Warin Lab
‘Warin Lab Contemporary’ จากนิยมไพรสมาคมสู่แกลเลอรีที่เชื่อว่าศิลปะพูดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้
- คุยกับ ‘ฝน- สุคนธ์ทิพย์ นาคเกษม’ ผู้ก่อตั้ง ‘Warin Lab Contemporary’ แกเลอรีเดียวในไทยที่มุ่งสร้างบทสนทนาเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ ถึงที่มาของแนวคิด การทำงานศิลปะที่ลดการสร้างขยะ และ มุมมองที่คนในวงการนักสะสมไทยมีต่อศิลปะร่วมสมัย
‘ศิลปะจากพลาสติก ศิลปะจากเศษขยะ ศิลปะจากของเหลือใช้’
เชื่อว่าทุกคนคงได้เห็นวลีเหล่านี้มานับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะในช่วง 20 ปีให้หลังมานี้ นั่นเป็นเพราะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของโลกเราเดินทางเลยจุดวิกฤตแล้วจริงๆ ทรัพยากรหลายสิ่งอย่างถูกทำลายไปอย่างไม่มีวันหวนคืน
ยิ่งย่ำแย่ ก็ยิ่งต้องสื่อสาร และศิลปะก็เป็นเครื่องมือชั้นดี เพราะนอกจากสุนทรียะที่สะดุดตาแล้ว การสื่อสารผ่านภาษาที่ละเอียดอ่อนแบบนี้นี่แหละ ที่จะทำให้เนื้อหาซึ่งบางครั้งอาจจะย่อยยากสักนิด เข้าไปอยู่ในใจคนได้ไม่ยากเลย
นี่คือวิธีที่ ‘Warin Lab Contemporary’ ใช้ในการสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้มาเยือน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะจากทะเล สปีชีส์สัตว์สูญพันธุ์ หรือมลภาวะทางอากาศ ประเด็นเหล่านี้ได้ถูกกลั่นกรองและถ่ายทอดออกมาผ่านศิลปิน โดยมีแกลเลอรีแห่งนี้เป็นซัปพอร์ตเตอร์ ช่วยผลักดันให้เกิด ทั้งกิจกรรมเวิร์กช็อป การทอล์ก และอีเวนต์ที่จะขยายบทสนทนานี้ให้ต่อเนื่องไปอย่างไม่รู้จบ
‘ฝน- สุคนธ์ทิพย์ นาคเกษม’ ผู้ก่อตั้ง Warin Lab จะมาเล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของเเกลเลอรี ซึ่งตั้งอยู่ในสเปซเก่าของ ‘นิยมไพรสมาคม’ โดยบังเอิญ แนวคิดในการจัดการกับขยะที่เกิดจากงานศิลปะ และมุมมองที่เปลี่ยนไปของนักสะสมในปัจจุบัน
Becoming ‘Warin Lab’
หลังจากมองหาสเปซสำหรับ “ศิลปะที่พูดถึงประเด็นสังคม” อยู่นาน โชคชะตาก็ได้นำพาให้ฝนมาพบกับบ้านไม้ดีไซน์เก่าย่านเจริญกรุง ความพอเหมาะพอเจาะของสเปซซึ่งเคยเป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะอยู่แล้ว ทำให้เธอตัดสินใจเลือกที่นี่ และมาค้นพบทีหลังว่าเจ้าของเดิมของบ้านหลังนี้คือ ‘นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล’ นักอนุรักษ์ไทยคนแรกๆ ที่ทำให้เกิดการสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองใหม่ๆ ที่คนมักขับรถเข้าไปในป่ากัน เพื่อล่ายิงสัตว์เล่น อย่างห้องที่เรานั่งอยู่ตอนนี้ก็เคยเป็นที่ตั้งของ ‘นิยมไพรสมาคม’ สมาคมที่เป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญในการเรียกร้อง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.พิทักษ์รักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ฝนเปิดอัลบั้มรูปเก่าของบ้านหลังนี้ให้เราดู จนเราพอจะมองมิติที่ซ้อนทับของสเปซนี้ออก “มีเขาสัตว์ต่างๆ แล้วก็มีตู้เยอะแยะเลย เปิดตู้ออกมาก็จะเป็นซากนกสปีชีส์ต่างๆ ที่คุณหมอเก็บไว้ ซึ่งงานของคุณหมอ นักวิทยาศาสตร์ คนที่อยู่สายสิ่งแวดล้อม หรือสัตวแพทย์ เขาก็บอกว่าเป็น Reference เดียวของประเทศไทยที่นักเรียนยังเรียนอยู่ เพราะว่าไม่มีใครที่มีแพสชั่นเท่านั้นอีกแล้ว”
แม้จะไม่ได้อยู่ในวงโคจรของการอนุรักษ์หรือต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมมาก่อน สิ่งที่ฝนและทีมทำอยู่ตอนนี้ เรียกว่าเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ก็ว่าได้ เพราะเธอยังคงพยายามสื่อสารสิ่งที่นายแพทย์บุญส่งทำมาโดยตลอด เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นงานศิลปะเท่านั้นเอง โดยที่นิทรรศการทั้งหมดของ Warin Lab ก็จะไม่พูดเรื่องอื่นใดเลยนอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อม
พอได้ฟังแล้วก็ทำให้เราฉุกคิดว่า…นี่อาจจะเป็นแกลเลอรีแห่งเดียวในประเทศ ที่มีโฟกัสที่ชัดเจนขนาดนี้
Art that amplifies conversations
มีวิธีการสื่อสารตั้งหลายแบบ ทำไมต้องศิลปะ?
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ฝนหยิบศิลปะมาเล่าเรื่องเกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้ไปชมนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ศิลปะใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับผู้คนที่ถูกวิสามัญ เพราะพยายามที่จะขับเคลื่อนประเด็นในพื้นที่ชุมชน มันเป็นสิ่งที่เธอไม่เคยตระหนักมาก่อนเลยว่าเกิดขึ้นอย่างมากมาย แต่มารับรู้ได้เพราะงานศิลปะ! (ที่เกิดจากการไปเที่ยวเล่นด้วยนะ)
“พอไปเจอแบบนี้ เรานึกออกเลยว่าคนที่มากินบ้านส้มตำ คนที่มากินกาแฟ คนที่มาเดิน Bangkok Design Week เขาอาจจะ ‘อ่ะ มาดูงานอาร์ตสักหน่อยซิ’ แล้วก็ค้นพบว่า ‘ฮะ มีเรื่องนี้เกิดขึ้นด้วยเหรอ?’ เป็นสิ่งที่ไม่ได้ต้องเดินทางไปพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ นึกออกไหม มันคือการเข้ามาในพื้นที่ไลฟ์สไตล์”
จริงอย่างที่ว่า การมาเดินเล่น ดูงานอาร์ต อาจเปลี่ยนมุมมองของคนคนหนึ่งไปได้เลย เพราะการได้มารู้มาเห็นเรื่องใหม่ที่กระทบใจ อาจทำให้เขาเอาไปขบคิด เอาไปรีเสิร์ชต่อ จนเกิดเป็นบทสนทนาที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งก็ตรงกับจุดยืนของ Warin Lab ที่ฝนสรุปให้ฟังสั้นๆ ว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความตระหนักรู้ และทำให้คนรู้สึกว่าอยากเริ่มเปลี่ยนแปลงจากตัวเอง”
