About
ART+CULTURE

SKINS

เบื้องหลัง ‘SKINS’ ละครเปิดสมองเด็ก ชวนตีความชีวิตจริงที่ไม่ได้วิ่งในทุ่งลาเวนเดอร์

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับ ‘อัจจิมา ณ พัทลุง’ ผู้อำนวยการเทศกาลละคร BICT Fest 2024 ถึงการเปลี่ยนภาพจำละครสำหรับเด็กที่ไม่ได้ต้องน่ารักสดใสเสมอไป และเรียนรู้เบื้องหลังการสร้าง ‘SKINS’ ละครเด็กที่เกิดจากความร่วมมือของ Choreographer ระดับประเทศ ‘จิตติ ชมพี’ และผู้เชี่ยวชาญการทำหุ่นจากฝรั่งเศส ‘Pascale Blaison’

ไฟถูกปิดมืด

เบื้องหน้าเรามีฉากคล้ายพลาสติกที่ไม่ถึงกับทึบ แต่ก็ไม่ได้โปร่งใส มีเเสงสีเหลืองจางๆ ลอดผ่าน ชวนให้นึกว่าจะมีอะไรอยู่ข้างหลังกำบังบางๆ ผืนนี้

นักแสดงทั้งสองนอนกระจายตัว หันหน้ากันไปคนละทิศละทางอยู่หน้าฉาก คนหนึ่งทำท่านอนเกาก้น อีกคนผมเผ้ารุงรัง เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมตัวน้อยที่นั่งอยู่ชิดขอบเวที “นั่นไม่ใช่ผีจริง นั่นผีปลอม!” “เฮ้ย เกาตูดทำไม ฮ่าๆๆ”

การแสดงดำเนินไปเรื่อยๆ เราเริ่มเห็นนักแสดงทั้งสองเคลื่อนไหวด้วยท่าทางของลิง ที่หยอกล้อกันบ้าง ส่งเสียงร้องบ้าง ก่อนจะหายตัวไปหลังฉากเป็นระยะ ทิ้งให้เราเห็นเพียงเงาที่บอกเล่าเรื่องราวของ “จับลิงหัวค่ำ” อารัมภบทของ ‘หนังใหญ่’ ละครแบบไทยโบราณที่ทาง BICT FEST 2024 ได้ชวนศิลปินมาตีความใหม่ให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น โดยได้ศิลปิน และ Choreographer ระดับประเทศ ‘โอ๋- จิตติ ชมพี’ มากำกับการแสดงนี้ ผสมผสานกับงานหุ่นเงาที่ถูกสร้างขึ้นโดย ‘ปาสคาล เบลซอง (Pascale Blaison)’ ศิลปินนักทำหุ่นชาวฝรั่งเศสที่มีประสบการณ์ด้านนี้มากว่า 30 ปี

ศิลปินทั้ง 2 รวมถึง ‘อุ๊- อัจจิมา ณ พัทลุง’ ไดเรกเตอร์ของเทศกาลนี้จะมาเล่าให้เราฟังถึงการทลายกรอบภาพจำของ ‘งานเด็ก’ แบบเดิมๆ ที่ไม่ต้องน่ารักสดใสและมาพร้อมคติสอนใจ แต่เปิดกว้างต่อการตีความ พูดถึงประเด็นยากๆ แบบความตายก็ได้! ความกลัวก็ได้! เพราะเชื่อว่าไม่มีอะไรที่ไกลตัวเกินกว่าเด็กจะควรรับรู้

SKINS

เปลี่ยนภาพจำละครเด็ก

“ละครเด็กควรจะเป็นยังไง?”

เราเริ่มถาม ‘อุ๊- อัจจิมา’ ไดเรกเตอร์ของเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชน (BICT FEST 2024) ด้วยความสงสัย เพราะว่าเราก็เป็นหนึ่งในคนที่ถ้าให้เลือกไวๆ ว่าจะเปิดอะไรให้เด็กเล็กๆ ดู ก็คงจะต้องเป็นคลิป เบบี้ชาร์ก, Wheel on the bus, ไม่ก็เอลซ่าเป็นแน่

สิ่งที่อุ๊และ BICT FEST พยายามทำมาเป็นปีที่ 4 แล้ว คือการเปลี่ยนภาพจำของความเข้าใจง่าย น่ารักสดใสของสื่อเด็ก รวมไปถึงการไม่เพ่งเล็งเนื้อหาไปที่การสอนให้เป็น ‘เด็กดี’ รู้จักดี-ชั่ว ถูก-ผิด แต่กล้าที่จะพูดถึงปัญหาในโลกของความเป็นจริงที่อยู่รอบๆ ตัว อย่างความกลัว ความตาย และอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ

SKINS

วลีที่ว่า ‘เด็กมันจะไปรู้อะไร’ ไม่มีพื้นที่ในสมการนี้อย่างแน่นอน เพราะสำหรับคนที่คิดว่า “เฮ้ย มันพร้อมละเหรอที่เด็กจะมารับรู้อะไรพวกนี้” อุ๊มองว่าเด็กบางคนอาจเคยได้สัมผัสประสบการณ์เหล่านี้ไปแล้วตั้งแต่อายุยังน้อยนี่แหละ และหลายๆ ครั้งผู้ใหญ่ประเมินการตีความของเด็กต่ำไป

“จริงๆ แล้วเด็กๆ เนี่ย การตีความของเขากว้างกว่าของผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ เวลาดูละคร ส่วนมากสิ่งที่ผู้ใหญ่กังวลคือการดูไม่รู้เรื่อง การไม่สามารถมีคำตอบที่ชัดเจน เพราะว่าพอเราโตขึ้นมาเนี่ย เราเริ่มได้รับการเฟรมมาจากการเรียนในโรงเรียน ให้ต้อง “หาคำตอบที่ถูกต้อง” แต่เด็กๆ โดยเฉพาะช่วงประถมวัย เขาจะค่อนข้างเปิดรับและซึมซับกับทุกสิ่งที่เขาเห็น แล้วก็สร้างภาพต่อไปจากสิ่งที่เขาเห็น มากกว่าจะมาพยายามสรุป เพราะฉะนั้นเวลาทำงานให้เด็กเลยเป็นอะไรที่น่าสนใจ เวลาศิลปินถามกว้างๆ ว่าสิ่งที่เขาเห็นมีอะไรบ้าง แต่ละคนก็จะมี การตีความที่ต่างกัน ไม่มีใครคิดว่าสิ่งไหนผิด”

SKINS

เพราะฉะนั้นศิลปินและผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลละครเด็กทุกคนเลยเป็นผู้เชี่ยวชาญจากศาสตร์หลายแขนง ไม่ใช่งานที่ทำให้สนุก เอ็นเตอร์เทนแล้วก็จบไป แต่ศิลปินใช้เวลากับกระบวนการ และใช้ความละเมียดในการสร้างสรรค์ทุกๆ การแสดง

นอกจากนี้ ยังสามารถนำเสนอออกมาในหลายรูปแบบด้วยนะ ไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องเป็นการแสดงแบบมีเพลง มีบทพูดอย่างเดียว ซึ่งทั้งหมดก็มีให้เลือกดูกันใน BICT FEST 2024 “ไม่ใช่แค่งาน Storytelling (การเล่าเรื่อง) งานหุ่น แต่ยังมี Circus (กายกรรม) Contemporary Dance (การเต้นแบบร่วมสมัย) และอะไรอีกหลายอย่างมาก” อุ๊ยกตัวอย่าง

SKINS

Duality

“สิ่งคู่ตรงกันข้าม” คือคอนเซปต์ของ SKINS

‘โอ๋- จิตติ ชมพี’ ศิลปินนักเต้นร่วมสมัยที่นำศิลปะการแสดงโขน และนาฏกรรมชั้นสูงของไทยไปเผยแพร่มาแล้วทั่วโลก และยังเป็นหัวเรือของเทศกาลศิลปะ ‘Unfolding Kafka’ อธิบายให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของคอนเซปต์นี้ว่า “การแสดงแบบไทยโบราณมักจะพูดถึงความเป็นคู่ตรงข้ามซะส่วนใหญ่ เช่น มืดกับสว่าง ขาวกับดำ อย่างใน “จับลิงหัวค่ำ” ก็พูดถึงการสู้กันของลิงขาวกับลิงดำ เลยหยิบส่วนนี้มาขยายต่อ”

ยังไงก็ตาม อย่างที่บอกไปตั้งแต่แรก การสอนเรื่องความดี-เลว ไม่ใช่เจตนารมณ์ของละครแบบ BICT FEST เพราะฉะนั้น SKINS จะไม่ได้ชี้แนะว่าด้านไหนดีกว่า หรือแย่กว่า เพียงแต่จำลองให้เห็นการมีอยู่ร่วมกันของขั้วตรงข้ามในหลายๆ เหตุการณ์ แล้วให้เด็กๆ ไปตีความกันเอาเอง

SKINS

สิ่งคู่ตรงกันข้ามที่เด็กๆ จะได้เห็นอีก นอกจากลิงขาวและลิงดำคือ

‘ไดนามิกระหว่างแสงและเงา’ เนื่องจากหนังใหญ่แบบดั้งเดิมเป็นการเเสดงที่ใช้แผ่นหนังสัตว์ฉลุเป็นรูปตัวละครรามเกียรติ์ และนำมาเชิดหลังฉากอีกที

‘การผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมโบราณและความโมเดิร์น’ เนื่องจากเป็นการนำสิ่งที่ถูกนิยามว่า “แห้ง” ในวงการศิลปะไทยตามที่โอ๋บอก มาทำให้ร่วมสมัยและน่าดูมากขึ้น

‘การจับมือกันระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก’ เนื่องจากตัวละครที่เคลื่อนไหวอยู่หลังฉาก ถูกเปลี่ยนจากหนังสัตว์ฉลุ 2D แบบไทยดั้งเดิม เป็นหุ่นโฟม 3D แบบฝรั่งเศส

SKINS

และสุดท้าย ‘การเชื่อมโยงของ SKINS (ผิวหนัง) จริงและปลอม’ ให้เด็กๆ ได้สังเกตว่าเมื่อนักแสดงได้สวมใส่ หรือจับหุ่นที่ทำจากโฟมแล้ว มีท่าทีเปลี่ยนไปอย่างไร และกระทบกับการแสดงยังไงบ้าง

ดีเทลที่ใช้เวลาเล่าทั้งวันก็คงไม่หมดนี้ เป็นสิ่งที่โอ๋ให้ความสำคัญมากๆ เพราะจากที่ใช้เวลาคิดมานานว่า เขาควรทำวิจัยก่อนไหมนะว่าเด็กอยากดูอะไร หรือควรจะ Approach ศิลปะจากแง่มุมไหนดี โอ๋ได้ข้อสรุปว่าอยากทำการแสดงในแบบที่เขาจะ “อยากพาลูกไปดูในฐานะผู้ปกครอง” แม้จะยังไม่มีลูก แต่ผู้ปกครองในแบบที่โอ๋คิดไว้ว่าจะเป็น ก็คือผู้ปกครองที่ให้ลูกเรียนรู้ในเชิงปฏิบัติ

SKINS

“สมัยเรียนหนังสือ เพื่อนถามครูว่าจะเรียนวิชานี้ไปทำไม? เอาไปใช้ทำอะไร? มันจะมีคำถามแบบนี้เสมอ แต่กับการมาดูละคร เราไม่ได้สอนสูตรเขา เราสอนสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริงๆ บนโลกใบนี้”

อย่างเรื่องแสงและเงา เด็กๆ ก็จะได้เห็นกับตาตัวเองว่าระยะของวัตถุกับฉากมีผลต่อขนาดของเงา ยิ่งใกล้ฉากก็ยิ่งเล็ก ยิ่งไกลฉากก็ยิ่งใหญ่ แถมเด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทยไปในตัวด้วย โอ๋ ในฐานะเด็กเรียนคนหนึ่ง บอกว่านี่แหละ คือวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และประวัติศาสตร์ แบบได้ใช้จริง!

SKINS

SKINS

Puppetry

“การแสดงสำหรับเด็กควรจะลึกซึ้ง” ปาสคาลซึ่งเป็นนักแสดงและนักทำหุ่นจากฝรั่งเศสบอกกับเรา แม้จะเป็นครั้งแรกที่ทำหุ่นในรูปแบบ ‘หุ่นเงา’ แต่เธอทำงานกับโรงละครเด็กในฝรั่งเศสมาโดยตลอด และย้ำว่าเด็กไม่ใช่คนไม่รู้เรื่อง พวกเขาเพียงเเค่อายุน้อยเท่านั้นเอง

ที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ “เด็กๆ จะมีรีแอ็กชันที่พวกเราคาดไม่ถึงเสมอ หุ่นบางตัวเราคิดนะ ว่าดูน่ากลัวไปหรือเปล่าสำหรับเด็ก แต่พวกเขากลับชอบมันซะงั้น ถ้าในเรื่องการเเสดง เด็กบางคนก็จะพูดออกมาตรงๆ เลยว่า ‘การแสดงนี้น่าเบื่อ ไม่ชอบ!’ แต่มันไม่ใช่อย่างนั้นหรอก บางทีพวกเขาก็แค่เหนื่อยกับการทำความเข้าใจ และต้องการเวลาย่อยมันอีกสักหน่อย” ปาสคาลเล่าพร้อมรอยยิ้ม เธอเสริมว่าการค่อยๆ เรียนรู้ฟีดแบ็กจากคนดูตัวน้อยเป็นเรื่องที่ต้องใช้ประสบการณ์เเละเวลา

SKINS

SKINS

สำหรับงานนี้ปาสคาลทำหุ่นที่มีลักษณะเป็นรูปคนมา 2 ขนาด คือแบบเล็กจนถือด้วยมือเดียวได้ และแบบใหญ่ที่คนสวมใส่ได้ เธอใช้โฟมที่มีความแข็งแรง เบาบาง และยืดหยุ่น ค่อยๆ แกะสลักจนมีรูปร่างหน้าตาแบบคนที่ไร้เสื้อผ้าหน้าผม และไม่สามารถระบุเพศได้เลย แต่เมื่อไปอยู่หลังฉากแล้วกลับดูลึกลับและทรงพลัง สังเกตได้จากรีแอ็กชันเด็กๆ ตอนได้เห็นหุ่นขนาดยักษ์ค่อยโผล่หน้ามาแนบฉาก พร้อมขยับปาก และโบกมืออย่างช้าๆ บอกเลยว่าตาค้างไปตามๆ กัน

SKINS

แต่ทำไมต้องหุ่น? มันมีความพิเศษยังไง?

“จริงๆ ตอนเด็กๆ ทุกคนต่างเคยแสดงหุ่นมากันแล้วทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าจะเป็นการจับตุ๊กตาบาร์บี้มาคุยกัน เอารถของเล่นมาเเข่งกัน พวกนั้นเป็นรากฐานของการแสดงหุ่น เวลาเห็นหุ่นบนเวทีเลยจะเชื่อมโยงเรากับความทรงจำนั้นในวัยเด็กของตัวเองได้โดยอัตโนมัติ มันเป็นคอนเน็กชันของมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่เเละสวยงามมากๆ เลยนะ เพราะทุกคนเคยมีประสบการณ์แบบนี้ การสื่อสารผ่านหุ่นเลยทรงพลัง

SKINS

แต่ถ้าจะให้พูดแบบเจาะในส่วนของหุ่นเงา เราชอบตรงที่สิ่งที่เราเห็นหน้าฉากกับหลังฉาก มันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ข้างหลังเราต้องทำอะไรเยอะมากกว่าจะได้ภาพที่เห็น อีกอย่างเงาเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ มาแล้วก็หายไป… ทำให้นึกเชื่อมโยงถึงเรื่องของวิญญาณ” ปาสคาลอธิบายและแชร์มุมมองในความเป็นศิลปินให้ฟัง

การที่เธอมาจับมือกับโอ๋เพื่อสร้างการแสดงนี้ขึ้นมา นอกจากจะเพิ่มเลเยอร์ในเชิงวัฒนธรรมแล้ว ยังทำให้เห็นว่าศิลปการแสดงของเด็กสามารถเป็นศูนย์รวมความสามารถหลากหลายแขนงได้ หรือที่โอ๋เรียกว่า “Crossing Discipline” สำหรับผู้อยู่เบื้องหลังละครเรื่องนี้ทุกคน มันไม่ใช่แค่การถ่ายทอดเรื่องราวออกมา แต่คือการเฝ้าดูความสัมพันธ์ออร์แกนิกที่เกิดขึ้นเมื่อ นักแสดง การเต้น หุ่น ฉาก แสง เสียง และทุกๆ องค์ประกอบมาปฏิสัมพันธ์กัน

SKINS

สนับสนุนเพื่อเติบโต

เมื่อพูดถึงเรื่อง Crossing Discipline โอ๋แชร์ให้เราฟังเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากหุ่น เสียงเพลงที่ใช้ในการเเสดงก็เป็นเพลงที่ใช้ในหนังใหญ่จริงๆ และคนที่มาทำเพลงให้ SKINS ก็เป็นถึงผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพลงจากโรงละครแห่งชาติ

เราไม่เคยมีประสบการณ์ทำละครเวทีแบบมืออาชีพมาก่อน ฟังแล้วก็ได้แต่รู้สึกทึ่งว่าการแสดงที่เขาว่าทำให้เด็กดูนี้ รวมคนมากฝีมือไว้มากขนาดนี้เลยหรอ?

“To create a piece of theatre you need that” อุ๊บอกเรา การแสดงจะไม่มีทางสมบูรณ์ได้เลย ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากคนเก่งจากหลายๆ ด้าน เหมือนกับจิกซอว์ที่ต้องนำมาประกอบกันถึงจะเห็นเป็นภาพใหญ่ที่สวยงาม

SKINS

SKINS

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่โอ๋อยู่ในวงการนาฏกรรมไทย การเต้นร่วมสมัย และวงการศิลปะมาเกือบ 30 ปี เขาบอกว่าไม่ง่ายเลยที่จะยึดสายงานนี้เป็นอาชีพหลัก เพราะยังขาดการสนับสนุนจากหลายๆ ภาคส่วน เลยเป็นสาเหตุให้นักแสดงที่เขาเลือกมาไม่ได้มีแค่นักแสดงอาชีพอย่าง ‘ผดุง จุมพันธ์’ แต่ยังมีนักแสดงหน้าใหม่ที่เพิ่งเรียนจบมาหมาดๆ อย่าง ‘ฟ้า-นันท์นภัส แก้วงาม’ ด้วย

“เทศกาลนี้ไม่ได้ทำขึ้นให้เด็กดูเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นแพลตฟอร์มให้ศิลปินเยาวชนคนรุ่นใหม่มาแสดงความสามารถบนเวทีระดับนานาชาติ” โอ๋สรุป

SKINS

นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้นักแสดงหน้าใหม่แล้ว เมื่อใดก็ตามที่คนให้ความสำคัญกับผู้ที่อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังทุกอาชีพ เด็กๆ ที่มาดูก็จะมองเห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลายขึ้นในการเลือกเส้นทางของตัวเอง บางคนมาดูแล้วก็อาจจะรู้สึกว่า “อยากเป็นแบบพี่เขาจัง” ก็เป็นได้ (โอ๋เน้นย้ำกับเราว่าควรใส่ส่วนนี้ลงไปในบทความด้วย เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับคนในวงการศิลปะและการแสดงมากจริงๆ)

จนถึงตอนนี้ก็ผ่านมา 8 ปีแล้วนับจาก BICT FEST ครั้งแรก อุ๊ทิ้งท้ายว่าแม้สเกลในปีนี้จะใหญ่ขึ้น เเละผลตอบรับจะดีขึ้นกว่าปีไหนๆ แน่นอนว่าการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ชมก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ผลงานสร้างสรรค์แบบนี้ขับเคลื่อนต่อไปได้

SKINS

สุดท้าย นอกจาก SKINS แล้ว ปีนี้ยังมีละครให้เลือกชมอีกถึง 12 เรื่องด้วยกัน และอีก 8 เวิร์กช็อปจากศิลปิน 9 ประเทศ ในฐานะที่ดูแล้วคิดว่าดี! ก็ขอฝากให้ทุกคนจูงลูกจูงน้องจูงหลานไปดู ไปเปิดประสบการณ์ใหม่ให้เด็กๆ และไปให้กำลังใจพี่ๆ นักแสดงกันเยอะๆ เพราะหากไม่มีคนผู้ชม การแสดงก็คงจะไม่สมบูรณ์เช่นกัน 🙂

Tags: