About
ART+CULTURE

Silver Lining

สวนสิ่งไม่สำคัญ Sound Design ตีแผ่สภาวะดิสโทเปียผ่านเสียงที่ถูกกดทับและเสียงของความหวังที่คุณอยากได้ยิน

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • สวนสิ่งไม่สำคัญ คือ Sound Design ตีแผ่สภาวะดิสโทเปียผ่านเสียงที่ถูกกดทับ ชวนได้ยินเสียงผลกระทบที่เกิดกับสิ่งมีชีวิตไม่ว่าคนหรือสัตว์ แล้วเงี่ยหูฟังเรื่องดีในเรื่องร้ายที่ ปลื้ม-เขตสิน จูจันทร์ อยากชวนคุณมาใช้เวลาดื่มด่ำให้เต็มที่

‘สวนสิ่งไม่สำคัญ’ (Garden of Insignificant Things) ไม่ใช่ผลงานศิลปะประเภทที่เจอได้บ่อยๆ

คุณต้องใช้ ‘หู’ เป็นอวัยวะหลักในการทำความเข้าใจ ในทีแรกคุณอาจไม่แน่ใจกับเสียงที่แว่วเข้าสู่โสตประสาท แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันจะสั่นสะเทือนไปถึงจิตใจของคุณ หรืออาจสะท้อนเสียงในใจของคุณเอง

จะเข้าใจสวนสิ่งไม่สำคัญได้ ต้องเข้าใจอีก 2 ผลงานที่เกี่ยวข้องกัน เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของ ‘Procession of Dystopia’ นิทรรศการว่าด้วยการเคลื่อนผ่านยุคสมัยแห่งความสิ้นหวังที่ดึงศิลปิน 3 คนมาสร้างสรรค์ผลงานตามความถนัด จากนั้นจัดวางร่วมกันเป็นนิทรรศการเดียว

ปลื้ม-เขตสิน จูจันทร์ คือ 1 ใน 3 ศิลปิน เขาเป็น Sound Artist รุ่นใหม่ผู้มุ่งศึกษาเสียงของธรรมชาติ ซึ่งมีลำดับความสำคัญลำดับท้ายๆ ในขบวนรถไฟชื่อ ‘ทุนนิยม’ ดังนั้น นอกจากใส่เสียงล้อควบคู่ไปกับผลงานของศิลปินอีก 2 คน ปลื้มยังนำเสียงที่ถูกมองข้ามมารวมกันเป็นสวนสมมติ เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจสภาวะดิสโทเปียอย่างลึกซึ้งผ่านสิ่งที่ได้รับผลกระทบหนัก ก่อนจะชวนคิดหาทางออกที่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ก็ตาม

เสียงในสวนสิ่งไม่สำคัญอาจมาจากเสียงแผ่วเบาของสิ่งไม่มีชีวิต สัตว์ หรือแม้แต่เสียงของมนุษย์เอง แต่เมื่อรวมกันมันกลับดังและแข็งแกร่งกว่าทุกที บอกใบ้ทางออกจากวิกฤตนี้ว่า มีแต่จะต้องหันมาร่วมมือและช่วยเหลือกันเท่านั้นจึงจะผ่านพ้นไปได้

เจ้าของผลงานมักตั้งความหวังกับแสงสว่าง ณ ปลายอุโมงค์เสมอ คู่สนทนาอย่างเราจึงไม่พลาดเรื่องดีในเรื่องร้ายไม่ว่าประเด็นที่พูดคุยจะชวนสิ้นหวังขนาดไหน เพราะฉะนั้นหน้าที่ของบทความนี้คือส่งต่อความหวังนั้นสู่สายตาผู้อ่าน คล้ายกับบอกว่า อย่ายอมจำนนต่อสภาวะดิสโทเปียเสียล่ะ

Sound Art

กระบอกเสียงของธรรมชาติ

ถ้าถามว่าไปไอซ์แลนด์แล้วได้อะไร คงเป็นการได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติล่ะมั้ง

