บ้านเสงี่ยม-มณี
บ้านเสงี่ยม-มณี จากบ้านไม้หลังเก่าสู่บูทีคเกสต์เฮาส์หนึ่งเดียวกลางเมืองสกลนคร
- บ้านเสงี่ยม-มณี บ้านไม้เก่าแก่ 3 ชั้น อยู่คู่เมืองสกลนครมาเกือบๆ 70 ปี ทายาทผู้ดูแลตั้งใจบูรณะให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เป็น ‘บูทีก เกสต์เฮาส์’ หนึ่งเดียวของสกลนคร และล่าสุดยังคว้ารางวัลอนุรักษ์ฯ โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2565
จากบ้านไม้เก่าๆ หลังหนึ่งที่เคยพังทรุด ต้นไม้ปกคลุมจนคนที่ผ่านไปผ่านมาแทบไม่สังเกตเห็น…แต่ไม้ทุกท่อน กระเบื้องทุกแผ่น ประตูหน้าต่างทุกบานมีเรื่องราวที่แฝงไว้กับกาลเวลา เมื่อบ้านหลังนี้ได้รับการบูรณะโดยลูกหลาน จึงฟื้นคืนชีวิตชีวิตที่พร้อมจะถ่ายทอดเรื่องราวอันสัมพันธ์กับผู้คนและสังคมที่พร้อมเติบโตอย่างมีคุณค่าไปกับเมือง…
ประโยคนี้ถูกโปรยลงในเพจสตูดิโอ ‘ชานเฌอ (Chan Cher : architects + design) ของสองสถาปนิกผู้มีประสบการณ์ด้านภูมิสถาปัตยกรรมและการออกแบบสถาปัตยกรรม ‘ฟ้า’ อัชฌา สมพงษ์ และ ‘ติ๊ดตี่’ ธรรศ วัฒนาเมธี ทั้งคู่เป็นนักกิจกรรมนักสร้างสรรค์ที่มีส่วนร่วมกับงานต่างๆ มากมาย ทั้งงานสถาปนิก งานสกลจังซั่น งานตรอกแคมคุก วาดบ้านแปรงเมือง และล่าสุด Isan Creative Festival ร่วมกับกลุ่มคนทำงานคราฟต์ คือ Art Play Studio, Mann Craft เพื่อนศิลปินชาวสกลนคร
เมื่อสถาปัตยกรรมและอัตลักษณ์ของท้องถิ่นเป็นทั้งบันทึกบอกเล่าเรื่องราวในอดีต ไม่มีอะไรที่เล็กเกินไปถ้าเทียบกับความตั้งใจที่ยิ่งใหญ่ของฟ้าและติ๊ดตี่…
ทั้งคู่พยายามสื่อสารกับใครก็ตามที่ผ่านมาเห็นว่า ความตั้งใจดีของพวกเขาคือ ต้องการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่าเอาไว้ โดยให้ความสำคัญกับคุณค่าอาคาร ในฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นเป็นลำดับแรกสุด แม้ปรับและเปลี่ยนฟังก์ชันใหม่เพื่อการใช้งาน แต่ที่นี่ก็ยังคือ ‘บ้าน’ ในแบบที่พวกเขาอยากให้เป็น
รื้อ – ฟื้น
บ้านเสงี่ยม-มณี ตั้งอยู่บนที่ดินเนื้อที่ 52.3 ตารางวา ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ขนานไปกับถนนเจริญเมือง ด้านขวาอยู่ชิดติดกับเจริญเมือง ซอย 2 อยู่ในย่านเมืองเก่าห่างจากวัดพระธาตุเชิงชุมฯ แค่ 500 เมตร
แม้รอบตัวบ้านมีพื้นที่ไม่มากนัก แต่ก็เป็นบ้านไม้อบอุ่นที่ไม่เพียงใช้แค่มอง เพราะทุกตารางฟุตที่จัดแต่งไว้ มีวัตถุประสงค์ให้ก้าวเดินเข้าไปใช้
สวนเล็กๆ หน้าบ้าน ข้างบ้าน หลังบ้าน และในตัวบ้านเก็บรวบรวมของเก่าเก็บ มีความเป็นตัวของตัวเองที่อยากจะสื่อสารกับผู้มาเยือน ทั้งห้องประชุมขนาดย่อม พิพิธภัณฑ์ ชุดโต๊ะเก้าอี้ไม้ ห้องสมุดเรียงรายด้วยชั้นหนังสือ สินค้าอีสานคราฟต์ช็อปที่รวบรวมเอาข้าวของกระจุกกระจิกมาจากเพื่อนในวงการคราฟต์รอบๆ ตัวมาวางโชว์และจำหน่าย
เรานั่งคุยกันตรงโถงกลางบ้านรับลมเย็นๆ ฟ้าเปิดบทสนทนาสบายๆ บอกเราว่า หลังจากเรียนจบทำงานที่กรุงเทพฯ ได้พักใหญ่ แต่ก็รู้สึกว่าไม่อยากจะใช้ชีวิตที่นั่น จึงตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านและมีโอกาสได้เข้ามาดูบ้านหลังนี้ เพราะเป็นบ้านของคุณปู่เสงี่ยม สมพงษ์ อดีตศึกษาธิการอำเภอ กระทั่งกลายเป็นมรดกที่คุณพ่อ รศ.(พิเศษ) ทพ.ดร.สุขสมัย สมพงษ์ รับไม้ต่อเข้ามาดูแล
การสำรวจตัวบ้านจึงเริ่มต้นเมื่อปี 2558 จากนั้นฟ้าลงมือรื้อถอดโครงสร้างกับคุณพ่อ เก็บข้อมูลไม้ไว้ทีละแผ่น ส่วนติ๊ดตี่ช่วยเรื่องออกแบบ เติมไอเดีย พวกเขาใช้เวลาอยู่นานหลายปีกว่าบ้านหลังนี้จะบูรณะเสร็จในปี 2563 ส่วนตัวเรามองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โต เพราะมันสะท้อนออกมาจากความตั้งใจของเจ้าของชัดเจนกว่าว่า…พวกเขาอยากจะเห็นและอยู่กับอะไร
“ทีแรกก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับบ้านนี้ดี เพราะไม่ใช่นักธุรกิจ แค่รู้ว่ามันเก่าต้องรีบเข้ามาดูแล หรือเข้ามาทำอะไรสักอย่างแล้ว”
ติ๊ดตี่คือกำลังเสริมและคู่คิดที่ดีมากๆ สำหรับฟ้า ด้วยความเป็นสถาปนิกอนุรักษ์ เขาจึงลงลึกกับการศึกษาข้อมูลและบริบทเมือง จนพอรู้ว่าสกลนครมีถนนหลักๆ อยู่ประมาณ 8 สาย หนึ่งในนั้นคือถนนเจริญเมือง ซึ่งเป็นถนนเส้นหลักของจังหวัด เป็นถนนสายการค้าและเป็นถนนเส้นแรก (ทางเกวียน) ที่ถูกสร้างขึ้นผ่านตัวเมืองตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 3 จากนั้นก็ค่อยๆ ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นช่วงสมัยรัชกาลที่ 5-6
ติ๊ดตี่อธิบายว่า รูปแบบของอาคารพื้นถิ่นย่านเมืองเก่าสกลนคร ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้เก่าที่มีเสน่ห์ในตัวเอง ประกอบไปด้วยบ้านไม้เก่าที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป จนกระทั่งอายุ 100-150 ปี บ้านไม้เก่าเหล่านี้ได้แสดงออกถึงเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของเมืองได้อย่างชัดเจน ในสกลนครถ้านับเฉพาะบ้านไม้ เคยมีนักวิชาการแบ่งไว้ 3 แบบ คือ บ้านโบราณใต้ถุนสูง บ้านเรือนแถวที่ใกล้ชิดถนน มีบานเฟี้ยมมีร้านค้าอยู่หน้าบ้าน และเป็นบ้านไม้แบบคหบดี บ้านเสงี่ยม-มณีเข้าเกณฑ์แบบหลังสุด คือบ้านคหบดี โครงสร้างหลักๆ ของบ้านคือไม้ตะเคียนและไม้เต็ง
‘ผมเข้ามาช่วยฟ้าเรื่องการออกแบบและใส่คอนเซ็ปต์ของบ้าน มันเหมือนงานทดลองชิ้นใหญ่ ใช้ไม้เดิม 70% ที่เหลือต้องหาไม้อื่นมาเพิ่ม และเราก็ทำท่อฉีดปลวกใส่ไว้ ทำจุดเซอร์วิสให้สามารถเข้าไปดูแลจัดการบ้านได้ง่ายขึ้น ทีแรกจะเป็นโฮสเทล แต่พอสังเกตจากพฤติกรรมนักท่องเที่ยว คนเดินทางมาสกลนครไม่ใช่แบ็กแพ็กเกอร์ เราเลยออกแบบปรับฟังก์ชันจนลงตัวเป็น ‘บูทีก เกสต์เฮาส์’ เพราะเรามีแค่ 4 ห้อง และยังไม่มีใครทำแบบนี้ในสกลนคร ส่วนทาร์เก็ตก็คือ กลุ่มครอบครัว กลุ่มคนเกษียณ กลุ่มเพื่อน และคนทำงาน Work from Everywhere”
ต่อยอด
เมื่อบ้านเสงี่ยม-มณีถูกปรับโฉมใหม่ วางตัวเป็น ‘บูทีก เกสต์เฮาส์’ ที่ให้อารมณ์เหมือนมาพักบ้านญาติ เช็กอินกันด้วยรอยยิ้ม มีคำแนะนำลายแทงร้านรวงของอร่อยในละแวกใกล้ๆ เพียบ ตัวบ้านชั้นล่างเป็นเคาน์เตอร์กึ่งๆ คาเฟ่และห้องสมุดสามารถหยิบยืมหนังสือที่สนใจไปอ่านได้ อ่านแล้วค่อยมาคืนวางเก็บไว้ที่เดิม
ภายในตกแต่งของเล็กๆ น้อยๆ ไม่หวือหวา แต่ก็มีดีเทลแบบคนรสนิยมดี จอดรถได้ริมถนน แค่คอยรักษาวินัยว่าวันนี้จอดวันคี่หรือวันคู่
พอเข้าใจกฎและธรรมเนียมปฏิบัติของการเข้าพัก เราค่อยๆ ถอดรองเท้าฝากวางไว้ที่ชั้นล่าง การได้เดินด้วยเท้าเปล่าบนพื้นไม้ของบ้านเก่ามันรู้สึกดีแบบนี้เอง เหมือนพาเรานั่งไทม์แมชชีนกลับไปสมัยวัยละอ่อน
บ้านเสงี่ยม-มณีมีห้องพักเพียง 4 ห้อง แต่ละห้องแบ่งด้วยสี มีชื่อคล้องจองกัน สื่อถึงความเป็นตัวตนของสกลนคร เดินขึ้นบันไดมาชั้นสองก็จะพบกับห้องแรก ‘ยลสกล’ เป็นห้องสีชมพู อยู่ริมถนนใกล้ต้นลั่นทม มองเห็นเมือง
ต่อมาคือ ‘ห้องมนต์หนองหาร’ ที่เป็นห้องใหญ่นอนได้ 4 คน ห้องนี้ต้องการบอกเล่าถึงวิถีชีวิตและความสำคัญหนองน้ำหนองหารที่หล่อเลี้ยงชาวสกลนครมายาวนาน ห้องสีฟ้าอบอุ่น แบ่งเป็นเตียงสองชั้นและเตียงใหญ่นุ่มๆ เราเลือกนอนห้องนี้เพราะมากัน 4 คน ให้อารมณ์เหมือนได้ย้อนกลับไปนอนหอพักกับรูมเมท สาวๆ นอนคุยเมาท์มอยกันพอหอมปากหอมคอ ทันทีที่หัวถึงหมอนทุกคนต่างนอนหลับเต็มอิ่มฝันดี
ต่อด้วย ‘ห้องเทิงภูพาน’ คำว่า ‘เทิง’ แปลว่า บน ห้องนี้จึงวางตัวอยู่ตรงชั้น 3 ปรับตกแต่งจากเดิมคือ ห้องพระของบ้าน โครงสร้างห้องนี้เหมือนห้องใต้หลังคา ใช้สีเขียวคลุมโทน สื่อถึงธรรมชาติ แถมวันไหนฟ้าโปร่งๆ สามารถมองเห็นยอดภูพานได้เลยทีเดียว และสุดท้ายคือ ‘ห้องละลานนา’ เดิมใช้เก็บข้าวสารอาหารแห้งของบ้าน ห้องนี้มีสีเหลือง สะท้อนความหมายของทุ่งนาสีทอง ในห้องเป็นเตียงสองชั้น ขนาดกะทัดรัด ไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป
สำหรับพื้นที่ส่วนกลางแบ่งเป็นโต๊ะใหญ่ริมระเบียง มีตู้กับข้าวเก่าเอามาประยุกต์ใช้สำหรับเก็บจานช้อน ถ้วยชาม แก้วน้ำและเครื่องดื่มชากาแฟ มีมุมล้างจาน ราวแขวนผ้า ส่วนห้องน้ำแบ่งเป็นห้องน้ำและห้องอาบน้ำสะอาดสะอ้าน
มีพื้นที่อเนกประสงค์เป็นมุมเล็กๆ ตรงระเบียง ให้สามารถเอกเขนกนั่งดูวิวหน้าบ้าน หรือล้อมวงคุยกันแบบไม่เกร็ง มีข้าวของเก่าๆ ทั้งตู้โชว์ กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์ยุคก่อน Y2K กระเป๋าเดินทาง ฯลฯ ซึ่งน่าจะเป็นของคนในครอบครัวเจ้าของบ้าน วางอยู่ทั่วทุกมุม นอกจากจะช่วยแต่งบ้านให้ดูมีเรื่องเล่าและมีชีวิตชีวาแล้ว ของบางอย่างก็น่าจะเป็นความทรงจำที่ยังแจ่มชัดของใครสักคน
มากกว่าบ้านคือ…ห้องรับแขก
ฟ้าและติ๊ดตี่บอกเราว่า ผลตอบรับจากลูกค้าที่เข้ามาพักทำให้รู้ว่ามีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชอบบ้านเก่าเยอะมาก บางคนอยากมาพักนานๆ เพราะรู้สึกว่าได้ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์จริงๆ สามารถเดินหรือปั่นจักรยานได้รอบเมือง บางคนก็เหมือนได้เก็บเอาไปเป็นแรงบันดาลใจ ปรับปรุงบ้านเก่าของครอบครัวตัวเอง
“ฟ้าอยากให้คนที่มีบ้านเก่าเข้ามาแลกเปลี่ยน เรายินดีแชร์ประสบการณ์ที่เราได้ทดลองมา เผื่อเขาสนใจไปปรับปรุงบ้าน ไม่ได้หวังเรื่องกำไรหรือสร้างรายได้ แต่เราอยากให้คนในเมืองเก็บรักษาบ้านของเขาเอง เพราะหลังจากที่ทำบ้านหลังนี้ ทำให้ตัวเองได้ความรู้ในเรื่องการอนุรักษ์และการดูแลรักษาบ้านไม้มากขึ้นเช่นกัน”
ไม่เพียงแต่จะเป็นที่พักในกลุ่มคนหลงรักบ้านเก่าแล้ว ที่นี่ยังเป็นจุดนัดพบของกลุ่มคนต่างๆ ในจังหวัดด้วย ตอบโจทย์ฟังก์ชันที่พวกเขาเองตั้งใจวางไว้ตั้งแต่แรกว่าอยากให้พื้นที่ส่วนหนึ่งของบ้านเป็นศูนย์กลางของการได้พูดคุยกันเรื่องการสร้างสรรค์พัฒนาเมือง
บ้านเสงี่ยม-มณี จึงเป็นทั้งห้องรับแขก ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สถานที่รวมตัวของคนรุ่นใหม่-รุ่นเก่า ศูนย์ข้อมูลสำหรับท่องเที่ยว และเป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์บ้านไม้ในย่านเมืองเก่าที่ค่อยๆ หายไป กระทั่งได้รับรางวัลรางวัลอนุรักษ์ฯ โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2565
‘‘แค่บ้านหลังนี้ได้ทำหน้าที่เป็นเหมือนห้องรับแขกอีกห้องของชาวสกลนครพวกเราก็ดีใจแล้ว” ทั้งคู่ยิ้มให้กับเราในวันนั้น
ข้อควรรู้ เมื่อไปพักบ้านเสงี่ยม-มณี
• ควรสำรวมกิริยาเมื่อมาพักเพื่อให้เกียรติกับบ้าน และกฎระเบียบที่ที่พักระบุไว้
• อาจไม่เหมาะกับครอบครัวที่มีลูกน้อย หรือหากเข้าพักไม่ควรปล่อยเด็กเพียงลำพัง
• ไม่มีที่จอดรถ แต่สามารถจอดได้ริมถนน และพื้นที่ใกล้ๆ ตามกฎจราจร
บ้านเสงี่ยม-มณี ตั้งอยู่เลขที่ 1036/1 ถ.เจริญเมือง ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร
FB : บ้านเสงี่ยม-มณี Baan Sa ngiam-Manee