- Sela โรงแรมสไตล์ล้านนาโคโลเนียลของคู่รักอดีตนักเรียนฝรั่งเศส กับความตั้งใจให้เป็นหมุดหมายแห่งใหม่ของการมาเยือนเชียงใหม่
- ตัวอาคาร Sela จำลองตึกโบราณจากยุคอาณานิคม บรรยากาศภายในจึงคล้ายกับบ้านเก่าในยุโรป มากกว่าจะให้ความรู้สึกเหมือนห้องพักในโรงแรม
- Sela เป็นโรงแรมที่ตอบโจทย์กระแสท่องเที่ยว Staycation หรือความรื่นรมย์จากการใช้ชีวิตในโรงแรม ที่ให้ความรู้สึกเหมือนพักผ่อนอยู่บ้าน จนไม่อยากออกไปไหน
เมื่อคู่รักอดีตนักเรียนฝรั่งเศส คุณนัต-นิติวัฒน์ สัตยาประเสริฐ และคุณมิ้น-มนสิชา วงศ์มณี ย้ายกลับมาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองไทยเป็นการถาวร หลังจากไปใช้ชีวิตในยุโรปยาวนาน 12 ปี ทั้งคู่เลือกเปิด ‘Sela’ (เสล อ่านว่า เส-ละ) โรงแรมสไตล์ล้านนาโคโลเนียล ที่ตั้งใจอยากให้เป็น Destination ของการมาเชียงใหม่ และเป็นบ้านที่ทุกคนสามารถเอนจอยกับชีวิตที่นี่ได้นานๆ
ก่อนจะเป็น Sela
ว่ากันว่า ภาพจำของการพักผ่อนในโรงแรมที่ใดที่หนึ่ง อาจทำให้มุมมองการพักผ่อนเปลี่ยนไปตลอดกาล สองสามีภรรยาคู่นี้ก็เช่นกัน เพราะภาพจำสะกดใจที่จุดประกายความคิด และเปลี่ยนมุมมองการพักผ่อนในโรงแรมของพวกเขา คือโรงแรมที่เคยเป็นปราสาทโบราณสมัยศตวรรษที่ 12 ที่ตั้งอยู่นอกโซนท่องเที่ยวหลักของฝรั่งเศส
“ โรงแรมนั้นเป็นโรงแรมเดียวที่ไปแล้วเปลี่ยนมุมมองเราเลย ทั้งที่เป็นโรงแรมเล็กๆ และไม่ได้อยู่ในโซนท่องเที่ยวของคนฝรั่งเศส” คุณมิ้น ย้อนถึงความหลัง ตอนนั้นเธอกับคุณนัต ผู้เป็นสามี ตั้งใจจะไปหาซื้อมีดในหมู่บ้านเล็กๆ อย่าง Bort L’Etang ซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทโบราณสุดคลาสสิกที่มีเพียง 20 ห้องพัก และตกแต่งแตกต่างกันในทุกๆ ห้อง
“อิมเพรสชั่นแรกที่เกิดขึ้นตอนลืมตาตื่นตอนเช้า คือเพดานห้องที่สูงมาก รู้สึกปลอดโปร่ง เตียงนอนสูงมาก ต้องปีนลงจากเตียง พอเปิดหน้าต่างตรงหัวเตียง มองเห็นวิวสนาม ที่ไม่มีอะไรพิเศษเลย แต่กลับยืนมองนิ่งๆ อยู่ตรงนั้นได้นานและรู้สึกได้ชาร์จพลังงานเต็มที่มาก” คุณนัต เป็นฝ่ายเล่าบ้าง
ภาพติดตาตรึงใจครั้งนั้น ถูกเก็บซ่อนเป็นความประทับใจอยู่ลึกๆ จนวันหนึ่งที่ทั้งคู่วางแผนจะเปิดโรงแรมของตัวเอง จึงปักธงไว้ในใจว่าอยากทำโรงแรมที่สร้างบรรยากาศให้ผู้เข้าพักเกิดภาพจำแรกหลังลืมตาตื่นตอนเช้า เช่นเดียวกับประสบการณ์ที่เคยสัมผัสมา
ทำไม ‘เชียงใหม่’
ทั้งคู่เจอกันตอนไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส คุณมิ้น จบปริญญาตรีและโทด้านละครเวที ส่วนคุณนัต จบปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ หลังแต่งงานกัน พวกเขาย้ายไปใช้ชีวิตที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยคุณนัตทำงานประจำที่องค์การสหประชาชาติ ในขณะที่คุณมิ้นใช้เวลาช่วงนั้นเริ่มศึกษาเกี่ยวกับศิลปะการตกแต่งภายในด้วยตัวเอง
