About
ART+CULTURE

Kenduri Seni Patani

‘เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ’ นักเพาะเมล็ดพันธุ์ศิลปินปัตตานี กับเทศกาลศิลปะนานาชาติที่มองคนเท่ากัน

เรื่อง สุทธิดา หทัยศรัทธา ภาพ Annetology Date 29-09-2024 | View 563
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ถอดรหัสความคิด ‘เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ’ หรือ ‘อาจารย์เจ๊ะ’ แห่ง Patani Artspace ผู้เชื่อว่าศิลปะ คือ “Hard Power” และถ้าอยากให้ศิลปะงอกงามต้องเริ่มต้นจากการ “สร้างคน” ก่อน พร้อมถอดคอนเซปต์ ‘Kenduri Seni Patani 2024’ เทศกาลศิลปะนานาชาติที่มีจิตวิญญาณการร่วมด้วยช่วยกันแบบชาวมลายู

นี่คือการมาปัตตานีครั้งแรกของเรา

และเป็นครั้งแรกที่ประจวบเหมาะกับช่วงที่อาร์ตซีนที่นี่กำลังเคลื่อนไหวกันแบบคึกคักสุดๆ พอดี เพราะไม่ว่าจะนักออกแบบ ศิลปิน สถาปนิก หรือนักศึกษา ต่างก็กำลังพยายามผลักดันความ ‘มีของ’ ของจังหวัดเล็กๆ นี้ให้โลกรู้ จนเรียกได้ว่าปัตตานีนี่แหละ ฮับสำคัญของกลุ่มคนสร้างสรรค์ในภาคใต้ขณะนี้

‘ผศ. เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ’ หรือที่เราจะเรียกกันต่อไปนี้ว่า ‘อาจารย์เจ๊ะ’ ก็เป็นหนึ่งในคนที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ชื่อนี้นับเป็นคีย์แมนสำคัญเลย สำหรับคนที่อยากจะกระโจนเข้าสู่แหล่งความรู้ศิลปะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเข้าถึงการใช้สุนทรียะสื่อสารความจริง

ในฐานะศิลปิน อาจารย์ ที่เป็นทั้งผู้ก่อตั้ง ‘Patani Artspace’ อาร์ตสเปซแห่งเเเรกใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และล่าสุดกับการจัดงานแสดงศิลปะร่วมสมัย ‘Kenduri Seni Patani 2024’ เทศกาลศิลปะนานาชาติสเกลยักษ์ ที่ต่างชาติถึงกับต้องบุ๊กกิ้งไฟลต์ จองโรงแรมกันมาดู อาจารย์เจ๊ะจะมาแชร์แนวคิดการ “สร้างคน” กระบวนการที่จะทำให้วงการศิลปะปัตตานีแข็งแรงและเติบโต

รวมไปถึงถอดคอนเซปต์เทศกาลศิลปะที่ไม่ได้ทำมาเพื่อความเก๋เท่านั้น แต่เป็นพื้นที่ให้ชาวนูซันตาราได้มาปล่อยของกันแบบจริงจัง แถมทำให้คนในพื้นที่รู้สึกใกล้ชิดกับศิลปะมากขึ้นอีกด้วย

‘Kenduri’ – Come Together

ศิลปะจากปีกแมลงสะท้อนความฝันที่ไม่มีวันได้โบยบินของเด็กๆ ในสถานสงเคราะห์
(‘The body and the disintegration of the worthless soul’, พิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น)

ปัตตานี

ชุดชั้นในถูกถักปะซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อถ่ายทอดปัญหาผู้หญิงและความรุนแรงในครอบครัว
(‘Strip off the shell’, โสภิดา รัตตะ)

ปัตตานี

Installation ติดตั้งในโกดัง Patex เก่า สะท้อนชีวิตชนชั้นแรงงานในพื้นที่
(‘The scent of rubber farmers’, อิซูวัน ชาลี)

ปัตตานี

ศิลปะจำลองปัญหาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณเทือกเขาบูโด และความเจ็บปวดของชาวบ้าน
(‘Bunda (Mother)’, มูฮัมหมัดซุรียี มะซู)

ปัตตานี

เหล่านี้เป็นเพียง 4 ตัวอย่างของงานศิลปะในเทศกาล Kenduri Seni Patani ที่เราหยิบยกมาแชร์ จากกว่า 100 ศิลปิน และ 9 พาวิลเลียนจัดแสดงงาน สเกลที่ใหญ่แบบควรใช้เวลาเดินทั้งสัปดาห์ เจาะลึกคนดูจนไปถึงแก่น ไม่มีงานไหนที่ดูแล้วไม่หยุดคิดตาม บางงานก็ทำเอาถึงกับน้ำตาซึมเลยทีเดียว

ปัตตานี

ปัตตานี

เชื่อว่าใครมีโอกาสได้ไปชมด้วยตาตัวเองคงรู้สึกไม่ต่างกันว่า ‘มีงานแบบนี้ซ่อนอยู่ในปัตตานีด้วยเหรอ?’ และอาจจะยิ่งทึ่งไปกว่านั้นเมื่อรู้ว่างานนี้จัดขึ้นโดยคนกลุ่มเล็กๆ จาก Patani Artspace คณาจารย์และนักศึกษา ในสาขาวิชาทัศนศิลป์ มอ.ปัตตานี ชาวบ้านในพื้นที่ บวกกับศิลปินไทยและต่างชาติที่มาร่วมด้วยช่วยกันแบบไม่มี Artist Fee หรือค่าตั๋วเครื่องบินใดๆ ทั้งสิ้น! มีเพียงใจที่รักในงานศิลปะ และความตั้งใจที่จะถ่ายทอดเรื่องราวที่สะท้อนสังคมเท่านั้นเอง

ปัตตานี

อาจารย์เจ๊ะเล่าว่า คีย์เวิร์ดสำคัญที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ และประสบความสำเร็จจนกลายเป็น “A Must” ที่ชาวมาเลเซียต้องจองตั๋วมาดูทุกปี ถูกรวมไว้อยู่ในคำว่า ‘Kenduri’ แล้ว

“มันคือคำที่คนในแหลมมลายูใช้กัน แปลว่า เทศกาลหรืองานบุญ สมมติว่าเรามีงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ Kenduri คือการที่คนนี้มีมะพร้าว คนนี้มีข้าวสาร ก็นำมาแบ่งปันกัน มาช่วยเหลือกัน เลยกลายมาเป็นคอนเซปต์ที่เราใช้ในเทศกาล เพราะเราไม่ได้มีบัดเจ็ตเยอะ ถ้าอยากจะทำให้กิจกรรมเกิดขึ้นได้ ต้องการอาศัยคอนเนกชันและการร่วมมือกัน”

ปัตตานี

ด้วยความที่ Kenduri เป็นวิถีชีวิตของคนที่นี่อยู่แล้ว ส่วน ‘Seni’ ก็แปลว่า ศิลปะ คอนเซปต์นี้เลยทำให้คนธรรมดาทั่วไปรู้สึกใกล้ชิดกับศิลปะมากขึ้น อาจารย์เจ๊ะอธิบายให้เห็นภาพว่า “ปกติถ้ามองในมิติของวงการศิลปะ คนทั่วไปมักจะรู้สึกว่าเข้าถึงยาก เป็นของสูงส่ง แต่สิ่งที่เราพยายามทำคือดึงลงมาให้ทุกคนสัมผัสอย่างเท่าเทียมกัน”

จากที่เคยโดนตั้งคำถามจากคนในพื้นที่ว่า สร้างอาร์ตสเปซไปทำไม? ทำยังไง? ทำแล้วได้อะไร? และถูกชาวบ้านเรียกอย่างห่างเหินว่าเป็น “คนศิลปะ” การมาร่วมด้วยช่วยกันสร้างเทศกาลนี้ แม้จะเป็นแค่เเอ็กชันเล็กๆ น้อยๆ อย่างช่วยกันมาสร้างภาพพิมพ์ด้วยกระบวนการ Wood Cut ผ่านการเดินเหยียบแม่พิมพ์ร่วมกัน ทำอาหาร หรือดูแลความเรียบร้อยของพื้นที่ ก็ทำให้ได้รับคำตอบด้วยตัวเองผ่านการทำกิจกรรม จนวันนี้คนในพื้นที่ยินดีที่จะเรียกพวกเขาว่า “ศิลปิน” แล้ว

เรียกได้ว่าเทศกาลนี้ไม่ได้แค่พาให้ศิลปินมากความสามารถจากทั่วโลกมาเจอกัน แต่ฟังก์ชันของมันยังเชื่อมโยงศิลปะเข้ากับชุมชนและวัฒนธรรมมลายูในทุกๆ มิติ

ปัตตานี

Planting Seeds

Kenduri Seni Patani ไม่ละทิ้งใครไว้ข้างหลังแม้แต่น้อย เพราะหัวใจสำคัญที่อาจารย์เจ๊ะเชื่อว่าจะทำให้วงการนี้เติบโตไปอย่างเเข็งแรงคือ “คน” สำหรับเขาแล้ว คนมีมูลค่าและคุณค่ามากที่สุด “ถ้าเราสร้างคน คนก็จะไปสร้างสิ่งอื่นๆ ได้อีกมากมายเลย สิ่งนี้สําคัญมากๆ เป็นเหตุผลว่าทําไมเราถึงทำได้ ทั้งที่ไม่ได้มีทุนใหญ่”

ยังไงก็ตาม คนปัตตานีที่ยึดอาชีพศิลปินในตอนนี้ บอกเลยว่ามีไม่มาก ถึงขนาดว่าคณะศิลปกรรมศาสตร์รุ่นหนึ่งมีคนเรียนจบจริงๆ แค่ 2 คนเท่านั้น เลยต้องมีรากฐานการซัปพอร์ตที่ดีจากคอมมูนิตีอย่าง Patani Artspace ซึ่งเป็นเหมือนอะคาเดมีเล็กๆ ที่คอยบ่มเพาะศิลปินจำนวน “น้อย” แต่คุณภาพ “แน่น” ออกสู่วงการ

ปัตตานี

ปัตตานี

และเช็กลิสต์คุณสมบัติที่ศิลปิน “คุณภาพแน่น” ที่ว่าควรจะมี คือ 1. Quality ทำงานศิลปะที่ได้คุณภาพ ทั้งในเชิงแมตทีเรียลเเละประเด็นที่ต้องการจะสื่อสาร 2. Professional มีความเป็นมืออาชีพในการทำงาน และสุดท้าย 3. Standard ทำงานที่ได้มาตรฐานสากล สามารถอยู่บนเวทีโลกได้แบบไม่เคอะเขิน “เพราะ 3 ข้อนี้ต้องเกิดจากความศรัทธา และรักในสิ่งที่ทำจริงๆ” อาจารย์เจ๊ะบอก

ปัตตานี

ปัตตานี

ปัตตานี

ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถปฏิเสธเจตจำนงข้างต้นได้เลยหากได้มาชมงานของศิลปินชาวปัตตานี ในฐานะคนที่แวะเวียนมา เรามองเห็นผลงานที่เปี่ยมล้นไปด้วยความรักในศิลปะ รักในถิ่นฐาน ในรากเหง้า และความเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความละเมียดละไมในกระบวนการสร้างสรรค์ และสื่อสารประเด็นต่างๆ ออกไปได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

ปัตตานี

ย้อนกลับไปสักนิด ‘แล้วอะไรล่ะที่ทำให้คนเป็นศิลปินกันน้อยขนาดนี้?’

“แน่นอนแหละ เรื่องเศรษฐกิจสําหรับคนที่จะเป็นศิลปินยังเป็นปัญหาที่ต้องต่อสู้กันอยู่ เพราะว่าปัตตานีไม่มีคอลเลกเตอร์ ไม่มีองค์กรที่จะมาซัปพอร์ตสิ่งเหล่านี้

ฉะนั้น ไม่แปลกเลยที่ Patani Artspace จะต้องทํางานหนักเพื่อดูแลศิลปิน และมีที่พํานักให้เขา เพราะถ้าเราไม่ทําตรงนี้ เขาก็ต้องไปอยู่กรุงเทพฯ ซึ่งการไปอยู่ท่ามกลางคนหมู่มาก ก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก ถ้าไม่เจ๋งจริง มันยากมากเลยในสังคมนี้” อาจารย์เจ๊ะอธิบายถึงอุปสรรคก้อนโตที่ทำให้เขายังคงโฟกัสกับการดูแลเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นเหล่านี้ต่อไป

ปัตตานี

The Art of Struggle

เมื่อถามถึงภาพฝันในอนาคต อาจารย์เจ๊ะตอบด้วยน้ำเสียงมั่นใจว่า “ความฝันก่อนตายคืออยากจะมีมิวเซียมใหญ่ๆ”

ซึ่งความยิ่งใหญ่นี้ก็ไม่ได้มีไว้เพื่อตอบโจทย์ความอลังการงานสร้างแต่อย่างใด เขามองว่ามันสำคัญสำหรับการยกระดับวัฒนธรรมในพื้นที่ และการถูกมองเห็นมากกว่า “เวลาไปต่างประเทศ เราก็จะไปมิวเซียมใหญ่ๆ เพื่อไปดูมาสเตอร์พีซของศิลปินที่นั่น ทีนี้ถ้าคนอยากดูมาสเตอร์พีซงานศิลปินในปัตตานี ก็อยากให้เขาได้มีที่ทาง”

ปัตตานี

แม้ในตอนนี้ Patani Artspace จะประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่ของมัน แต่ก็เป็นการประสบความสำเร็จในแบบ ‘เท่าที่สามารถทำได้ในตอนนี้ เพราะอย่างที่รู้กันว่าอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งการเบ่งบานของวงการศิลปะในปัตตานีก็คือการถูกกดทับโดยโครงสร้างที่ยากจะทลาย อาจารย์เจ๊ะพูดถึงความสัมพันธ์ของสุนทรียะกับปัญหาในพื้นที่ให้เข้าใจง่ายๆ ผ่านการกินอาหารว่า “ ในสภาวะที่บ้านเมืองมีปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่ เราประทังชีวิตด้วยการกินให้อยู่รอด แต่ในอนาคตเราก็ปรารถนาที่จะไม่ต้องดิ้นรน เราอยากกินเพื่อให้รู้สึกถึงรสชาติความอร่อย เราอยากเห็นบ้านเมืองเราในวันนั้น”

ปัตตานี

ซึ่งศิลปะนี่แหละคือ “Hard Power” ที่อาจารย์เจ๊ะมองว่าไม่ได้แค่สะท้อนสังคม แต่จะเข้าไปสร้างความสั่นสะเทือน ขอแค่ทุกคนไม่เฉยชา! ไม่ Romanticize! และไม่เบื่อที่จะทำงานกับปัญหาเชิงโครงสร้าง เขาเชื่อว่าสักวันนึงเราจะต้องก้าวข้ามผ่านมันไปได้อย่างแน่นอน

ปัตตานี

“เราอยากให้ปัญหาทั้งหมดในพื้นที่ใน 3 จังหวัดหมดไป คนจะได้มาเสพวัฒนธรรม เสพศิลปะ มาคุยกันในเรื่องที่โพสิทีฟ ไม่ต้องมาคุยกันเรื่องความขัดแย้งที่มันบั่นทอน”

ปัตตานี

ติดตามข้อมูลข่าวสารของ Patani Artspace ได้ที่ FB: Patani Artspace, IG: patani_art_space
และสามารถเข้าชมเทศกาล Kenduri Seni Patani 2024 ได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธันวาคม 2567
ติดตามกิจกรรมได้ที่ FB: Kenduri Seni Patani, IG: kenduri_seni_patani

Tags: