Closer, The Better
Closer, The Better ตีสนิทศิลปินที่ River City Bangkok
- รื่นรมย์ไปกับงานศิลปะหลากสไตล์และร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองกับศิลปินร่วมสมัยตัวเป็นๆ ได้ที่ชั้น 3 ของ River City ที่ท่าน้ำสี่พระยา
- สนุกไปกับการค้นหาที่มาของแรงบันดาลใจที่กลายมาเป็นซิกเนเจอร์ในผลงานของศิลปินแต่ละคน อาทิ ทำไมหยดน้ำก้องศักดิ์ต้องมีขา ดวงตาในภาพทุกภาพของสิขเรศมองอะไรอยู่ หรือการฝึกสมาธิมีอิทธิพลยังไงในงานชลัช
ท่าน้ำสี่พระยายังคงเป็นย่านเตร็ดเตร่ริมแม่น้ำที่มีเสน่ห์ มีร้านเบเกอรี่ในตึกเก่าแก่อายุนับร้อยปีริมถนนให้แวะ มีห้องอาหารเรียบโก้ให้นั่งชิลล์ได้ทั้งวัน และเป็นแหล่งของแอนทีคที่เลื่องชื่อในหมู่นักสะสมระดับเจ้าสัวและบุคคลชั้นนำของเมืองไทยมาตั้งแต่ยุค 80-90
นอกจากนี้ ละแวกนี้ยังเป็นสวรรค์ของ ‘คออาร์ต’ โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบและสนใจงานศิลปะร่วมสมัย ต้องที่นี่เลย ชั้น 3 ของ River City มีอาร์ตแกลเลอรีไม่ธรรมดาให้ชมกัน เรียกกันว่าโซน AIR หรือ Artist in Residence ที่นี่ไม่เพียงมีงานศิลปะให้ชมเท่านั้น แต่ทั้ง 7 แกลเลอรีในนั้นยังมีมุมสตูดิโอส่วนตัวให้ศิลปิน 14 คน ใช้สร้างสรรค์ผลงานด้วย
บรรยากาศที่นั่นจึงคล้ายกับการก้าวเข้าไปในโลกส่วนตัวของศิลปินโดยมีผลงานของพวกเขานำทางเราไป
ในเดือนสิงหาคม 2564 ศิลปินที่มีสตูดิโอบนชั้น 3 ทั้ง 14 ท่านได้ร่วมกันจัดแสดงผลงานในธีม AIR (เล่นคำว่า Artist in Residence และความหมายของคำว่า AIR ที่แปลว่าอากาศ) ด้วยการตีความคำว่า ‘อากาศ’ และสื่อออกมาเป็นชิ้นงานศิลปะในแบบของตัวเอง
หากมีโอกาสอยากชวนให้แวะมาสัมผัสบรรยากาศด้วยตัวเอง ส่วนใครจะมโนว่าอยู่เมลเบิร์น ก็ไม่ว่ากัน...
กำลังใจจากกระต่ายนุ่งฮอตแพนท์
Gallery Hoc มีมุมสตูดิโอ 3 มุม ให้แก๊งศิลปิน 3 คนที่เป็นเพื่อนกันใช้นั่งทำงาน มุมด้านนอกถูกจับจองโดยคุณสุนิษา อัศวินรุ่งโรจน์ เธออยู่หลังจักรเย็บผ้าไฟฟ้าสีขาวตั้งแต่หลังเที่ยงจนถึงสองทุ่มเป็นประจำ เพราะเธอเป็นศิลปินที่ปักผ้าได้งามราวกับภาพเขียน
“ลูกค้าส่วนใหญ่ชมแล้วก็ถามถึงงาน” คุณสุนิษาเล่าถึงอาร์ตเลิฟเวอร์ที่แวะเข้ามา “แต่เคยมีบางคนที่มานั่งเล่าเรื่องส่วนตัวให้ฟัง เหมือนเราเป็นจิตแพทย์” ถึงอย่างนั้นเธอก็ชอบทำงานที่นี่มากกว่าที่บ้าน “เป็นโอกาสที่เราจะได้เปิดเผยตัวตนกับสังคมและได้เพื่อนใหม่ บางคนเห็นงานเราทางเฟซบุ๊ก ก็อาจรู้สึกว่าแพง แต่ถ้าได้มาเห็นดีเทลงานของจริง อาจจะเปลี่ยนใจ”
ผลงานชุดล่าสุดของเธอ เป็นงานปักด้ายชุดกระต่าย มีภาพกระต่ายใส่ฮอตแพนท์ ถือแบรนด์เนม นั่งปิกนิกอยู่ในทุ่งหญ้า มองไกลๆ คล้ายภาพวาด แต่ถ้าได้มาเห็นใกล้ๆ อย่างเรา รับรองว่าต้องร้องว้าวและอ้าปากค้างแน่นอน ทุกเฉดสีของด้ายและโทนสีผ้าที่เธอบรรจงใช้ สื่อออกมาผ่านฝีเข็มที่ละเอียดจนแทบไม่ต่างจากงานเพนต์
เธอเล่าว่า เมื่อ 4 ปีก่อนเธอเสียกระต่ายซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงตัวแรกไป จึงได้ถ่ายทอดแรงคิดถึงลงบนงานปักผ้าชุดกระต่าย แล้วจึงตามมาด้วยคอลเลกชันผ้าปักรูปสัตว์อื่นๆ
“อยากให้กระต่ายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขและกำลังใจ มีลูกค้าคนหนึ่งซื้อผลงานรูปกระต่ายไป เพราะกระต่ายของเขาก็จากไปเหมือนกัน เขาบอกเราว่า ‘ตอนนี้เหลือแต่กระต่ายของคุณแล้วนะที่เป็นกำลังใจให้ฉัน’ โห! แค่นี้ เราก็ปลื้มปริ่มมาก”
ผิวแป้งทานาคา
ถัดเข้าไปจากมุมที่คุณสุนิษานั่งทำงาน เป็นพื้นที่ทำงานของจิตรกรอีก 2 คน คือ คุณพระนาย เกษมถาวรศิลป์และคุณกุลเชษฐ์ ขาวไชยมหา
ผลงานคุณพระนายที่ติดตา จะเป็นภาพเขียนดวงหน้านิ่งๆ ของเด็กและผู้หญิงที่มีพลังอย่างบอกไม่ถูก เขาใช้ใบหน้าคนส่งสารถึงผู้ชม เทคนิคที่ชอบใช้ เป็นการดรอว์อิ้งดินสอไขบนสีอะครีลิก ส่วนผิวจะลงแป้งทานาคาสีขาวโพลนจนเป็นเอกลักษณ์เห็นที่ไหนก็จำได้ว่า ‘งานพระนาย’ ผิวแป้งบนดวงหน้าของแบบจะแตกลายงาเป็นลวดลายต่างๆ ไม่เหมือนกันในแต่ละภาพ
ผลงานในซีรีส์ล่าสุด ‘The Wind of Change 2021’ เป็นภาพใบไม้แห้งที่วาดได้เหมือนใบไม้กำลังปลิวลอยตกลงบนพัด ที่มีนกกระดาษสีทองตัวเล็กวางอยู่ที่มุมหนึ่งของใบไม้ สังเกตให้ดีจะเห็นคราบขาวบนใบไม้ ที่ชวนให้นึกถึงคราบฝุ่นแป้งทานาคาที่บอกให้รู้ว่า นี่งานของพระนาย
เปิดสมุดสเก็ตช์ศิลปิน
ส่วนคุณกุลเชษฐ์ ขาวไชยมหา เป็นศิลปินที่มีผลงานศิลปะหลายแนว ทั้งศิลปะสื่อผสม ภาพเขียนแนวแฟนตาซี และภาพดรอว์อิ้ง
ภาพดรอว์อิ้งของเขา ใช้ดินสอกด 4B ขนาด 0.5 ม.ม. เส้นเล็กๆ ค่อยๆ ขีดทีละเส้นกระทั่งเป็นรูปหน้าคนขนาดใหญ่บนพื้นผ้าแคนวาส บางรูปก็เขียนบนกระดาษได้อย่างน่าทึ่ง แถมยังเป็นใบหน้าที่แสดงถึงความอัดอั้นกดดัน โชว์ฝีมือไม่ธรรมดาในการควบคุมน้ำหนักเส้นดินสอจนก่อให้เกิดแสงเงาที่ใช้สื่ออารมณ์ความรู้สึกของคนในภาพออกมาได้
