About
ART+CULTURE

บึงแห่งวัย

‘สะพานข้ามบึงบัว’ ความต่างระหว่างวัยที่ ‘ปูนปั้น – กมลลักษณ์’ สร้างสรรค์กับป้า 7 คน

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ปูนปั้น – กมลลักษณ์ สุขชัย ศิลปินช่างภาพเป็นที่รู้จักจากการสร้างสรรค์ภาพถ่ายผสมคอลลาจ คราวนี้เธอหันมาสร้างงานศิลปะจัดวาง ทำร่วมกับป้าๆ ทั้ง 7 คนของเธอ ในผลงานชื่อ ‘สะพานข้ามบึงบัว’ จัดแสดงในนิทรรศการ “สูงวัย…ขยาย (ความ)” เพื่อนำเสนอความต่างระหว่างคน 2 Gen ที่กลับบ้านมาใช้เวลาร่วมกัน

ถ้าชอบเดินชมนิทรรศการศิลปะภาพถ่ายกันมาบ้าง เราเชื่อว่าทั้งชื่อเสียงและผลงานของปูนปั้นน่าจะเป็นที่คุ้นตาใครหลายๆ คน เธอคือช่างภาพไฟแรง ซึ่งเคยฝากผลงานภาพถ่ายคอลลาจร่วมสมัยในชุด ‘RED LOTUS’ จัดแสดงใน Fotografiemuseum Amsterdam at KühlhausBerli และในอีกหลายประเทศ ผลงานชุดที่ 2 ‘Blue Fanstasy’ เคยจัดแสดงที่ HOP - Photography โดยทั้ง 2 ผลงานต่างใช้ ‘ดอกบัว’ ดอกไม้ที่เธอชอบมาเป็นสัญลักษณ์ในการให้ความหมายที่ต่างกันออกไป และผูกโยงไปกับเรื่องราวในครอบครัวของเธอเอง

สำหรับนิทรรศการ “สูงวัย…ขยาย (ความ)” ซึ่งจัดขึ้นที่หอศิลปกรุงเทพฯ ในช่วงนี้ เล่าบอกสภาวะความเป็นอยู่ของสังคมสูงวัยในประเทศไทยผ่านการตีความจากศิลปินทั้ง 12 คน ปูนปั้นก็ไม่ทิ้งสไตล์ความเป็นเธอ ด้วยการนำประสบการณ์การเติบโตมากับป้าๆ ทั้ง 7 คน ถ่ายทอดสู่ผลงานศิลปะจัดตั้ง ‘สะพานข้ามบึงบัว’ ครั้งนี้เธอชวนป้าๆ ของเธอมาร่วมสร้างสรรค์ด้วย ดอกบัวในครั้งนี้จะมีความหมายอย่างไร มาฟังเบื้องหลังผลงานของปูนปั้นกันดีกว่า

นิทรรศการสูงวัย

นิทรรศการสูงวัย

ปูนปั้นกับป้าทั้ง 7

ก่อนพูดถึงผลงานชิ้นล่าสุด เราอยากพาทุกคนมารู้จักตัวตนของเธอกันก่อน ปูนปั้นจบด้านการออกแบบภาพยนตร์ ก่อนจะเรียนต่อปริญญาโทด้านทัศนศิลป์

เธอเติบโตมากับครอบครัวที่มีคุณป้า 7 คนคอยดูแล การได้รับการเลี้ยงดูท่ามกลางผู้หญิง ทำให้ศิลปินตั้งคำถามถึงบทบาท ทัศนคติ และการถูกกดขี่สตรีเพศในบริบทสังคมไทย จนเกิดเป็นผลงานศิลปะภาพถ่ายคอลลาจร่วมสมัยถึง 2 ชุดผลงาน เธอหยิบตำนานพื้นบ้าน ประสบการณ์ชีวิตส่วนตัว ดอกบัว และป้าๆ มาช่วยเป็นแบบ จนกลายเป็นงานสไตล์ของปูนปั้น

หากมองจากผลงานที่ผ่านมา คงสังเกตได้ว่าประเด็นที่ปูนปั้นนำเสนอ มีส่วนผสมที่เกิดจาก ‘การคิดเห็นต่างกัน’ ระหว่างเธอกับป้าๆ คงเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่เกิดมาในสภาพสังคมที่ต่างกัน ทว่า นี่คือคนในครอบครัว การเห็นต่างก็ดูจะเป็นปัญหาสำคัญ เมื่อเธอได้รับโอกาสจากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ให้เข้าร่วมจัดแสดงผลงานในนิทรรศการ สูงวัย…ขยาย (ความ) ถือเป็นโอกาสที่เธอจะพูดถึงช่องว่างระหว่างคนต่างวัยผ่าน ‘สะพานข้ามบึงบัว’ ศิลปะแบบจัดวางในครั้งนี้

นิทรรศการสูงวัย

สะพานข้ามบึงบัว

อย่างที่เล่าไปตอนต้นว่า ทุกผลงานศิลปินจะหยิบดอกบัวมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสาร สำหรับผลงานศิลปะจัดวางครั้งนี้ ไอเดียตั้งต้นมาจากตอนที่ศิลปินเดินข้ามสะพานแล้วเกิดความรู้สึกเหมือนได้เดินข้ามจากปัจจุบันไปสู่อนาคต เธอจึงนิยามดอกบัวในครั้งนี้ ให้อยู่ในรูปแบบสะพานข้ามบึงบัว เพื่อเล่าถึงการที่คนในครอบครัวคอยให้กำลังใจและซัพพอร์ตการทำงานกระทั่งศิลปินสามารถเดินข้ามไปยังอีกฝั่งของสะพานได้สำเร็จ

นิทรรศการสูงวัย

ปูนปั้นแปลงความหมายที่ว่าออกมาเป็นรูปธรรมด้วยการชวนป้าๆ ของเธอมาสร้างสรรค์ร่วมกัน เธอนึกย้อนไปถึงตอนเด็ก อะไรคือสิ่งที่อยู่ในความทรงจำ คำตอบคือ ‘ฟูก’ ตัดเย็บโดยคุณย่าที่เธอกับป้าๆ ใช้เป็นที่นอนและนั่งดูหนังในห้องส่วนกลางด้วยกัน

นิทรรศการสูงวัย

“การทำฟูกเป็นงานถนัดของครอบครัวเรา เรานึกถึงสำนวน ล้มบนฟูก เราก็เลยอยากให้ที่บ้านทำฟูกให้เราแบบออกมาเป็นฟูกจริงๆ ที่ให้ความหมายคนละแบบกับในสำนวน”

นิทรรศการสูงวัย

ทุกวันอาทิตย์ เหล่าป้าทั้ง 7 คนและปูนปั้นจะขับรถจากบ้านของตนมารวมตัวกัน เพื่อรื้อฟื้นการเย็บตัด เพราะห่างมือกันมานาน รวมถึงการเย็บใบบัว ออกแบบลวดลาย โดยมีปูนปั้นช่วยยัดนุ่น และคอยเพนต์สีชิ้นงาน แล้วคอยเก็บเศษผ้ามาทำเป็นงานคอลลาจที่เธอชอบทำเสมอมา

นิทรรศการสูงวัย

นิทรรศการสูงวัย

เห็นต่างไม่เป็นไร

“ป้าๆ ถนัดงานหัตถกรรม แต่ก็มีป้าที่ทำงานศิลปะไม่ค่อยได้ แต่เป็นสายการตลาดของบ้าน พอเรามาทำงานด้วยกัน แต่ละคนมีแนวคิดเป็นของตนเอง การตัดเย็บตะเข็บฟูก เขาอธิบายยังไง เราก็ไม่เข้าใจ (หัวเราะ) หรือเขาจะทำใบบัวออกมาเนี้ยบ สวยงาม แต่เรามีความรู้สึกอยากให้มันขาดจัง เขาก็จะไม่โอเค จนเรากับพี่สาวจะพูดกันว่า ปล่อยให้แกทำไปก่อน ถึงเวลาคอยเปลี่ยน”

นิทรรศการสูงวัย

ปูนปั้นแชร์ให้เราฟังถึงตอนทำสะพานข้ามบึงบัวร่วมกับป้าๆ ที่ต่างต้องปรับจูนเข้าหากัน เธอชี้ไปที่หนอนตรงใบบัว “เขาพูดว่าใบบัวมันมีรอยขาดใช่ไหม แล้วก็นั่งทำหนอนให้เรา ที่แปลว่า เพราะหนอนมันกัดไง ใบบัวเลยขาด (หัวเราะ) บางงานเราก็ต้องทำให้เขาเห็นก่อน เช่น โทนสีชมพูเหลืองที่เห็นนี้ เขาบอกโทนมันแปลกๆ เขาไม่โอเค แต่พอเราทำเสร็จ เขาก็ชมว่า เออ สวยดีนะ”

อีกเรื่องที่เธอเล่าอย่างเอ็นดู คือการจะมารวมตัวกันก็ไม่ได้หมายความว่าจะเริ่มสร้างชิ้นงานได้ทันที เพราะถ้าอารมณ์ยังไม่มาก็ต้องรอไปก่อนนะ “คือบ้านนี้จะอารมณ์ศิลปินอะไรขนาดนั้น” การทำงานด้วยกัน เธอสารภาพว่า สนุกแต่วุ่นวายมาก เพราะป้าเธอมีวิธีการทำฟูกที่เรียกว่าสไตล์ใครสไตล์มัน

ถ้ามองให้ลึกลงไปอีก สไตล์ที่ว่าอาจหมายถึงแนวคิดที่ไม่ตรงกันด้วย “มันไม่ได้โอเคทุกอย่างหรอกนะ มีหลายเรื่องที่คิดเห็นแบบนี้ เราจะโกรธแล้วจะฟาดฟันกับเพื่อนในทวิตเตอร์บ้าง แต่พอเป็นคนที่บ้าน เขาคือคนในครอบครัว เราอาจจะต้องลดทิฐิตัวเองลง เพราะเรากับป้าๆ โตมาคนละแบบ มันก็ยากนะ ดังนั้นเราว่ามันเป็นเรื่องของการให้พื้นที่ส่วนตัวของอุดมการณ์ที่ไม่เหมือนกันมากกว่า แล้วหาพื้นที่ตรงกลางที่จะเป็นทางออกเพื่ออยู่ด้วยกัน” ถ้านึกย้อนไปตั้งแต่ตอนเริ่มทำฟูก ไปจนถึงการลงสี ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายค่อยๆ เรียนรู้มุมมองของกันและกันแล้วล่ะ

นิทรรศการสูงวัย

ศิลปะที่พาศิลปินและป้าๆ กลับบ้านมาพบกัน

สะพานข้ามบึงบัวคงจะเป็นงานชิ้นแรกที่เธอสร้างสรรค์ออกมาในรูปแบบศิลปะจัดวาง ในคำอธิบายงานเธอเขียนลงไปด้วยว่า ‘เป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างความทรงจำและจินตนาการ’ เพราะศิลปินใช้โทนสีชมพูเหลืองแทนค่าสิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาเพื่อซ่อนทับความทรงจำ เสมือนการจำลองพื้นที่ห้องส่วนกลางของบ้านที่เธอและเหล่าคุณป้าทั้ง 7 เคยนำฟูกของคุณย่ามานอนและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ส่วนสีเงินแทนการพูดถึงพื้นที่ในอนาคต โดยเธอใช้สายชำระมาดัดแปลงให้เป็นก้านดอกบัว

นิทรรศการสูงวัย

หากขาดป้าของเธอไปก็คงไม่เกิดงานชิ้นนี้ ตลอดเวลาที่ได้นั่งทำด้วยกัน สะพานข้ามบึงบัวเรียกปูนปั้นและป้าทั้ง 7 คน ได้กลับบ้านมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง

นิทรรศการสูงวัย

“ป้าๆ แต่ละคนเขามีที่อยู่ของตนเอง ต่างคนต่างย้ายไปมีครอบครัว บางครั้งเขาเหงา เครียด พอได้กลับบ้านมาอยู่กับคนที่คุ้นเคยบ่อยๆ แกก็ดีขึ้น งานชิ้นนี้ทำให้เราได้กลับมาใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันอีกครั้งเหมือนอย่างที่เคยเป็น”

นิทรรศการสูงวัย

ดังนั้นเธอเลยอยากให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมไปกับผลงานครั้งนี้ด้วย “เราอยากให้คนรู้สึกว่า เราเอาฟูกมาทำสะพานยังไงวะ แล้วให้พวกเขาลองเดินข้ามสะพานไปอีกฝั่ง เพราะสะพานแห่งนี้สร้างจากความใส่ใจของคนในครอบครัว ทุกคนสามารถพักได้ ถ้าอยากนอน อยากนั่งเล่นก็ทำเลย เหมือนใช้เวลาอยู่ในบ้าน แค่นี้เราก็พอใจแล้ว” เธอแอบกระซิบว่า ก่อนเดินข้ามสะพาน รบกวนถอดรองเท้าด้วยนะ (หัวเราะ)

นิทรรศการสูงวัย

หากใครอยากมาเดินดูผลงานหรือนิทรรศการ “สูงวัย…(ขยาย) ความ” ด้วยตาตัวเอง เปิดให้เข้าชมแล้วตั้งแต่วันนี้ – 26 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ส่วนใครที่อยากเป็นเอฟซีศิลปินคนนี้ กดติดตามได้เลยทาง Instagram : kamonlak.sukchai

Tags: