About
ART+CULTURE

เปอร์เซียโมเดิร์น

ดูพรมเปอร์เซียที่คนไทยร่วมคิดและเจ้าหญิงกาตาร์ยังต้องซื้อในอาร์ตเซ็นเตอร์เปิดใหม่ที่โดฮา

เรื่อง สุภักดิภา พูลทรัพย์ Date 07-06-2022 | View 1652
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • กราฟิกดีไซเนอร์ 3 ชาติ ไทย อเมริกันและกาตาร์ที่อยู่ในเมืองหลวงโดฮาบันทึกการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความไฮเปอร์-โมเดิร์นของเมืองลงบนพรมเปอร์เซีย
  • พวกเขาทำพรมเปอร์เซียโดยใช้วิธีทอมือแบบดั้งเดิมแต่ในลวดลายใหม่ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางอาชีพ การจราจรคับคั่งและเมืองที่เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง ไม่ใช่เพื่อวิจารณ์ แต่เพื่อบันทึกวัฒนธรรมที่แปรผันไป
  • ผลงานพรมเปอร์เซียโมเดิร์นจัดแสดงพร้อมจำหน่ายที่ Studio 7 ในอาร์ตเซ็นเตอร์เปิดใหม่ใหญ่ยักษ์ของโดฮา

พรมเปอร์เซียแท้ที่สืบสานกรรมวิธีผลิตแฮนด์เมดอายุกว่า 2,500 ปี แต่ละวางลวดลายดั้งเดิมอย่างพฤกษาและเรขาคณิต แล้วถักทอภาพมหานครที่วิ่งทะยานสู่ความไฮเปอร์-โมเดิร์นของกาตาร์

Q 1

บันทึกวัฒนธรรมบนผืนพรม

พรมเปอร์เซีย (Persian Carpet) ถือเป็นสาขาย่อยของพรมตะวันออก (Oriental Carpet) ซึ่งมัดรวมพรมทำมือในจีน อินเดีย อียิปต์ อัฟกานิสถาน ปากีสถานและอิหร่าน ขณะที่พรมเปอร์เซียตีความถึงพรมที่ทำในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอิหร่านซึ่งในกาลก่อนเรียกขานกันว่าเปอร์เซีย แต่ภาษาเคลื่อนไปจนเหมารวมเรียกพรมทั้งหมดว่าพรมเปอร์เซีย ซึ่งมิได้หมายความถึงภูมิภาคที่ทำพรมขึ้นมาอีกต่อไป สรุปได้ว่าพรมเปอร์เซียทั้งหมดคือพรมตะวันออก แต่ไม่ใช่ว่าพรมตะวันออกทั้งหมดคือพรมเปอร์เซีย

พรมเปอร์เซียที่เชื่อกันว่าเก่าแก่ที่สุดในโลกถูกค้นพบในปีค.ศ.1949 โดยคณะนักโบราณคดีชาวรัสเซีย โดยพรม ‘Pazyryk’ ถือกำเนิดขึ้นราวๆ 500 ปีก่อนคริสตกาลและรอดพ้นการกร่อนเซาะของกาลเวลามากว่า 2,500 ปีได้เพราะน้ำแข็งอันเย็นเยือกบนเทือกเขาอัลไตในไซบีเรีย

วัฒนธรรมการทำพรมในภูมิภาคนี้จึงฝังรากลึกยิ่งนัก และพรมในฐานะที่เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ก็อยู่ยั้งยืนยงได้ยาวนานข้ามศตวรรษ ทั้งพรประภา ลีวายและแมเรียมจึงเห็นพ้องว่าจะบันทึกวัฒนธรรมไฮเปอร์-โมเดิร์นที่หิวกระหายความทันสมัยจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างตะกรุมตะกรามของกาตาร์ลงบนพรม เฉกเช่นเดียวกับผู้มาก่อนทั้งหลายในอดีตที่มิได้ทำพรมเพื่อเป็นของใช้เท่านั้น แต่พรมเปอร์เซียขึ้นชั้นเป็นของแต่งบ้าน งานศิลปะ ของสะสมล้ำค่าและบันทึกประวัติศาสตร์

Q 4

พรมเปอร์เซีย 2.0 ยุคกาตาร์ 5G

พรประภา พัฒนเตชะ และ Levi Hammett ชาวไทยและอเมริกันผู้เป็น expat ในกาตาร์มาร่วม 20 ปีในฐานะอาจารย์ด้านกราฟิกดีไซน์ แน่ละว่าเวลาข้ามทศวรรษที่ใช้จ่ายไปในกาตาร์ พวกเขามองเห็นบ้านเมืองพลิกผันไปอย่างไว

พรประภา ลีวาย และ ชาวกาตาร์แต่กำเนิดอย่าง Maryam Al Homaid ตระเวนถ่ายรูปในเมืองหลวงโดฮาอยู่ 6 ปี และให้หลังอีก 24 เดือน พวกเขาก็ได้รับพัสดุกล่องยักษ์จากปากีสถาน

ที่นอนเค้งเต้งในกล่องนั่นคือพรมเปอร์เซีย ผืนยาวเท่าตัวคน 104 x 182 เซนติเมตร หนักผืนละเจ็ดโลครึ่ง เป็นงานทำด้วยมือทุกกระบวนการ ย้อมสีเส้นใยวูลด้วยมือ ถักทอด้วยมือนานผืนละ 8 เดือน จากช่างฝีมือที่พวกเขาดั้นด้นไปหาถึงปากีสถานที่ยังใช้วิธีการถักทอแบบดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน หากมีช่างน้อยรายที่ยอมเปิดใจทอพรมโบราณด้วยลวดลายใหม่ๆ ที่สหายจากกาตาร์ยื่นแบบมาให้ดู

Q 9

Urban Intervals ลายสถาปัตยกรรมสัญลักษณ์ของเมืองในยุค 1980 – 1990 ที่ล้วนแล้วแต่แทนที่ด้วยตึกใหม่ๆ ในลาย Construction

Construction ลายตึกสูง (เกิน) สิบชั้นที่กำลังก่อสร้าง มีคนงานขะมักเขม้น รถตักดินขวักไขว่

Q 7

Transit ลายรถสารพัดชนิด สารพันยี่ห้อ ตั้งแต่รถตู้ รถบรรทุก รถเมล์ซึ่งพรประภาบอกว่า “เพิ่งมีมาได้ไม่นาน แต่ก่อนจะไปไหนที ชาวบ้านจะใช้วิธีขอติดรถคนที่มีรถ”

Q 3

Occupation ลายปิรามิดความเหลื่อมล้ำของผู้คนในอาชีพหลัก 5 ประเภทที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกาตาร์ ล่างสุดที่เท้าเหยียบพื้นและมีจำนวนมากกว่าใครคือแรงงานไร้ฝีมือซึ่งมีอยู่ถึง 50% กระเถิบขึ้นไปดีกว่าหน่อยเป็นคนทำงานบริการที่อาจได้ทำงานในร่ม 24% ขยับขึ้นไปอีกแรงงานมีทักษะที่ 14% ใกล้ยอดปิรามิดคือชนชั้นปกครองชาวกาตาร์เพศหญิง 6% และยอดสุดที่คนน้อยโหวงเหวงแต่ทรัพย์ศฤงคารมากกว่าใครคือชนชั้นปกครองชาวกาตาร์เพศชายที่มีอยู่ 6% ความน่าสนใจคือปิรามิดแถวล่างสุดจะหายไปเกือบหมดเมื่อฟุตบอลโลก 2022 จบสิ้นลงในเดือนธันวาคม เพราะชาวกาตาร์จริงๆ มีอยู่ราวๆ 1 ล้านคนเท่านั้น อีก 1 ล้านคนคือ expat ที่เป็นแรงงานมีทักษะ และอีก 1 ล้านคนเป็นแรงงานไร้ฝีมือที่ก่อสร้างโครงการใหญ่โตมโหฬารทั้งหลายโดยที่ตัวเองไม่เคยได้ใช้งานและที่สุดแล้วก็ต้องไปขายแรงงานในประเทศอื่นต่อไป

Q 2

Construction City ลายภูมิทัศน์ของโดฮา เมืองแห่งไซต์งานก่อสร้าง ลายชุดใหม่ที่ลีวายเพิ่งถอยออกมา เทคนิคที่ช่างถักพรมจากปากีสถานใช้เปลี่ยนจากแบบ hand knotted ซึ่งสามารถทำลวดลายเล็กละเอียดยิบได้ไปใช้วิธี woven kilims ซึ่งมีความสลับซับซ้อนน้อยกว่าแต่ทำลวดลายใหญ่ๆ ได้ดีกว่าและพรมจะแบนเบากว่าวิธีเดิม

Q 8

พวกเขาบันทึกกาตาร์ยุคใหม่ไว้ก็เพื่อให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวกาตาร์ และก็เป็นดังใจหวังเมื่อพรม 4 ลายแรก ได้แก่ Construction, Occupation, Transit และ Urban Intervals ที่ทำขึ้นเป็นชุดแรกเมื่อปี 2015 ที่สุดแล้วก็กลายเป็นมรดกของชาวกาตาร์จริงๆ เมื่อผู้ที่เข้ามาโอบรับงานศิลปะบนพรมชุดนี้คือ Her Excellency Sheikha Al Mayassa bint Hamad bin Khalifa Al Thani เจ้าหญิงผู้อุปถัมภ์งานศิลปะคนสำคัญของกาตาร์และของโลก ซึ่งทั้งสามบอกว่าดีใจมากที่ “ในที่สุดพรมก็จะได้อยู่ในกาตาร์ตลอดไป ทุกอย่างมีการเดินทางของมันจริงๆ”

Q 5

Photo Credit : Raviv Cohen

พรมสี่ลายแรกนี้ยังทำขึ้นมาอีก 2 ชุด ส่วนพรมลายใหม่ (กว่า) อย่าง Construction City มีให้ยลกันเป็นๆ ที่ Studio 7 คอนเซ็ปต์สโตร์สไตล์โมดูล่าร์ค้างานดีไซน์เก๋จากสตูดิโอสถาปัตย์อิตาเลียนผสมเกาหลี MOTOElastico ซึ่งผงาดตัวอยู่ใน M7 ศูนย์ศิลปะนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เปิดใหม่ในโดฮา

Q 6

Photo Credit : Raviv Cohen

พรประภาซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นการสอนคลาส Industrial Design ให้กับนักศึกษาไทยแบบออนไลน์ ส่งเสียงมาจากกาตาร์ว่า “ลองมองพรมแต่ละผืน ลวดลายที่เห็นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาเลย และเราไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ปรากฏบนพรมคือปัญหาและวิธีแก้ด้วยซ้ำ แต่เราชวนให้มองและพูดคุยกันผ่านลวดลายที่เราไกด์ในหัวข้อต่างๆ เช่น จำนวนประชากร การคมนาคม ลวดลายที่เราสร้างค่อนข้างจะตรงไปตรงมาว่าเป็นเรื่องอะไร เราเปิดพื้นที่ให้คนจินตนาการและสร้างบทสนทนากัน ไม่ใช่ดีไซน์ปิดที่ไม่เหลืออะไรให้คนดูจินตนาการต่อเลย”


ที่มา:
https://levihammett.com/
https://bit.ly/3tgVPUO
https://bit.ly/38VsTLo
https://bit.ly/3MkAqkj

Tags: