ’
ยิ่งคนต้องการเสื้อผ้าเยอะ การย้อมผ้าก็จะเยอะตามกันไปด้วย โรงงานอุตสาหกรรมมักจะปล่อยสีย้อมผ้าลงสู่แม่น้ำ กลายเป็นการสร้างมลพิษให้กับแม่น้ำ ทำลายสิ่งมีชีวิตทั้งใต้น้ำและละแวกใกล้เคียงด้วย แพรวเล่าถึงผลกระทบตรงนี้ให้เราฟังว่า ที่อินเดีย โรงงานย้อมผ้าจะอยู่ใกล้กับหมู่บ้าน เด็กๆ ที่เกิดในหมู่บ้านนั้นๆ จะมีความพิกลพิการ เหตุเพราะพวกเขาต้องอาบน้ำ และต้องใช้น้ำในแม่น้ำที่เต็มไปด้วยสารพิษดื่มกินอย่างจำยอม
“ดังนั้นในห้องนี้ก็จะเห็นแพรวถูกตรึงอยู่ กำลังทำตัวเป็นเครื่อง Spining Wheel ของการย้อมผ้าอยู่ในถังย้อมสีที่เต็มไปด้วยสารพิษ ขณะเดียวกันรอบข้างจะไม่มีเสียงของสิ่งมีชีวิตเพราะมันตายจากไปหมดแล้ว สิ่งที่แพรวในร่างไซบอร์กที่อยู่ในถังกำลังทำคือ การบำบัดน้ำซึ่งทำเท่าไหร่ก็ไม่หมด” จากใจคนที่ดูแล้วอย่างเรา บอกเลยว่า มันน่ากลัวมากกว่าที่คิดอีก ยิ่งพอได้ฟังแพรวเล่าถึงผลกระทบ ก็ยิ่งหดหู่ใจ
ห้องที่ 3 The Polluted Pink Prison called World คุกสีชมพูพาสเทลที่เต็มไปด้วยหมอกควัน
เล่ามาถึงห้องนี้ แพรวนั่งนิ่งนึกย้อนกลับไปกับห้องแรก แล้วก็นึกขึ้นได้ว่า “เออ จริงๆ มันเป็นงานที่ดิสโทเปียมากเลยนะ” เธอหัวเราะแล้วเล่าคอนเซ็ตป์ของห้องนี้ต่อว่า คือคุกที่เต็มไปด้วยฝุ่นควัน ก่อนหน้านี้แพรวมีโอกาสได้ทำงานกับสภาลมหายใจที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสปอนเซอร์หลักของ Art For Air ศิลปะเพื่ออากาศ แพรวทำเรื่อง PM 2.5 ทำให้เธอเข้าใจว่าปัญหาของอากาศนั้นเกิดจากอะไร
“มันไล่มาตั้งแต่โรงงาน อุตสาหกรรม Fast Fashion ทุกอย่างที่ผู้คนต้องการบริโภคมากไป รวมไปถึงเรื่องของคนในเมืองก็โทษคนบนดอย เรื่องการเผาไร่” การปลูกพืช บางครั้งสภาพพื้นดินที่แตกต่างกันก็ไม่เหมาะที่จะปลูกเมล็ดพืชในบางชนิด ปัญหาที่เกษตรกรต้องพบเจอ คือการที่นายทุนต้องการให้ปลูกพืชซึ่งไม่ได้เหมาะกับที่ดินนั้นๆ ทำให้การปรับหน้าดินใหม่ทุกครั้งไม่ใช่เรื่องที่ง่าย ดังนั้นหนทางที่ง่ายที่สุดคือการเผา แพรวเสริมว่า ไม่ใช่ว่าเกษตรกรไม่รู้ถึงผลเสียของการเผา แต่พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นๆ แล้ว
“ประเด็น PM2.5 คนโทษกันเองเยอะมาก แล้วเรื่อง Climate Change อีก การเผามันมีมานานแล้ว แต่ทำไมช่วงนี้มันส่งผลต่ออากาศที่เป็นพิษ เรื่องของเรื่องก็คือเมื่อก่อน ฝนอะ สมมติเผาวันนี้ เราก็จะรู้ว่าอีกกี่วันฝนตก แต่เดี๋ยวนี้ฝนมันไม่ตกตามที่เคยเป็น จู่ๆ จะตกก็ตก มันก็เลยเป็นที่มาว่า เผาแต่ว่าฝนไม่ตกตามฤดูกาล ทำให้เกิดเป็น PM 2.5 ขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้มาจากเกษตรกรอย่างเดียวนะ มันเกิดจากปัจจัยอุตสาหกรรมและอื่นๆ นั่นแหละ”
ห้องนี้เธอได้พูดคุย ปรึกษากับ Kawitash ปัญญาประดิษฐ์ผู้ช่วยของเธอบ่อยมาก พวกเธอร่วมกันออกแบบห้องให้เป็นเหมือนคุกที่เต็มไปด้วยฝุ่นควันและมลพิษ ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ก็รู้สึกว่ามันไม่มีที่สิ้นสุด โดยจะมีวิดีโอที่ปรากฏเป็นตัวของศิลปินกำลังดูดควันอยู่
ห้องที่ 4 The Knitting Room:
ห้องสุดท้ายนี้ ศิลปินไม่ได้อยากให้มีความเป็นดิสโทเปีย เธออยากให้จบด้วยความหวังมากกว่า ภายในห้องจะเป็นสีขาวที่สื่อถึงความเงียบสงบ มีพื้นดินที่แม้จะไม่มีต้นไม้แล้ว แต่ก็ให้ความรู้สึกว่าเป็นพื้นดินที่หายใจได้ ถ้าหันไปมองอีกฝั่งจะพบมนุษย์ แพรวบอกว่าเราว่าจะตีความเขาเป็นเครื่องจักรก็ได้ หรือจะมองในมุมที่ว่า เป็นแมงมุม หรือมนุษย์ที่กำลังถักทอชีวิตใหม่ให้กับตัวเองก็ได้ มือที่เป็น Sculpture ก็เป็นมือที่พยายามสาง คลี่คลายปมที่เกิดขึ้นอยู่
“ห้องนี้กำลังจะบอกกับผู้ชมว่า แม้มันจะสายไปแล้วที่จะกลับไปแก้ปัญหาต่างๆ แต่เราก็จะต้องต่อสู้ต่อไป เพื่อสร้างชีวิตใหม่ ให้กับโลกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น” ศิลปินพูดด้วยความหวัง เธอพยายามโชว์ความเป็นดิสโทเปีย เพื่อเป็นกระจกสะท้อนมุมมองอีกด้านที่คนยังมองไม่เห็น และไม่อยากให้โลกในเราต้องเดินทางไปถึงจุดนั้น
• โลกของศิลปะ สร้างโดยศิลปิน
พูดคุยกับแพรวมาสักพัก เราสัมผัสได้ว่า แพรวเป็นศิลปินที่ชอบตั้งคำถาม และค้นหาความหมายใหม่ๆ ของสิ่งรอบข้าง ต่อการเปลี่ยนผ่านทั้งเชื่องช้าและรวดเร็วของโลก อิทธิพลสำคัญที่หล่อหลอมให้แพรวมีคุณสมบัตินี้ คือความชอบดูหนังและนั่งตีความ วิเคราะห์องค์ประกอบฉากและตัวละครกับพ่อของเธอ รวมถึงคำพูดสำคัญของอาจารย์ที่เธอไม่เคยลืม
‘ความสวยคืออะไร สิ่งที่น่ากลัว น่าขยะแขยง สิ่งที่ไม่สวยในมุมของคนอื่นหรือมุมของสังคม มันพอที่จะเป็นความสวยได้ไหม หากว่ามันมีความหมาย…ทุกอย่างสวย ไม่สวย ดีหรือไม่ดีมันเป็นสิ่งที่สังคมตีกรอบ หรือตั้งค่าคำจำกัดความให้กับทุกอย่าง แต่ถ้าหากเราลองค้นหา ลองเข้าใจมันในความหมายที่ไม่ต้องเป็นความหมายเดียวกันกับสังคม เราอาจจะมองเห็นอีกมุมหนึ่งของมัน มันอาจจะกลายเป็นสิ่งที่ดี หรือเป็นสิ่งที่สวยงาม ก็ได้ในแบบที่คนอื่นๆ อาจมองไม่เห็น’
นี่คือถ้อยคำที่ได้ยินวันแรกหลังตัดสินใจเข้าเรียน Fine Art ซึ่งเป็นวิชาที่ทำให้ศิลปินได้ฉุกคิด เปิดมุมมอง ตกผลึก และค้นพบว่าวิชานี้ทำให้แพรวพบบ้านของเธอแล้ว
“เสน่ห์ของ Fine Art คือ การตั้งคำถามต่อสิ่งที่ยังไม่ถูกค้นพบ คือการตามหาปรัชญาใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยถูกจำกัดความ หรือถูกตีความ แพรวบอกเราว่า Fine Art คือปรัชญา ปรัชญาคือภาษาภาพ ดังนั้นบทบาทของศิลปะ คือการตั้งคำถามใหม่ๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ทำไมสังคมถึงนิยามแบบนี้ ทำไมถึงเอาสิ่งแบบนี้ฝังเข้าไปในรากสมองหรือความรู้สึกนึกคิด ให้มนุษย์ต้องคิดแบบนี้ตั้งแต่เกิด”
แพรวยังพูดถึงนิยามศิลปินให้เราฟังอีกว่า “ศิลปินที่ดี คือศิลปินที่ตามหาความหมายใหม่ๆ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สมมติเรารู้ว่า มันมีประเด็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราก็เอามาเล่าให้คนอื่นฟัง ให้คนอื่นตระหนักถึงประเด็นนั้นๆ อันนั้นคือศิลปินที่ดี แต่ศิลปินที่ยอดเยี่ยม คือศิลปินที่พยายามหาคำตอบของคำถามที่ยังไม่เคยถูกถามด้วยซ้ำ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าเราไมรู้ว่ามันเป็นยังไง แต่ถ้าเราพยายามหาคำตอบของคำถามใหม่ๆ หรือคำถามที่ยังไม่มีใครตาม แล้วพยายามใช้มีเดียบอกเล่ามันออกไป แพรวว่านั่นน่ะคือศิลปินที่ยอดเยี่ยม”
หากเป็นอย่างนั้น แพรว กวิตาก็คือศิลปินยอดเยี่ยมสำหรับเรา เพราะผลงานของเธอสะท้อนภาพให้เราเห็นถึงการค้นคว้าปัญหาต่างๆ เพื่อตกตะกอนแก่นแท้ของประเด็น รวมไปถึงทำให้เธอได้เข้าใจความเป็นมนุษย์แง่มุมอื่นๆ มากขึ้น
ศิลปะของแพรวบางชิ้น ให้ความรู้สึกทั้งบ้าบิ่นและรุนแรง เธอใช้ร่างกายของเธอเล่นเอง เจ็บตัวเองซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีเท่าไหร่ แต่ในขณะเดียวกัน หากมองอีกแง่เรากลับรู้สึกว่า นี่คือส่วนหนึ่งของงานที่แพรวอยากบอกเล่าออกไปให้ดัง เธอคือเป็นตัวกลางที่ขอดึงทุกๆ ฝ่าย เข้ามาทำความเข้าใจถึงประเด็นต่างๆ ร่วมกัน ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในชิ้นงาน อาจตีความได้ว่า เธอกำลังจำลองภาพให้ทุกคนได้เข้าใจโดยง่าย ว่าผู้หญิง แรงงานที่อยู่ภายใต้การกดขี่ พวกเขาต้องประสบพบเจอกับความทนทุกข์ทรมานมากแค่ไหน
ก่อนจากกัน แพรวสร้างโมเมนต์น่ารักๆ ที่เราอยากใส่ไว้ในท้ายบทความปิดท้ายนี้จริงๆ “เฮ้ย วันนี้สัมภาษณ์คุยเยอะดี ชอบจัง” การคุยกันเกินกว่า 2 ชั่วโมงทำให้เรารู้ว่า นอกจากแพรวเป็นศิลปินที่พร้อมแชร์ประสบการณ์ทำงาน และแนวคิดที่ดีของเธอแล้ว เธอยังเป็นคนที่น่ารัก เป็นผู้ฟังที่ดี พร้อมทำความเข้าใจและยังใจกว้างอีกด้วย