Sound of the Soul
Sound of the Soul สเปกตรัมจากเสียงชาติพันธุ์ผ่านเลนส์กล้อง ‘ศุภชัย เกศการุณกุล’
- นิทรรศการ Sound of the Soul เกิดจากความร่วมมือระหว่างหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) กับ 3 ศิลปิน ได้แก่ Hear&Found (ออกแบบเสียง) DuckUnit (ออกแบบนิทรรศการ) และ ศุภชัย เกศการุณกุล (ผลิตวิดีโอ) เพื่อบอกเล่าเรื่องราวทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย และสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อให้คนเมืองรู้จัก เข้าใจ รวมถึงรับรู้ตัวตนการมีอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น
- นิว – ศุภชัย เกศการุณกุล ช่างภาพผู้รับหน้าที่บันทึกและผลิตวิดีโอ visual performance ถ่ายทอดบทสนทนาชาวปกาเกอะญอในพื้นที่ อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ที่ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจด้วยตัวเอง เขาเชื่อว่าความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น จะช่วยสลายอคติ ลดการแบ่งเขาแบ่งเรา ซึ่งเป็นหนึ่งในสารตั้งต้นของปัญหาความเหลื่อมล้ำได้
คำว่า ‘เขา’ และ ‘เรา’ ฟังดูก็ธรรมดา...แต่นัยหนึ่งสองคำนี้กลับกลายเป็นช่องว่างในความหลากหลายของผู้คนที่เราคาดไม่ถึง ‘ระยะห่าง’ เช่นนี้จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจอันเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงอยู่ร่วมกันในสังคม ตามมาด้วยการยอมรับและเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน
Sound of the Soul จึงเกิดขึ้นมาด้วยหวังว่าจะช่วยให้ระยะห่างนั้นลดลง หากเราลองเปิดใจมองดูสเปกตรัมในชีวิต รับฟังเสียงที่ซ่อนอยู่ ทั้งเสียงดนตรี เสียงบรรยากาศ เสียงธรรมชาติจากป่าต้นน้ำ รวมถึงเสียงถ้อยคำของผู้คนต้นทางในนิทรรศการนี้ โดยมี ฟ้า - กัญหรัตน์ เลี่ยมทอง หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมศิลปะของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ เป็นคนเลือกประเด็นและแง่มุมในการเล่าเรื่อง เธอบอกว่า “ที่ผ่านมาเราอยู่ในโลกที่มันเสียงดังเกินไป ห้องนี้เลยตั้งใจออกแบบให้คนที่เข้ามารู้สึกสงบจนลืมว่าสถานที่แห่งนี้อยู่ใจกลางเมืองขนาดไหน อยากให้ลองตั้งใจฟังเสียงของพวกเขาเหล่านั้นดูสักครั้ง”
วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ นิว - ศุภชัย เกศการุณกุล หนึ่งในคนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังการบันทึกเรื่องราวและเสียงสะท้อนปัญหาที่ชาวปกาเกอะญอต้องเผชิญมาตลอดระยะเวลาหลายปี
• เสียงที่ต้องเข้าไปฟัง
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาถ่ายทอดประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมผ่านเลนส์กล้อง ความสนใจเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานและความตระหนักถึงปัญหาของเพื่อนมนุษย์ถูกบ่มเพาะในตัวเขามาหลายสิบปี ทำให้เขามีจุดยืนชัดเจนว่า ในฐานะช่างภาพคนหนึ่งเขาจะทำหน้าที่บอกเล่าปัญหาและการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของคนชายขอบในแบบฉบับที่พอจะทำได้
“คนเราอยู่ในสังคม คุณต้องไม่ดูดายคนในสังคม คุณช่วยอะไรสังคมได้บ้างคุณต้องทำ เพราะถ้าคุณไม่ทำมันก็เหมือนกับบ้านคุณมีรอยรั่ว ถ้าคุณไม่มีความสามารถในการช่วยอุดอย่างน้อยก็ต้องคอยช่วยสังเกต ถ้าคุณไม่ดูแลสังคม เพิกเฉย ไม่สนใจบ้านเลย ถึงวันหนึ่งบ้านคุณก็พังอยู่ดี เพราะฉะนั้นมันเลยสำคัญทั้งความเป็นปัจเจก และความเป็นหน่วยหนึ่งทางสังคม” นิวพูดถึงหัวใจของการทำงานเพื่อสังคมในทัศนคติของเขา ก่อนหยิบประเด็นหนึ่งมาเปรียบให้เราเห็นภาพโดยรวมว่ากลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศกำลังถูกทำให้แปลกแยกออกจากสังคม
“เราคิดว่าคนทั่วไปรู้จักคนปกาเกอะญอน้อยกว่าที่เรารู้จักคนญี่ปุ่นหรือคนเกาหลี ซึ่งเราว่าถ้าคนไทยทั่วๆ ไปส่วนใหญ่สนใจคนปกาเกอะญอหรือชาติพันธ์ุต่างๆ ที่เป็นคนใกล้ชิดกับเรา เราจะใส่ใจเขามากกว่านี้…ลองนึกดูว่าเวลาญี่ปุ่นเค้าแผ่นดินไหว เราเห็นใจเขามากเลยนะ ส่งกำลังใจ แต่ทำไมกับคนปกาเกอะญอที่เป็นเหมือนญาติเราแท้ๆ เราไม่เหลียวแล เขาไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีสิทธิ ทำไมเราไม่สนใจเขาอะ นี่ไง…เพราะเราสนใจคนของเราน้อยเกินไป”
ซึ่งถ้ามองในแง่สิทธิมนุษยชน เราว่าคนทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน ดังนั้นแม้เป็นกลุ่มคนต่างชาติพันธุ์ พวกเขาก็สมควรได้รับสิทธิพื้นฐานอย่างพลเมืองเช่นกัน
• เสียงที่ต้องเงี่ยหูฟัง(อย่างตั้งใจ)
เราเดินเข้ามาถึงโซนสเตชั่นเสียง 3 จุด เสียงบอกเล่าดังขึ้นจากลำโพงเล็กๆ อย่างแผ่วเบาเหมือนเสียงกระซิบ (เสียงของคนกลุ่มชาติพันธุ์กำลังเล่าถึงปัญหาที่พวกเขาพบเจอ)
“แค่เกิดมาเป็นคนบนดอยก็ผิดแล้วครับ เป็นคนกะเหรี่ยงคนป่าคนเขา ถูกมองเป็นคนอีกชนชั้น เป็นคนชายขอบ เป็นคนที่ไม่มีความรู้ ไม่มีการศึกษา นี่แหละครับสิ่งที่มนุษย์เราเป็นคนคิดขึ้นมาไม่ใช่ธรรมชาติ แต่ถ้าเกิดว่าจะให้เราทุกคนเข้าใจคือเราต้องเข้าใจคำว่าธรรมชาติ ธรรมชาติมีการแบ่งแยกไหม เวลาฝนตกจะให้ความชุ่มชื้นเฉพาะต้นไม้ใหญ่ๆ เหรอ จะให้ความชุ่มชื้นเฉพาะแม่น้ำเหรอ คุณเป็นภูเขาจะไม่ให้ลมให้ฝนนะ คือธรรมชาติไม่มีการแบ่งแยกนะครับ” เสียงของชายคนหนึ่งในพื้นที่สะท้อนความจริงบางอย่างที่เกิดขึ้นให้เราได้รับฟัง
และหากเราลองเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจ จะรู้ว่าพวกเขาไม่ได้เรียกร้องเพื่อให้ตนมีเอกสิทธิ์มากกว่าคนอื่น แต่เรียกร้องเพื่อให้มีสิทธิเท่าเทียมคนอื่น วาดหวังเพียงความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพที่ควรได้รับในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้น
นี่คงเป็นเสียงที่นิวบอกกับเราตอนแรกเริ่มสนทนาว่า “เสียงที่แท้จริง(ที่อยากให้คนได้ยิน) คือเสียงที่พวกเขาเหล่านั้นพูดมาตลอด…แต่เราไม่ได้ยิน ทั้งเสียงของความสุข เสียงหัวเราะ เสียงของความเศร้า หรือความทุกข์ระทมใจ เราว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปิดหูและเปิดใจให้กว้างขึ้น”
• เสียงที่ไม่เคยมีใครได้ยิน
โซนสุดท้ายของนิทรรศการเป็น Visual Performance ผลงานของนิวที่เล่าเรื่องผ่านวิดีโอสัมภาษณ์ชาวปกาเกอะญอ หนึ่งในนั้นคือ ‘พะตี่จอนิ โอ่โดเชา’ ผู้เป็นปราชญ์ในพื้นที่ แต่กว่าจะได้ข้อมูลส่วนนี้มาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาย้อนเล่าให้เราฟังถึงความยากของการลงพื้นที่ในครั้งนี้ว่า “เรารู้สึกว่าการถามคำถามบางครั้งมันเป็นการละลาบละล้วง มันเป็นการถือวิสาสะ เหมือนกับว่าเราเหนือกว่าเขานะ ซึ่งเราไม่ต้องการให้มันเป็นแบบนั้น เราต้องการฟัง เราต้องการรอว่าเขาอยากจะเล่าเรื่องอะไรให้เราฟัง” นิวใช้เวลาอีก 2 วันเพื่อคลุกคลีกับผู้คนและเรื่องราวในพื้นที่(หลังจากทีมงานกลับไปแล้ว)
“ช่วงแรกเขาก็เล่าเรื่องชีวิตประจำวัน รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ต่อมาเขาก็เล่านิทาน ต่อมาก็เล่าเรื่องวิถีชีวิต ท้ายที่สุดเขาก็เล่าว่าปัญหาคืออะไร ซึ่งเราคิดว่านี่แหละคือการนั่งฟัง การให้เวลากับเขา ให้เขารู้สึกว่าเรามาเพื่อฟังจริงๆ”
เนื้อหาในวิดีโอนำเสนอวิถีชีวิตและอคติที่คนเมืองมักหยิบยื่นความผิดให้พวกเขา ‘คนบนดอยทำลายป่า’ ซึ่งในความเป็นจริงป่าเปรียบเสมือนที่อยู่อาศัย ถ้าเขาทำลายมันนั่นเท่ากับทำลายบ้านตัวเอง เขาไม่สามารถทำลายต้นน้ำได้เพราะมันต้องกิน ต้องใช้ กลับกันถ้าลองคิดว่าเราไม่ได้ใช้ทรัพยากรเปลืองกว่าเขาหรอกเหรอ เราดำเนินชีวิตตามกลไกลของมนุษย์เมือง ในทางตรงกันข้ามเขาอิงแอบอยู่กับธรรมชาติอย่างแน่นแฟ้นหวงแหนจนเป็นสายใยพึ่งพาอาศัยกันเกิดความเอื้อเฟื้อระหว่างคนกับป่า สุดท้ายแล้วพวกเขาเป็นคนทำลายธรรมชาติหรือไม่ มันก็น่าคิด….
ถ้อยคำ ความคิด ความรู้สึก ทั้งหมดนี้ถ่ายทอดผ่านเสียงแห่งตัวตน เสียงจากมนุษย์ที่มีจิตวิญญาณ ร่างกาย และหัวใจไม่ต่างกับเรา ในทางกายภาพเขากับเราห่างกัน แต่ในความเป็นมนุษย์นั้นเราเท่ากันหมด เราต้องยอมรับความเป็นเขาก่อน เขาถึงจะยอมรับความเป็นเรา เพราะหากลองมองมุมกลับดูแล้ว เราเองก็เป็นคนอื่นสำหรับเขาเช่นกัน เราเชื่อว่าใครก็ตามที่ได้มาชมนิทรรศการนี้จะได้สัมผัสกับเรื่องราวที่ไม่มีสอนในบทเรียน
เราเองก็หวังว่าจากนี้เสียงจากตัวตนของใครก็ตาม จะสามารถเอ่ยเล่าเรื่องราวของตนได้อย่างน่าภาคภูมิใจ และมีผู้คนคอยรับฟังเสียงเหล่านั้นได้โดยปราศจากอคติ
นิทรรศการ Sound of the Soul
จัดแสดงที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ห้องสตูดิโอชั้น 4
เวลา 10.00 น. – 20.00 น. (หยุดวันจันทร์)
ระยะเวลาจัดแสดง ตั้งแต่วันนี้ – 31 กรกฎาคม 2565
ติดตามผลงานเพิ่มเติมได้ที่เฟสบุ๊คของ ศุภชัย เกศการุณกุล หรือชมผลงานเขาได้ที่เว็บไซต์