About
CRAFTYARD

คราฟต์จากสึนามิ

‘ซาโอริ’ คราฟท์จากสึนามิ เปลี่ยนความสูญเสียสู่งานบำบัดใจและได้ความสุข

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง ภาพ พริบตา Date 21-11-2021 | View 4417
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ซาโอริ คือผ้าทองานคราฟท์ของตะกั่วป่าที่มีจุดเริ่มต้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ
  • จุดเด่นของชิ้นงานอยู่ที่เป็นศิลปะการทอมือแบบฟรีสไตล์ของญี่ปุ่นจากฝีมือคนในชุมชน ตั้งอยู่ในบริเวณที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลบางม่วง ภายใต้ชื่อ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าซาโอริ”
  • งานคราฟท์ของที่นี่เรียกได้ว่ามีเอกลักษณ์ มีคุณค่า ถูกนำไปเป็นองค์ประกอบผลิตภัณฑ์ของโรงแรมใหญ่ในพื้นที่ รวมถึงการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นและสวิตเซอร์แลนด์

ตะกั่วป่า อำเภอหนึ่งของจังหวัดพังงาที่มีการเติบโตด้านการท่องเที่ยวอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มักถูกพูดถึงในมุมของเมืองจุดหมายปลายทางอันโด่งดังอย่างเกาะสิมิลัน มีชายหาดสวยงามทอดยาว เป็นเมืองเก่าที่มีเสน่ห์ทางสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม อาหาร และตอนนี้กลายเป็นเมืองกีฬากระดานโต้คลื่นยอดนิยมที่รู้จักกันในนามเขาหลักเซิร์ฟทาวน์

แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าที่นี่ยังมีศูนย์ผ้าทอซาโอริ (SAORI) ศิลปะการทอมือแบบฟรีสไตล์ของญี่ปุ่นจากฝีมือคนในชุมชน ตั้งอยู่ในบริเวณที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลบางม่วง ภายใต้ชื่อ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าซาโอริ” กลุ่มที่มีจุดเริ่มต้นจากความสูญเสียในเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 และต่อยอดมาสู่งานคราฟต์ของท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ มีคุณค่า ถูกนำไปเป็นองค์ประกอบผลิตภัณฑ์ของโรงแรมใหญ่ในพื้นที่ รวมไปถึงการส่งออกไปตลาดประเทศญี่ปุ่นและสวิตเซอร์แลนด์

Z 1

น้ำใจแดนไกลส่งต่อศิลปะการทอผ้า

ย้อนไปเมื่อ 17 ปีก่อนภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันประสบภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินครั้งใหญ่โดยเฉพาะในพื้นที่อ.ตะกั่วป่ามีผู้เสียชีวิตมากที่สุด และหนึ่งในหน่วยงานที่พยายามเข้ามาช่วยเหลือ คือ มูลนิธิมายา โคตมี ซึ่งก่อตั้งโดยอดีตพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ที่เดินทางมาด้วยตัวเองและเห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านหนักมาก จึงเกิดความคิดอยากช่วยบำบัดจิตใจและสร้างอาชีพให้กับกลุ่มผู้ประสบภัย

Z 9

“ท่าน (มิตซูโอะ) เห็นว่าหลายครอบครัวสูญเสียเสาหลัก หมดตัว หมดกำลังใจ กลัวว่าจะเกิดการคิดสั้นจากการสูญเสีย จึงได้ประสานไปยังคุณมิซาโอะ โจ ผู้ก่อตั้งซาโอริซึ่งทำงานช่วยเหลือสังคมอยู่แล้วและหน่วยงานทางญี่ปุ่น เพื่อขอสนับสนุนอุปกรณ์และมาสอนชาวบ้านทอผ้าซาโอริ” อัจฉรา แดงฉัตร์ หรือพี่แหม่ม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าซาโอริ เล่าถึงจุดเริ่มต้น

Z 4

เพียงเดือนเศษๆ นับจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ประสบภัยสึนามิด้วยศิลปะการทอผ้าด้วยมือแบบซาโอริก็เริ่มขึ้นด้วยเครื่องทอผ้าขนาดเล็กพกพาสะดวกจำนวน 10 ตัวและจักรเย็บผ้า 2 ตัวพร้อมผู้ฝึกสอนกับผู้สนใจเข้าร่วมฝึกอาชีพนับ 100 ชีวิตในเต็นท์พักพิงชั่วคราวของผู้ประสบภัยช่วงแรกก่อนขยับขยายเป็นอาคารถาวรที่ตั้งปัจจุบันในเวลาต่อมาภายใต้การดูแลของมูลนิธิฯ

กระทั่งต้นปี 2561 ทางมูลนิธิฯ ขอวางมือและกลายมาเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าซาโอริ”

Z 2

อิสระแห่งการสร้างสรรค์

ด้วยปรัชญาของ SAORI มาจากคำว่า “SA” ที่มีความหมายเดียวกับพยางค์แรกของคำว่า “SAI” ในคำศัพท์เซน คือ ทุกสิ่งทุกอย่างมีเอกลักษณ์ในตัวเอง และคำว่า “ORI” หมายถึงการทอผ้า ทำให้ผ้าทอซาโอริไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ไม่ต้องกลัวข้อบกพร่องและมีจุดเด่นตรงเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร

ไม่ว่าจะเป็นพวงกุญแจ กล่องทิชชู กระเป๋าโทรศัพท์คล้องคอ กระเป๋าสะพายไปจนถึงเสื้อผ้า พี่แหม่มบอกว่าทุกอย่างล้วนเป็นลวดลายที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์และการแสดงออกอย่างอิสระ เป็นไปตามบุคลิกลักษณะเฉพาะของผู้ทอแต่ละบุคคล ไม่จำกัดอายุ การศึกษาและจินตนาการ แถมบางคอลเลกชันอาจมีการเติมกลิ่นอายความเป็นท้องถิ่นลงไปด้วยการหยิบเอาวัตถุดิบอย่างใยกล้วย ใยกัญชง ใยสับปะรด มาผสมผสานสร้างลวดลายที่แตกต่างออกไป

“ทุกชิ้นจะเป็นการทอเป็นด้นสดไม่มีแบบแผน อาจจะมีกำหนดโทนสีบ้างเพื่อความสวยงามและเข้ากับยุคสมัย แต่หากลูกค้ามีแบบมาให้ตามที่ต้องการก็สามารถทำได้ ส่วนจะใช้เวลานานแค่ไหนขึ้นอยู่กับความยากง่ายของลวดลาย อย่างเช่นก่อนหน้านี้มีคนหนึ่งจ้างทอเป็นลวดลายเรขาคณิตหลายสี ต้องใช้เวลาทอ 1 ผืนเกือบ 5 วันเพราะมีความซับซ้อน เป็นชุดด้าย 6 เส้นหลากสี”

ข้อดีอีกอย่างผ้าทอซาโอริ คือสามารถนำเศษผ้า เศษด้ายมาต่อเติมได้โดยไม่รู้สึกเป็นงานมีตำหนิ ช่วยลดการสร้างขยะที่ไม่จำเป็นให้กับโลก และที่สำคัญมีคุณสมบัติแข็งแรงทนทานใช้งานได้คุ้มค่า

Z 3

ศิลปะบำบัดผู้ทอ ส่งต่อสุขสู่ผู้รับ

“ความสุขของเราคือ การได้ทำงานที่รัก ลูกค้าเห็นแล้วชอบ บางคนซื้อไป 3 ปีกลับมายังใช้อยู่ แม้แต่ในญี่ปุ่นที่เป็นต้นแบบและออเดอร์ไปขายทุกปีก็บอกว่าคุณภาพไม่ต่างกัน ต่างแค่รูปแบบของสินค้า ซึ่งมีแนวคิดการออกแบบจากสิ่งใกล้ตัวและการประยุกต์จากความน่าสนใจของคนทั่วไป” กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าซาโอริ กล่าวด้วยความภูมิใจ

Z 8

ไม่เพียงแค่ตลาดญี่ปุ่นเท่านั้นที่มีผลิตภัณฑ์ซาโอริตะกั่วป่าไปวางขายในทุกๆ ปี แต่รวมถึงสวิตเซอร์แลนด์ด้วย ส่วนโรงแรมในเครือลา ฟลอร่ากรุ๊ปที่เขาหลัก ก็เลือกเอาผ้าทอซาโอริไปอยู่ในองค์ประกอบของโรงแรมในรูปแบบของที่ระลึกด้วยเช่นกัน

นอกจากห้องทำงานและร้านโชว์สินค้าเล็กๆ แล้ว ภายในศูนย์ยังมีพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมเวิร์กชอป เพื่อเรียนรู้และลองประสบการณ์การทอผ้าซาโอริ ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์การทอผ้ามาก่อน และมักจะถูกนำไปใช้ในศิลปะบำบัดในโรงเรียนและโรงพยาบาลในหลายประเทศทั่วโลกเหมือนกับที่เคยช่วยชาวบ้านผู้ประสบภัยสึนามิผ่านฝันร้ายในชีวิตมาแล้ว

Z 12

Z 10

“นักท่องเที่ยวบางคนติดใจไม่อยากกลับเพราะเมื่อได้ทอจริงๆ แล้วจะรู้สึกผ่อนคลายและเพลินมาก ช่วยในการทำสมาธิได้ดี เด็กออทิสติกก็ทำได้ จริงๆ คุณทาเคชิ เอเยนต์ที่สั่งสินค้าเราไปขายและเปิดโรงเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่น มีโครงการกับเราว่าจะเอาเครื่องทอไปสอนเด็กๆออทิสติกที่ศูนย์การศึกษาพิเศษในตะกั่วป่า แต่มาเจอโควิดเสียก่อนเลยต้องพับเก็บไป”

Z 5

แม้วันนี้สมาชิกในกลุ่มจะเหลือไม่ถึง 10 คนและได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เต็มๆ ทั้งการไม่ได้ออกงานและไร้เงานักท่องเที่ยวมาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่พวกเขายังตั้งใจจะรักษางานผ้าทอมือหนึ่งเดียวของพังงาต่อไป พร้อมกับเป้าหมายพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ร่วมสมัยมากขึ้น

Z 11

Z 13

เผื่อสักวัน…ผ้าทอมือซาโอริจะเป็นของฝากจากตะกั่วป่าที่ทุกคนต้องนึกถึง

Contact

กลุ่มทอผ้า ซาโอริ

ม.1 อบต.บางม่วง ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา 82190

โทร. 094-859-1412

Tags: