About
CRAFTYARD

Love and Surf

โต้คลื่นกับ Salty Sand ความคราฟต์ของคู่รักนักเซิร์ฟที่จับลายมัดย้อมเป็นกระเป๋ายันเซิร์ฟบอร์ด

เรื่อง ศรีวลี หลักเมือง Date 06-03-2024 | View 4604
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ทักทายคู่รักนักเซิร์ฟแห่งสงขลา ผู้ใช้เวลาว่างไปกับการเล่นเซิร์ฟ ทำเซิร์ฟบอร์ดเองอย่างจริงจัง ทั้งหมดนี้คืองานอดิเรกที่ทั้งคู่ชอบ จนลงเอยด้วยการปั้นแบรนด์ชื่อ Salty Sand มีคอนเซปต์คือเน้นความสะดวกสบายเพื่อคนเล่นเซิร์ฟและชอบทะเล ที่ตอนแรกกะแค่ว่าจะทำกันเล่นๆ แต่ในอนาคตพวกเขาบอกว่าจะไม่ทำเล่นๆ แล้วนี่สิ…

คราวแรกที่เห็นชื่อของ ‘Salty Sand’ เรานึกถึงหาดทรายเรียบโล่ง คลื่นลมสงบ และแสงแดดเฉดส้มไล่ล้อบนผิวน้ำทะเล

“Salty Sand คือการโฟกัสถึงเทกซ์เจอร์ของทรายและความเค็มของทะเล เพราะทะเลมันเค็มเหมือนเกลือ…ก็แค่นั้นเลย” อัฑฒ์-อัฑฒ์ ภักดี ว่าที่มาของชื่อ

“เราอยากให้มันดูทะเลๆ” พิม-พิมพกานต์ ปัจจันตวิวัฒน์เสริมที่มา

Salty Sand คือสตูดิโอออกแบบเพื่อ ‘ชาวเซิร์ฟ’ กับคอนเซปต์ Design studio which flow with the wave and wind. ของคู่รักอย่าง ‘พิม’ และ ‘อัฑฒ์’ ที่คลั่งไคล้การเล่นเซิร์ฟเป็นที่สุด

ผละจากการเล่นเซิร์ฟซึ่งเป็นกิจกรรมยามว่าง เบื้องหลังของทั้งคู่ต่างทำงานเป็นสถาปนิกออกแบบบ้าน นอกจากนั้น พิมยังถนัดด้านการออกแบบกราฟิก (Graphic Designer) ด้านอัฑฒ์หลงใหลการวาดรูป ความที่ชอบอะไรคล้ายกัน จึงลองทำแบรนด์ที่เล่าเรื่องเซิร์ฟอย่าง ‘Salty Sand’ ด้วยกันเล่นๆ ทุกวันนี้ใครจะไปรู้ว่า Salty Sand กลายเป็นแรงผลักสำคัญไม่ต่างจากงานหลักของทั้งสองไปแล้ว

แม้พวกเขาจะย้ำอีกสักกี่ครั้งว่า “เราแค่ทำกันเล่นๆ” ก็ตาม

Salty Sand

From Love to Surf

เสียงจ้อกแจ้กในร้านกาแฟเจ้าประจำของคอกาแฟแถบย่านเมืองเก่าสงขลา เป็นจุดจอดแวะพักระหว่างทางจากเรื่องเล่าของ Salty Sand สมทบด้วยลาเต้เย็นและชีสเค้กชิ้นอวบที่สมูทลงตัวพอดิบพอดี เว้นแต่เรื่องราวของทั้งคู่หาใช่เรื่อง ‘เล่นๆ’ เหมือนที่พวกเขาคุยอย่างขี้เล่นด้วยซ้ำไป

ฟากหนึ่งในร้านกาแฟ เราเลือกนั่งคุยกับอัฑฒ์และพิมบริเวณหน้าเคาน์เตอร์บาร์ พิมที่ดูตื่นเต้นแถมประหม่า แต่อัฑฒ์มีท่าทีพร้อมที่จะเล่าเรื่อง อัฑฒ์จึงแซงหน้าเล่าให้ฟังก่อนว่า แบรนด์ ‘Salty Sand’ ต้องการตอบโจทย์การเล่น ‘เซิร์ฟ’ และซัพพอร์ตชาวเซิร์ฟเป็นหลัก เพราะการเล่นเซิร์ฟคือสิ่งที่พวกเขาถนัดทั้งคู่ ถึงขนาดอัฑฒ์ฉุกไอเดียทำเซิร์ฟบอร์ดแบบ ‘Epoxy’ เล่นเซิร์ฟเองด้วย ที่มีชื่อแบรนด์ว่า hellriderssurfboards

Salty Sand

Salty Sand

โดยทั่วไปเซิร์ฟบอร์ดจะมีทั้งบอร์ด Epoxy และบอร์ด PU อัฒฑ์เลือกทำบอร์ดแบบ ‘Epoxy’ ใช้วัสดุหลักคือ แผ่นโฟม EPS ชนิดไม่ลามไฟ และ Epoxy Resin (สารเคมีเคลือบแข็งอเนกประสงค์) ที่หาซื้อง่ายและปลอดภัยกว่าวัสดุที่ใช้ทำบอร์ด PU

Salty Sand

แน่นอนว่าทั้งคู่อินกับเซิร์ฟ แต่ถ้าจะเพิ่มเลเวลไปจนถึงนักแข่งเซิร์ฟเลยไหม อัฑฒ์ชิงตอบรวดเร็วว่า “ไม่ได้” พลันร่ายต่อว่าพวกเขาเป็นแค่นักเซิร์ฟธรรมดาๆ ที่ไม่จำเป็นต้องแข่งเพื่อเอาชนะ และการทำบอร์ดของเขามีจุดเริ่มต้นจากพี่และเพื่อนๆ ในกลุ่มเซิรฟ์ที่อยากลองประเดิมเซิร์ฟบอร์ดของเขามากกว่า ก็เลยเอาไปให้กลุ่มเพื่อนลองเล่นดูเท่านั้นเอง

Salty Sand

กลุ่มเซิร์ฟที่เป็นจุดเริ่มให้พิมและอัฑฒ์ ขลุกตัวเล่นเป็นงานอดิเรกอยู่เป็นประจำ นั่นคือกลุ่ม Samila Surf Club ที่มี ฮุย-ธวัช สนองคุณวรกุล ผู้ก่อตั้งกลุ่มและรับหน้าที่สอนเล่นเซิร์ฟให้คนที่ชอบความเอกซ์ตรีม ฮุยคือ Local Surfer ชาวสงขลาคนแรกๆ เขาคนนี้คือผู้บุกเบิกพื้นที่เล่นเซิร์ฟทางภาคใต้แล้วกระจายต่อไปยังกลุ่ม โต้คลื่นปัตตานี Surf for PEACE deep south ปัตตานี และ Supnara ที่นราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีทิศทางและจังหวะคลื่นลมกำลังดี เหมาะแก่การเล่นเซิร์ฟบอร์ด

Salty Sand

ฮุย-ธวัช สนองคุณวรกุล

เพราะความสนุกและหลงใหลในกีฬานี้ของทั้งคู่นำไปสู่แบรนด์ Salty Sand ที่เราว่ามันคือความคราฟต์ในวงการเซิรฟ์ เพราะพิมกับอัฑฒ์ออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า ไปจนถึงเอาผ้ามัดย้อมคาดทับเซิร์ฟบอร์ด ความน่าสนใจคือทั้งคู่จะมีเทคนิค กระบวนการคิดและออกแบบทำให้ ‘สี’ ของลายผ้านั้นเด่นขึ้นกว่าลายผ้ามัดย้อมทั่วไป

Salty Sand

Salty Sand

From Surf to Craft

ลวดลายผ้ามัดย้อมนั้นคือเทคนิคใหม่จากโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อผู้ประกอบการกับ SKA Heritage  (สงขลาเฮอริเทจ) กับบอย – ชัยวัฒนภัทร เลาสัตย์ และแมว -ดวงใจ นันทวงศ์ ที่สร้างสรรค์ลายผ้ามัดย้อมจาก ‘สีดิน’ ในโทนสีแดงส้มที่เป็นสีธรรมชาติจากหัวเขาแดง โดยพิมเป็นคนสอนวิธีการมัดผ้าให้เป็นลายผ้ามัดย้อมแบบต่างๆ ผลตอบรับจากผู้เข้าร่วมโครงการครั้งนั้นทำให้ทั้งคู่เริ่มเป็นที่รู้จัก

Salty Sand

“ช่วงที่เข้าร่วมโครงการทำลายผ้ามัดย้อมกับสงขลาเฮอริเทจ พี่แมวกลับมาถามต่อว่าให้พวกเราเอาผ้ามัดย้อมไปทำอย่างอื่นได้อีกไหม เราเลยคิดโปรดักต์ใหม่เป็นกระเป๋า ‘Surf Pack’ ที่แพ็กรวมอุปกรณ์เซิร์ฟเข้าด้วยกันในกระเป๋าใบเดียว ตอบโจทย์สาวกชาวเซิร์ฟหรือคนชอบเที่ยวทะเล” พิมเล่า

Salty Sand

อัฑฒ์เล่าเสริมว่า การออกแบบกระเป๋าจะต้องมีลูกเล่นที่ตอบรับชาวเซิร์ฟว่าใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง อย่างกระเป๋าจะต้องมีช่องใส่ฟิน (อุปกรณ์ควบคุมการเคลื่อนไหวของกระดานโต้คลื่น) เป็นอุปกรณ์จำเป็นที่ควรมีและเก็บไว้ และทำช่องสำหรับใส่ของทุกอย่างให้พอดี แต่หากไม่ใช่ชาวเซิร์ฟก็ใส่ของอื่นๆ ได้ แต่ข้อเสียคือต้นทุนสูง ต้องหาช่างทำที่มีฝีมือละเอียด

Salty Sand

“ถ้าไม่รู้จักกันมาก่อน คนจะเข้าใจว่าเราทำเซิร์ฟบอร์ดขาย แต่เซิร์ฟบอร์ดคืออีกแบรนด์ที่คอลแล็บกันไปมาระหว่าง Salty Sand และ Hellriders Surfboards เป็นประจำ แยกให้ออกว่าผ้ามัดย้อมเป็นของแบรนด์ Salty Sand แต่เซิร์ฟบอร์ดนั่นคือแบรนด์ Hellriders Surfboards”

Salty Sand

Salty Sand

Salty Sand

Salty Sand

เดาเร็วๆ ว่าตัวเรียกคะแนนของแบรนด์ที่เริ่มจากการทำเล่นๆ ของ Salty Sand คงจะเป็นผ้าลายมัดย้อมอย่างนั้นหรือเปล่า… อัฑฒ์บอกว่าคงไม่ชัด มันผสมปนเปกันไป เพราะทำกันเล่นๆ ทำโดยไม่หวังผลกำไรมาก ตัวผ้าลายมัดย้อมบนเซิร์ฟบอร์ดเป็นความคราฟต์ที่แตกต่างอยู่แล้ว แต่การออกแบบโลโก้หรือลายกราฟิกเพื่อซัพพอร์ตชาวเซิร์ฟและคนที่มีเคมีตรงกันก็ตีคะแนนคู่สูสีกันครึ่งต่อครึ่ง

Salty Sand

Salty Sand

Salty Sand

Salty Sand

Salty Sand

การออกแบบลายกราฟิกของ Salty Sand ก็ไม่ทิ้งคราบหนุ่มสาวชาวเซิร์ฟเช่นเดียวกับการทำลายผ้ามัดย้อม ที่ใช้เทคนิคการวาดลายเส้นด้วยมือที่มาจากแรงบันดาลใจรอบๆ ตัว เช่น ออกแบบลายกราฟิกให้กลุ่มเพื่อนชาวเซิร์ฟที่ปากน้ำรีสอร์ท (ลา-กา-ตู-โยะ) จังหวัดสตูล หรือออกแบบลายกราฟิกบนเสื้อยืดให้ร้านกาแฟ Spec On ที่หาดใหญ่ “แค่เราออกแบบลายกราฟิกทำเสื้อผ้ากันก็สนุกแล้ว” อัฑฒ์บอก

Salty Sand

Salty Sand

Salty Sand

From Craft to Community

ถึงยังไงพิมและอัฑฒ์ยังคงคติเดิมในทำนองว่า ทำทั้งหมดนี้เป็นงานอดิเรกไม่แพ้การเล่นเซิร์ฟ สำคัญกว่าตรงที่พวกเขามีบุคคลเบื้องหลังคอยสนับสนุน โดยเฉพาะพิมที่มีโอกาสได้เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนในย่านเมืองเก่าสงขลากับแมวบ่อยครั้ง จึงค่อยๆ เปลี่ยนมายด์เซตให้ทั้งคู่อยากปั้นแบรนด์กันจริงจังขึ้นมาซะอย่างนั้น ทั้งที่ตอนแรกบอกแค่ว่าทำกันเล่นๆ

“จากที่เคยทำแบรนด์กันว่าง่าย ไม่มีเวลาคิดซับซ้อน พี่แมวก็จะคอยผลักดันให้เราสนุกที่จะปิ๊งไอเดียใหม่ๆ เช่น ทำผ้ามัดย้อมหรือทำผลิตภัณฑ์อะไรอื่นได้อีก เหมือนเราถูกผลักศักยภาพตัวเองออกไป เลยทำให้เราอยากทำสิ่งใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ

“พิมก็เคยลงพื้นที่ร่วมงานกับชุมชนก็ทำให้มีกระบวนการคิดหรือการออกแบบใหม่ๆ ที่เข้าไปเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านให้เน้นฟังก์ชัน (ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง) และดีไซน์ต้องสวยด้วย เช่น งานทำมือหรืองานคราฟต์ ยกตัวอย่างงานปักษ์ใต้ดีไซน์วีคเมื่อปีก่อน เรามองเห็นดีไซเนอร์หยิบจับสิ่งของชิ้นนั้นๆ ทำร่วมกับชุมชนให้มีฟังก์ชันต่อการใช้งานได้จริง งานนี้เหมือนจุดประกายให้เรากลับมาคิดว่าควรทำอะไรบางอย่างคืนให้ชุมชนบ้างแล้ว” พิมและอัฑฒ์ผลัดกันเล่าสนุกสนาน

Salty Sand

และสิ่งที่ทำให้ทั้งคู่ค่อนข้างมั่นใจในการลุยแบรนด์ Salty Sand จริงจังขึ้น เมื่อมีกลุ่มเซิร์ฟเชิญชวนพวกเขาร่วมกิจกรรม อย่างกลุ่มเขาหลักเซิร์ฟทาวน์ ก็เคยเชิญให้พวกเขาทั้งคู่ไปร่วมในเทศกาลงานเซิร์ฟที่พังงา

Salty Sand

โอกาสและการตอบรับที่เห็นสัญญาณชัดขนาดนี้ Salty Sand น่าจะพร้อมโต้คลื่นลมและฝ่าแรงคลื่นด้วยความแข็งแกร่งในอีกไม่นาน


ขอขอบคุณภาพจาก : พิมและอัฒฑ์, Salty Sand
ขอขอบคุณข้อมูลเรื่องเซิร์ฟบอร์ด : พิมและอัฒฑ์

เซิร์ฟ สตอรี่…เรื่องเล่าวัฒนธรรมเซิร์ฟ

วัฒนธรรมโต้คลื่น (Surf Culture) เป็นวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม (Sub-Culture) ที่มีมายาวนานทางประวัติศาสตร์ ถือกำเนิดขึ้นทางฝั่งตะวันตกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่หมู่เกาะฮาวาย สหรัฐอเมริกา ผู้บุกเบิกวงการโต้คลื่นเกิดขึ้นเมื่อปี 1934 คือ ดุ๊ก คาฮานาโมกุ (Duke Kahanamoku) นักกีฬาว่ายน้ำแชมป์โอลิมปิกชาวฮาวาย และจอร์จ ฟรีท (George Freeth) ผู้แหวกทางให้วัฒนธรรมโต้คลื่นได้มีที่ยืน ซึ่งฟรีทเป็นนักเซิร์ฟคนแรกที่ดุ๊กประทับใจในตัวเขา

ส่วนทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นที่ญี่ปุ่นในช่วงยุค 60 วัฒนธรรมโต้คลื่นที่ได้รับอิทธิพลมาจากอเมริกา เรียกว่าการโต้คลื่นสมัยใหม่ โดยทหารชาวอเมริกันที่ประจำการอยู่ในฐานทัพเรือโยโกสุกะได้เริ่มนำเซิร์ฟบอร์ดแบบ Longboard ด้วยความยาวราว 9 ฟุตสไตล์อเมริกันมาโต้คลื่นผ่อนคลายกันบริเวณรอบๆ ชายฝั่งโชนันและชิบะ ห่างจากโตเกียวราว 60 กิโลเมตร ที่นี่จึงเป็นแหล่งกำเนิดวัฒนธรรมโต้คลื่นสมัยใหม่ของญี่ปุ่นในเวลาต่อมา

ฝั่งไทยเริ่มมีการเคลื่อนไหวเซิร์ฟคัลเจอร์ที่ภูเก็ตและพังงานานแล้ว และปัจจุบันมีกลุ่มเซิร์ฟที่รู้จักกันดี เช่น Better Surf Thailand ที่เขาหลัก จังหวัดพังงา, คอมมูนิตี Swell Club ที่สอนเล่นเซิร์ฟบอร์ดกลุ่มแรกของหาดกะรนในจังหวัดภูเก็ต แต่ก็เพิ่งได้รับความนิยมในระยะที่ผ่านมา แม้ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายต่างผลักดัน ‘เซิร์ฟ’ ของไทยให้เป็นกีฬาที่มีวัฒนธรรมการเล่นที่แข็งแรงเทียบเท่ากีฬาชนิดอื่น จนเกิดการจัดงานสนับสนุนวัฒนธรรมโต้คลื่นขึ้นต่อเนื่อง เช่น การแข่งขันรายการทัวร์นาเมนต์ทั่วภูเก็ตและพังงาอย่าง Kamala Go Surfing ที่หาดกมลา เพื่อเฟ้นหานักเซิร์ฟหน้าใหม่ของไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ Salty Sand ได้ที่  FB : Salty Sand  IG : salty.sand.th

Tags: