น้ำอุ่นในตู้กระจก
Performance Art จากน้ำอุ่น – พิชชาภา กับตู้กระจกสะท้อนชีวิตคนรุ่นใหม่ในทุนนิยม
- น้ำอุ่น พิชชาภา หวังประเสริฐกุล ศิลปิน Performance Art รุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์การแสดง The Standard สะท้อนภาพชีวิตการถูกกดทับจากอำนาจทางสังคมและระบบทุนนิยมที่เกลี้ยกล่อมให้คนยุคใหม่ต้องใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับการก้มหน้าก้มตาทำงานหนักอยู่ในพื้นที่จำกัด
- ศิลปินเลือกที่จะเข้าไปใช้ชีวิตและนั่งทำงานในห้องจำลองนั้นตลอดทั้งวัน ระหว่างนั้นผู้คนที่เดินผ่านมาพบ สามารถเข้ามาพูดคุย หรือเข็นห้องของเธอไปตามพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างอิสระ ทั้งนี้ เธอเพียงแค่ต้องการให้คนดูพิจารณาและลองตั้งคำถามกับคุณภาพชีวิตของคนไทย หากใครจะตีความที่แตกต่างออกไป เธอก็ยินดีเรียนรู้แง่มุมต่างๆ ของพวกเขา
เข้าสู่ปลายปีที่กรุงเทพฯ จัดเทศกาล Bangkok Art Biennale 2022 โดยมีศิลปินกว่า 70 คนมาจัดแสดงผลงานให้เราได้เลือกชมกันอย่างถ้วนหน้า หนึ่งในไฮไลต์ที่เรามองว่าหน้าสนใจคือผลงาน Performance Art ชื่อ The Standard โดยศิลปินที่มีอายุน้อยที่สุดอย่าง 'น้ำอุ่น' พิชชาภา หวังประเสริฐกุล เธอเข้าไปอยู่ในห้องขนาดเล็กเพื่อทดลองใช้ชีวิตและใช้เวลาทั้งหมดก้มหน้าทำแต่งาน ว่างๆ เบื่อๆ ก็เงยหน้ามาคุยกับผู้คนซึ่งเรียกความสนใจต่อคนที่เดินผ่านมาเห็นไม่น้อย
ผลงานของเธอที่ถูกพูดต่อในวงกว้าง คือภาพของน้ำอุ่นขณะนั่งอยู่ในตู้กระจกโดยมีกลุ่มคนในเครื่องแบบข้าราชการ ตำรวจ ยืนมุงดูเธอ ภาพนี้ได้กลายเป็นกระแสทางโซเชียลเพียงชั่วข้ามคืน เพราะเพียงรูปภาพเดียวกลับให้ความหมายได้หลายทิศทาง
หนทางเดินใหม่
น้ำอุ่นรู้จัก Performance Art ครั้งแรกหลังสมัครเข้าร่วมเทศกาล Bangkok Art Biennale ในฐานะอาสาผู้ช่วยงาน เธอได้ช่วยศิลปินชื่อดังระดับโลกอย่าง มารีน่า อบราโมวิช จัดเตรียมการแสดงสด ในชื่อ A Possible island เธอพูดติดตลกว่า “ตอนแรกไม่รู้จักเลยนะ อะไรคือ Performance Art แล้วตอนที่ไปช่วยศิลปิน คือให้นั่งนับถั่ว เป็นหนึ่งในการแสดงของเขา เราก็งงนะว่า นับทำไม ทำแบบนั้นทำไม” เธอใส่อินเนอร์สงสัยอย่างแรงพร้อมหัวเราะ น้ำอุ่นบอกกับเราอีกว่า ครั้งนั้นเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เธอมองศิลปะกว้างมากขึ้น และค้นพบว่า Performance Art คืออีกหนึ่งรูปแบบการแสดงที่พูดถึงความเป็นมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง เป็นสิ่งที่น้ำอุ่นสนใจมาโดยตลอด
มารีน่า อบราโมวิช ถือเป็นแรงบันดาลใจให้เธอเดินเข้าสู่การเป็น Performance Artist นับแต่นั้นการแสดงของน้ำอุ่นก็มักจะพูดถึงเรื่องของ อำนาจ การกดทับ ผ่านสภาวะมนุษย์ในบทบาทต่างๆ อย่างเฉียบขาด ตรงไปตรงมา เมื่อถามเพิ่มเติมว่าทำไมถึงเลือกประเด็นดังกล่าว เธอบอกกับเราสั้นๆ “เพราะที่ผ่านมา เราวนเวียนอยู่กับอำนาจต่างๆ มาโดยตลอด และเราชอบหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์”
‘มาตรฐาน’ โลกทุนนิยม
The Standard ผลงานที่ยังคงมุ่งประเด็นการถูกกดทับ เธอพาเราไปสอดส่องชีวิตคนรุ่นใหม่ที่ทำงานหนัก นอนน้อย ค่าแรงต่ำ ตามฉบับกรอบอำนาจสังคมโลกทุนนิยม ผ่านตู้กระจกสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ซึ่งน้ำอุ่นจะเข้าไปนั่งๆ พิงๆ อยู่ไม่กี่อิริยาบถ แววตาหมกมุ่นกับหน้าจอคอมชวนสร้างความอึดอัดจนหายใจไม่ออกในสายตาของคนอื่นๆ
ผลงานชิ้นนี้จำลองคุณภาพชีวิตคนรุ่นใหม่ ศิลปินจะลดทอนอิสระของตนด้วยการทดลองเข้าไปใช้ชีวิตและนั่งทำงานในห้องเล็กๆ นั้นตลอด 1 เดือน ให้ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาได้ตีความอย่างอิสระ หรือกระทั่งเชื้อเชิญให้ลองมามีส่วนร่วม ลองใช้อำนาจของตน ลดทอนอำนาจศิลปินในทางใดทางหนึ่งก็ทำได้
ตอนที่เราเดินเข้าไปหาเธอ น้ำอุ่นก็นั่งทำงานจริงๆ และประชุมจริงจังด้วย ช่างเป็นศิลปะที่เรียลอะไรขนาดนี้
เคยเจอคำถามนี้ไหม ‘ถ้าคุณต้องใช้ชีวิตในที่ๆ หนึ่งเพียง 1 วัน คุณจะเลือกหยิบอะไรติดตัวคุณไปด้วย’ คำถามอาจดูไม่เกี่ยวข้อง แต่หลังจากที่เราสำรวจสิ่งของรอบตัวน้ำอุ่นที่มีเพียงแค่สเปรย์แอลกอฮอล์ ขวดต้นไม้จิ๋ว สายชาร์จคอมพิวเตอร์ พาวเวอร์แบงค์อยู่ในนั้น
สิ่งน่าตกใจก็คือ มีแต่ ‘สิ่งของที่จำเป็น’ ส่วนใหญ่ล้วนเอื้อประโยชน์กับการทำงานในออฟฟิศทั้งนั้น ยกเว้นของที่คนมาดูงานมอบให้เธอคือ หนังสือ และดอกกุหลาบที่เหี่ยวเฉาไปตามกาลเวลา
ภาพที่เราเห็นกลับกลายเป็นกระจกที่สะท้อนวิถีชีวิตตัวเราและมาตรฐานมนุษย์เงินเดือนของคนในยุคนี้ไปแล้วด้วยเช่นกัน…คอมพิวเตอร์ พาวเวอร์แบงค์ สายชาร์จ นี่เหรอ คือสิ่งจำเป็นต่อชีวิต เอาจริงดิ!? เราถามเธอกลับ ศิลปินพยักหน้า แล้วพูดกับเราว่า นี่เป็นอีกเรื่องที่ต้องการสื่อออกไป ของพวกนี้บ่งบอกถึงวัตถุทุนนิยมก็จริง แต่ขณะเดียวกันมันกลับเป็นสิ่งที่ขาดกันไม่ได้
เธอเล่าต่อถึงพื้นที่แคบๆ ก็มาจากชีวิตประจำวัน นั่ง นอน กิน ทำงานอยู่หน้าจอคอมในที่พื้นที่ๆ เดียว สะท้อนภาพคนทำงานที่ถูกกดทับจากสังคมให้ต้องใช้ชีวิตในพื้นที่แคบลงเรื่อยๆ การทำงานหนักจนไม่มีเวลามองดูโลกรอบข้าง ค่าครองชีพที่สวนทางกับเงินเดือนจนเราต้องดิ้นรนเอาตัวให้รอดไปวันๆ
ที่น่าหดหู่ยิ่งกว่าคือเทรนด์ใหม่ๆ ที่เข้ามา ล้วนกระตุ้นให้มนุษย์ต้อง Productive ตลอดเวลา กระทั่งตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่การรับจ๊อบเพิ่ม จับงานสองมือ ทำงานให้หนัก กลายเป็นภาพจำที่แสดงให้เห็นถึงความขยันและความมุ่งมั่นจนน่ายกย่องของสังคมสมัยนี้ ในอีกแง่มุมหนึ่ง นี่เราทำงานเกินมนุษย์ไปหรือเปล่า…งานของเธอก็ได้ฝากคำถามชวนให้ฉุกคิดถึงคุณภาพชีวิตที่มนุษย์ควรจะได้รับ
ผู้ชมที่มีอำนาจ ศิลปินผู้ลดอำนาจตน
ห้องจำลองเล็กๆ ของน้ำอุ่นถูกจัดวางบนรถเข็น คนที่เดินมาดูงานสามารถเข็นเธอไปตามพื้นที่ต่างๆ ได้ตามอิสระ หรือจะเข้ามาพูดคุยก็ได้เช่นกัน เธอบอกเราว่า ประเด็นของเธอตรงกับประสบการณ์ร่วมของใครหลายคน ทำให้เธอได้ฟังพวกเขาแบ่งปันเรื่องราว ซึ่งบางทีก็ลงลึกถึงรายละเอียด
ศิลปินชวนเรามองลึกลงไปอีกขั้น คือเรื่องของอำนาจที่ฝ่ายใดจะมีมากกว่ากัน ระหว่างศิลปินกับผู้ชมงาน ศิลปินอยู่ในพื้นที่แคบไม่สามารถขยับร่างกายได้เต็มที่นัก ทำได้เพียงสนทนาและรับฟัง และจะถูกเข็นไปตอนไหนก็ได้ อำนาจที่เคยมีถูกถ่ายเทให้กับผู้ชมที่มีสิทธิ์เลือกและตัดสินใจได้มากกว่า “มันดีตรงที่พวกเขาจะได้พบอะไรใหม่ๆ จากสิ่งที่พวกเขาตัดสินใจเดินมาพูดคุย หรือเดินเข็นเรา หรือเดินดูแล้วก็ไป”
นี่ไม่ใช่ศิลปะ
เราถามเธอต่อด้วยความสนใจว่า ระหว่างนี้ศิลปินเองค้นพบอะไรจากการเฝ้าดูอยู่ในห้องจำลองนี้ไหม เธอร้อง โอ้โห ก่อนหัวเราะแล้วบอกเราว่า เจอเยอะมาก!
“แต่ที่เจ็บแปลบๆ คือ มีคนมาบอกว่างานของเราไม่ใช่ศิลปะ ประมาณว่า มันจะเป็นศิลปะได้ยังไงในเมื่อมีคนเอาแต่นั่งอยู่ในนี้ตลอด ไม่ได้ทำอะไรเลย” น้ำอุ่นบอกเรา พอถกประเด็นนี้ไปได้สักพักก็เห็นพ้องต้องกันว่า Performance Art อาจให้ภาพจำของการต้องมีเวที มีนักแสดงขึ้นมาพูด ร้อง เล่น โชว์สิ่งต่างๆ จึงจะเรียกว่า ศิลปะการแสดง ตัดภาพมาที่ The Standard ของน้ำอุ่นที่ถูกตั้งวางไว้อย่างเรียบง่าย ดูตรงข้ามกับสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด ก็อาจเป็นไปได้ที่ผู้ชมบางส่วนจะตีความไปทางนั้น
แต่จริงๆ แล้ว Performance Art มันเหมือนกับการที่ใครคนใดคนหนึ่งทำสิ่งที่ต่างจากคนรอบข้าง เช่น ท่ามกลางความวุ่นวายบนสถานีรถไฟฟ้า ทุกคนเดินด้วยความเร่งรีบ แต่จู่ๆ มีคนคนหนึ่งเดินช้ากว่าใคร ทำให้คนอื่นหันไปมอง หรือให้ความสนใจ นั่นก็ถือว่า เขาคนนั้นสร้าง Performance แล้ว น้ำอุ่นขยายความหมายศาสตร์แขนงนี้ให้ฟัง และเน้นย้ำอีกว่า Performance Art ไม่จำเป็นต้องมีองค์ประกอบอะไรมากมายอย่างที่ได้กล่าวไป แต่จะเป็นอะไรก็ได้ที่อยู่รอบตัวเรา หากมันถูกสื่อสารจากตัวเรา หรือจากร่างกายของเรา
อีกสิ่งที่เธอสังเกตเห็นขณะเป็นผู้เฝ้ามอง “บางคนอ่านคำอธิบายชิ้นงานเรามาก่อน พอเข้าใจ เขาก็เดินไปเลย ไม่ได้เข้ามาหาเลย” เธอเห็นคนตีความงานของเธอในบริบทที่หลากหลายมาก แต่ก็จะมีบางคนที่ยึดติดกับคำอธิบายชิ้นงานศิลปะมากไป จนเขามองว่างานชิ้นนั้นจะต้องสื่อสารเพียงเรื่องนี้เท่านั้น
ศิลปินบอกกับเราว่า ศิลปะเป็นศาสตร์ที่กว้างขวางมาก เธอสนุกที่ได้เห็นผู้คนใช้มุมมองและประสบการณ์ร่วมของตัวเองตีความงานของเธอไปในทิศทางที่หลากหลาย ชี้ให้เห็นได้ชัดเจนว่านี่คือเสน่ห์ของศิลปะ
“แต่คำอธิบายงาน มันเป็นแค่มุมมองที่ตัวศิลปินมีต่องาน แต่คนดู จะดูแล้วตีความเป็นอะไรก็ได้ ไม่มีถูกผิดเลย เราอยากให้ผู้ที่มาดูงาน เห็นเรา และมองเราตามความรู้สึกของพวกเขาเองมากกว่า”
ระหว่างที่เราสนทนากัน ก็พบสิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งนั่นคือ ความหมายของผลงานจะเปลี่ยนไปทันทีหากคนที่เดินเข้ามาดู คิดเห็น หรือเทน้ำหนักไปที่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งมากกว่า
ไม่นานมานี้ มีภาพถ่ายที่เผยให้เห็น น้ำอุ่นกับการแสดง The Standard ของเธอ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนหนึ่งกำลังยืนดูเธอ ภาพถ่ายดังกล่าวกลายเป็นไวรัลที่ถูกแชร์ในโลกโซเชียล และมีผู้คนมาแสดงความคิดเห็นต่อภาพนี้เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่เรื่องการเมือง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทั้งน้ำอุ่นและเจ้าหน้าที่เหล่านั้นถูกทำให้กลายเป็นองค์ประกอบการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ของช่างภาพที่สร้างอิมแพคที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน
“จริงๆ แล้ว เขาสนใจงานเรามากเลยนะ แล้วให้เราอธิบายเขาด้วยว่ามันเกี่ยวกับอะไร เราก็บอกไปว่า งานเราพูดถึงเรื่องอำนาจของทุนนิยมที่ทำให้เราต้องนั่งทำงานหนักสวนทางกับเงินเดือนที่ลดลงอยู่เรื่อยๆ พวกเขาก็ชอบใจนะ บอกว่า เออดีๆ” เธอบอกกับเรา
อย่างไรก็ตาม การที่คนในเครื่องแบบเลือกให้ความสนใจกับงานศิลปะในบ้านเรานั้นเป็นภาพที่ไม่ได้หาดูได้ง่ายเลยสักนิด
เจ็บปวดจนชินชา
น้ำอุ่นบอกว่า ก่อนจะเข้ามาอยู่ในตู้กระจกนี้ เธอมีความรู้สึกอยากหลีกเลี่ยง ไม่อยากอยู่ จนเมื่อได้เข้ามาใช้ชีวิตในวันแรก น้ำอุ่นเฝ้ารอเวลาให้มันผ่านไป เธอเที่ยวพูดคุยกับคนดูไม่หยุดเพื่อฆ่าเวลา และเพราะพื้นที่แคบทำให้ขยับแขนขาได้ไม่เต็มที่ เธอบอกกับเราว่า ทั้งปวดทั้งเมื่อยและอึดอัด อยากจะออกจากพื้นที่ตรงนี้มากๆ จนกระทั่งเวลาล่วงเลยไปหลายวัน ร่างกายเธอเริ่มปรับสภาพได้ แม้ปวดบ้างตามร่างกาย แต่เธอเริ่มคุ้นชินและเริ่มรู้สึกสบายกับพื้นที่ของตัวเองเสียแล้ว
“เอาจริงๆ มันน่ากลัวมากเลยนะ ที่เราดันเกิดรู้สึกไม่อยากออกไปไหน อยู่ตรงนี้ก็สบายดี” เธอบอกกับเราเมื่อลองมองย้อนกลับไปยังผลงานตัวเอง เราบอกเธอว่า งานของเธอทำให้เรานึกถึงสัตว์ที่ถูกขังอยู่ในกรงตามสวนสัตว์ “แต่นี่สลับกันเป็นขังคนไว้แทน”
หากเรามองในภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง ณ ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอำนาจต่างๆ อำนาจทางการเมือง ระบบทุนนิยมที่บีบบังคับให้เราต้องจำยอม เวียนไหลไปตามกฏ เราอาจไม่ต่างอะไรกับสัตว์ในสวนสัตว์ที่ติดอยู่ในกับดักของสิ่งที่สังคมต้องการให้เป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เธอเสริมอีกว่า วันหยุด เธอไม่ได้เข้ามาอยู่ในห้องนี้ ห้องจำลองของเธอจึงว่างเปล่าเหลือเพียงข้าวของไม่กี่อย่าง มีผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาร้องทักด้วยความตกใจว่า “งานชิ้นนี้มีคนอยู่ในนั้นจริงๆ เหรอ”
ภายใต้ความตกใจคุณเห็นอะไรไหม มนุษย์มีจิตวิญญาณที่เป็นอิสระเสรี การเข้าไปอยู่ใน The Standard ที่ชูการลดทอนความเป็นคน หรือเป็นเครื่องที่เปลี่ยนมนุษย์ให้เป็นอย่างอื่น ช่างเป็นเรื่องที่ตลกร้ายที่สุด
สำหรับเรา นี่เป็นห้องจำลองขนาดเล็กที่สามารถฉายภาพในมุมกว้างของสังคม ระบบการเมือง และมุมมองของมนุษย์ได้อย่างท้าทายและแยบยล สุดท้ายงานนี้อาจสื่อเพียงแค่การทำงานหนักหรือมากกว่านั้นก็ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคนอยู่ดี
ก่อนจากกัน เราถามเธอว่า เป้าหมายอันสูงสุดของน้ำอุ่นกับ Performance Art คืออะไร เธอหัวเราะแลัวส่ายหน้า นิ่งคิดอยู่พักหนึ่งก่อนตอบว่า เธอเพิ่งเริ่มศิลปะการแสดงได้เพียงแค่ 2 ปี ระหว่างนี้คงขอค้นหาศิลปะของเธอไปเรื่อยๆ ก่อน ส่วนอนาคตค่อยว่ากัน