ภูคานาน่าน
‘ภูคานาน่าน’ คาเฟ่มีดีไซน์ด้วยไผ่ยักษ์น่านเพื่อดึงคนมาเที่ยวบ่อเกลือได้นานขึ้น
- อำเภอบ่อเกลือ แม้เป็นเซ็นเตอร์ของแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์ที่มีแร่ธาตุอยู่ใต้แนวน้ำน่านและลำน้ำมง และมีความสำคัญมากๆ มาตั้งแต่อดีต นักท่องเที่ยวที่เดินทางจากอำเภอปัว มักจะแวะเพื่อซื้อเกลือคุณภาพติดไม้ติดมือเป็นของฝากเพียงใช้เวลาที่นี่แค่ช่วงสั้นๆ ก่อนจะเดินทางต่อเพื่อไปสะปัน
- ‘ภูคานาน่าน’ ตั้งอยู่ตรงข้ามบ่อเกลือโบราณเจ้าซางคำ ถูกออกแบบเป็นให้เป็นแลนด์มาร์กใหม่ของบ่อเกลือ เพราะอยากเรียกจุดสนใจให้นักท่องเที่ยวได้ใช้เวลาอยู่ รับชมความสวยงามของธรรมชาติของที่นี่ได้นานขึ้น
- เพราะคาเฟ่แห่งนี้โชว์สัจจะวัสดุของ ‘ไผ่’ ได้อย่างน่าทึ่ง เราจึงอยากชวนทุกคนมาดูเบื้องหลังการออกแบบในมุมมองของ กฤต-ธนกฤต ชัยอภิเจริญ สถาปนิกผู้ออกแบบที่หลงรักในเสน่ห์ของไผ่ เขาย้ำว่าหัวใจสำคัญของการออกแบบ คือเข้าใจตัวตนวัสดุ เคารพความยืดหยุ่นของธรรมชาติ และการมุ่งทำสิ่งที่ชอบเพื่อจะได้สุขและสนุกกับการทำงาน
สถาปนิกคืออาชีพที่ทำงานกับความคิดสร้างสรรค์ โดยอาศัยประสบการณ์มากมาย เพื่อก่อร่างสร้างไอเดีย ใส่รายละเอียดอาคารที่สวยงามผ่านอาคารและสิ่งก่อสร้าง ในขณะเดียวกันสถาปัตยกรรมก็ได้ทำหน้าที่ดึงดูดความสนใจผู้คนให้จำต้องหยุดมองเสน่ห์และดีเทลจากความตั้งใจของคนดีไซน์ที่บางทีคนมองยังขอร้องว้าว
เหมือนอย่างที่ กฤต - ธนกฤต ชัยอภิเจริญ สถาปนิกผู้ก่อตั้งบริษัท Grid Architect ได้โพสต์ภาพตนเองลงในเฟซบุ๊กเพจ ขณะยืนอยู่ภายในอาคารคาเฟ่ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างชื่อ ‘ภูคานาน่าน’ ไฮไลต์สำคัญที่ทำให้ทุกคนฮือฮามากๆ คือโครงสร้างสถาปัตยกรรมจาก ‘ไม้ไผ่’ สีทองอร่ามเรียงซ้อนเป็นระเบียบถี่ยิบ เผยความสวยงามอลังการเตะตาใครหลายๆ คน รวมถึงเราด้วย
ONCE เลยชวนกฤตมาเล่าเบื้องลึกแชร์เบื้องหลังความสวยนั้นให้ฟัง...
กฤตเริ่มว่า เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาเขาได้รู้จักกับเจ้าของโครงการที่เป็นคนในจังหวัดน่านเป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการอยากสร้างสถาปัตยกรรมสวยๆ และสร้างงานให้กับชุมชน อ. บ่อเกลือ เพราะจังหวัดน่านนั้นเริ่มเป็นที่ท่องเที่ยวที่ผู้คนให้ความสนใจกันมากขึ้นแล้ว
เมื่อสถาปนิกเดินทางไปถึงน่าน เขาสังเกตว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมาที่นี่ จะเริ่มท่องเที่ยวและค้างคืนในตัวจังหวัดก่อนเป็นหลัก หรือบางทีอาจเลือกไปค้างที่อำเภอปัว เพราะที่นั่นยังมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกหลายที่ และเมื่อเข้าวันใหม่อีกวันพวกเขาจะออกเดินทางเพื่อไปให้ถึงจุดหมายนั่นก็คือสะปัน ซึ่งระหว่างเส้นทางนั้นต้องผ่านบ่อเกลือ ซึ่งเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวจะใช้เวลาแวะอยู่ที่นี่ไม่นานนักเ พราะส่วนใหญ่จะถึงบ่อเกลือช่วงกลางวันซึ่งอากาศค่อนข้างร้อน ก่อนจะเดินทางต่อเพื่อไปให้ถึงสะปันโดยใช้เวลาเพียงแค่ 20 นาทีเท่านั้น
• จะไม่มีแค่เกลืออีกต่อไป!
ถ้าอยากให้นักท่องเที่ยวมาแวะบ่อเกลือเพื่อซึมซับบรรยากาศนานขึ้น เขาก็คิดตรงกันกับเจ้าของโครงการว่าก็ต้องคิดหาจุดสนใจไว้ใช้ดึงดูดคน วิธีการคือการสร้างสถาปัตยกรรมไผ่สวยๆ เน้นอยู่ร่วมกันกับชุมชนได้ดี เขาต้องการให้คาเฟ่ตั้งอยู่กลางนาข้าวได้อย่างกลมกลืน ชูความเป็นธรรมชาติ นำเสนอความเป็นน่าน และความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน ชวนให้นักท่องเที่ยวเห็นแล้วต้องพากันแวะเข้ามาชม หรือใช้เวลาไปกับบ่อเกลือได้นานมากขึ้น
นั่นจึงกลายเป็นโจทย์ที่ทำให้เขาเลือก ‘ไผ่ยักษ์น่าน’ นำมาผสมผสานกับไผ่ตง ไผ่ซางหม่น เพราะเป็นวัสดุธรรมชาติ และเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาของน่านโดยเฉพาะ ทว่าเมื่อออกแบบเสร็จพร้อมสร้าง แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา งานออกแบบไผ่ยังไม่ได้รับความนิยมมากเท่าไหร่ บวกกับสถานการณ์โควิดตั้งแต่ต้นปี 2020 ลูกค้าจึงขอชะลอการก่อสร้างไปก่อน จนกระทั่งโอกาสและเวลาเป็นใจ โครงการก็ได้เริ่มต้นขึ้น
เราอยากชวนผู้อ่านลองสังเกตภาพคาเฟ่จากระยะไกลกัน โครงสร้างเหล่านั้นคุณมองว่าคือรูปทรงอะไร ส่วนเรา เรานึกถึงหมวกในวินาทีแรก ซึ่งก็ถูกต้องในวินาทีต่อมา กฤตเฉลยให้ฟังว่า “นี่คือหมวกงอบไทยใบลาน งานออกแบบ Bamboo Architecture ที่มีชื่อเสียงในหลายประเทศ จะเต็มไปด้วยงาน Freeform ผมในฐานะสถาปนิกไทยจะออกแบบ Bamboo Architecture in Thailand จึงอยากได้งานรูปธรรมที่มีความเป็นไทยชัดเจนที่สุด”
ความพิเศษของหมวกงอบไทยใบลาน คือรูปทรงที่เอื้อต่อการระบายน้ำได้ดี และยังสามารถถ่ายเทอากาศได้ดีอีกด้วย กฤตบอกอีกว่า “เวลาที่สวมหมวกนี้ ศีรษะของเราจะไม่สัมผัสโดนหมวก ถ้าหงายหมวกดู จะพบกับไม้ไผ่บางๆ ที่มีลายสานสวยงามถูกซ่อนไว้ข้างในและยืดขยายได้ เรียกว่าจอมงอบ” และเพราะความสวยงามนี้จึงใช้เป็นแนวคิดในการสานโครงสร้างสถาปัตยกรรมของอาคารภูคานาน่าน หากมองขึ้นไปก็จะเห็นเส้นสาย Truss อาคารที่สานไขว้ไปมาอย่างสวยงาม
นอกจากนี้ภายนอกอาคารที่รายล้อมด้วยทุ่งนา กฤตชี้ให้เราดูต้นข้าวที่ขึ้นสูงมากเป็นวิวสีเขียวสบายตา สถาปนิกเล่าต่อว่าเจ้าของคาเฟ่แห่งนี้ให้ความสำคัญกับวัสดุธรรมชาติอย่างมาก และอาคารโดยรอบอาคารหลักต้องยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ เราจึงเลือกตั้งเต็นท์สีขาวรอบตัวอาคารหลักเพื่อให้สีขาวตัดกับข้าวสีเขียว อาคารสีน้ำตาล และให้ตัวอาคารหลักเป็นศูนย์กลางการใช้งานของผู้เข้าพัก
กฤตอธิบายว่าเมื่อเรามองหมวกงอบไทยเราจะเป็นยอดแหลมและปีกหมวกยาว เมื่อลองมองจากมุมสูงของตัวอาคารภูคานาน่านจะเห็นการผสมผสานการออกแบบหมวกงอบกับรูปทรงกลีบดอกไม้ดอกนั้นคือดอก ‘ดอกชมพูภูคา’ เป็นพันธุ์ไม้หายาก บานเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และมีอยู่แค่ที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จ.น่านเท่านั้น “ผมก็เลยเลือกใช้คำ ภูคา พ่วงด้วยตัวคาเฟ่ที่ตั้งอยู่ในนา จังหวัดน่าน เลยย่อและได้คำออกมาว่า ภูคานาน่าน นั่นเอง”
• ยิ่งรู้จัก ยิ่งรักไผ่
“จริงๆ แล้ว Grid Architect ไม่มีความรู้ทางด้านไผ่เลยนะ แม้ว่าเราจะสนใจงานไผ่มาก่อนหน้านี้แล้ว นี่เป็นโครงการแรกที่ใช้ไผ่ในการออกแบบสร้าง เลยต้องเริ่มต้นใหม่กันตั้งแต่ต้น” คนฟังอย่างเราตาลุกวาว กฤตเล่าต่อว่าเขาต้องไปเรียนการทำไผ่กับผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะก่อนเริ่มลงมือสร้างของจริง
“ช่วงที่เรียนทำโมเดลไผ่เหมือนได้ฝึกสมาธิและฝึกให้จิตสงบ ละลายพฤติกรรมไปในตัว เพราะต้องมานั่งเหลาไม้ไผ่จนกว่าจะได้ขนาดลำเล็กๆ จากขนาดไม้เท่าไม้เสียบไก่ จนเป็นไม้ที่มีขนาดแค่ 1-2 มม. เป็นอะไรที่ยากมาก ถ้ารีบทำจนเกินไปไผ่จะหักทันที เลยต้องระมัดระวัง และละเอียดกับไผ่ทุกวินาที” กฤตยังเสริมต่อท้ายอีกด้วยว่า ยิ่งเขาทำงานกับไม้ไผ่ ก็ยิ่งตกหลุมรัก เราไม่แปลกใจเลย เพราะระหว่างที่ฟังกฤตเล่านั้น ใบหน้าเขาเต็มไปด้วย Passion
สถาปนิกคนนี้ยังแชร์มุมมองต่อการทำความเข้าใจตัวตน และความยืดหยุ่นของวัสดุนั้นๆ ถือเป็นหัวใจสำคัญต่อการทำงานของเขา ยิ่งมองเห็นภาพรวมและจุดบกพร่องมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมองหาวิธีการแก้ไขได้ดียิ่งขึ้นมากเท่านั้น
“ไม้ไผ่ที่ได้มาแต่ละที่คุณภาพจะแตกต่างกัน ด้วยความที่มันเป็นวัสดุธรรมชาติ มันจะมีแป้งซึ่งเป็นอาหารของมอด ไผ่ทุกลำต้องผ่านการทำทรีตเมนต์เพื่อเอาแป้งออก หลังจากทรีตแล้วก็ยังมีโอกาสเกิดราขาวราดำได้ แล้วราขาวก็ยังลามได้ด้วยนะ ตัวแป้งมันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แล้วก็ลามได้ด้วยนะ ขนาดทรีตเมนต์มาแล้วด้วย เพราะฉะนั้นไม่ใช่ทุกลำที่จะใช้ได้ และไผ่ที่ส่งมายังแตกได้ ต้องมานั่งคัดอีกรอบ และทรีตเมนต์มาแล้วก็ใช่ว่าจะใช้ได้ทั้งหมด ยังต้องมานั่งคัดอีก ปริมาณความเสียหายมันเยอะมาก ไผ่เลยมีราคาที่สูง” แม้ไผ่จะมีข้อดี แต่ก็มีปัญหาเยอะเช่นกัน ฟังแค่นี้เราก็เหนื่อยแล้ว แต่ไม่ใช่สำหรับสถาปนิกคนนี้
กฤตย้ำกับเราว่าโครงการนี้มีอุปสรรคเยอะมาก หนึ่งในนั้นคือตำแหน่งพื้นที่ของจังหวัดน่านที่อยู่ในรอยเลื่อนแผ่นดินไหว การออกแบบจึงต้องรอบคอบ คำนวณทั้งแรงลมและออกแบบรองรับแผ่นดินไหว การออกแบบโครงสร้างนั้นทำหลายขั้นตอน
“เราทำ Study Model เฉพาะโครงสร้างขึ้นมา 1 หลังและ Final Model อีก 1 หลัง ซึ่งตัวโมเดล Final ใช้เวลาทำถึง 3 เดือน ก่อนที่เราจะเริ่มทำโครงสร้างไผ่ ระยะเวลาในการทำหลังคาอย่างเดียวลากยาวถึง 6 เดือน เตรียมไผ่ 3 เดือน มุง 3 เดือน พร้อมกับอุปสรรคในการก่อสร้างมากมาย ทั้งลมฟ้าอากาศ ฝนตกหนักต่อเนื่องหลายเดือน โครงสร้างหลังคาที่ชันทำให้ช่างไม่สามารถขึ้นทำงานได้ การขนส่งที่ยากและช่างไผ่จากเชียงใหม่ไม่ยอมมาทำในช่วงโควิด คุณแหนม Bamboo Family ผู้รับเหมาไผ่จึงสร้างทีมงานใหม่โดยใช้ช่างชาวบ้านจากชุมชนบ่อเกลือ มาร่วมกันสร้างงานไผ่สุดอลังการจนสำเร็จได้”
กฤตขอเพิ่มเติมสีของไผ่ที่ถือเป็นจุดเด่นที่เราจะพลาดข้อมูลนี้ไม่ได้ ไผ่หากโดนแดดและฝนไม่นานสีของไผ่จากที่เป็นสีทองก็จะซีดเป็นสีเทา หากนำมาทำเป็นหลังคา “เราเข้าใจปัญหานี้ดีจึงเลือกใช้หลังคาเป็นไวนิลและเอาไผ่แท้เข้าไปอยู่ในอาคารและออกแบบให้โดนแสงน้อยที่สุดเพื่อรักษาสีของไผ่ไว้และไผ่เมื่อไม่โดนแดดฝนจะรักษาสีทองอร่ามไว้ได้และสามารถอยู่ได้เป็น 10 ปี”
เสน่ห์อีกอย่างของคาเฟ่ภูคานาน่าน คือตัวอาคารที่ทั้งภายในและภายนอกเผยให้เห็นการเรียงตัวของไผ่ที่เป็นระเบียบมาก (ขอขีดเส้นใต้เน้นๆ) แค่เดินเข้าไปในคาเฟ่ แล้วเงยหน้ามองก็จะเห็นลวดลาย ความโค้งที่ชวนให้รู้สึกว่า เขาเก็บดีเทลต่างๆ ได้น่าทึ่ง แต่พอรู้ว่าความสวยนั้นเกิดขึ้นจากวัดระยะความห่างด้วยสายตาเพียวๆ เราถึงกับว้าวจนต้องถามเดี๋ยวนั้นเลยว่า ทำได้ยังไง
“ทีมสร้างต้องมีประสบการณ์ เพราะขั้นตอนมันซับซ้อนมากกว่าที่คิดนะ ไผ่เวลาต่อกัน ซ้อนกัน จะเชื่อมแบบเหล็กไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทีมสร้างต้องปีนขึ้นไปบนหลังคา เพื่อเรียงไผ่ทีละเส้นให้ได้สัดส่วนหรือระยะห่างระหว่างช่องเท่าๆ กัน สิ่งที่ยากก็คือ จังหวะของเส้นมันจะเป๊ะมาก ทีมสร้างต้องใช้สายตากะระยะดีๆ เราไม่ได้เอาโดรนมาช่วย และถ้าหากเรียงไปตามแนวโค้งมาเรื่อยๆ เหลือเศษที่ปลายก็คือจบเลย มันจะไม่สวยทันที ต้องกลับไปเริ่มเลื่อนไผ่กันใหม่ตั้งแต่ต้น” จบประโยคนี้ ขออุทาน โอ้โหออกมาดังๆ
ภูคานาน่านหลังนี้ นับเป็นเครื่องพิสูจน์ความตั้งใจที่สร้างความภูมิใจให้กับสถาปนิก ผู้ก่อสร้าง และที่สำคัญคือช่างชาวบ้านในชุมชนบ่อเกลืออีกด้วย
• อุปสรรคไม่เกี่ยง ขอแค่ได้ท้าทาย
แม้อุปสรรคจะมากเพียงใด กฤตก็ทำงานด้วยความสนุกอยู่เสมอ เราถามเขาว่าเพราะอะไร “เพราะผมชอบท้าทายสิ่งใหม่ๆ ในการออกแบบงานแต่ละครั้ง ผมจะทิ้งวิธีการและดีไซน์ที่เคยทำแล้ว และมองหาวิธีการที่แตกต่างไปจากเดิม เพราะแต่ละงานมีความซับซ้อน ถ้าได้แก้ปัญหาใหม่ๆ หรือทำสิ่งที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ผมก็จะได้ประสบการณ์เพิ่มขึ้น และจะมีความโปรมากขึ้นด้วย”
คาเฟ่ภูคานาน่าน ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่สะท้อนตัวตนและแนวคิดของสถาปนิกคนนี้เป็นอย่างดี อีกสิ่งที่กฤตยึดมั่นเสมอ คือ การทำงานภายใต้ความสุข เลือกทำในสิ่งที่รัก โดยไม่กดดันตัวเอง พอได้ฟัง เราก็คิดว่า เพราะแบบนี้กฤตถึงสามารถโอบรับความท้าทายและก้าวต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
“แค่เริ่มต้นจากการทำสิ่งที่เรารัก และทำสิ่งที่ยากก่อนทำสิ่งที่ง่าย เพราะสิ่งที่ง่ายคนส่วนมากจะทำได้ เราจะเป็นคนส่วนน้อยที่เลือกทำสิ่งที่ยาก เพราะสิ่งที่ยากจะเต็มไปด้วยปัญหาแต่ให้มองปัญหาเป็นครูที่ดีของเราเสมอ”
ภูคานาน่าน เป็นคาเฟ่กึ่งรีสอร์ทที่ต้องจองล่วงหน้าเท่านั้น ยังไม่เปิดรับวอล์กอิน โครงการจะเริ่มเปิดให้บริการภายในเดือนธันวาคมนี้ ใครสนใจอยากเที่ยวชมคาเฟ่สไตล์ธรรมชาติ ดื่มด่ำความอลังการของสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ท่ามกลางบรรยากาศทุ่งนาเฟรชๆ ที่บ่อเกลือ จังหวัดน่าน ก็อย่าพลาดเชียวล่ะ ถ้าเขาเปิดให้จองกันเมื่อไหร่ รีบพุ่งตัวกันไปเลย