Embrace And Move On
ถอดบทเรียนแห่งความรู้สึกจาก Blossoms of Embrace ทางเดียวที่จะมูฟออนคือโอบกอดทุกแง่มุมของตัวเอง
- สนุกกับการหาข้อเสียของตัวเอง เผชิญหน้ากับเรื่องราวอันเจ็บปวด และอะไรก็ตามที่ทำให้ขาข้างหนึ่งยังจมอยู่กับอดีต เพื่อ ‘ยอมรับ’ และก้าวไปข้างหน้าอย่างแท้จริง
หลายคนเปรียบเด็กแรกเกิดเป็น ‘ผ้าขาว’ แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ แล้วผ้าจะขาวไปได้ตลอดไหม และที่สำคัญกว่านั้น เราจะชอบสีสันที่ถูกแต่งแต้มบนผ้าของเราหรือเปล่า
“ผ้าขาวเป็นตัวแทนของชีวิต ซึบซับประสบการณ์จากพ่อแม่ โรงเรียน สังคม สิ่งที่เราเลือกเสพ แล้วพอถึงปัจจุบัน มันกลายเป็นผ้าที่เราไม่ชอบ”
ตั้ม-สุวิศิษฏ์ รักประยูร เกริ่นเกี่ยวกับนิทรรศการ ‘Blossoms of Embrace : The Cycle of Self-Acceptance’ ขณะที่เราทั้งคู่ยืนดูผ้าผืนยาวบนพื้นห้องนิทรรศการ มันทั้งเปรอะเปื้อนด้วยสี ทั้งถูกก้อนหินกดทับ
ผ้าขาวผืนนั้นยังยาวเลยก้อนหินออกมา ไม่ต่างจากชีวิตที่ดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะผ่านอะไรมาก็ตาม
“จริงๆ แล้วชีวิตก็เป็นอย่างงี้” ตั้มพูดเสียงเรียบ
นิทรรศการนี้เป็นเหมือนประมวลข้อคิดจากประสบการณ์ชีวิตของศิลปิน รวมถึงคนรอบข้างของเขา ว่าด้วยการ ‘ยอมรับ’ อาจเป็นการยอมรับข้อเสียของตัวเอง หรือบทเรียนหนักหน่วงที่ทำให้เราจมอยู่กับอดีต โดยมีเป้าหมายคือการชวนมองอนาคตและก้าวไปข้างหน้า
ส่วนสำคัญของนิทรรศการอย่างวงล้อดอกไม้บนเพดานห้องคือ ‘พวงหรีด’ โดยฝีมือของ อ้อมดาว ลอยสุวรรณ์ มันขับเน้น ตีความเพิ่มเติม และถ่ายทอดคอนเซปต์ข้างต้นได้อย่างลึกซึ้ง รูปลักษณ์ของมันเล่าเรื่องสอดประสานกับคอนเซปต์ของนิทรรศการอย่างกลมกล่อมจนผู้เข้าชมมายืนร้องไห้ต่อหน้า
Me and My Shadow
ทำไมถึงเลือกประเด็น ‘การยอมรับตัวเอง’ มาเล่าผ่านนิทรรศการ
ตั้ม : เราอยู่ใกล้ชิดเพื่อนฝูง สิ่งที่เราเห็นคือภาพความเจ็บปวดและเจ็บป่วย จากสภาวะทางสังคมที่มาตกกระทบต่อตัวเอง พอตกกระทบมาเรื่อยๆ มันไม่ได้เกลียดสังคม แต่เกลียดตัวเอง เราคุยกับบางคน เขาเกลียดตัวเองถึงขั้นไม่อยากมองตัวเองในกระจกด้วยซ้ำ แล้วพอต้องให้คำปรึกษาบ่อยๆ เลยอยากหยิบเรื่องนี้มาพูดให้กว้างขึ้นและพูดทีเดียวเลย แทนที่จะรับโทรศัพท์ทีละสาย
อะไรทำให้พวกเขาไว้ใจคุณ
ตั้ม : ก็ไม่รู้ว่าทำไมต้องเป็นเราตลอด (หัวเราะ)
อ้อมดาว : จากที่เรามองตั้มนะ เขาทำแบรนด์อาหารจากสงขลา เราตามในอินสตาแกรมตลอดแต่ไม่เคยเจอ พอย้ายจากเกาะพงันมากรุงเทพฯ แล้วอยากสั่งอาหารร้านนี้ บังเอิญว่าเพื่อนเราก็รู้จักตั้ม แล้วพอเรารู้จักตั้ม เราว่าตั้มเป็นคนเปิดเผย เราไม่ Doubt อะไรเขาเลย
ถ้าคำปรึกษาของเราส่งไปไม่ถึงเขาล่ะ
ตั้ม : เราเข้าใจ (คำถาม) นะ แต่บางครั้งก็ต้องเชื่อใจกัน มันยังไม่ใช่เวลานี้ และอย่าไปทุกข์กับเขา เราถูกสอนมาว่า ทุกครั้งที่ฟังเรื่องคนอื่น เรารับฟังได้ แต่ต้องไม่ปล่อยตัวจมไปกับเขา เราทำเท่าที่ทำได้ ส่วนที่เหลือมันเกินขอบเขตของเราแล้ว
อ้อมดาว : ก็เหมือนทำงานศิลปะ เราคราฟต์ออกมาแล้วก็ต้องปล่อยให้มันทำงาน เราให้คำปรึกษาใครแล้ว เขาจะเก็ตไม่เก็ตก็ขึ้นกับเขา อยู่ที่กระบวนการตีความของเขาเอง
ทำไมการยอมรับตัวเองถึงเป็นเรื่องยาก
ตั้ม : เพราะมันเจ็บปวด และไม่มีใครอยากเจ็บปวด ไม่มีใครอยากมานั่งพูดกับตัวเองว่า เราไม่ดี เรานิสัยไม่ดี เราทำอันนี้ออกมาแย่มาก ทุกการยอมรับนำพามาซึ่งการเจ็บปวด
อ้อมดาว : ใช่ เจ็บปวดนะ
ตั้ม : แต่ถ้าเราชินกับความเจ็บปวด สักพักหนึ่งจะไม่ค่อยเจ็บแล้ว ทุกอย่างจะกลายเป็น ‘อ๋อ เข้าใจ’
อ้อมดาว : คำนี้แหละ (พูดต่อทันที)
การยอมรับตัวเองเริ่มจากการสำรวจตัวเอง แล้วสิ่งสำคัญที่ควรยึดถือระหว่างสำรวจตัวเองคืออะไร
ตั้ม : สนุกกับการค่อยๆ นั่งดูตัวเอง ดูว่าไม่เวิร์กตรงไหน เราอาจมีนิสัยไม่ดีที่ติดจากพ่อแม่ มันเกิดขึ้นได้ ไม่มีใครเพอร์เฟกต์แม้แต่พ่อแม่เรา แล้วเราก็มองข้อเสียตัวเองเป็นเงา ทำความรู้จักมัน อนุญาตให้มันมานั่งข้างๆ
การเจอข้อเสียตัวเองคือสเต็ปแรกที่นำไปสู่การยอมรับ แล้วนำไปสู่การแก้ บางคนใช้ชีวิตยาวนาน ไม่เคยสำรวจตัวเอง มันก็กลายเป็นทุกข์ แล้วบางครั้ง ทุกข์นั้นไประรานคนอื่นด้วย
มีวิธีป้องกันไม่ให้เงาของเราทำร้ายคนอื่นไหม
ตั้ม : การยอมรับเท่ากับว่าเราเห็นมันนะ เราก็เป็นเด็กเกเร ใจร้อน เมื่อก่อนใช้เวลาเป็นวันกว่าจะคิดได้ว่า ‘ไม่น่าทำเลย’ แต่พอยอมรับแล้ว ‘ฮึบ’ ตัวเองบ่อยๆ จะระงับได้ก่อนลงมือทำ วันหนึ่งเงาจะบางลง มันไม่ไปไหนหรอก แต่ทำร้ายใครไม่ได้อีกแล้ว
อ้อมดาว : เราว่าการโอบกอดเงาคือความรักรูปแบบหนึ่ง พอเรารักตัวเองก่อน จะส่งผลต่อการรักคนอื่น เราจะไม่ทำร้ายคนอื่นโดยเจตนา ไม่เกิดการปะทะ เพราะเรารักตัวเอง และรักคนรอบข้างด้วย
มีเคล็ดลับในการพัฒนาตัวเองยังไงบ้าง
ตั้ม : ทำทีละนิด ทำทุกวัน อาจเป็นเรื่องที่ปรับได้ง่ายๆ อย่างเราเล่นกีฬา เราก็มีวิธีคิดแบบนักกีฬา คือลองตื่นเช้า กินอาหารตรงเวลา ในเมื่อเงานั้นสะสมมาหลายสิบปี การยอมรับหรือแก้ไขก็ต้องทำวันละนิด เราพยายามบอกทุกคนตลอดว่า ใจเย็นกับสิ่งที่เกิดขึ้น
สมมติว่าเจอคนที่มองปัญหาใหญ่กว่าความเป็นจริง จะแนะนำอย่างไร
ตั้ม : อันดับแรกคืออย่าให้จินตนาการมาทำร้ายเรา เดี๋ยวแก้ไม่ได้ พอแก้แล้วล้มเหลว และเราก็จะไม่กลับไปทำสิ่งนั้นซ้ำ อันดับสอง คงบอกว่า เราควรกลับไปจุดที่เล็กที่สุด แล้วเริ่มจากตรงนั้น
การเริ่มจากจุดเล็กๆ สำคัญยังไง
ตั้ม : จุดเล็กๆ นั้นอาจไม่แก้ปัญหาในทันทีก็ได้นะ เพราะเราไม่สามารถตื่นมาเป็นคนที่ดีขึ้นในวันพรุ่งนี้ได้ แต่อาจทำให้เรา ‘เริ่ม’ ทำมากขึ้น สิ่งเล็กๆ จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า เราพอจะทำได้นะ และไม่เหนื่อยเกินไปที่จะทำ
I Am Not Afraid Anymore
คุณเคยทำ Street Art มาก่อน แต่ก็เลิกไป เพราะอะไร
ตั้ม : ตอนนั้นคิดว่าเราสนุกกับการสร้าง Form สร้างรูปร่างหรือรูปทรงน่ะ แต่จริงๆ เราสนุกกับกระบวนการคิดมากกว่า พอทำไปสัก 1-2 ปี ก็รู้ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ เลยตัดสินใจหยุด
หยุดไปนานแค่ไหน
ตั้ม : 10 ปีเลย แล้วอ่านหนังสือ ฟังเพลงแทน เราพยายามจะลงลึกไปกับสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะงานศิลปะ เพื่อนๆ เราก็ทำงานศิลปะนะ จนตอนนี้ดังแล้ว มีเราคนเดียวที่ไม่ได้ทำต่อเนื่อง
มองเพื่อนแล้วรู้สึกยังไง
ตั้ม : ยินดีกับเขา ส่วนเราก็เรียนรู้ในแบบที่เราอยากจะเป็น เราทำทุกอย่างแบบใจเย็นมาก อ่านหนังสือไป เรียนรู้ไป พออายุมากขึ้น ประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น ความลึกนั้นยิ่งไปได้อีก
อะไรทำให้อยากเป็นศิลปินแต่แรก
ตั้ม : มันคิดอยู่ในหัวตลอดเวลา คิดไม่จบอยู่อย่างนั้น เลยต้องหาทางออกให้ชีวิต เราโตมาในสังคมที่มันสุดโต่ง มีตีรันฟันแทง ขายยา เลยมีประเด็นให้คิดตลอดเวลา สุดท้ายเราก็ไม่เรียนหนังสือนะ ออกจากสถานศึกษาเลย
แล้วเคยมีช่วงเวลาที่โดดเดี่ยวไหม
ตั้ม : เราเฉยๆ กับความโดดเดี่ยว เพราะเราเคยอยู่แต่บ้านเป็นปีๆ พาร์ตหนึ่งเป็นเด็กติดเกม อีกพาร์ตหนึ่งนั่งฟังเพลงเดิมซ้ำๆ ทุกวัน เรามีเพลงเป็นเพื่อน
ชอบฟังเพลงอะไร
ตั้ม : ไม่รู้เพราะเราเป็นคนใต้ด้วยหรือเปล่า เราฟังเพลงเพื่อชีวิตเยอะ แล้วกลายเป็นว่าเข้าใจสังคมจากเพลงพวกนั้น ความหลากหลายในเนื้อเพลง ทำให้เราเห็นภาพของสังคมจริงๆ อย่างเพลงของคาราบาว เพลงหนึ่งพูดถึงลูกคนจน เพลงหนึ่งก็พูดถึงลูกคนรวย ตอนเด็กๆ เรามีเพื่อนที่ทำงานโรงงานปลากระป๋อง ได้เงินวันละ 125 บาท ภาพมันชัด
พอมาอยู่ที่นี่ ถ้าขึ้นรถไฟฟ้าแล้วลืมหยิบหูฟังมา เราจะเปิด Spotify อ่านเนื้อเพลงไปเรื่อยๆ อ่านได้เป็นชั่วโมง หรือเพลงที่เข้ากับความคิดช่วงนั้นพอดี เราฟังได้ทั้งวันเพื่อจะทำความเข้าใจ
คนที่พยายามเข้าใจหรือยอมรับทุกสิ่ง เคยเจอเรื่องที่ยากเกินจะยอมรับไหม
ตั้ม : ตอนที่น้องเราเสีย วินาทีที่รับโทรศัพท์ตอน 01.45 น. เราบอกตัวเองตั้งแต่นั้นว่า ต้องยอมรับให้ได้ แต่ยอมรับไม่ไหวหรอก ตอนเช้ายังใส่รองเท้าออกไปทำงาน ตอนค่ำแม่ยังโทร. มาบอกให้ไปกินชาบูด้วยกันอยู่เลย
ตอนที่ยอมรับได้แล้วรู้สึกยังไง
ตั้ม : เรากับน้องเป็นอิสระ
ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะคิดได้แบบนี้
ตั้ม : ปีกว่าๆ ระหว่างนั้นเราโดนทุบตีทางความรู้สึกตลอด ไม่รู้ว่าความทุกข์นี้จบตรงไหน แต่ก็บอกตัวเองทุกวันว่า ต้องยอมรับให้ได้ ถ้าไม่ยอมรับ เราจะมูฟออนแบบครึ่งๆ กลางๆ เราต้องยอมเจ็บปวดก่อน เราจะได้ไม่กลับมาเจ็บอีก แล้วพอทำได้ เราไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป การที่น้องตายเป็นเรื่องที่ดีที่สุดในชีวิตเราเลย
มันเปลี่ยนเราให้เป็นคนใหม่ยังไงบ้าง
ตั้ม : จากที่ไม่กลัวอะไรเลย มันยิ่งทลายความกลัวไปจากชีวิต ตอนเราเด็ก เราไม่กลัวอะไร เพราะไม่เข้าใจมากกว่า ส่วนตอนนี้เราไม่กลัวที่จะลองทำสิ่งต่างๆ เพราะไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อไหร่
เราเคยคิดว่า ถ้าพ่อกับแม่ไม่อยู่ เราคงไม่ไหว แต่ไม่เคยนึกเลยว่าน้องจะเสียก่อน เขาอายุน้อยกว่าเรา ตั้งแต่นั้นมา เรายอมรับความตายของพ่อแม่ และตัวเองด้วย แล้ววันที่มันมาถึง เราก็ไม่อยากมองกลับมาแล้วรู้สึก…(จิ๊ปาก) เสียดายน่ะ
Blossoms of Embrace
นิทรรศการนี้ก็เกิดขึ้นได้เพราะความไม่กลัวใช่ไหม
