NOMADIC ECOLOGIES
มองวิธีคิด ตัวตนของ ‘อาราไมยานี’ ผ่าน Nomadic Ecologies ที่ใช้ศิลปะเชื่อมผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม
- ‘อาราไมยานี’ ศิลปินและนักเคลื่อนไหวหญิงคนสำคัญชาวอินโดโนเซียที่สร้างสรรค์ศิลปะเพื่อต่อสู้กับประเด็นการเมือง ทุนนิยม สิทธิสตรีรวมถึงการมุ่งเน้นปัญหาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- The Flag Project เป็นโปรเจ็กต์ที่ศิลปินริเริ่มตั้งแต่ปี 2006 โดยมุ่งเน้นทำงานกับชุมชนเพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ทุกคนต้องเผชิญ อีกทั้งยังสนับสนุนอัตลักษณ์อันโดดเด่นของชุมชนนั้นให้ผู้คนได้รู้จัก
- เธอนำโครงการ Nomadic Ecologies มาจัดแสดงตามคำเชิญของ WarinLab Contemporary เพื่อเปิดประตูความเข้าใจระหว่างคนไทยต่างพื้นที่บนความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมไปถึงการเคารพต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยศิลปินทำงานสร้างสรรค์ร่วมกับชุมชนมุสลิมในประเทศไทย
การตั้งคำถาม การพูดคุย...สองตัวแปรสำคัญที่เชื่อมโยงผู้คนต่างชาติพันธ์ุ ต่างสภาพแวดล้อมให้เกิดความปรองดองกันได้ แม้เราจะมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันก็ตาม ศิลปะคือปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มการตระหนักรู้และขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ อย่างน้อยศิลปินสาวชาวอินโดนีเซียคนที่เรากำลังจะเล่าถึง...ก็เชื่อแบบนั้น
Arahmaiani Faisal หรือ อาราไมยานี คือศิลปินและนักเคลื่อนไหวคนสำคัญชาวอินโดนีเซีย ผู้ถ่ายทอดศิลปะในรูปแบบ Performance ผลงานของเธอมุ่งวิพากษ์วิจารณ์ความรุนแรงทางการเมือง ทุนนิยม บทบาทเพศหญิงโดยเฉพาะสังคมอิสลามในอินโดนีเซีย นอกจากนี้เธอยังสร้างสรรค์ศิลปะร่วมกับชุมชนในประเด็นสิ่งแวดล้อมและปัญหาความขัดแย้งที่ส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนนั้น
ในครั้งนี้ เธอได้นำโครงการ Nomadic Ecologies มาจัดแสดงตามคำเชิญของ Warin Lab Contemporary กรุงเทพฯ โดยมี Curator อย่าง Loredana Pazzini-Paracciani คอยช่วยดูแลตลอดงาน
• the Beauty is…
‘ความงามคืออะไร’ เราอาจได้ยินประโยคนี้อยู่หลายหน ด้วยโลกสมัยนี้ที่แนวคิดเก่าเริ่มสั่นคลอน ผู้คนเริ่มตระหนักรู้และตั้งคำถามถึงกฎเกณฑ์ของสิ่งที่เคยมี หรือที่กำลังชี้นำความคิดอยู่ อาราไมยานีรู้ว่าศิลปะเป็นทั้งความงามและสุนทรีอย่างหนึ่งที่มีกรอบกำหนด แต่ถ้าเธอจะสร้างสรรค์สิ่งที่ต่างไปจากเดิม ศิลปะของเธอจะเรียกว่า เป็นความงามได้อยู่ไหม
“ฉันอยากสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อสื่อสารมุมมองในแบบของฉันเอง โดยปราศจากการยึดติดในเรื่องความงาม และความงามสามารถเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับมุมมองคน” สำหรับเธอ ความงามคือความจริงที่สะท้อนแง่มุมชีวิต ซึ่งความคิดนี้เองที่กลายเป็นจุดตั้งต้นในการทำงานศิลปะของเธอ
• The Process matters
จากที่เราได้พูดคุยกัน เธอมักสร้างสรรค์งานศิลปะจากการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นไปจนถึงการค้นหาคำตอบความหมายของชีวิต
เธออาจเป็นศิลปินที่แตกต่างไปจากศิลปินคนอื่นๆ เพราะศิลปะที่เธอทำอยู่นั้นมุ่งเน้นสร้างสรรค์ผลงานด้วยการลงพื้นที่และทำงานร่วมกับคนในชุมชนนั้นๆ มากกว่าชิ้นงานที่จัดตั้ง เธอเน้นให้ความสำคัญต่อเนื้อหาและกระบวนการค้นหาระหว่างลงพื้นที่มากกว่าชิ้นงานที่เธอทำขึ้นเพื่อแสดงโชว์ในนิทรรศการ
เธออธิบายต่อถึงการเข้าไปในชุมชนว่า เธอเข้าไปพูดคุยถึงปัญหาต่างๆ ที่พวกเขาเผชิญ เรียนรู้วัฒนธรรม อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชนนั้นๆ มาสร้างสรรค์ชิ้นงาน เพื่อมุ่งนำเสนอภาพสะท้อนชีวิตและผลกระทบของชุมชนและผลงานที่ว่าก็คือ Flag Project ที่จะเล่าให้ฟัง
• Nomadic Ecologies
จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ ศิลปินต้องการสร้างความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน สังคม ที่สำคัญคือการเปิดประตูความเข้าใจระหว่างคนไทยต่างพื้นที่บนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่จะทำให้ผู้คนอยู่ร่วมกันได้ด้วยความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของธรรมชาติและมนุษยชาติ ในอีกแง่มุมหนึ่งก็เป็นการสะท้อนชีวิตเร่ร่อนของอาราไมยานีเองด้วย เพราะที่ผ่านมาเธออยู่ร่วมกับชุมชนตลอดชีวิตการทำงานศิลปะมากกว่า 40 ปี
ในครั้งนี้ เธอมาปักหลักอยู่ที่จังหวัดปัตตานี ถือเป็นพื้นที่เปราะบางของไทย อาราไมยานีบอกว่า เธอได้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ที่ต่อเนื่องมาจากศิลปะชุด Flag Project เป็นโครงการศิลปะระยะยาวที่ริเริ่มในปี 2006 และ Memory of Nature ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งมีประเด็นหลักด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม
• Flag Project Thailand
เธอได้พำนักที่ Patani Artspace เพื่อใช้เวลาช่วงระหว่างนั้นเรียนรู้และเพื่อสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับชุมชนมุสลิมในประเทศไทย
ภายในงานมีธงผืนใหญ่ที่ถูกทำขึ้นใหม่ 11 ผืน แต่ละผืนมีคำที่มีความหมาย 1 คำถูกเย็บติดไว้ เป็นคำที่ชุมชนเลือกขึ้นมา สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะสังคม สิ่งแวดล้อม และความท้าทายด้านศาสนาที่ชุมชนกำลังเผชิญอยู่
คำที่เย็บบนธงใน Flag Project Thailand ประกอบไปด้วยคำที่มีความหมายเป็นภาษาไทย ได้แก่ ปาตานี รุ่งเรือง ทายาท พิทักษ์ กล้าหาญ ธรรมชาติ สันติ ยุติธรรม น้ำ ศรัทธา และปกป้อง แต่ละคำจะปรากฎออกมาใช้รูปตัวอักษร 3 ภาษา คือภาษายาวี ภาษาไทย และภาษามาเลย์ และจากจำนวนธงทั้ง 11 ผืนก็ยังก่อเกิดผลงานวิดีโอชิ้นใหม่ในชื่อ Ecology of Peace เธอถ่ายทำในหลายพื้นที่ของจังหวัดปัตตานี ไม่ว่าจะเป็น ชายหาด ทุ่งนา สวนมะพร้าว โดยจะแสดงให้เห็นถึงความงดงามของพื้นที่และวัฒนธรรมนั้นๆ แม้ว่าจะเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งก็ตาม
สำหรับเรา โปรเจ็กต์นี้ช่วยลบภาพจำความรุนแรงตามที่หลายคนอาจเคยพบเห็น ด้วยการหยิบสิ่งดีๆ ของคนในชุมชน บางอย่างไม่เคยเผยที่ไหน แต่เราก็จะได้รับชมและทำความเข้าใจชีวิตพวกเขามากขึ้นด้วย
• Memory of Nature
อีกส่วนของนิทรรศการ คือผลงาน Memory of Nature ที่มีความสอดคล้องกับ Flag Project Thailand โดยผลงานชิ้นนี้ประกอบไปด้วยกระบะดินที่เพาะเมล็ดพันธุ์พืช ซึ่งหากสังเกตดีๆ รูปทรงดินจะคล้ายคลึงกับดอกไม้ หรือรูปทรงมันดาลา (Mandala) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการเคารพต่อธรรมชาติ และการเห็นคุณค่าของผืนดิน
เราถือว่านี่เป็นไฮไลต์พิเศษ เพราะศิลปินโยนเมล็ดพันธุ์พืชลงไปเพื่อให้มันเติบโตตลอดช่วงระยะเวลาของนิทรรศการ ในระหว่างนั้นผู้ชมเองสามารถหยิบเมล็ดพันธุ์พืชหว่านลงไปในกระบะดินได้เช่นกัน การมีส่วนร่วมนี้ช่วยให้ผู้ชมเล็งเห็นพลังแห่งธรรมชาติและตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตจิตใจของเรา
เธอต้องการชี้ให้เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่จะพาให้ผู้คนได้มองเห็นปัญหาร่วมกัน อีกทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมยังเป็นตัวกลางที่ทำให้ผู้คนเข้ามาร่วมพูดคุยถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การเมือง เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิของผู้หญิง เป็นต้น
จากที่เราได้ดูงานของเธอ เรารับรู้ได้ว่าภายใต้ผลงาน ศิลปินต้องการชี้ปัญหาต่างๆ ให้ผู้คนได้ลองฉุกคิด อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญก็คือ เธอพยายามค้นหาความหมายของชีวิตผ่านศิลปะของเธอมาตลอด เราเลยถามเธอเป็นคำถามสุดท้ายว่า ในวันนี้ เธอพบคำตอบแล้วหรือยัง
อาราไมยานีหัวเราะแล้วครุ่นคิดชั่วขณะ เธอบอกว่า มนุษย์ ควรมีความตระหนักรู้อยู่เสมอ ไม่ว่าตนเองกำลังโกรธ มีความสุข หรือกำลังทำอะไรอยู่ จะต้องควบคุมจิตใจของตนเองให้ได้ เพราะการตระหนักรู้คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น และยังส่งผลต่อการสร้างความเข้าใจให้กันและกันของสังคมอีกด้วย
สำหรับใครที่สนใจหรือถ้ามีเวลา เราอยากเชิญชวนทุกคนมาชมนิทรรศการ ในโครงงาน Nomadic Ecologies ของเธอ เพราะงานของเธอทำให้เราได้เห็นความเป็นอยู่ของชีวิตผู้คนในชุมชนในบริบทต่างๆ ของสังคมได้มากขึ้น
Nomadic Ecologies จัดแสดงที่ WarinLab Contemporay
ในโครงการ O.P Garden, เจริญกรุง 36
วันนี้ – 14 มกราคม 2566
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ FB : WarinLab