เมืองมีผลต่อการสร้างคน ปลื้มเข้าเรียนโปรแกรม New Audiences and Innovative Practice ที่ไอซ์แลนด์ แม้มันไม่มีคำบ่งชี้ถึงธรรมชาติ แต่ก็หนีธรรมชาติไม่พ้น นี่คืออิทธิพลของประเทศที่มีประชากรเพียง 200,000 คน และเต็มไปด้วยทะเลหินปกคลุมด้วยมอสไกลสุดลูกหูลูกตา

“ถ้าให้พูดแบบบ้านๆ คือมันไม่มีคน” ปลื้มหัวเราะ

เวลาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ นอกเหนือจากสภาพภูมิศาสตร์ที่ทำให้ไอซ์แลนด์โดดเด่นด้านธรรมชาติโดยอัตโนมัติ

“คีย์เวิร์ดสำคัญคือเวลา คนที่นู่นมีความมั่นคงในชีวิตพอที่จะไปสำรวจธรรมชาติ มีเวลาไปเดินเขา มันเลยเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับพวกเขาอย่างแนบแน่น”

Sound Art

ปลื้มคลุกคลีกับเปียโนมาตั้งแต่เด็ก รวมถึงศึกษาดนตรีที่โฟกัสมนุษย์เป็นหลัก เมื่อถึงจุดหนึ่ง ความสนใจของเขาเบนไปทางงาน Contemporary มากขึ้น (หากจะเขียนเรื่องนี้จริงจังคงกินเนื้อที่กระดาษพอควร เพราะมันสื่อความกว้างเหลือเกิน) ปลื้มนิยามมันคร่าวๆ ตามบริบทของบทสนทนาว่า มันเป็นการศึกษาเสียงด้วยวิธีใหม่ โดยที่เสียงนั้นอาจไม่มีคำร้องหรือกระทั่งความหมาย และช่วงรอยต่อนั้นก็เกิดขึ้นช่วงที่ปลื้มย้ายไปไอซ์แลนด์พอดี

“อาจารย์ที่ปรึกษาของผมศึกษาว่า ภาษาและ Performance จะช่วยให้คนเข้าใจสิ่งที่พ้นมนุษย์ยังไง กรณีศึกษาคือธารน้ำแข็ง วาฬเกยตื้น อะไรประมาณนี้ ผมก็รู้สึกชอบ

ตอนเรียนผมได้ต่อยอดความสนใจหลายอย่าง ลองทำงานวิดีโอ งาน Composition ที่ไม่เคยทำ แต่หัวใจหลักคือแนวคิด Posthumanism หรือสิ่งที่พ้นไปจากมนุษย์ มันเป็นสิ่งที่ผมสัมผัสที่นู่นแล้วมันใช่ (เน้นเสียง) และยังสนใจจนถึงทุกวันนี้”

 

Sound Art

เมื่อป่าคอนกรีตในกรุงเทพฯ ไม่ตอบโจทย์ ปลื้มจึงมองหากิจกรรมสนองความสนใจไกลถึงเชียงใหม่ เขาเข้าร่วมเวิร์คช้อปเชิง Bio-Art เกี่ยวกับการใช้ประสาทสมผัสผ่านศิลปะหลายรูปแบบ เพื่อสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับธรรมชาติรอบตัว แล้วหาคำตอบให้คำถามสำคัญที่ว่า “มันมีวิธีพูดในแบบอื่นที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ไหม”

งานนี้พาให้เจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์อย่างอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไลเคน เธอต้องการชูปัญหาสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่จากเหตุเสียคนใกล้ตัวเพราะมลพิษ และเธอทำให้คนที่ไม่มีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับไลเคนอย่างปลื้ม ส่งต่อข้อมูลสู่นักท่องเที่ยวที่แวะมาน้ำตกเดียวกันกับเขาได้

“ผมไปนั่งส่องดูไลเคน แล้วชาวต่างชาติเข้ามาถามว่า ทำอะไร ผมก็อธิบายไป เขาถามต่อว่า ผมเป็นนักชีววิทยาเหรอ ผมก็บอกว่า ไม่ใช่ เราทำงานดนตรี นี่เป็นจุดเปลี่ยนเลย ผมอยากสื่อสารในสิ่งที่ชอบ ความที่ไม่ใช่มนุษย์ ความน่าสนใจของโลกที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง”

Sound Art

Procession of Dystopia

วาระสำคัญที่พาเรากับปลื้มมาเจอกันคือนิทรรศการ ‘Procession of Dystopia’

“ดิสโทเปียคือยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง Procession คือขบวนหรือขบวนพิธี มันก็คือเราทุกคนที่กำลังเคลื่อนผ่านช่วงเวลาที่มีทั้งความยากเข็ญ ความขัดแข้ง ความเหลื่อมล้ำต่างๆ” นี่คือ Procession of Dystopia ตามความเห็นของปลื้ม

วลีข้างต้นกลายเป็นโจทย์สำหรับงานเขียนของฆนาธร ขาวสนิท เขาตีความออกมาเป็น “Let Them See Us, Let Them Fear Us, Our Love is a Rebellion They Cannot Crush” โลกแฟนตาซีที่สะท้อนสภาวะดิสโทเปียในปัจจุบัน ผสมกับคอนเซปต์ ‘ความเป็นอมตะ’ และ ‘ความไร้หัวใจ’ ก่อนจะส่งไม้ต่อให้อีก 2 ศิลปินตีความ แล้วสร้างผลงานตามความถนัดของแต่ละคน

Sound Art

ศิลปินคนแรกคือวรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย เจ้าของผลงาน ‘ร่างกายอยากปะทะ เพราะรักมันปะทุ’ ผลงานรูปแบบ Visual Performance ที่ปลื้มเรียกว่า “ฟิล์ม” มุ่งฉายความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่รักกันอย่างลึกซึ้งท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองอันดุเดือดเข้มข้น

ศิลปินอีกคนคือปลื้มนั่นเอง เขาสร้าง ‘สวนสิ่งไม่สำคัญ’ (Garden of Insignificant Things) จากเสียงมากมายทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ พวกมันล้วนถูกด้อยค่าในสภาวะดิสโทเปีย และบางอย่างก็กำลังลดเสียงลงเรื่อยๆ จนเสี่ยงต่อการเงียบหายไป

Sound Art

ขอสปอยล์ผลงานทั้ง 3 ชิ้นเพียงเท่านี้ แต่อย่างน้อยบทความนี้ก็จะพาไปสำรวจแนวคิดเบื้องของสวนสิ่งไม่สำคัญ ซึ่งเราตกตะกอนแง่คิดได้ 2 ข้อหลังจากพูดคุยกับปลื้ม

หนึ่งคือการต่อสู้เพื่อธรรมชาติ = การต่อสู้เพื่อมนุษย์

สองคือการช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นหลักการที่ควรยึดถือ เพื่อจะก้าวข้ามยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง

“ประโยค (จากงานเขียน) ที่เอามาเป็นสารตั้งต้นในงานก็คือ ‘จงมีชีวิตอยู่ โคบา จงขอบคุณชีวิต’ เห้ย แล้วเราจะทำยังไงให้รู้สึกขอบคุณชีวิต และมีชีวิตอยู่ได้ในโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งวะ” ปลื้มพูดด้วยน้ำเสียงกระตือรือร้นพร้อมที่จะค้นหาคำตอบ

Sound Art

ต่อสู้เพื่อธรรมชาติ = ต่อสู้เพื่อมนุษย์

“ธรรมชาติถูกมองเป็นทรัพยากรเพื่อเพิ่มกำลังเติบโตทางเศรษฐกิจ วิธีมองแบบนี้ก็กดทับหรือเบียดเบียนคนเหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานร่วมกับสิ่งที่ถูกลืม ผมเลยอยากพูดถึงสวนในฐานะสิ่งที่ถูกมองข้ามไปในกระบวนทัศน์ของโลก ณ ปัจจุบัน”

ความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลงมหาศาล พื้นที่อยู่อาศัยที่ลดลงจากการตัดไม้ทำลายป่า ล้วนเป็นประสบการณ์ร่วมของสิ่งมีชีวิต และตัวอย่างแค่ 2 ข้อนี้ก็มีอิทธิพลมากต่อการเกิดยุคสมัยแห่งความสิ้นหวังแล้ว แต่สวนสิ่งไม่สำคัญนั้นเกิดจากความตั้งใจบ่มเพาะความหวังให้งอกงาม

Sound Art

เสียงในสวนสมมติจึงอาจเปรียบได้กับการส่งสัญญาณออกไปว่า เสียงเหล่านั้นกู่ร้องอย่างไม่ยอมศิโรราบต่อสภาวะดิสโทเปีย โดยเริ่มจากสร้างการตระหนักรู้เป็นวงกว้างว่า เจ้าของเสียงก็มีตัวตน แม้ว่าจะรับรู้ผ่านเสียงและไม่เห็นด้วยตา แต่เท่านั้นก็มากพอแล้ว

“ทุกคนประสบความสิ้นหวังหมด แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ทำให้คนมีชีวิตต่อถูกไหม พอได้มาทำงานนี้ ผมเลยอยากมองในมุมว่า เราก็ต้องมีชีวิตอยู่ต่อ แล้วเราจะทำยังไง

ผมก็เอาประสบการณ์ของตัวเองเนี่ยแหละตั้ง การรู้จักธรรมชาติมันช่วย และคนต่อสู้เพื่อธรรมชาติก็เพื่อคนด้วยไม่ใช่เหรอ”

Sound Art

ปลื้มรวมทั้งเสียงนก เสียงจากสถานีรถไฟฟ้า เสียงบทสนทนา ฯลฯ ด้วยความตั้งใจสื่อสารประเด็นสิ่งแวดล้อม เสริมกลิ่นอายความซ้ำซากจำเจในวิถีชีวิต และสร้างไดอะล็อกให้กับผลงานของวรรจธนภูมิไปพร้อมกัน รอให้ผู้ชมมาถอดเสียงในสวนสิ่งไม่สำคัญ แล้วโยงไปถึงต้นตอของสภาวะดิสโทเปีย นิทรรศการนี้อยากให้ผู้ชมได้ตระหนักรู้ แล้วนำไปสู่การแก้ไข

“อย่างแรกเลยคือใช้เวลาฟังก่อน แล้วใช้เวลาเพื่อตัวเอง หรือเพื่อสิ่งที่พ้นไปจากตัวเราเองบ้าง”

ปลื้มอ้างอิงคำพูดหนึ่งที่เปลี่ยนมุมมองของเราต่อ ‘เสียง’ ไปโดยสิ้นเชิง คำพูดนั้นเป็นของนักประพันธ์ดนตรีชาวญี่ปุ่นชื่อ โทรุ ทาเคมิทสึ (Tōru Takemitsu) ผู้บอกว่า ‘ดนตรีก็เหมือนสวน’ โดยดนตรีอาจไม่ต้องเล่าว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน แต่มันสร้างสภาวะหนึ่งให้คนเข้าไปใช้เวลากับมัน

Sound Art

“ดนตรีต้องใช้เวลาในการศึกษา ธรรมชาติก็ไม่ใช่สิ่งฉาบฉวย การกระทำของสิ่งมีชีวิตเปลี่ยนไปตามสถานที่ เวลา และโอกาส ปรากฏการณ์เสียงก็ผูกกับพฤติกรรม ถ้าคุณไม่ได้มายืน เดิน หรือมีประสบการณ์กับเสียงนั้นอย่างเต็มที่ก็จะพลาดหัวใจของเสียงไป”

นี่คงไม่ต่างจากเรื่องราวการย้ายเข้ามาอาศัยในกรุงเทพฯ ของเด็กชายปลื้มจากปทุมธานีที่ว่า

“โห มันแออัดมาก ตกดึกที่เรานึกว่าจะเงียบ มันก็มีเสียงฮัมของแอร์ เสียงจราจร อยู่ตลอดเวลา แต่ความน่าสนใจก็คือ มันมีธรรมชาติซ่อนอยู่เยอะนะ”

Sound Art

ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

“เรายังอยู่ในสังคมที่บอกเลยว่า คนบางคนตายได้ คนบางคนติดคุกได้ คนบางคนห้ามแตะต้อง ดังนั้น มันก็ยากที่เราจะเผื่อแผ่ความเข้าใจหรือกระทั่งเปลี่ยนโยบายเพื่อสิ่งที่ไม่ใช่คน ในเมื่อคนเรายังไม่เท่ากันเลย” นี่คือคำพูดจากเพื่อนของปลื้มที่เขาเลือกมาบอกต่อ

ยิ่งไปกว่านั้น แนวคิดแบบทุนนิยมยังปัดตกประเด็นดังกล่าวจากขอบเขตความสนใจของผู้คน โดยเฉพาะเมื่อธรรมชาติมาทีหลังการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจแทบจะเสมอ

หากคิดว่าศิลปินตรงหน้าเราถูกสภาวะดิสโทเปียกลืนกินเสียแล้ว ขอบอกให้สบายใจว่าไม่ใช่แน่นอน สารที่ปลื้มอยากส่งต่อผ่านผลงานไม่ใช่ความหดหู่ทั้งหมดที่กล่าวมาตลอดบทความ ไม่ใช่การพูดซ้ำย้ำเตือนว่าเสียงในสวนของเขาไม่สำคัญ แต่เป็นการชวนรวมตัวกันหาทางแก้ไขต่างหาก

Sound Art

“มันอยู่ที่มุมมอง ปัญหาทำให้คนมาอยู่ด้วยกันยังไง สร้างความเข้าอกเข้าใจคนอื่นยังไง ในความยากลำบาก เราจะสร้างความสัมพันธ์ที่แนบชิดมากขึ้นกับธรรมชาติได้ยังไงบ้าง เราจะแชร์สิ่งที่ทำให้เรามีความสุขกับเพื่อนมนุษย์หรือสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ได้ยังไงบ้าง นั่นคือสิ่งที่ผมสนใจ

อีกอย่างคือเราต้องหันมามองคนที่ลงมือลงแรงในการขับเคลื่อน มองความพยายามของคนเหล่านั้นที่ทำงานกันเป็นเครือข่าย ถ้าเรามองตรงนี้ เราก็จะไม่รู้สึกสิ้นหวัง”

และไม่เฉพาะงานของปลื้ม แต่งานของศิลปินทั้ง 3 คนใน Procession of Dystopia ล้วนเกี่ยวกับบทบาทสำคัญของความรัก ไม่ว่าจะเป็นรักที่มีต่อตัวเอง คนข้างกาย หรือสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ก็ตาม

Sound Art

ก่อนจบบทสนทนา เราถือโอกาสถามถึงอนาคตสักหน่อย ในฐานะคนที่สนใจเรื่องเสียงจะอยากได้ยินอะไรในอีก 5 ปีข้างหน้า

“เอาเป็นได้ยินน้อยลงแล้วกัน เสียงดังของการจราจร เสียงพวกนี้สะท้อนว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองโตเดี่ยว ความเจริญมากระจุก คนก็เข้ามาทำงาน เราจะโทษคนว่าเสียงดังอย่างเดียวก็ไม่แฟร์ ดังนั้น ถ้าในอีก 5 ปีมันเงียบลงก็หมายความว่าความเจริญกระจายไปที่อื่น มันก็ดี”

ถ้าอนาคตเป็นไปตามที่ปลื้มคาดหวัง เราอาจได้ยินเสียงธรรมชาติมากขึ้น เสียงของผู้คนที่ถูกมองข้ามก็ด้วย

แล้วคุณล่ะ อยากได้ยินเสียงอะไร?

เชิญชม อ่าน และฟัง นิทรรศการ ‘Procession of Dystopia’ ระหว่างวันที่ 2 – 14 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร งานนี้จัดเพียง 2 สัปดาห์นะ!

Tags: