- คุณแมน ชาติชาย สมพร ผู้ฝึกสอนกีฬาเซิร์ฟทีมชาติไทย จะมาเล่าความเป็นมาเป็นไป รวมถึงตอบทุกเรื่องราวความสงสัยเกี่ยวกับเซิร์ฟสเก็ต กีฬาเอกซ์ตรีมสุดฮิตในยามนี้ให้ฟังทุกแง่มุม
- ไขความสงสัยให้กระจ่างกับความแตกต่างระหว่าง Surf & Surfskate จากตัวจริงในวงการกีฬาผู้นี้
- ร่วมเป็นกำลังใจให้กับเจตนาดีของเขาที่เห็นโอกาสจากความนิยมในกีฬาเซิร์ฟสเก็ตของบ้านเรา กับฝันอยากเห็นเขาหลักเป็นเซิร์ฟทาวน์ และการส่งต่อความสุขให้กับผู้เล่นกีฬาเซิร์ฟและเซิร์ฟสเก็ต ซึ่งเป็นกีฬาที่เขารักเป็นชีวิตจิตใจ
ไม่ว่าจะหันไปทางไหน เทรนด์ฮอตฉุดไม่อยู่นาทีนี้คงหนีไม่พ้น “เซิร์ฟสเก็ต” (Surfskate) กีฬาเอกซ์ตรีมน้องใหม่มาแรงที่ปลุกพลังทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น ไปจนถึงรุ่นใหญ่ 50+ ให้ลุกขึ้นมาเล่นกันทั่วบ้านทั่วเมือง พร้อมสร้างปรากฏการณ์บอร์ดขาดตลาด ส่งให้ราคาพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว จนถึงขั้นผู้ผลิตในต่างประเทศบางรายสั่งปิดช่องทางการจำหน่ายชั่วคราวเพื่อป้องกันการกว้านซื้อของกลุ่มคนไทยที่อาจนำมาขายต่อในตลาดมืด
ท่ามกลางคำถาม “กระแสเซิร์ฟสเก็ตจะอยู่นานแค่ไหน” แมน-ชาติชาย สมพร ผู้ฝึกสอนกีฬาเซิร์ฟทีมชาติไทย และผู้นำเซิร์ฟสเก็ตเข้ามาเล่นในเมืองไทยเป็นกลุ่มแรกๆ มองว่า ขึ้นอยู่กับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่ผู้เล่นเท่านั้น แต่โดยส่วนตัวอยากเห็นการเล่นเซิร์ฟสเก็ตในไทยเชื่อมโยงไปสู่เซิร์ฟทะเล ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทายไม่น้อย
Surf Simulator ของนักโต้คลื่น
ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน ยุคที่คนไทยยังรู้จักแต่สเก็ตบอร์ด แมนมีโอกาสเดินทางไปแข่งขัน ณ ประเทศมาเลเซียพร้อมกับเพื่อนนักกีฬาโต้คลื่นกลุ่มเล็กๆ ทำให้ได้รู้จักกับตัวแทนผู้จัดจำหน่ายเซิร์ฟสเก็ตของเอเชียที่เปิดมาแล้วประมาณ 17-18 ปี และได้รับคำแนะนำว่ามันคือ Surf Simulator เลยลองซื้อมาเล่น ด้วยความรู้สึกอินและชอบอะไรเกี่ยวกับเซิร์ฟอยู่แล้ว
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงการเซิร์ฟสเก็ต หรือเรียกอีกอย่างว่า “เซิร์ฟบก” อย่างเป็นทางการ
“ที่บอกว่าเป็น Surf Simulator หมายความว่า นี่คือการจำลองการเล่นเซิร์ฟ พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้นักโต้คลื่นได้ฝึกฝนและฝึกซ้อมได้แม้ในวันที่ทะเลไม่มีคลื่น เพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐานการเล่น เช่น ทำให้เห็นภาพว่าตอนทำท่าต่างๆ ยังผิดพลาดตรงไหน” อดีตนักกีฬาโต้คลื่นทีมชาติไทยเล่าถึงที่มาที่ไปของเซิร์ฟสเก็ต
เพียงแต่ว่ามุมของการจำลองเล่นโต้คลื่นในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า เล่นเซิร์ฟสเก็ตเป็นแล้วจะไปเล่นเซิร์ฟได้เลย เพราะมันมีอะไรมากกว่าแค่การทรงตัวบนบอร์ดและท่าทางในการเล่น ที่สำคัญคุณต้องเล่นเซิร์ฟทะเลในระดับหนึ่งแล้ว ถึงจะเรียก Surf Simulator บนบกได้
Surf & Surfskate ความเหมือนที่แตกต่าง
ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ เลยต้องหากิจกรรมภายในประเทศมาทำแทน เมื่อบวกกับกระแสกีฬาโต้คลื่นในเมืองไทยเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดเป็นกระแส “เซิร์ฟฟีเวอร์” มีแต่ภาพถือบอร์ด เล่นเซิร์ฟกันเต็มหน้าฟีดไปหมด ครั้นเมื่อคลื่นหมดปิดฤดูกาล หลายคนคิดถึง โหยหาอยากเล่นคลื่น เป็นเหตุผลที่หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Better Surf Thailand โรงเรียนสอนเซิร์ฟที่เขาหลัก เชื่อว่านำมาสู่การแนะนำทางเลือกอย่างเซิร์ฟสเก็ต ซึ่งมีขายในไทยมา 1-3 ปีแล้ว เพราะให้ความรู้สึกใกล้เคียงกัน ประกอบกับมีกลุ่มนักแสดงและผู้ทรงอิทธิพลบนสื่อโซเชียล (Influencer) เล่นตามๆ กัน จนกลายเป็นความนิยมในวงกว้างอย่างรวดเร็ว
“เซิร์ฟสเก็ตเป็นอุปกรณ์กีฬาที่จับได้เลย เล่นได้เลย ฝึกได้เลย แต่เซิร์ฟต้องมีคลื่น ต้องมีบอร์ด คนที่เล่นเซิร์ฟอยู่แล้ว พอมาเล่นเซิร์ฟสเก็ตอาจจะจับจุดได้ง่าย รู้ว่าพื้นฐานประมาณนี้ เขาแค่อาจไม่มั่นใจในช่วงแรกๆ แต่พอเริ่มเล่นปุ๊บ ก็จะมีภาพในหัวแล้วว่าจะต้องทำอย่างนี้ ต้องไลน์แบบไหน ส่วนการเล่นเซิร์ฟสเก็ตเป็นคาแรกเตอร์ที่มีความแตกต่างกัน เราจะเห็นคนเล่นเซิร์ฟสเก็ตที่เป็นทั้งคนเล่นเซิร์ฟและเล่นสเก็ตบอร์ดเป็นอยู่แล้ว แต่จะเห็นสไตล์การเล่นไม่เหมือนกันเลย ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีความแตกต่าง”
แมนขยายความต่ออีกว่า อย่างการนำเซิร์ฟสเก็ตมาใช้ในการฝึกซ้อมของนักกีฬาโต้คลื่นทีมชาติ จะเล่นบนพื้นเรียบปกติ ไม่ต้องการขึ้นแรมป์ แต่จะวางกรวย เพื่อให้นักกีฬารู้วิธีสร้างความเร็ว ต้องโฮลตรงไหน ต้องมองอย่างไร ขึ้นคัตแบบไหน ส่วนพวกองศาเวฟแรมป์ อาจช่วยให้นักเซิร์ฟได้เห็นภาพจริงขององศาคลื่นว่าต้องหยุดตรงนี้ ซึ่งมีทั้งข้อดีข้อเสีย คือมันฟิกตำแหน่งเลยว่าอยู่ตรงไหน แต่การเซิร์ฟเป็นคลื่นธรรมชาติ ต้องมองต้องวาดภาพล่วงหน้า เป็นอะไรที่ยากกว่านั้น
จึงไม่แปลกที่จะเห็นสายเซิร์ฟมีสไตล์การเล่นเน้นไปที่ท่วงท่า ความนุ่มนวล พลิ้วไหว มากกว่าการโชว์ลีลาท่ายาก การพลิกแพลง ผาดโผน เหมือนทางสเก็ตบอร์ด ซึ่งเป็นคาแรกเตอร์ที่มีเสน่ห์กันไปคนละแบบ
บันได 4 ขั้นที่ไม่ควรมองข้าม
สำหรับคาแรกเตอร์สายเซิร์ฟอย่างโค้ชแมนมองว่า การเล่นเซิร์ฟสเก็ตที่เป็นอยู่ตอนนี้ ส่วนหนึ่งมีการเรียนรู้แบบก้าวข้ามบันไดสำคัญๆ ไปหลายขั้น หลังไปให้ความสำคัญเรื่องการสแน็ป การทำ 360 กันเสียมาก อาจเพราะทำให้ดูเท่ ทั้งที่ยังใช้ความเร็ว ขึ้นแรมป์ หรือ Bottom Turn กลับมาไม่ได้
“จริงๆ เซิร์ฟสเก็ตก็เหมือนเซิร์ฟที่มีระดับการเล่นตามขั้นบันได เมื่อ 7-8 ปีก่อน ผมเคยวางชาร์ตไว้ 4 ขั้น คือ Beginner, Intermediate, Advanced และ Professional จะต้องทำไปทีละอย่าง การข้ามขั้นบันไดไปขั้นหนึ่ง อาจจะทำให้คุณเหมือนอยู่ในระดับที่สูงกว่า แต่บันไดนั้นมันกลวง ไม่เสถียร นี่เป็นสิ่งสำคัญที่อยากให้รู้ ถ้าอยากจริงจังกับการเล่นจริงๆ ควรหาผู้สอนหรือโรงเรียนที่เป็นไปตามขั้นบันไดดีกว่า”
ส่วนการเลือกบอร์ดที่เป็นคำถามโลกแตกนั้น เจ้าของฉายา Hyperman แนะนำให้ดูงบในกระเป๋าก่อนเลย แล้วค่อยลองไปตามสนาม หรือพื้นที่สาธารณะที่เป็นศูนย์รวมคนเล่นเซิร์ฟสเก็ต เพื่อไปลองดูว่าบอร์ดแบบไหนที่ตัวเองขึ้นยืนแล้วถนัดและชอบ เพราะความรู้สึกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เข้าทำนอง
‘ทุกคนไม่ได้เหมาะกับทุกบอร์ด และบอร์ดแพงไม่ได้เหมาะกับทุกคน’
“เหมือนตัวผมเอง ถ้ามีคนมาขอลองบอร์ด ผมไม่หวงเลย เพราะรู้ว่าบอร์ดมีไว้สำหรับเล่นไม่ใช่มีไว้โชว์ จะเป็นรอยก็เรื่องของมัน ลองหาจุดที่มีคนรวมกลุ่มกัน จะมีบอร์ดให้ลอง ไปลองดูว่า บอร์ดแบบนี้เราถนัดไหม แบบนี้เราชอบไหม ขึ้นไปแล้วเราจะรู้ว่า ทรัคขยับไวไปไหม หรือระยะห่างของฐานล้อสั้นเกินไปหรือเปล่า คนสูง 180 เล่นบอร์ด 30 นิ้ว อาจแคบไป มีโอกาสที่จะกดเท้าหลังเยอะ หน้าบอร์ดลอย มันหล่น นี่เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อได้เหยียบแล้วจะรู้ว่าชอบไม่ชอบ การไปลองเลยเป็นวิธีที่ง่ายสุด การเทียบสัดส่วนน้ำหนักส่วนสูงกับบอร์ดก็มีผล แต่ก็ไม่มากเท่ากับความรู้สึก บางคนตัวสูงแต่ชอบบอร์ดสั้นก็มี”
บอร์ดแต่ละตัวล้วนมีข้อดีข้อเสียในการเล่น บอร์ดบางตัวอาจเหมาะสมกับการเล่นพื้นเรียบ บอร์ดบางตัวอาจจะเหมาะสมกับการเล่นแรมป์ เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับสไตล์การเล่นของแต่ละคนด้วยว่าเหมาะกับบอร์ดแบบไหน และสิ่งสำคัญที่ครูแมนย้ำเสมอคือ การใส่อุปกรณ์ป้องกัน เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอด ต้องไม่ประมาทในการเล่น
“ควรเอาขาไหนนำ ก็เป็นอีกเรื่องที่มีการพูดกันเยอะ ซึ่งเป็นสิทธิของแต่ละคน แต่สำหรับผมที่เล่นกีฬาอื่นมาก่อน มีเท้าหนึ่งที่เป็นเท้าถนัดอยู่ข้างหลังอยู่แล้ว แน่นอนว่าเวลาเล่นกีฬาชนิดอื่นควรจะเหมือนกันเพื่อให้ต่อเนื่องกัน ส่วนตัวเลยจะแนะนำว่า ถ้าเคยเล่นกีฬาแนวบอร์ดมาแล้วควรใช้ด้านเดียวกัน แต่ถ้าไม่เคยเล่นมาก่อนเลย ถนัดเท้าไหนเอาเท้านั้นไว้ข้างหลัง เพื่อในอนาคตจะใช้เป็นตัวบังคับหลัก เบื้องต้นใช้เท้าหน้าในการกด คนเลยคิดว่าเท้าหน้าสำคัญ จริงๆ แล้วมันง่ายที่จะใช้เท้าหน้านำแล้วกด แต่สุดท้ายแล้วต้องใช้เท้าหลังในการควบคุมทิศทางอยู่ดี”
เซิร์ฟทาวน์ในฝัน Have Fun All Year
นอกจากความนิยมจะทำให้คอมมูนิตีของคนเล่นกีฬานี้ขยายขึ้นอย่างรวดเร็ว สร้างการรู้จักกันในทุกจังหวัด ได้เล่น ได้ออกกำลังกายด้วยกันแล้ว เรื่องที่น่ายินดีอีกอย่างหนึ่งสำหรับคนในวงการกีฬาอย่างแมน คือการได้เห็นผู้ใหญ่หลายภาคส่วนตื่นตัว พร้อมใจกันสนับสนุนและน่าจะเริ่มเห็นโอกาสในการพัฒนา ทั้งตัวบุคลากร ผู้สอน และกิจกรรมการแข่งขันต่างๆ หากไม่ถูกลดทอนลงด้วยปัญหาดรามาในตลาดซื้อขายบอร์ดเสียก่อน
“ผมมองว่าเซิร์ฟสเก็ตนี้น่าจะเป็นส่วนของ Simulator ที่สมาคมกีฬากระดานโต้คลื่นแห่งประเทศไทยน่าจะเข้ามาดูแลให้มันเกี่ยวโยงกับเซิร์ฟ ซึ่งทราบข่าวว่าจะมีการจัดแข่งขันระดับชิงแชมป์จริงจังในวันที่ 1 และ 2 พฤษภาคมนี้ ส่วนตัวผมคิดว่า พอเกิดเป็นกระแส มีคนสอนเยอะ ทุกคนแทบจะสอนได้ มีคนขาย ในอนาคตจึงควรจะต้องมีองค์กรหรือสมาคมเข้ามาทำหน้าที่ สร้างมาตรฐานการสอนให้เป็นระบบ 1 2 3 4 ตามกติกา เพื่อความปลอดภัยและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ว่าที่หนึ่งสอนแบบหนึ่ง อีกที่หนึ่งสอนอีกแบบหนึ่ง”
ในฐานะที่คลุกคลีอยู่ทั้งในวงการท่องเที่ยวและเซิร์ฟ ครูสอนเซิร์ฟวัย 31 ปีผู้นี้ยังเล็งเห็นโอกาสดีมากๆ ที่เกิดขึ้นจากกระแสเซิร์ฟสเก็ตนี้ โดยเฉพาะการผุดขึ้นของลานสเก็ตที่เขาหลักอย่างต่อเนื่อง ยิ่งจะทำให้เขาหลักเป็น “เซิร์ฟทาวน์” อย่างแท้จริง ดึงดูดได้ทั้งเซิร์ฟบกและเซิร์ฟทะเล ซึ่งหากผู้ใหญ่ในวงการกีฬาสนับสนุนให้เกิดความเป็นมาตรฐานขึ้น จะอยู่ได้อีกนานแน่นอน
เพราะไม่เพียงแค่ Memories Beach เท่านั้นที่เนรมิตริมหาดเป็นลานสเก็ตไว้รองรับชาวไถทั้งหมด พร้อมเปิดสอนโดย Pakarang Surf School แต่ยังมี Bangsak Beach Skate Park ที่มีเอกลักษณ์เป็น “Red Ramp” หรือเวฟแรมป์สีแดงอยู่ริมหาดบางสัก รวมไปถึงโรงงานผลิตบอร์ด SUNOVA ก็กำลังเร่งก่อสร้างลานสเก็ตหน้าโรงงานเช่นกัน นี่ยังไม่รวมอีกหลายสนามที่กำลังผุดขึ้นต่อเนื่องจากทั้งภาครัฐและเอกชน
“เมื่อฤดูกาลโต้คลื่นมาถึง เราก็ไปเซิร์ฟกันในทะเล เมื่อคลื่นหมด เราก็มาเซิร์ฟสเก็ตกันต่อ หรือจะหิ้วเซิร์ฟสเก็ตมาโต้คลื่นด้วยก็มีสถานที่ให้เล่นมากมาย เรียกว่าเซิร์ฟกันได้ทั้งปี”
ไถบอร์ดกระโดดหาคลื่น
ท่ามกลางกระแสผู้เล่นเซิร์ฟสเก็ตนับแสนหรือนับล้านคนในประเทศไทย จะทำอย่างไรให้พวกเขารู้ว่าเซิร์ฟสเก็ต คือ Surf Simulator แล้วทำให้ทุกคนอยากจะมาเล่นเซิร์ฟที่เขาหลัก นี่คือโจทย์ใหญ่ของแมนและทีมงานที่พยายามจะป่าวประกาศว่าสองสิ่งนี้เชื่อมโยงกันด้วยความเข้าใจ
“มีหลายคนที่มองว่า ผมเล่นเซิร์ฟมา คุณเล่นเซิร์ฟสเก็ตมาแล้ว คิดว่าจะเก่งเหมือนกัน มันไม่ใช่ เขาเล่นเซิร์ฟสเก็ตเป็น ไม่ได้หมายความว่าจะมาเล่นเซิร์ฟเป็นเลย มันมีช่องว่างที่ต้องเติมให้เต็มก่อน ต้องเรียนรู้วิธีการพาย วิธีการยืน การกระโดดขึ้นบอร์ด การเลี้ยว การจับคลื่นให้ได้ก่อน ถึงจะมีโอกาสเอาท่าทางการเล่นในเซิร์ฟสเก็ตที่เปรียบเหมือน Short Board (บอร์ดสั้น) มาใช้ เพราะมันเร็ว เคลื่อนไหวพลิ้ว แต่การจับ Short Board ที่อยู่ในน้ำได้นั้นต้องอาศัยพื้นฐานบอดี้ ฟิตเนส รวมถึงพื้นฐานการเล่นเซิร์ฟทุกอย่าง ขณะที่ผู้เล่นใหม่ควรเริ่มจาก Long Board (บอร์ดยาว)”
แต่จุดได้เปรียบของคนที่เล่นเซิร์ฟสเก็ตมาก่อน คือเมื่อไหร่ก็ตามที่เล่นเซิร์ฟแล้วขึ้นไปยืนบนบอร์ดได้ จุดบาลานซ์บนบอร์ดจะทำได้ดีแน่นอน พอบาลานซ์ได้ โอกาสที่จะเลี้ยวไปตามหน้าคลื่นเร็วขึ้นแน่นอน เพราะตอนเล่นเซิร์ฟสเก็ต การใช้สายตา ไหล่ เป็นพื้นฐานเดียวกับกีฬาโต้คลื่น
“เซิร์ฟอยู่บนน้ำ บอร์ดลอยไปลอยมา ส่วนเซิร์ฟสเก็ตมีทรัคที่เลื่อนไปเลื่อนมา การวางเท้า การเลี้ยว การคาร์ฟ มันดีกว่าคนที่ไม่เคยเล่นแน่นอน ส่วน Bottom Turn เป็นอะไรที่สูงมากๆ การจะ Bottom Turn ได้ก็ต่อเมื่อจับคลื่น ไหลไปตามหน้าคลื่นได้แล้ว อันนี้เป็นระดับแอดวานซ์ แต่อย่างที่บอกว่า บางคนเล่นเซิร์ฟสเก็ตในระดับนี้ได้แล้ว แต่อาจไปเล่นเซิร์ฟได้ระดับเริ่มต้น เพราะยังมีช่องว่างของทักษะในน้ำที่ต้องเติมให้เต็มอยู่”
ส่งต่อความสุข ปลุกพลังเซิร์ฟ
อย่างไรก็ตาม แมนเชื่อว่า ด้วยกระแสเล่นเซิร์ฟที่ยังคงแรงต่อเนื่อง ยืนยันได้จากยอดจองเรียนโต้คลื่นของ Better Surf Thailand ในเดือนเมษายนล้นหลามแล้วตั้งแต่ยังไม่เปิดฤดูกาล จะทำให้เป้าหมายที่อยากเห็นเซิร์ฟสเก็ตไม่ใช่แค่เทรนด์ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่ยังอยู่ไปอีกนานและเชื่อมโยงกับกีฬาเซิร์ฟอย่างแท้จริงมีความเป็นไปได้
“เมื่อเริ่มเปิดฤดูกาลโต้คลื่น แล้วมีฟีดแบ็กจากคนเล่นเซิร์ฟสเก็ตแล้วมาเล่นเซิร์ฟว่า มันช่วยได้ เล่นได้ว่ะ มันจะกลายเป็นไวรัลสำหรับคนส่วนใหญ่ที่ยังไม่ตัดสินใจ หรือไม่แน่ใจว่าจะเล่นได้เหรอ ให้อยากจะมาทันที”
ในอนาคต ครูแมนแห่ง Better Surf Thailand ไม่ปฏิเสธโอกาสที่จะเปิดสอนเซิร์ฟสเก็ตเพิ่มเติม เพราะมีคลาสที่อยากเปิดอยู่ และคิดว่าสำคัญมากๆ สำหรับคนเล่นกีฬาโต้คลื่น เพียงแต่ตอนนี้อยากรักษาคุณภาพการเรียนการสอนเซิร์ฟให้ดีที่สุดก่อน ซึ่งปีนี้เขาจะอยู่กับโรงเรียนมากขึ้นและดูแลในส่วนของระดับ Intermediate และ Advanced ที่ต้องการเพิ่มทักษะการเล่นมากขึ้น
“คนที่มาเล่นใหม่จะมีทีมที่มีประสบการณ์มาช่วยดูแล แต่ถ้าอยากพัฒนาทักษะเฉพาะ ผมจะเข้ามาดูแลเอง ปีที่แล้วก็มีคอร์สของตัวเอง แต่พอเกิดโควิดกลายเป็นมีนักเรียนใหม่เยอะมาก มาปีนี้จะตอบโจทย์คนที่อยากพัฒนาขึ้นแน่นอน จริงๆ แอบกลัวพฤติกรรมของคนไทยเหมือนกัน เพราะเปลี่ยนไปตลอดเวลา เหมือนช่วงหนึ่งที่ทุกคนเล่นจักรยาน แป๊บๆ หายไปไหนหมดแล้ว ผมเลยอยากให้คนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเซิร์ฟหรือเซิร์ฟสเก็ต ทำยังไงก็ตามให้คนที่มาเล่นมีความประทับใจที่ดี อยากมาเล่นอีก เล่นแล้วทำให้รู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เขาชอบ นี่คือสิ่งที่ทีม Better Surf อยากทำและจะทำต่อไป เป็นผู้ส่งมอบความสุข ประสบการณ์ดีๆ ให้คนที่มาเล่น ให้เขารู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ตามหามานาน”
เหมือนกับเขาที่ยังคงมีความสุขกับการโต้คลื่นมาตลอด 18 ปี!