นอกจากงานศิลปะแล้ว วิธีของแกลเลอรีที่จะทำให้บทสนทนาเหล่านั้นขยายวงกว้างไปอีก คือการจัดกิจกรรมที่ให้ข้อมูลแบบเนื้อๆ ฝนอธิบายให้ฟังว่า “เราจะทำงานกับกลุ่มคนที่เป็นนักวิจัย หรือกลุ่มคนที่สร้างความสำเร็จมาแล้ว เช่น กลุ่มที่ทำให้สปีชีส์บางสปีชีส์ที่เกือบจะหายไปจากประเทศไทยกลับมา หรือคนที่เป็นแนวหน้าเรื่องปัญหาสิ่งเเวดล้อมแม่น้ำโขง คนเหล่านั้นอยู่ในพื้นที่จริงๆ ตัวเล็กจริงๆ และพูดถึงประสบการณ์จริง เพราะฉะนั้น เวลาที่คนมาดูงาน เขาจะรู้สึกถึงปัญหาได้”
มันคือการทำให้คนผ่านประสบการณ์หลายๆ แบบ ขึ้นอยู่กับว่าแบบไหนจะเข้าถึงใคร ใครชอบลงมือปฏิบัติ เวิร์กช็อปแบบลงมือที่พาไปเรียนรู้การดูแลต้นไม้ใหญ่ก็มี
คุยกันมาถึงตรงนี้ เราถามฝนในฐานะที่เป็นคนใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมแต่ไม่ได้เข้าไปคลุกคลีอย่างเข้มข้นเหมือนกัน ว่าชีวิตเปลี่ยนไปไหมหลังจากได้มารันแกลเลอรีนี้ คำตอบที่ได้คือ “มาก” ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เราละเลยกันไป จริงๆ แล้วคือระเบิดเวลาที่รอวันแผลงฤทธิ์ดีๆ นี่เอง เธอยกตัวอย่างเรื่องไมโครพลาสติก ที่ก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่ามันเข้าไปอยู่ในร่างกายเราถึงระดับเซลล์ เเละความจริงคนเรามีพลาสติกเท่าฝาขวดน้ำอยู่ในตัวกันอยู่แล้ว!
Art and the Environment
ยังไงก็ตาม ท่ามกลางข้อดีของศิลปะ ก็ยังมีข้อจำกัดปะปนอยู่ นั่นก็เพราะวงการศิลปะนี่แหละ ตัวดีเรื่องการสร้างขยะ! ไม่ว่าจะในขั้นตอนการผลิต แพ็ก ส่ง หรือทำลาย ‘จะเป็นไปได้ไหมที่แกลเลอรีกับศิลปินจะหาทางออกให้ปัญหานี้แบบเอาจริงเอาจัง?’
ฝนยอมรับกับเราตรงๆ ว่าเป็นเรื่องที่ยากสำหรับแกลเลอรีเล็กๆ เพราะการจะใช้วัสดุที่ยั่งยืนก็มาพร้อมค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ Warin Lab ทำได้ และเชื่อว่าแกลเลอรีอีกหลายๆ แห่งก็จะทำได้เหมือนกัน คือ การเอาอย่างวลีสุดคลาสสิก “นำของที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่” ฝนยกตัวอย่างการนำแคนวาสจากงานจัดแสดงขนาด 8×5 เมตร ซึ่งใหญ่มากๆ จนไม่สามารถนำไปติดตั้งที่ไหนได้แล้ว มาแปรสภาพเป็นเส้นใยเพื่อให้ศิลปินถักทอเป็นงานชิ้นใหม่ ทำให้เห็นว่าในการสร้างงานศิลปะสักชิ้น เราไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อจ่ายวัสดุใหม่ๆ เสมอไป แถมของเก่าที่กำลังจะไปอยู่ในกองขยะ ยังได้กลับมาเฉิดฉายในรูปแบบใหม่อีกด้วย
‘Weaving the Ocean (2022)’ โดยศิลปินชาวอินโดนีเซีย ‘อารี ไบยูอาจี (Ari Bayuaji)’ ที่นำขยะจากทะเลมาถักทอเป็นผืนผ้า ก็เป็นอีกนิทรรศการของ Warin Lab ที่ใช้เทคนิคคล้ายๆ กัน ฝนเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า “ศิลปินเห็นเชือกที่ชาวประมงใช้หาปลาแล้วทิ้งไว้ในทะเลถูกซัดขึ้นมาเกยตื้น ก็เลยเก็บมา ดึงไนลอนออก แล้วก็ม้วนแยกสีไว้ ให้คนทอผ้าที่บาหลีเอาไปทอกับคอตตอน งานจะเหมือนผ้าไหมเลย เพราะมีความวาวของไนลอน คนมาดูก็นึกว่าเราแสดงงานผ้าไหม มันยกระดับขยะจนคนมองไม่เห็นเลยว่ามันคือขยะ” ถ้ามองในระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะประเทศไหนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็สามารถสร้างงานชิ้นนี้ได้ เพราะเราต่างก็มีคัลเจอร์การประมงและคัลเจอร์การถักทอเหมือนกัน
และประโยชน์ที่ได้จากผลงานชิ้นนี้ก็ต้องบอกเลยว่าฟังแล้วอึ้ง! เพราะคุณค่ามันทับซ้อนกันอยู่หลายเลเยอร์มาก ไม่ว่าจะเป็น 1. ได้ลดขยะทะเล 2. ได้ช่วยชีวิตสัตว์น้ำที่อาจถูกเชือกเหล่านี้พัน 3. ได้ลด Carbon Footprint เพราะไม่ต้องใช้ของใหม่เลย และ 4. ได้สร้างอาชีพให้คนในพื้นที่
ฝนมองว่านี่แหละ “ศิลปะเพื่อสิ่งแวดล้อม” ของจริง
Art Collectors
แน่นอนว่าการที่ระบบนิเวศของวงการศิลปะจะสมบูรณ์ จะมีแค่ผู้ผลิตและผู้ขายอย่างเดียวไม่ได้ อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญมากๆ ต่อการอยู่รอดของศิลปินและเเกลเลอรีก็คือ “นักสะสม”
อย่างที่เราเห็นกัน ทุกวันนี้เทรนด์การสะสมศิลปะเปลี่ยนไปมาก เราเลยถือโอกาสถามฝน ซึ่งเป็นเจ้าของแกลเลอรีศิลปะร่วมสมัยถึง 2 แห่งถึงเทรนด์การซื้อขาย “Environmental Art” หรือศิลปะเพื่อสิ่งเเวดล้อมสักหน่อย เพราะนึกภาพไม่ออกเลยว่างานแบบนี้จะไปอยู่ในเซ็ตติ้งอื่นๆ ยังไง
“ศิลปะร่วมสมัยเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับไอเดีย ไม่ใช่สวยอย่างเดียว ต้องมาพร้อมกับสิ่งที่ต้องการขับเคลื่อน ต้องมาพร้อมกับความต้องการที่จะผลักดันอะไรบางอย่าง แล้วคนส่วนใหญ่ที่ซื้องาน เขาก็ไม่ได้อยากมีส่วนร่วมกับประเด็นเหล่านี้ ตลาดใหญ่ๆ คือพวกที่ซื้อเพื่อฟังก์ชันอย่างเช่นของแต่งบ้าน ส่วนอันนี้มันตลาดเล็กมากๆ นอกจากว่าเขาจะซื้อไปเพื่อต้องการสร้างมิวเซียม” ฝนอธิบายอย่างละเอียด
ยังไงก็ตาม ถ้ามองภาพรวมของตลาดในตอนนี้ เธอบอกว่าเป็นเรื่องดีที่คนหันมาสนใจการสะสมศิลปะมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นศิลปะรูปแบบไหนก็ตาม เพราะวงการนี้จะได้เป็นวงการที่มีแสง และคนในวงการจะได้มีกำลังใจที่จะทำงานต่อไป
ก่อนจะจากไป เราถือโอกาสเดินชมนิทรรศการ ‘Under the Dark Sun’ โดย ‘อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์’ ที่กำลังจัดแสดงในเเกลเลอรี ทำให้เราสัมผัสถึงเจตจำนงของ Warin Lab ได้ชัดเจนขึ้น เพราะนิทรรศการนี้ไม่ได้มีแค่วิชวลที่ “สวย” แต่รู้เลยว่าศิลปินเเละคิวเรเตอร์ตั้งใจให้งานนี้ออกมาละเอียดอ่อนสุดๆ เพื่อที่จะได้เข้าไปเขย่าความความคิดของผู้ชมอย่างจัง… ส่วนงานจะเป็นยังไงนั้นขอไม่สปอยล์ เเนะนำให้มาชมกันเองที่นี่ดีกว่า
ติดตามข้อมูลและข่าวสารของทางเเกเลอรีได้ที่
Instagram: warinlab, Facebook: WarinLab
และเว็บไซต์ https://warinlab.com/
ชมนิทรรศการ ‘Under The Dark Sun’ ที่ Warin Lab วาริน แล็บ คอนเทมโพรารี ได้ตั้งแต่วันนี้ – 28 กันยายน 2567