About
ART+CULTURE

Widchulada

วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ผู้แปลง‘ขยะ’ เป็นงานศิลป์ ดีไซน์ยูนีคหนึ่งเดียวในโลก

เรื่อง Nid Peacock ภาพ อรุโณทัย พุทธรักษา Date 30-08-2021 | View 5214
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับ ‘วิชชุลดา’ ศิลปินหญิงผู้เปลี่ยนขยะให้เป็นงานศิลปะ โดยใช้จินตนาการสร้างสรรค์ผลงานที่ไม่ซ้ำใคร
  • เธอก่อตั้งแบรนด์ WISHULADA เพื่อการมีอาชีพเป็นศิลปินและมีศิลปะเป็นสินค้า โดยยึดมั่นในคอนเซปต์เดียวกันคือการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง
  • ผลงานทุกชิ้นของวิชชุลดาที่เผยโฉมสู่สาธารณะ เธอหวังใจให้ผลงานของตัวเองกระตุ้นเตือนให้ผู้คนฉุกคิดและหันมาใส่ใจและช่วยกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

‘ขยะ’ เจ้าสิ่งของไร้ค่าและหมดประโยชน์ใช้สอย ที่ใครๆ มักเสาะหาวิธี ‘ฮาวทูทิ้ง’ เพื่อกำจัดออกไปให้พ้นตัว

แต่ไม่ใช่สำหรับคุณเอ๋ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์

เพราะนี่คือวัตถุดิบสำคัญซึ่งเธอใช้ถ่ายทอดจินตนาการที่โลดแล่นอยู่ในหัวให้ปรากฏสู่สายตาผู้อื่น แถมเธอยังได้เก็บเกี่ยวความสุข ความสนุกเพลิดเพลินจนลืมเวลาทุกครั้งที่ได้ทรานส์ฟอร์มขยะตามแต่ไอเดียจะพาไป

ทว่า นี่ไม่ใช่แค่การทำให้ของที่ถูกทิ้งได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งเท่านั้น งานอาร์ตของเธอยังเบิกทางชีวิตให้เธอได้เป็น ‘ศิลปิน’ ได้สมใจด้วย

W 17

Born to Be An Artist

ว่ากันว่า การค้นหาความชอบหรือเจอความต้องการของตัวเองได้เร็วเท่าไหร่ จะช่วยย่นระยะทางการเสียเวลาลองถูกลองผิดในชีวิตได้มากขึ้นเท่านั้น เช่นเดียวกับชีวิตของคุณเอ๋

“รู้ตัวมาตั้งแต่เด็กว่าชอบวาดรูปและสนใจงานศิลปะ ตอนเอนทรานซ์เลือกคณะศิลปกรรมฯ ทุกอันดับ แต่พ่อกลับพูดว่า ‘จะเข้าคณะนี้เพราะไม่รู้จะเข้าคณะอะไรแล้วใช่ไหม’ เอ๋เลยต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เพื่อพิสูจน์ให้พ่อเห็น”

W 34

คุณเอ๋เพียรทำข้อสอบย้อนหลังอย่างหนักจนสอบติดคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตั้งใจเรียนจนคว้าเกียรตินิยมมาครอง เป็นความภูมิใจที่พ่วงมากับความห่วงใยของบุพการีที่กังวลว่า ลูกสาวคนนี้จะทำมาหากินอะไรต่อไป

ว่าแต่บัณฑิตคณะนี้ประกอบอาชีพอะไรกันบ้างล่ะ

W 40

“ก็สายงานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ตั้งแต่เป็นศิลปิน อาจารย์สอนศิลปะ งานกราฟฟิกดีไซน์ หรือดีไซเนอร์ แต่ถ้าเป็นภาควิชาทัศนศิลป์ที่เอ๋จบมา จุดมุ่งหมายของเราคือการเป็นศิลปินเท่านั้น”

แม้เป้าหมายชีวิตจะชัดเจน แต่เส้นทางสู่การเป็นศิลปินช่างดูริบหรี่สวนทางกันยิ่งนัก แต่แล้วก็มีผู้ใหญ่ใจดีส่องแสงสว่างนำทางและชี้ทางลัดให้เธอ!

W 26

โอกาส…สร้างคน

หากโลกนี้ไม่มีความบังเอิญ ก็ไม่รู้ว่าอะไรดลใจให้ผู้ชายคนนี้ตัดสินใจแวะเข้าไปชมการจัดแสดงผลงานศิลปะของนิสิตนักศึกษา แทนที่จะขี่จักรยานผ่านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ไปเหมือนเช่นทุกวัน ทำให้ได้พบกับเจ้าสัตว์ประหลาดสูงเมตรกว่า ที่รูปร่างหน้าตาประหลาดสมชื่อ เพราะทำจากขยะเหลือใช้ ถูกอกถูกใจจนนึกอยากเป็นเจ้าของ

การซื้อขายงานศิลปะครั้งนั้นคงไม่มีอะไรพิเศษ หากผู้ซื้อไม่ใช่ คุณลิ้ม สมชัย ส่งวัฒนา หนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทยที่โด่งดังอย่าง FLYNOW ที่ร่ำลือกันว่ามักหยิบยื่นโอกาสให้ผู้อื่นอยู่เสมอ นอกจากสร้างแบรนด์แล้ว เขาจึงเป็นนักสร้างคนด้วย

W 41

“ดีใจมากที่ขายได้” คุณเอ๋หัวเราะอย่างอารมณ์ดี “นี่คือการระบายข้าวของที่พ่อกับแม่เก็บสะสมไว้ในบ้านครั้งใหญ่ เพราะมันเยอะมากกกกกก ให้เลิกเก็บก็ไม่ได้ ให้ทิ้งก็ตัดใจไม่ลง เอ๋เลยต้องเอามาทำอะไรสักอย่าง”

W 25

W 28

นอกจากไอเดียความคิดสร้างสรรค์ที่โดนใจคนซื้อแล้ว สนนราคา 7,000 บาทของเจ้าสัตว์ประหลาดตัวนี้ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้คุณลิ้มอยากพบเธอ

คุณเอ๋ย้อนเล่าเหตุการณ์ครั้งนั้นให้ฟังว่า “คุณลิ้มตำหนิที่เอ๋ตั้งราคาผลงานความคิดตัวเองแบบนั้น แล้วสอนให้รู้จักการคำนวณต้นทุนทั้งที่มองเห็นอย่างพวกวัสดุต่างๆ และต้นทุนที่มองไม่เห็นอย่างค่าความคิดสร้างสรรค์ ค่าแรง และค่าชื่อเสียงของศิลปิน” ไม่เพียงเท่านั้น คุณลิ้มยังให้กำลังใจเธออีกด้วยว่า ‘อาชีพศิลปิน อยู่ได้จริงนะ’ ขอเพียงตั้งใจทำอย่างต่อเนื่อง แล้วราคาผลงานจะค่อยๆ ขยับสูงขึ้นเอง ไม่ต้องกลัวว่าจะขายไม่ได้ แต่ช่วงแรกจะทำงานประจำควบคู่ไปด้วยก็ได้ ขอแค่อย่าหยุดสร้างงาน”

คุณลิ้มเองก็คงไม่คิดว่า อีก 3-4 ปีให้หลัง เขาเองจะต้องเป็นคนบอกให้คุณเอ๋ ‘หาบาลานซ์การทำงานให้เจอ’ เพราะเธอคนนี้บ้าพลังเกินกว่าที่เขาคิดไว้

W 27

ทว่า ในการพบกันครั้งนั้น คำพูดของคุณลิ้มช่วยปัดเป่าความกลัว ขจัดความไม่แน่ใจ เป็นเสมือนน้ำมันที่มาเติมไฟฝันที่อยากเป็นศิลปินของคุณเอ๋ให้ลุกโชติช่วง และแน่วแน่ที่จะทำตามฝันของตัวเองด้วยความมั่นใจมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาแม้ครอบครัวจะไม่เคยห้าม แต่ก็ตอกย้ำเธออยู่เสมอว่า ‘เป็นศิลปินแล้วไส้แห้ง จะมีงานหาเลี้ยงตัวเองได้ยังไง’ มาตลอด

W 19

จุดเปลี่ยนชีวิต

การพบกับซีอีโอของ FLYNOW ในฐานะลูกค้ารายแรกของคุณเอ๋ครั้งนั้น นอกจากช่วยให้เธอหมดห่วงกับการจัดการเจ้าสัตว์ประหลาดตัวมหึมานั้นแล้ว คุณลิ้มยังมอบภารกิจทำแฟชั่นโชว์จากขยะสำหรับแค็ตวอล์กแถวหน้าของประเทศอย่างงาน ELLE FASHION WEEK อีกด้วย

W 16

คุณลิ้มไม่ได้บอกว่าเห็น ‘แวว’ อะไรในตัวคุณเอ๋ ถึงกล้ามอบหมายงานใหญ่ให้บัณฑิตป้ายแดง แต่ด้วยประสบการณ์ชีวิตของผู้ที่ผ่านโลกมาก่อนนั้น คงมากพอที่ทำให้เขามั่นใจว่าจะไม่โดนเธอเทงานกลางคัน ในที่สุดภารกิจนี้ก็สำเร็จด้วยดี นอกจากผลงานจะแสดงความสามารถของคุณเอ๋ให้ประจักษ์แล้ว ก็ยังทำให้รู้ว่า คุณลิ้มอ่านเด็กคนนี้ขาดตั้งแต่ครั้งแรกที่พบกัน

W 10

หลังจากนั้นเขาชวนเธอมาร่วมงานอีกครั้งในโปรเจ็กต์ ‘ช่างชุ่ย’ อาณาจักรนัดฝันของคนรุ่นใหม่ไฟแรงให้ได้มา ‘ปล่อยของ’ จากไอเดียสร้างสรรค์ของตัวเอง ซึ่งผลงานครั้งนี้เองที่นำมาซึ่งจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของเธอในเวลาต่อมา

W 15

“ช่วงเรียนจบใหม่ๆ ได้ชิมลางทำงานศิลปะ ทำให้เอ๋มุ่งมั่นที่จะเป็นศิลปินมาก หาโอกาสไปแสดงตามงานต่างๆ ให้คนได้เห็นและรู้จักเรามากขึ้น ไม่เกี่ยงว่าต้องเป็นแกลเลอรี่หรือมิวเซียมเท่านั้น แต่ก็ต้องทำงานประจำควบคู่ด้วยนะ ไม่งั้นทางบ้านจะเป็นห่วง เพิ่งมารู้ทีหลังว่า การเป็นศิลปินกับงานประจำมันไปด้วยกันได้นะ เพราะเอ๋ได้เรียนรู้ทักษะหลายอย่างจากงานประจำที่นำมาปรับใช้ในการเป็นศิลปินได้ ก็คงจะทำควบกันไปอย่างนั้น ถ้าไอคอนสยามไม่ติดต่อมาซะก่อน”

W 31

W 32

จากผลงานของคุณเอ๋ที่ช่างชุ่ย ทำให้ไอคอนสยามอยากได้เธอไปเนรมิตชิ้นงานศิลปะให้บ้าง แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลา เธอจึงต้องเลือกว่าจะอยู่เซฟโซนในงานประจำ หรือถึงเวลาออกไปทำตามฝันเต็มตัวสักที

และแล้วฝันที่จะเป็นศิลปินได้ทำงานศิลปะก็มีแรงพลังมากพอให้เธอตัดสินใจลาออก

W 7

W 21

กำเนิดแบรนด์ WISHULADA

ไอคอนสยามแลนด์มาร์คแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ใครๆ ต่างพากันแวะไปเช็กอินเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ พลอยให้ผลงานของคุณเอ๋เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง ซึ่งเจ้าตัวถือเป็นผลงานสร้างชื่อให้ตัวเอง

“ตอนนั้นตั้งใจแล้วว่าจะมีอาชีพเป็นศิลปินแล้วนะ (หัวเราะ) แต่ยังอ่อนด้อยเรื่องค้าขาย เลยต้องไปลงเรียนคอร์สต่างๆ เพิ่มเติมความรู้ด้านการทำธุรกิจ เอ๋เลยสร้างแบรนด์ WISHULADA ขึ้นมา”

W 37

คุณเอ๋นำทางแบรนด์ด้วยคอนเซปต์ ‘ความยั่งยืน’โปรดักต์ทุกชิ้นภายใต้แบรนด์ WISHULADA จึงโดดเด่นที่การนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง สินค้าของเธอมีหลายอย่าง ตั้งแต่งานอาร์ตชิ้นใหญ่ที่จับกลุ่มลูกค้าองค์กรห้างร้านต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับพื้นที่นั้นๆ ต่อมาเป็นสินค้าแนวตกแต่งบ้านที่เน้นขายดีไซน์ในราคาที่จับต้องได้ เช่น โคมไฟ กระเป๋า นอกจากนี้ เธอยังรับจัดเวิร์กช็อปเกี่ยวกับการจัดการขยะมาเป็นงานศิลปะ หรืองาน DIY ต่างๆ ด้วย

แต่เมื่อสินค้าวางอยู่ผิดที่ผิดทาง สิ่งที่ได้รับกับเจตนาที่วางไว้ก็ไปกันคนละทาง

“ลูกค้าบางคนมองสินค้าเราว่าเป็นการนำขยะมาขาย ซื้อแล้วไม่คุ้มค่า ทำไมต้องจ่ายเงินแพงขนาดนี้ สู้ไปซื้อของใหม่ดีกว่า” นี่เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้คุณเอ๋รู้ว่า การอยู่ถูกที่…ถูกเวลา…และถูกคนนั้นสำคัญมาก
“สินค้าเดียวกันแต่ถ้าเราไปเสนอขายให้ถูกกลุ่มลูกค้า เขาจะเข้าใจและเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ ตั้งแต่นั้นเอ๋ก็จะเลือกออกบูธงานที่เจาะจงกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ที่เขาสนใจ เข้าใจ ห่วงใย และมีแพชชั่นเดียวกับเรา”

W 23

พลังที่ซ่อนอยู่ใน ‘ศิลปะ’

“เอ๋เติบโตมาในบ้านที่พ่อแม่คัดแยกขยะมาแต่ไหนแต่ไร เพราะเห็นว่าน่าจะนำไปใช้ต่อได้ เอ๋ก็ไม่เคยรู้ตัวเลยว่าของพวกนี้กระตุ้นให้เราเกิดจินตนาการ เวลาได้เห็นวัสดุต่างๆ อย่างตอนไปเดินโฮมโปร เห็นสายไฟ นอต มีความสุขมาก (หัวเราะ) เพราะจะเป็นภาพในหัวเลยว่า ชิ้นส่วนนี้น่าจะทำเป็นอะไร อาจเพราะเอ๋ชอบดูหนังไซไฟ สัตว์ประหลาด ซอมบี้ เอเลี่ยนด้วยมั้ง ความคิดเราเลยไม่มีรูปแบบตายตัวและไม่มีกรอบจำกัด แต่พอเราโตขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวเรามากขึ้นกว่าสมัยพ่อแม่เรา ยิ่งช่วงทำทีสิสได้ใกล้ชิดกับวัสดุเหลือใช้ต่างๆ ยิ่งอินกับปัญหาภาวะโลกร้อนมากขึ้นอีก เลยรู้สึกว่าอยากใช้ความสามารถที่มีเพื่อช่วยเรื่องนี้ เพราะเอ๋มองตัวเองเป็น Social Activist Artist”

W 35

เหรียญมีสองด้านเสมอ แม้เจตนาจะดี แต่ก็หนีกระแสดรามาไม่ได้

“มีคนโจมตีว่าศิลปะคือผลงานที่โชว์ความสิ้นเปลืองของทรัพยากร แม้เอ๋จะนำขยะเหลือใช้มาทำ ก็เคยถูกมองว่าเป็นการสร้างขยะเพิ่มขึ้นอยู่ดี แต่ในอีกมุมหนึ่ง เอ๋อยากสะท้อนให้เห็นปริมาณขยะว่า มันมากขนาดที่เอามาทำงานศิลปะได้สูงหลายเมตรเลยนะ ซึ่งจริงๆ นี่ก็แค่ขยะส่วนหนึ่งเท่านั้น และสิ่งที่เอ๋ถ้ามองถึงประโยชน์ใช้สอย ก็เป็นการนำของที่ถูกละเลยกลับมาใช้งานอีกครั้ง แทนที่จะต้องสร้างของชิ้นใหม่ขึ้นมา”

W 22

ตลอดกว่า 4 ปีของแบรนด์ WISHULADA คุณเอ๋มุ่งมั่นที่จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ไอเดียสร้างสรรค์ของตัวเองไปพร้อมๆ กับให้สังคมเข้าใจบริบทอาชีพศิลปินที่ใช้ศิลปะเลี้ยงชีพได้

W 1

W 2

“ถึงแม้เอ๋จะเป็นคนตัวเล็กๆ คนหนึ่งแต่ก็ต้องลองขับเคลื่อนภารกิจนี้ดู เอ๋ว่างานศิลปะมีพลังให้เราทำได้ และสิ่งที่เอ๋ทำมาตลอดบอกเอ๋ว่า ถ้าเรามุ่งมั่นกับสิ่งไหนอย่างเต็มที่ ย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างขึ้นกับตัวเราแน่นอน ทุกคนไม่จำเป็นต้องทำแบบเอ๋ และไม่อยากให้มองเป็นเทรนด์ เพราะอะไรที่เป็นกระแส ไม่นานก็หายไป แต่อยากให้ทำในสิ่งที่รัก เพราะไม่ว่าคนอื่นจะแห่ไปทำอย่างอื่น แต่เราก็ยังมีความสุขที่จะทำต่อไป แล้วสุดท้ายเราก็จะเป็นผู้ที่รอบรู้ในสิ่งนั้นๆ อย่างแท้จริง”

W 18

คุณเอ๋ฝากไว้ว่า หากใครมีไอเดียนึกอยากลองประดิษฐ์ชิ้นงานจากขยะดูบ้าง เธอยินดีให้คำปรึกษา แนะนำ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

W 39

ว่าแต่จะลองทำประติมากรรมจากขยะกันดูสักชิ้นดีไหม

ขอบคุณภาพ : คุณวิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์

Tags: