Paper in Pleasure
มองความเฟรนลี่ของกระดาษผ่าน Cut Out Sketch ศิลปะที่สร้างสรรค์ได้จากโลกรอบตัว
- ตั้งแต่จำความได้ ดุ๊ก-พชร อาชาศรัย วนเวียนอยู่กับดินสอ สี และกระดาษติดตัวอยู่ตลอด กระทั่งเข้าเรียนก็ได้เรียนทำฉากละครเวที เฟิร์สจ๊อบของเขาคือดีไซเนอร์ออกแบบฉากละครเวที ความผูกพันกับกระดาษทำให้เขาเกิดไอเดียอยากทำ Cut Out Sketch ในแบบของตนเองหลังจากที่ได้เห็นพระอาทิตย์ตกระหว่างพักที่เขาใหญ่กับพ่อ
- Cut Out Sketch คือการนำกระดาษธรรมดาๆ มาสเก็ตช์เป็นหุ่นคน หรือรูปทรงต่างๆ แล้วเลือกตัดเนื้อกระดาษบางส่วนออก เพื่อให้เกิดเป็นช่องที่สามารถมองทะลุออกไปได้ ก่อนนำกระดาษแผ่นนั้นไปเพิ่มชีวิตชีวา ต่อยอดความงามทางศิลปะด้วยการไปทาบกับลวดลายสถานที่ สิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างอิสระ
- เราไปร่วมกิจกรรม ‘Art in The Park’ Cut Out Sketch งานศิลปะบนแผ่นกระดาษที่ ดุ๊ก ร่วมกับ OKMD ชวนทุกคนมาเรียนรู้ผ่านห้องเรียนธรรมชาติ สร้างสรรค์ศิลปะเพื่อสื่อสารผ่านมุมมองในแบบของตนเอง พร้อมสร้างแรงบันดาลใจและแนวคิดเพื่อการนำเสนอ ฝึกฝนทักษะสำหรับโอกาสทางศิลปะที่เดินไปพร้อมกับโลกทุนนิยม
หลายคนอาจรู้จัก ดุ๊ก - พชร อาชาศรัย ศิลปินชาวไทยและเจ้าของเฟสบุ๊กเพจ PorChorRorGallery ที่สร้างสรรค์งานศิลปะบนแผ่นกระดาษตามสถานที่ต่างๆ ด้วยการนำกระดาษหุ่นตุ๊กตา ที่ลำตัวจะถูกเจาะเป็นช่องให้สามารถมองทะลุได้ เพื่อนำมาเติมสีสันด้วยการทาบกับลวดลายธรรมชาติ สถานที่ หรือลวดลายแบบไทยให้ฟีลหาลายเสื้อผ้าให้น้องหุ่น
ผลงานที่ถือเป็นไวรัลสร้างความฮือฮาให้คนไทยเป็นจำนวนมาก คือคอลเลคชันที่ดุ๊กเอาหุ่นกระดาษของเขาไปทาบบนลวดลายกระเบื้องที่วัดอรุณราชวรารามฯ ผลงานของเขาเน้นการสร้างความสุข สร้างแรงบันดาลใจให้คนดูรับรอยยิ้มกลับไปเต็มๆ
วันนี้เราเห็นว่าดุ๊กจัดกิจกรรม Art in The Park’ Cut Out Sketch งานศิลปะบนแผ่นกระดาษ ชวนทุกๆ คน หยุดพักชีวิตเคร่งเครียด แล้วมาเที่ยวผ่อนคลายไปกับการใช้ศิลปะสำรวจธรรมชาติรอบตัวที่สวนหลวง ร.9 เราก็กดสมัครไปเลยสิ
• กระดาษคือส่วนหนึ่งของชีวิต
มาถึงจุดนัดพบช่วงบ่าย เราก็เห็นดุ๊กกำลังนั่งรอผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม บ่งบอกถึงความสุขที่เราถือว่านี่คือภาพจำของศิลปินคนนี้ พอเห็นว่าคนยังมาไม่เยอะ เลยขอเดินเข้าไปพูดคุย เพราะอยากรู้จริงๆ ว่า อะไรคือจุดเริ่มต้นให้ดุ๊กเดินเข้าสู่วงการศิลปะ
ศิลปินมากด้วยรอยยิ้มเล่าให้ฟังว่า เขาชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก ตอนนั้นเคยไปเรียนติววาด แต่ก็ถูกครูศิลปะบอกให้เปลี่ยนสาย ศิลปินตัวน้อยในตอนนั้นไม่ได้ทำตามคำพูดนั้น เพราะมองว่า
ช่วงเวลาที่จับดินสอวาดลวดลายต่างๆ ลงกระดาษ เขารู้สึกราวกับได้ปลดปล่อยจินตนาการอย่างเป็นอิสระ เขาหลงรักเส้นดินสอของตัวเอง ชอบสีน้ำที่ตนเองแต่งแต้ม กระทั่งมองเห็นว่าไม่จำเป็นต้องวาดให้ใครชอบก็ได้ แค่มีความสุขไปกับผลงานของตนเองก็พอแล้ว เมื่อมองย้อนกลับไป ดุ๊กในวัยปัจจุบันพูดด้วยความมั่นใจถึงเส้นทางของเขาว่า…นี่แหละคือทางที่ใช่
“เราทำงานอยู่กับกระดาษมาตลอด ตอนเรียนมหาลัย เราเรียนด้านละครเวที เราอยู่ในฐานะดีไซเนอร์ละคร ต้องนั่งทำโมเดล วาดชุด กระดาษ อุปกรณ์วาดมันอยู่กับเราตลอดเวลา เรามีสกิลทางด้านนี้ พอเรียนจบ ทำงานแรกคือก็ทำโมเดลฉากละครที่โรงละครรัชดาลัย”
เมื่อถามถึงศิลปะบนกระดาษ ดุ๊กเล่าต่อว่า จู่ๆ พ่อของเขาก็มาชวนไปนอนบ้านพักตากอากาศที่เขาใหญ่ สมัยนั้นอินเทอร์เน็ตไม่ได้เข้าถึงง่ายเหมือนทุกวันนี้ ดุ๊กจำเป็นต้องตัดขาดกับสังคม ระหว่างนั้นเขาก็หิ้วกระดาษติดมือเผื่อไปทำโมเดลด้วย ช่วงนั้นเองที่เขาได้มีเวลามองพระอาทิตย์ตก และรู้สึกว่า มันสวยจัง ด้วยชีวิตปกติ ดุ๊กมักวนอยู่กับการหาเรฟต่างๆ ในเว็บ และในพินเทอร์เรสต์แทบตลอดเวลา ก็เลยพอเห็นศิลปะ Cut Out Sketch ผ่านๆ ตาบ้าง การมองพระอาทิตย์ตกดินทำให้ดุ๊กปิ๊งไอเดีย อยากลองทำศิลปะในแบบของตัวเองดู
“เราก็ลองทำไปเรื่อยๆ แล้วโพสลงเฟสบุ๊กส่วนตัว ก็ได้รับฟีดแบกที่ดีมาตลอด เราคิดว่ามันเวิร์กก็เลยทำต่อเรื่อยๆ ไม่ว่าจะไปไหน ก็จะต้องมีกระดาษรูปตุ๊กตาติดตัวเสมอ แบกที 10 – 20 ตัวแน่ะ (หัวเราะ) กระทั่งผลงานเราเริ่มเป็นกระแสตามเพจอื่นๆ ครูที่สอนศิลปะคนหนึ่งซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากงานของเราก็แนะนำให้เราเปิดเพจ เราก็ เออ ลองดูก็ได้” ดุ๊กเล่าไป หัวเราะไป ทำเอาเรายิ้ม ร่าเริงตามไปด้วยเลย
• สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่าความสุข
อย่างที่บอกไปว่าเรานิยามให้ดุ๊กเป็นภาพลักษณ์ความสุขไปแล้ว แต่รู้ไหม นี่คือผลลัพธ์ที่ดุ๊กได้จากศิลปะของเขาเอง “การที่เรามองเห็น และใส่ใจสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว มันทำให้เรามีความสุขได้ เรามองว่ามันเป็นทักษะที่ดี ถ้าเกิดเราพัฒนาด้านนี้ไปในตัว มันจะลดปัญหาในชีวิตเราไปได้เยอะมากๆ เลยนะ” สุดท้ายจึงกลายเป็นแนวคิดหลักต่อการนำเสนอศิลปะของดุ๊ก
แนวคิดที่ดุ๊กบอกเรา ยังก่อให้เกิดกิจกรรมนี้ขึ้นมา ศิลปินยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้ค้นหาแนวคิด มุมมองชีวิตผ่านศิลปะด้วยตัวเอง กิจกรรมวันนี้จึงไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ดุ๊กเพียงเข้ามาทำหน้าที่เสมือนห้องศิลปะเคลื่อนที่ อัดแน่นด้วยกระดาษหุ่นตุ๊กตาจำนวนมากเท่านั้น
ส่วนหน้าที่ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างเราคือการสวมบทศิลปินผู้อยากออกสำรวจ ค้นหาความงามของชีวิตภายใต้กระดาษที่ได้รับมา พร้อมแผนที่บอกพิกัดไฮไลต์ทั้ง 5 จุดภายในสวนหลวง ร.9
• กระดาษ ศิลปะ และผู้คน
ท่ามกลางแสงแดดที่เริ่มน้อยลงทุกทีๆ คงความอบอ้าวอยู่เป็นระยะ แต่ใครจะสนล่ะ เราเดินถือกระดาษตุ๊กตาทาบไปกับบรรยากาศตรงหน้าทุกๆ วินาที กระทั่งเดินมาถึง พลับพลายอด 1 ใน 5 ไฮไลต์ที่เราเพลิดเพลินอยู่นานจนหมดเวลากิจกรรม สวนที่นี่กว้างขวางมาก การมองหามุมต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่เรามองว่าไม่ควรเร่งรีบ เพราะขณะกำลังทาบกระดาษไปกับลายของต้นไม้ หรือคลื่นลูกเล็กๆบนผิวน้ำ การขยับองศา ทิศทางทีละนิด หรือจะทดลองแขวนกระดาษไว้ตามดอกไม้หรือสิ่งของระยะใกล้เคียง กลับก่อให้เกิดภาพใหม่ มุมมองใหม่ๆ ความสวยงามใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เรารู้สึกได้ว่ารอยยิ้มของเราขยายกว้างมากขึ้น ดวงตาเราฉายแววว้าวอยู่หลายหน เพราะคาดไม่ถึงว่าแค่กระดาษเพียงแผ่นเดียวกลับพาเราลืมโลกรอบข้าง เพื่อก้าวสู่โลกศิลปะ มองเห็นและเข้าใจความเป็นศิลปะได้มากขนาดนี้
เราสังเกตว่าคนที่มาเข้าร่วมมีตั้งแต่วัยเด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ทุกคนตื่นเต้น หัวเราะร่วมกัน ปลดปล่อยความสนุกสนานไปกับการหาลายเสื้อผ้าให้หุ่นตุ๊กตากระดาษของตน เสมือนกระดาษและมนุษย์คือมิตรภาพที่เข้าขากันได้ดี เราบอกกับดุ๊ก และเขาก็เฉลยว่านี่คืออีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ศิลปินเลือกใช้กระดาษ เป็นวิธีเชื่อมผู้คนเข้าสู่โลกศิลปะ และอยากทำให้ทุกคนได้รู้ว่าศิลปะเกิดขึ้นได้ใกล้ตัวมากๆ
“เรารู้สึกว่ากระดาษมีความเฟรนลี่ เข้าถึงง่ายต่อคนรับสาร ต่างจากดิจิตัลอาร์ต หรือ NFT ที่บางครั้งก็ทำให้รู้สึกว่า ทำไมมันไปได้ไม่สุด ทำไมถึงแค่เฉพาะกลุ่ม ก็เพราะยังมีอีกกลุ่มผู้ชม คนดู ที่รู้สึกถูกผลักออก รู้สึกไม่เฟรนลี่กับเทคโนโลยี หรือไม่มีอุปกรณ์ที่พร้อมพอจะทำให้รู้สึกว้าวไปกับเขา สุดท้ายแล้ว กระดาษมันก็เลยตอบโจทย์ต่อผู้คนได้มากกว่า”
‘ทำงานศิลปะควบคู่ไปกับโลกทุนนิยม’ ประโยคที่เราเห็นครั้งแรกบนภาพกิจกรรม พอรู้ว่าดุ๊กเป็นคนใส่ลงไปเลยขอให้เขาขยายความให้ฟัง ดุ๊กเล่าว่าในยุคสมัยนี้ เขาเชื่อว่าศิลปะสามารถเดินไปพร้อมกับทุนนิยมได้ เพราะโลกที่เปิดกว้างขึ้น มีความหลากหลาย รวมไปถึงการมีตัวเลือกและการเข้าถึงสิ่งต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้น เป็นข้อดีที่ทำให้คนรุ่นใหม่อยู่กับความครีเอททีฟแทบจะตลอดเวลา ส่งผลให้ช่องทางการขายงานศิลปะเริ่มขยายวงกว้างคราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวศิลปินว่าจะมองเห็นช่องทางการขายไปในทิศทางใด
• ศิลปะคืออิสระ ต้องใช้เวลาบ่มเพาะ
ดุ๊กยังบอกอีกว่า ศิลปะไม่จำเป็นต้องเพอร์เฟค เพราะศิลปะมีความหลากหลาย ทั้งทางมิติ มุมมอง รสนิยม ศิลปะคืออิสระที่เราไม่สามารถบังคับให้ใครต่อใครมาชอบ หรือไม่ชอบได้ ดังนั้นการปลูกฝังจึงเป็นเรื่องสำคัญ “ทุกวันนี้แกลเลอรีเปิดตัวกันจนเดินแทบไม่ไหว ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะสามารถเรียนรู้โลกของศิลปะได้กว้างมากขึ้นนะ”
และเพราะทุกอย่างที่หลั่งไหลเข้ามาแทบตลอดเวลา ในอีกแง่มุมหนึ่งกลับส่งผลกระทบต่อการรับสารของคนยุคนี้ที่รวดเร็วเกินไป ศิลปินจึงอยากฝากไปถึงคนรุ่นใหม่ๆ ว่า หากรู้ว่าตนเองชอบอะไร อยากทำอะไร ลงมือทำเต็มที่เลย แต่ทุกอย่างต้องมีการฝึกฝนและต้องใช้เวลา ดุ๊กเชื่อในจังหวะของชีวิต “ถ้าหากเรายังมัวแต่คุ้นชินกับความรวดเร็วของโลก เราอาจจะเสียโอกาสบางอย่างไปก็ได้”
งานศิลปะบนกระดาษก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนความคิดของดุ๊ก ทุกคนค่อยๆ ใช้ทุกวินาทีต่อการสร้างสรรค์ศิลปะบนแผ่นกระดาษได้อย่างคุ้มค่า ดุ๊กบอกว่า เหมือนได้มองพวกเขาถอดความเป็นผู้ใหญ่ออกแล้วกลับไปสวมความเป็นเด็กอีกครั้ง
กิจกรรมครั้งนี้ทำให้เรานึกถึงวลีหนึ่งที่สุนัขจิ้งจอกพูดกับเจ้าชายน้อย ในหนังสือเจ้าชายน้อยว่า “เราจะมองเห็นอะไรๆ ให้แจ่มชัดก็ด้วยหัวใจ เพราะสิ่งสำคัญไม่อาจมองเห็นได้ด้วยสายตา”
ช่วงเวลาที่พากระดาษเดินหาลวดลายต่างๆ ขณะเดียวกันนั้นเราใช้หัวใจนำทางความรู้สึกนึกคิดที่เป็นอิสระจากทุกสิ่ง ท่ามกลางรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ การขยับกระดาษไม่กี่เซนติเมตร เรามองเห็นความสุขของชีวิตที่ค่อยๆ เกิดขึ้นในจิตใจเราอย่างเงียบสงบ
อยากร่วมกิจกรรมต้องทำยังไง?
ใครอยากเข้าร่วมกิจกรรมดีๆ แบบนี้ เราแนะนำว่าให้ติดตามเฟสบุ๊กเพจ : OKMD ไว้เลยนะ เพราะเขาจะมาอัพเดทอีเว้นท์ดีๆ ให้เราได้เลือกไปตลอดทุกๆ เดือนเลยล่ะ ส่วนใครที่ชื่นชอบผลงานศิลปะของดุ๊กและอยากเสพแรงบันดาลใจในทุกวันๆ ก็ขอเชิญมาติดตามเฟสบุ๊ก : PorChorRorGallery กันได้เลยจ้า