Drawing HOME
ตัวตน ‘Someparizone’ ผู้ฉายความทรงจำจากบ้านในย่านต่างๆ ผ่านงานสเก็ตช์ลายเส้นเตะตา
- Someparizone เพจไอจีและเพจเฟสบุ๊ก ของ ‘ปาริ – ปาริชาติ ยอดหอม’ ศิลปินที่ชอบสเก็ตช์บ้าน ตึกเก่า คาเฟ่ตามย่านต่างๆ ด้วยหมึกสีดำ ที่นอกจากจะเตะตาเราด้วยลายเส้นสุดโหดแล้ว การสเก็ตช์ยังเป็นเครื่องฉายความทรงจำเล็กๆ ที่ทำให้อยากหวนกลับไปอีกครั้ง
บางสถานที่ไม่ว่าจะเป็นตึกเก่า ย่านที่ชอบเดินอยู่บ่อยๆ คาเฟ่ที่ไปแล้ว ก็ยังคงวนกลับไปอยู่ซ้ำๆ ขนมหรือเครื่องดื่มที่สั่งบ่อยยังไงก็ไม่เคยรู้สึกเบื่อ น่าจะเรียกว่าเป็นเซฟโซนที่ให้ความรู้สึกอุ่นใจ ไม่ต่างไปจากความหมายของคำว่า ‘บ้าน’
‘Someparizone’ ชื่อเพจเฟสบุ๊กและชื่อไอจีที่ปาริสร้างขึ้น เพื่อลงผลงานภาพสเก็ตช์ในช่วงเวลาที่เธอได้ไปเดินตามที่ต่างๆ เรารู้จักชื่อนี้ครั้งแรกจากการที่เธอโพสต์ถึงสถานที่โปรดอย่าง Doc Club & Pub การบอกเล่าช่วงเวลาที่ได้นั่งในคาเฟ่และได้มาดูหนังผ่านการสเก็ตช์ภาพที่โชว์ลายเส้นอันถี่ยิบ ที่ยิ่งซูมก็ยิ่งได้เห็นรายละเอียดเล็กๆ จนเราอยากจะร้องโอ้โห
แต่รายละเอียดที่ว่านี้เปรียบเสมือนการบันทึกเก็บความทรงจำเล็กๆ หรือความ Nostalgia ที่ทำให้เธอรู้สึกอยากจะกลับไปที่นั่นๆ อยู่เสมอ ทุกๆ ภาพจึงเป็นตัวแทนของบ้านที่เติมเต็มความอบอุ่นที่เธออยากแนะนำทุกคนด้วยเช่นกัน
วันนี้ขอพาไปเดินตามลายแทงสถานที่ต่างๆ บนภาพสเก็ตช์เพื่อเข้ามารู้จักตัวตนของปาริกัน
ตั้งแต่จำความได้
ฉันก็ชอบวาดบ้าน
ปาริเดินหอบสมุดสเก็ตช์ภาพของเธอมาให้เราดูกันถึงที่ออฟฟิศ แต่ละหน้ากระดาษที่เรียงซ้อนกันในเล่มหนาและเล่มบาง บ่งบอกทั้งความชอบเดินลัดเลาะตามย่าน ตามตึกรามบ้านช่อง และการได้นั่งในคาเฟ่ต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลาของเธอได้ดี บางที่เราเองก็เคยไป พวกเราเลยหยิบประสบการณ์ร่วมจากสถานที่นั้นๆ มาแลกเปลี่ยนกัน สักพักปาริก็บอกว่า นี่ล่ะคือสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นหลังจากคนมาเห็นผลงานของเธอ
“ช่วงเรียนมหาลัยปี 2017 เวลาเราเช็กอินในไอจี มันจะมีเขียน Somewhere only we know เห็นแล้วเรารู้สึก เฮ้ย มันมีสถานที่ที่ เรารู้จักแค่คนเดียว แล้วเราก็อยากบอกคนอื่นด้วย คำว่า Some อาจจะแทนสิ่งของ บ้าน สถานที่ที่เราอยากบอก ปาริคือชื่อเรา โซนก็คือพื้นที่ของเรา พื้นที่ที่เราอยากรู้จักและอยากให้คนอื่นได้รู้ด้วย เลยกลายเป็น Someparizone” เธอย้อนเล่าที่มาของชื่อให้เราฟัง
และถ้าย้อนถอยหลังไปนานกว่านั้น คุณก็จะได้พบกับเด็กหญิงปาริที่ชื่นชอบการวาดรูปเป็นชีวิตจิตใจ และมักจะชอบวาดบ้านและตึกมาแต่ไหนแต่ไร เราขัดเรื่องราวของเธอด้วยการถามขึ้นว่าทำไม เธอนิ่งคิดก่อนจะตอบว่าไม่รู้ “เท่าที่จำความได้ เราก็เอาแต่วาดบ้านแล้วค่ะ”