ตั้ม : จริงๆ มาจากทั้งแพสชันและความไม่กลัว ทีแรกเรามีความกลัวอย่างหนึ่ง คือเราจะดูเหมือนสอนคนอื่นมากไปหรือเปล่า แต่เบื้องต้นเราแค่อยากบอกคนรอบข้างที่ได้คุยกันมาตลอดมากกว่า เล่าให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ทำไมถึงเลือกเล่าผ่านดอกไม้
ตั้ม : เพราะจำความรู้สึกตอนน้องเสีย แล้วเรารับพวงหรีดได้ ตอนนั้นเราเริ่มจะยอมรับความเป็นจริง แล้วเราเล่าให้พี่อ้อมฟัง เพราะเขาเคยเรียนจัดดอกไม้และเขารู้จักเราดี เราก็โยนไอเดียพวงหรีดและดอกไม้ไป บอกว่าเดี๋ยวมีผ้าห้อย ซึ่งเป็นตัวแทนของชีวิต
เสน่ห์ของการเล่าเรื่องผ่านดอกไม้คืออะไร
อ้อมดาว : เสน่ห์ของมันคือการสังเกต มันช่วยเราสังเกตความรู้สึกและความคิดของตัวเอง จนเห็นทุกแง่มุมของตัวเอง เราประยุกต์ใช้หลักอิเคบานะจากที่เรียนตอนอยู่เกาะพงัน เรามองพวงหรีดของตั้มเป็นเหมือนการเดินจงกรม เราปักไปเรื่อยๆ ในระยะเวลา 2 สัปดาห์จนครบรอบ
อิเคบานะคือการใช้ดอกไม้เยียวยาใจ เขาเชื่อว่ามันคือความไม่สมบูรณ์แบบ เราสังเกตลายเส้นหรือธรรมชาติของดอกไม้แล้วประทับไว้ในใจ แล้วเราปักมัน การปักแสดงถึงจุดมุ่งหมายที่เราจะไป ปักแล้วจะไม่มีการดัด พอปักเสร็จคือการปล่อยวาง
คล้ายกับคอนเซปต์ ‘การยอมรับ’ ของ Blossoms of Embrace ไหม
อ้อมดาว : มันคล้ายกัน เราบอกตั้มว่า มีด้านหนึ่งของพวงหรีดที่เราโคตรไม่ชอบ ยิ่งปักดอกไม้ยิ่งแย่ แต่มันก็ฝึกเราด้วยว่าต้องยอมรับ ไม่ว่างานจะดีหรือไม่ดี งามหรือไม่งาม และสำหรับเรา ศิลปะไม่ใช่แค่ความงาม ขึ้นกับว่าเราจะสื่อสารยังไงมากกว่า
เราทำงาน 2 ทาง ทำงานกับศิลปินด้วย ทำงานกับดอกไม้ด้วย ศิลปินใช้ทั้งชีวิตมาสร้างเป็นงานศิลปะ เราก็เคารพในส่วนนั้น แล้วเรามีดอกไม้เป็นอาวุธ ทำให้งานน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
เริ่มตีความงานนี้จากตัวศิลปินหรือคอนเซปต์
อ้อมดาว : เรานึกถึงน้องมากกว่า เมสเสจหลักๆ คืออดีต ปัจจุบัน และอนาคตของตัวศิลปิน เราใช้เถาวัลย์ทำเป็นพวงหรีดที่ตั้มอยากได้ ร้อยใบไม้แห้งมาพันเถาวัลย์ บ่งบอกว่ามันคืออดีตที่จบไปแล้ว ดอกหน้าวัวซึ่งเป็นดอกไม้ปลอม หมายถึงปัจจุบันที่เดี๋ยวก็จบลง มันคือมายาคติ และดอกเยอบีราแทนความสดใหม่ มันคือตั้มที่งอกงามกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
วงล้อนี้โอบรับทุกอย่าง ทั้งความรู้สึกด้านลบ เกลียดตัวเอง รักตัวเอง ยอมรับตัวเอง
ตั้ม : และเราตัดสินใจใช้ดอกไม้จริง ถ้ามันจะร่วงก็ให้มันร่วง เหมือนกาลเวลาที่ผ่านไป
‘เวลา’ มีนัยอย่างไร
ตั้ม : นิทรรศการนี้พูดถึงอดีตก็จริง แต่เราไม่ได้มานั่งยึดติดกับมัน อดีตพาเรามาสู่ปัจจุบันแล้วนำไปสู่อนาคต อดีตควรมีบทบาทแค่นั้น เราไม่ควรปล่อยให้มันมาเพ่นพ่านเกินไป
นิทรรศการนี้มาจากหนังสือสิทธารถะ ของเฮอร์มานน์ เฮสเส ด้วย สิทธารถะเป็นมาหมดแล้วทั้งคนจน คนรวย เขาใช้ปัญญานำทาง ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ สุดท้ายกลับมาสู่ความจน แล้วเขาไปเจอคนพายเรือที่บอกว่า ‘ท่านดูแม่น้ำ เรียนรู้จากมัน’ ความหมายคือแม่น้ำไม่หวนกลับคืน
อยากฝากอะไรถึงคนที่มาชมนิทรรศการนี้ไปแล้ว
ตั้ม : การเห็นข้อผิดพลาดของตัวเองเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากๆ จงโอบรับมันไว้ แล้วมองไปข้างหน้า ไม่ต้องมองไปข้างหลังอีกแล้ว
คิดว่าสังคมควรหันมาสำรวจและยอมรับตัวเองมากขึ้นใช่ไหม
ตั้ม : สังคมเจ็บปวดและอ่อนล้า เราคิดว่าเราทำดีแล้ว แต่ยังดีไม่พอ คนเรายังมีข้อเสีย แต่ไม่มีใครผิดนะ เราก็ไม่อยากกำหนดว่าแบบไหนคือผิด แบบไหนคือถูก การยอมรับตัวเองเป็นการแก้ไขส่วนตัว ไม่มีเลว ไม่มีบาป
เลยเลือกใช้สีกรักแดงสำหรับย้อมจีวรในนิทรรศการเหรอ
ตั้ม : งานนี้ไม่ยึดติดกับศาสนาใดนะ แค่เปรียบกับพระ เพราะน่าจะสื่อสารกับคนไทยได้ง่าย เราพัฒนาตัวเองวันละนิดก็เหมือนพระรับจีวรไปสวมเพื่อเริ่มปฏิบัติกิจของสงฆ์ กว่าจะเป็นพระที่สวดมนต์ได้ดี ต้องใช้เวลาฝึกจนชำนาญ
นับถือศาสนาอะไร
ตั้ม : เราไม่ได้นับถือศาสนา แต่เอาสิ่งที่เข้ากับเรามาปรับใช้ เราเปิดโอกาสให้ตัวเองเรียนรู้ (จากทุกศาสนา) ปลายทางของทุกศาสนาก็เป็นไปในทางเดียวกัน คือมนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขเท่าที่จะเป็นไปได้
แล้ว ‘คนอื่น’ ควรมีบทบาทต่อ ‘การยอมรับตัวเอง’ มากแค่ไหน
ตั้ม : เราควรพยุงกันและกัน เราไม่สามารถอยู่ในสังคมด้วยตัวคนเดียวได้ และเราไม่ได้เข้มแข็งทุกวัน ส่วนเพื่อนเราก็ไม่ได้อ่อนแอทุกวัน เพราะฉะนั้น ในวันที่เราอ่อนแอ เพื่อนจะพยุงเรา และวันที่เพื่อนอ่อนแอ เราจะพยุงเพื่อน
ไม่มีใครโดดเดี่ยว และไม่ใช่เราคนเดียวที่เจ็บปวด