ส่วนภาพเขียนสีน้ำมันและสีอะครีลิกของเขาในคอลเลกชันล่าสุด เป็นภาพสตรีแนวแฟนตาซีอยู่ในท้องทะเลสีทองอร่ามจากสีของทองคำเปลว สตรีในภาพเป็นการจินตนาการถึงเทพธิดาครึ่งคนครึ่งสัตว์ครึ่งพันธุ์ไม้นานาชนิด ซึ่งเขาเก็บรายละเอียดทุกส่วนในภาพไว้ชัดเจน
คุณกุลเชษฐ์ยังชอบวาดภาพสัตว์ที่ใส่บุคลิกคน และให้สีสันสดใส มองเผินๆ น่ารักสดใส แต่ถ้ามองดีๆ จะเห็นตลกร้ายที่แฝงอยู่
“แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานของผม บางครั้งก็มาจากคำหรือประโยคเพียงประโยคเดียว”
ว่าแล้ว เขาก็เอื้อมมือหยิบสมุดปกดำที่แหมะอยู่ข้างขาตั้งที่มีภาพเขียนที่ยังวาดไม่เสร็จวางอยู่ ภายในสมุดเป็นภาพสเก็ตช์ เขาพลิกไปที่หน้าแรกๆ ปรากฏข้อความลิสต์เป็นรายการเรียงเกือบเต็มหน้ากระดาษ
“เวลาผมลงมือทำงาน จะเห็นเป็นภาพเป็นสีเสร็จอยู่ในหัว แต่ถ้ามีความคิดอะไรแวบเข้ามา ผมจะจดไว้ก่อนกันลืม” เขาชี้ไปที่ลิสต์รายการบนสมุดปกดำ “ที่ใส่ดอกจัน เป็นภาพที่ต้องเขียนแน่ๆ ส่วนอันอื่นผมยังต้องคิดกับไอเดียนี้ต่อว่าจะออกมาแบบไหน ยังไม่ลงตัว”
‘ดาหลา’ แรงบันดาลใจสู่บทกวี
สตูดิโอ Touch Ginger (ดอกดาหลา) ของคุณจิรวัฒน์ ตันสุริยวงศ์ มีแต่ภาพดอกดาหลา แต่ละภาพสื่ออารมณ์ความรู้สึกแตกต่างกันไป ดอกไม้ดอกเดียว ก้านแข็งๆ กลีบแข็งๆ แต่ศิลปินสามารถใช้สื่ออารมณ์ได้หลากหลาย ภาพดาหลาส่วนใหญ่จะใช้สีสดสื่อถึงพลัง แต่มีอยู่หลายภาพที่เป็นดาหลาแดงบนพื้นขาว-ดำ
“ภาพพื้นขาว-ดำ ผมวาดช่วงที่คุณศรัณยู วงษ์กระจ่างเสียชีวิตครับ” ศิลปินพูดถึงแรงบันดาลใจอันเกิดจากความอาลัยเมื่อคนรู้จักได้จากไป
ข้างโต๊ะทำงานของศิลปิน ปรากฏกลอนเปล่าใส่กรอบแขวนอยู่ คำกลอนเขียนด้วยลายมือที่ตวัดหางตัวอักษรสวยงาม ความว่า
“เด็ดดอกดาหลา
ดับดาราลาย
กลัดกลีบประกาย
ผ่องพรายแผ่นดินฯ”
ใต้คำกลอนลงชื่ออาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติและกวีซีไรต์
คุณจิรวัฒน์เล่าว่า วันหนึ่งเขาไปเจออาจารย์เนาวรัตน์ในร้านอาหารเจ้าประจำของตัวเอง จึงเข้าไปสวัสดีทักทาย ท่านรับไหว้แม้จะไม่รู้จักกัน แล้วเอ่ยถามว่า ‘ถืออะไรมา’ “ ผมก็แกะรูปดอกดาหลาที่วาดให้ท่านดู พอเห็นรูป ท่านก็ขอกระดาษ ขอปากกา แล้วก็แต่งบทกวีนี้ขึ้นตอนนั้นเลย”
เมื่อสตรีในภาพสะกดคุณ
จุดหมายถัดไปเป็นแกลเลอรีที่อยู่ติดกัน J02 Gallery จัดแสดงผลงานของศิลปิน คุณก้องศักดิ์ พูนผลวัฒนาภรณ์ และ คุณไพฑูรย์ จุมี
งานของคุณไพฑูรย์ใช้สีอะครีลิกป็นหลัก ผลงานที่เตะตาและเป็นที่จดจำ คือภาพดวงหน้าสตรีในอิริยาบถหลับตาหรือลืมตา ถ้าเธอหลับตาจะให้ความรู้สึกนิ่งสงบ ผ่อนคลายเบาๆ สบายๆ แก่ผู้ชมงาน แต่ถ้าเธอลืมตา นัยน์ตาเธอก็จะแสดงอารมณ์ต่างๆ จากการได้เห็นสิ่งเร้า ผู้ชมก็จะรู้สึกโดนเร้าไปด้วย ศิลปินนำเสนอภาพดวงหน้าอิสตรีแทนความบอบบางของเพศหญิงแต่ตั้งใจเล่นเส้นสีแรงๆ และสร้างพื้นผิวงานในลักษณะดิบๆ แบบผู้ชาย การจากเทคนิคเลเยอร์สีหลายๆ ชั้นได้อย่างน่าสนใจ
ภาพของเขามีพลังพอที่หยุดผู้ชมให้จ้องไปที่ดวงหน้าสตรีในภาพดั่งโดนมนตร์สะกด
เขาพูดถึงสตรีในภาพของเขาว่า “เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ผมเขียนภาพแฟน ฟีดแบ็กดี คนชอบ แต่ตอนหลังมีแบบอื่นบ้างและก็มาเมกขึ้นเองบ้าง”
หยดน้ำมีขาพาไปเที่ยว
ส่วนคุณก้องศักดิ์ พูนผลวัฒนาภรณ์ ทำทั้งงานประติมากรรม เพนต์สี พ่นสี และภาพพิมพ์ เอกลักษณ์ในงานเขาจะเป็นตัวการ์ตูน ‘หยดน้ำ’
‘หยดน้ำ’ ของคุณก้องศักดิ์ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2006 เป็นตัวการ์ตูนที่ดูมีชีวิตชีวา น่ารักน่าชัง และมีหลากหลายอารมณ์ เขาสเก็ตช์ให้หยดน้ำของตัวเองมีขาเดินได้ แต่ไม่มีแขน บางทีก็คล้ายก้อนเมฆมีขา บางทีตาของหยดน้ำก็เหมือนแขนนาฬิกาที่สื่อถึงเวลาที่ไหลล่องไปดั่งสายน้ำ เขายังแตกมันไปเป็นงานปั้นตัวหยดน้ำ บางตัวมันมีจุกเป็นกรวยไอศกรีม ใครเห็นเป็นอดยิ้มไม่ได้
งานล่าสุดชุด ‘The Breath of Happiness Moment’ คุณก้องศักดิ์วาดการ์ตูน ‘หยดน้ำมีขา’ เคลื่อนไหววุ่นวายในบรรยากาศที่ดูสดใสเต็มไปหมด แล้วตั้งกรอบอะครีลิกใสให้ลอยอยู่เหนือภาพฝูงหยดน้ำ พ่นสีบนกรอบอะครีลิกใสเป็นรูปหยดน้ำยักษ์ซ้อนไว้ สีของหยดน้ำยักษ์และลักษณะบางอย่างของมัน จะดูโกรธหรือไม่เป็นมิตร แตกต่างจากฝูงหยดน้ำที่อยู่บนพื้นข้างล่าง ทำให้งานดูมีมิติทั้งในแง่ความหมาย และมุมมองภาพที่เห็น
ดวงตาที่เฝ้ามองชีวิต
J7 Gallery and Studio เต็มไปด้วยภาพแนวนามธรรม ที่ใช้พู่กันขีดเป็นเส้นๆ หรือแต้มเป็นจุดๆ ในลักษณะซ้ำๆ กระทั่งจุดและเส้นเหล่านั้นเรียงต่อกันขึ้นเป็นภาพ คุณสิขเรศ ศิริไพบูรณ์ กล่าวถึงงานของเขาว่า
“สมัยแรกๆ ผมทำงานแนวนามธรรมมากๆ คนก็ไม่รู้เรื่อง สื่อสารกับคนทั่วไปไม่ได้ ก็สร้างให้เป็นรูป อธิบายให้ง่ายขึ้น” แต่เราก็ยังรู้สึกว่า งานเขาต้องใช้ใจดู และจะเข้าไปในงานเขา ควรวางสมองส่วนเหตุผลไว้ที่หน้าแกลลอรีก่อนเดินเข้าไป
อดีตอาจารย์แห่งวิทยาลัยช่างศิลป์ ลาดกระบังผู้นี้จับพู่กันมาเกือบ 40 ปี สิ่งที่เขาจะวาดมักได้มาจากหนังสือหรือภาพยนตร์ นั่นเป็นเหตุผลว่า หลังเออร์รี่รีไทร์เขามุ่งมั่นกับการอ่านหนังสือและดูหนังอยู่ 1 ปีเต็ม “เมื่อ input เต็ม ผมก็ลงมือเขียนภาพ เพราะรู้สึกอยากสื่อสารละ”
กวาดตามองไปที่ภาพเขียนรอบๆ ตัวศิลปิน ก็พบว่า มันมีลูกกะตาปรากฎอยู่ทุกภาพ หลับตาบ้าง ลืมตาบ้าง
“ผมชอบอ่านงานของนักเขียนที่พูดถึงชีวิต สมัยก่อนผมหาคำตอบว่า ชีวิตคืออะไร เป็นอะไร แล้วผมก็มารู้ว่า ชีวิตไม่ได้เป็นอะไรหรอก แค่มองดูมันว่าคืออะไร เป็นยังไง ถ้าสังเกตจะเห็นว่างานของผมจะมีลูกกะตาปรากฏอยู่ในภาพ ไว้คอยดูสิ่งต่างๆ รอบข้าง นี่คือการเฝ้ามองชีวิต”
กรรมฐานกับงานแอ็บสแตรกต์
เราแวะคุยกับศิลปินแนวนามธรรมอีกราย คุณชลัช ฉวีสุข ที่ 956 CONTEMPORARY ART
ศิลปินหนุ่มเจ้าของปริญญาด้านศิลปะ 2 ใบจากอเมริกาผู้นี้ สนใจการนั่งวิปัสนากรรมฐานมาตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ
“ตอนเรียนอยู่ต่างประเทศ ผมกลับมาบวชให้ที่บ้าน” คุณชลัชเล่า “ผมเป็นคนฝั่งธนฯ นั่งเรือไปจำวัด ได้สนทนากับพระกรรมฐานที่ชอบมาอยู่ในสวนลึกๆ ท่านก็เล่าเรื่องตอนไปธุดงค์ให้ฟัง จำได้ว่าฟังแล้วชอบ ตื่นเต้นดี”
เขากลับไปเรียนต่อจนจบ แต่เมื่อกลับเมืองไทย สิ่งแรกๆ ที่นึกอยากทำคือการหาที่ฝึกกรรมฐานตามวัดต่างๆ ที่สุดก็ฝึกถึงระดับที่พิจารณาจิตตัวเองได้ และนำมาใช้ในการทำงานศิลปะ
“ผมเชื่อว่างานเป็นสิ่งที่เราสื่อไปถึงคนอื่น ฉะนั้น ถ้าเราเอาจิตที่เป็นบวกใส่ลงไป คนเห็นก็จะรู้สึกถึงพลังบวก ก่อนทำงานและระหว่างทำงาน ผมจะสำรวจจิตตนเองตลอด ถ้าเป็นกลางๆ งานจะน่าเบื่อ ผมก็จะหยุด ถ้าจิตเป็นลบนี่ จบเลย หยุดทันที ไปทำอย่างอื่นรอจนกว่าจิตจะเป็นบวกแล้วค่อยมาทำต่อ”
คุณชลัสกล่าวสรุปว่า “ผมอยากดึงพลังบวกที่มีอยู่ในจักรวาลมาอยู่ในงานผม”
นี่แค่การสนทนาแบบน้ำจิ้ม หากคุณได้มาชม มาเจอศิลปินด้วยตัวเอง เป็นสิทธิ์และอิสระของคุณที่อยากจะถามจะคุยอะไรกับศิลปิน ว่ากันตั้งแต่ที่มาของแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน กระทั่งขอฝากตัวเป็นศิษย์ก็ยังได้ แต่อีกฝ่ายจะเซย์เยสไหม อยู่ที่ชะตาว่าจะ ‘คลิก’ กันหรือเปล่า
เนื่องจากตอนนี้ River City Bangkok ปิดตามประกาศของ ศบค. แต่ก็มีช่องทางออนไลน์ให้เข้าชมงานได้นะ…. https://my.matterport.com/show/?m=jZK33JSnzvf