เมื่อย้ายกลับมาเมืองไทยในปี 2013 พวกเขาใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ เพราะคุณนัตยังคงทำงานประจำ จากนั้นในปี 2020 จึงย้ายมาปักหลักอยู่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคุณมิ้นเอง
“เชียงใหม่เป็นเมืองที่คล้ายกับเจนีวา คือเป็นเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรม ศิลปะ ประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นคาแรกเตอร์ที่เด่นมากๆ ของเชียงใหม่ เราเลยคิดว่า การที่บ้านหลังนี้มาอยู่ตรงนี้ ในที่เงียบๆ มันเป็นไปได้” เจ้าของบ้านหญิงเล่า
“ที่ชอบคือ เชียงใหม่เป็นเมืองที่คนเชียงใหม่อยู่กันเยอะมาก ไม่ว่าในจังหวะชีวิตหนึ่งจะย้ายไปทำงานที่ไหนก็ตาม แต่สุดท้ายคนเชียงใหม่ส่วนใหญ่จะเลือกกลับมาลงหลักปักฐานที่บ้านเกิด” คุณนัตออกความเห็น
ด้านคุณมิ้น เจ้าถิ่นที่นั่งอยู่ข้างๆ เสริมขึ้นมาว่า “เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่ทำให้คนในจังหวัดตัวเอง มีความรู้สึกว่าอยากจะกลับมาอยู่เสมอ อยากกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองเกิด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามในโลกนี้ และน่าจะมีไม่กี่เมืองที่ทำได้” เราฟังแล้วแอบพยักหน้าตาม
เหมือนพักบ้านเพื่อน
Sela ตั้งอยู่บนทำเลที่เงียบสงบของชุมชนท่าไม้ลุง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ บรรยากาศรอบข้างรายล้อมไปด้วยภูเขา ผืนป่า และธรรมชาติ ห่างจากโรงแรมออกไปเพียงไม่กี่กิโลเมตรเป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน ซึ่งเป็นภูเขาหินที่อยู่ใกล้เชียงใหม่มากที่สุด และยังเป็นภูเขาที่เชื่อมต่อกับทิวเขาอินทนนท์
คุณมิ้น เลือกตั้งชื่อที่นี่ว่า ‘Sela’ ซึ่งเป็นคำโบราณที่แปลว่า ‘ภูเขาหิน’ เพื่อให้สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม Sela เพิ่งเปิดให้บริการแบบ Soft Launch เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ บรรยากาศที่นี่ไม่เหมือนโรงแรมทั่วไป แต่ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านพักย้อนยุคที่มีชีวิต เป็นบ้านที่เจ้าของพร้อมเปิดบานประตูต้อนรับแขกผู้มาเยือนเสมือนเพื่อนคนหนึ่ง
อาคารโบราณสุดคลาสสิกขนาด 3 ชั้นแห่งนี้ เมื่อมองจากภายนอก ดูงดงามจับตาตั้งแต่แรกเห็น ราวกับเป็นฉากหนึ่งในนิยาย ด้วยรูปแบบที่จำลองมาจากสถาปัตยกรรมโคโลเนียลล้านนา ผสมผสานกับกลิ่นอายของอาคารเก่าในยุโรป
ภายในอบอวลไปด้วยเครื่องเรือนของเอเชีย ของตะวันตกและของงานท้องถิ่นในเชียงใหม่ ส่วนใหญ่เป็นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่ปรับเปลี่ยนตำแหน่งวางได้อย่างยืดหยุ่นตามต้องการ และเกือบทุกมุมของบ้านประดับด้วยรูปภาพพิมพ์วิถีชีวิตของชาวเอเชียตะวันออกในยุคศตวรรษที่ 19 รวมไปถึงการจัดวางเลย์เอาท์ภายในห้องพัก ที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกันทั้งหมด 14 ห้อง
“มันเริ่มจากความเป็นบ้านที่เราอยากจะใช้ชีวิตอยู่ และเราเองก็ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่จริงๆ อพาร์ตเม้นท์ที่เจนีวาหรือคอนโดที่กรุงเทพฯ ก็ให้บรรยากาศคล้ายๆ ที่นี่เหมือนกัน ตอนนั้นเวลามีเพื่อนหรือมีแขกมาหา ทุกคนจะบอกว่าเข้ามาในบ้านแล้วรู้สึกผ่อนคลาย” คุณนัต เล่าถึงบ้านที่เคยใช้ชีวิตมาก่อน สำหรับ Sela บ้านหลังใหม่ เขาใช้พื้นที่ปีกหนึ่งของตัวอาคารเป็นบ้านส่วนตัว โดยยังคงบรรยากาศและการตกแต่งที่ใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัยก่อนหน้า
“ ที่ Sela เราอยากให้คนมาพักรู้สึกเหมือนเป็นแขกของบ้าน บ้านที่มีห้องนอนหลายๆ ห้องสำหรับแขก พื้นที่ส่วนกลางเห็นแบบนี้ พอเข้าไปในห้องพักก็ยังมีความต่อเนื่อง ยังรู้สึกเป็นบ้านเหมือนกัน เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ก็ใช้เหมือนเฟอร์นิเจอร์ในบ้านจริงๆที่มีที่มาต่างเวลาต่างวาระ เฟอร์นิเจอร์พวกนี้จะยกย้ายสลับกันได้ทั้งหมดเพราะไม่ได้ทำมาเป็นเซ็ตเดียวกัน”
ทุกมิติของการออกแบบ
แดดยามสายช่วงต้นฤดูฝนของเดือนมิถุนายน ทอแสงละมุนมายังอาคารโบราณ ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาใหม่จากฝีมือการออกแบบของ นิวัตร อาร์คิเทค บริษัทสถาปนิกในเชียงใหม่ ซึ่งมีสองสถาปนิกหลักอย่าง คุณอาร์ต-ปวรรธน์ ตันตยานุสรณ์ และอาเธอร์ แวร์ญ สถาปนิกชาวฝรั่งเศส ทำงานร่วมกับเจ้าของโรงแรมนาน 1 ปีเต็ม โดยคุณมิ้นตั้งโจทย์ไว้แต่แรกว่าอยากสร้างอาคารที่เป็นอาคารประวัติศาสตร์ เพราะต้องการรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมอาคารโบราณในเชียงใหม่ ที่นับวันมีแต่จะเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์
“หลายคนที่มาครั้งแรกถามเราว่า ที่นี่เป็นบ้านเก่าแล้วเรามารีโนเวทหรือเปล่า แม้แต่คนที่คุ้นเคยกับสถาปัตยกรรมโบราณ ก็ยังถามคำถามแบบเดียวกัน เราเลยรู้สึกว่าเป็นความสำเร็จของสถาปนิกที่ออกแบบเพราะเขาสามารถสร้างอาคารใหม่แล้วทำให้คนรู้สึกว่าเป็นตึกเก่า” คุณมิ้นเล่า แม้ในช่วงแรกจะเป็นกังวลอย่างมากกับการสร้างอาคารเก่าหลังใหม่บนดินแดนประวัติศาสตร์