ม้วนฟิล์มชีวิตวัยเด็กเดินทางมาช่วงมัธยมที่ทำให้เราได้ค้นพบอีกความชอบของปาริ คือการเขียนนิยาย ตอนนั้นเธอเริ่มแพลนชีวิตว่าอยากจะทำทั้ง 2 อย่างนี้ไปด้วยกัน เธอเลยจะสอบเข้าสถาปัตยกรรม แม้จะรู้ตัวว่าไม่ได้ชอบวิชาคณิต ฟิสิกส์ วิชาวิทย์เลยก็ตาม
พอลองสอบแล้วไม่ติด ก็ตัดสินใจเข้าคณะอักษรศาสตร์ เอกสังคมการพัฒนา โททัศนศิลป์ที่ทำให้ศิลปินสาวได้เรียนสองสิ่งสมใจหวัง และช่วงเวลานี้ล่ะคือหนทางสู่การเริ่มจริงจังไปกับการพัฒนาลายเส้นของตนเอง เราเลยเข้าใจแล้วว่า ทำไมบรรดาสมุดที่เธอหิ้วมา เล่มแรกสุดถึงเริ่มต้นด้วยปี 2017
เมื่อสเก็ตช์ตึกพาฉันไป
พบปะร่องรอยของอดีต
เธอชื่นชอบสถาปัตยกรรมแนวชิโน-โปรตุกีสและแบบนีโอคลาสสิกเลยทำให้สนุกทุกครั้งที่ต้องเก็บดีเทลศิลปะการสร้างตึกเหล่านั้น ซึ่งนอกจากวาดลงสมุด ช่วงนี้เธอเริ่มหันมาวาดในไอแพดด้วย เธอเปิดงานศิลปะที่มีทั้งเสร็จแล้วและยังไม่เสร็จให้เราดูอยู่หลายภาพ ก่อนจะเผยมุมมองส่วนตัวให้ฟัง เธอมองว่าการตั้งอยู่ของสิ่งสิ่งหนึ่งสามารถบ่งบอกถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนในแต่ละพื้นที่และแต่ละประเทศได้
อย่างในย่านสุขุมวิทที่ปาริแวะเวียนอยู่ประจำ มีไวบ์ความเป็นเมืองสูงมาก แม้จะมีตึกเก่าก็ยังดูโมเดิร์น สะท้อนถึงการใช้ชีวิตของคนเมืองสมัยนี้ได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าขยับไปฝั่งย่านเก่าอย่างเจริญกรุง เยาวราช ก็จะให้ความรู้สึกคลาสสิกกว่า ตึกหลังไหนมีการรีโนเวตก็ยังได้เห็นเค้าโครงสถาปัตยกรรมในช่วงสมัยรัชกาล 5 ที่ทำให้เธอสัมผัสได้ถึงภาพชีวิตในยุคนั้นและบรรยากาศของการค้าขายมาก่อน
“เราเดินผ่านทรงวาดก็ยังเห็นร้านอาหารที่ยังมีป้ายบริษัทจำกัดติดอยู่เลย มันจะเห็นร่องรอยของความเป็นสมัยก่อนที่ยังหลงเหลืออยู่ หรืออย่างตอนที่เราวาดตึกในต่างประเทศ เราจะเข้าใจเลยว่า อ๋อ ดีเทลแบบนี้เป็นของเกาหลีแน่เลย หรือถ้าญี่ปุ่น รูปทรงหลังคาจะต้องเป็นแบบนี้ หรือการใช้อิฐก็จะต้องเป็นแบบนี้แหละ” เธอตอบเราถึงเสน่ห์ของงานสเก็ตช์ที่นำพาให้เธอได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
สีขาว-ดำ คู่สีเบื้องต้น
และความเบสิกที่เข้าถึงง่าย
จริงๆ แล้วมุมองที่เธอเพิ่งเล่าไปเกิดจากผลพวงของการได้เรียนคณะอักษรศาสตร์ที่ค่อยๆ ฝึกเลนส์สายตาและความคิดของเธอไปด้วย “เราเรียนสังคมคู่กับศิลปะ สังคมและสื่อเพื่อการพัฒนาสังคมไปด้วย ซึ่งสอนให้เราตีความงานต่างๆ ว่าผลงานศิลปะชิ้นนี้มีที่มาอย่างไร หรือสิ่งต่างๆ มีต้นสายปลายเหตุยังไง ใครเป็นคนผลิต แล้วเขามีความคิดยังไง สอนเราให้รู้จักวิเคราะห์ผลงาน มองให้ลึกไปถึงต้นตอ”
ภาพสเก็ตช์ ‘ขาว-ดำ’ ของเธอจึงให้เซนส์ของการย้อนกลับเข้าสู่ความเป็นเบสิก หรือยุคอะนาล็อกที่ทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ และภาพพิมพ์ล้วนเริ่มต้นด้วยสีดำ สีเบื้องต้นที่ปาริเห็นมาตั้งแต่เด็ก ก่อนที่จะวิวัฒนาการมาเป็นสีสันเฉกเช่นทุกวันนี้
ศิลปะของเธอจึงไม่ได้จะเล่าช่วงเวลาปัจจุบัน “บางภาพที่เราวาด ก็มีสายไฟที่เราเก็บดีเทลความรุงรังจากที่เห็นมาด้วย คือมันมีเสน่ห์ที่แสดงถึงความวายป่วงก็จริง แต่ในมุมความสวยก็สะท้อนให้เห็นความไม่เป็นระเบียบของสังคม เราเลยอยากเก็บดีเทลตรงนั้นไว้ เพราะภาพวาดสามารถบอกเรื่องราวในสังคม ณ เวลาหนึ่งได้ ที่ถึงแม้ตึกจะสวยแค่ไหน หรือมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอย่างไร แต่ถ้าสังคมไม่พัฒนา รัฐบาลยังไม่เข้ามาช่วยหรือแก้ไข ความรุงรังมันก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม”
เธอหยิบภาพสเก็ตช์มาให้เราดูพร้อมชวนตั้งคำถามว่า ทุกวันนี้สิ่งเหล่านี้บดบังเสน่ห์ของวัฒนธรรมบ้านเราไปแค่ไหนกันแล้วนะ นั่นสิ! อดคิดต่อไม่ได้เลยเมืองไทยที่ไร้สายไฟจะสวยมากแค่ไหน
เมื่อการสเก็ตช์ภาพ
ช่วยให้ฉันได้อยู่ในบ้านอันอบอุ่น
ในสมุดบางเล่มเราเห็นเธอวาดรูปคน บางภาพใช้สีอื่นๆ แทนสีดำในการสเก็ตช์ที่ดูมีสไตล์และเก๋เอามากๆ แต่สำหรับปาริ 2 แนวนี้เธอกลับไม่ค่อยไม่มั่นใจที่จะวาดเท่าไหร่ เธอเลยสร้างไอจีอีกแอคเคาต์ในชื่อ ‘Holaparich.studio’ ไว้ลงผลงานทดลองแนวใหม่ๆ เพื่อฝึกฝนลายเส้นในส่วนนี้ต่อไป
แต่ Someparizone น่ะคือตัวตนที่ใช่แล้วของปาริ เพราะการสเก็ตช์ช่วยบำบัดเธอจากความซึมเศร้า แล้วแทนที่ด้วยการเติมเต็มสิ่งดีๆ ของสถานที่นั้นลงไป เธอเอ่ยคำว่าบ้านออกมาอีกครั้ง เราเลยขอให้ช่วยอธิบายคำนี้ในมุมมองของเธอให้ฟังหน่อย
“บ้านในความหมายของเราไม่ได้ผูกติดกับสถานที่ เรามองว่าสถานที่ที่เราวาดแล้วเป็นเซฟโซน มันไม่ใช่บ้านที่เป็น House แต่เป็น Home ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย เข้าไปแล้วคุณหายทุกข์และได้รีเซ็ตตัวเองใหม่ คุณไม่จำเป็นต้องมีครอบครัวที่พร้อม แต่ถ้าอยู่ตรงนั้นแล้วมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่ไม่ได้ตกแต่งอะไรเลย หรือตึกเก่าๆ ที่ชวนให้รู้สึกดี นั่นน่ะคือ Home”
ปาริเลยไม่ได้อยากวาดบ้านอย่างเจาะจง แต่ทุกที่แห่งหนใดที่มอบความสบายใจจนอยากกลับไปอีกครั้ง นั่นน่ะ คือบ้านที่เธออยากวาดเพื่อแบ่งปันกับเราทุกคน
“ตอนนี้เรากำลังลองเปลี่ยนวิธีการนำเสนอใหม่ คือเล่าแบบคอมมิก เหมือนพาไปดูว่าข้างในตึกหรือในคาเฟ่แห่งนี้มีอะไรบ้าง แต่ก็มีอีกแบบที่เราเริ่มลดกรอบออกจนไม่มีกรอบเลย เราจะเอาอะไรที่ชอบจากในร้านนั้นๆ จับทุกอย่างมายัดให้อยู่รวมกันไปภาพเดียวไปเลย” รอลุ้นชมภาพสเก็ตช์ผสมความคอลลาจของปาริไม่ไหวเลยจริงๆ
แต่ช่วงนี้ใกล้ถึงเทศกาลคริสต์มาสแล้ว แอบเห็นเธอโพสต์ภาพสเก็ตช์ต้อนรับบรรยากาศด้วยคุกกี้ โกโก้ร้อน หิมะ และเสียงเพลงลงโซเชียล ใครจะรู้ว่าภาพสีขาว-ดำในไวบ์นี้กลับเรียกความสุขให้ผู้ที่ติดตามเธอได้มากถึงขนาดไหน มาเป็นหนึ่งในนั้นไปด้วยกันได้ที่ Facebook Page : some.parizone และ Instagram : someparizone