ความโอ่อ่าของบ้าน Sela สะท้อนผ่านบานประตูทรงสูงตามสไตล์โคโลเนียลซึ่งมีทั้งหมด 22 บาน เพดานสูงโปร่งให้ความรู้สึกโล่งสบายเมื่ออยู่ภายใน กลางโถงรับแขกเปิดช่องแสงไว้ด้านบนเพื่อปล่อยให้แสงสว่างจากธรรมชาติสาดส่องเข้ามาในเวลากลางวัน สถาปนิกออกแบบ Sela โดยคำนึงถึงเรื่องประหยัดพลังงาน ทิศทางของแสงและการพัดผ่านของช่องลม คุณนัตบอกว่า หน้าหนาวแทบไม่ต้องเปิดแอร์ ส่วนหน้าร้อน ตรงกลางตึกเป็นส่วนที่เก็บกักความเย็นได้นาน 5-6 ชั่วโมง เพียงแค่เปิดแอร์ให้เย็นฉ่ำตอนเช้าแล้วปิดเลย
ด้านงานตกแต่งภายในแทบทั้งหมดเป็นฝีมือของคุณมิ้น เธอใส่ใจกับการแบ่งพื้นที่ใช้สอยของห้อง ออกแบบสัดส่วนและรูปแบบของบานประตูหน้าต่าง เลือกเครื่องใช้และวัสดุที่นำมาตกแต่งเป็นอย่างมาก เธอบอกกับเราว่า การใช้ชีวิตในเมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบ แต่รุ่มรวยไปด้วยความเข้มข้นทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอย่างเจนีวา เป็นช่วงเวลาของการเติบโตทางความคิด และการมีเวลาอิสระเป็นของตัวเอง ยังทำให้มีเวลามากพอที่จะศึกษาถึงสิ่งที่สนใจอย่างลึกซึ้ง เช่น งานตกแต่งภายใน และศิลปะ
หยุดเวลาไว้ที่ Sela…
เราว่าที่นี่น่าจะเป็นอีกหมุดหมายของการพักผ่อนในเชียงใหม่ ที่จะชาร์จพลังชีวิตให้กับนักเดินทางอย่างเต็มเปี่ยม เพราะในความน้อยของ Sela ที่มีเพียงห้องพัก ห้องสมุด สระว่ายน้ำ ห้องอาหารและสวนขนาดใหญ่ แต่นั่นคือคอนเซ็ปต์ที่เจ้าของต้องการให้ผู้เข้าพักได้ใช้ชีวิตเหมือนอยู่บ้าน ได้พักผ่อนอย่างเต็มอิ่ม ได้กินอาหารดีๆ และรื่นรมย์ไปกับบรรยากาศรอบข้างที่สวยงาม สงบเงียบ
“เราอยากสร้างสภาพแวดล้อมที่สร้างแรงบันดาลใจหรือทำให้ผู้คนรู้สึกอะไรบางอย่าง อยากใช้เวลากับความนึกคิด อยากสงบ อยากที่จะมาพักผ่อนจริงๆ ในสภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากชีวิตประจำวันนิดหน่อย อาจจะไม่ใช่ทุกวันที่เราได้นอนหลับในห้องที่เพดานสูงมากหรือสัดส่วนประตูหน้าต่างเป็นลักษณะนี้” คุณมิ้นเผยความคาดหวัง
“ผมเชื่อว่า ถ้าเราทำ Sela ให้เป็นสถานที่สร้างแรงบันดาลใจได้จริง จะทำให้คนเข้าพักสามารถอยู่นิ่งๆ ได้อย่างมีความสุข ใน 24 ชั่วโมง แขกอาจจะอยากใช้เวลาอยู่กับเราเกิน 15 ชั่วโมง พอมีโควิดและข้อจำกัดด้านการเดินทาง ทำให้คนเริ่มหันมา Staycation กันมากขึ้น หรือไปพักผ่อนในโรงแรมเฉยๆ 24 ชั่วโมง ไม่ออกไปไหนเลย” คุณนัตทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม
Sela คือบ้านหลังงามที่ทำให้เราอยากหยุดเวลาไว้ตรงนั้น ณ มุมนั้นของเชียงใหม่จริงๆ
โรงแรม Sela
519 ตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
โทรศัพท์. 053-111-831
Website : selachiangmai
Facebook : sela
Instagram : selachiangmai