About
ART+CULTURE

Sariya

Sariya จากขยะก่อสร้างสู่ศิลปะโมเสกที่เล่าความเท่าเทียมทางเพศและอัตลักษณ์ชุมชน

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • Sariya คือศิลปะจากขยะก่อสร้าง ขยะที่เปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยของผู้คนเป็นพื้นที่รกร้างและเป็นถึงหนึ่งในสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน แล้วเมื่อผลงานเป็นรูปเป็นร่างก็ต่อยอดสู่การขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงพัฒนาชุมชนบ้านครัวอันเก่าแก่ด้วย

เอ่เอ๊-อิสริยา ศรนรินทร์ ก่อตั้ง Sariya จากขยะในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเธอและสามี ขยะเหล่านั้นไม่เพียงมีปริมาณมาก แต่จัดการอย่างยากลำบาก จนผู้คนสูญเสียพื้นที่ใช้สอยให้กลายเป็นพื้นที่รกร้างสำหรับทิ้งขยะ และส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมในระดับที่คาดไม่ถึง

Sariya ส่องสปอตไลต์สู่อีกด้านของอุตสาหกรรมก่อสร้าง ขยายกว้างถึงประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศในวงการ และเล่าอัตลักษณ์ชุมชนไปพร้อมกัน หากคุณกำลังตั้งคำถามในใจว่าเป็นไปได้อย่างไร เราขอท้าให้อ่านบทความนี้จนจบ แล้วจะรู้ว่า ศิลปะมีบทบาทขนาดไหน

Sariya

อัญมณีในกองขยะ

เบื้องหลังทุ่งหญ้าสีพาสเทลกับเศษกระเบื้องรูปต้นไม้ดูแปลกตาคือขยะจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง ผลงานเหล่านี้เกิดจากแบรนด์ Sariya ซึ่งต่อยอดมาจากความต้องการกำจัดขยะของเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกทอดหนึ่ง

เอ่เอ๊คาใจกับขยะกองพะเนินเทินทึกที่สะสมมาหลายปี จากการสั่งเผื่อแล้วเหลือใช้บ้าง จากการตัดแบ่งแล้วเหลือเศษบ้าง แม้ธุรกิจของเธอกับสามีนั้นสเกลเล็กก็ยังสร้างขยะมาก ยิ่งวิธีจัดการขยะคือการนำไปทิ้งในพื้นที่รกร้างยิ่งน่าใจหาย เพราะนั่นแปลว่า พื้นที่ใช้สอยลดหายไป ส่วนแง่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขยะจากการก่อสร้างเป็นถึง 1 ใน 3 ของขยะที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนสูงที่สุด

Sariya

Sariya

Sariya

“เราสนใจกระเบื้องเป็นพิเศษ ทุกคนคิดว่าจะทิ้งยังไงดี แต่เราเห็นเป็นอัญมณี ถึงแตกหักแล้ว มันก็น่าจะเอาไปทำอะไรได้”

เอ่เอ๊เรียนจบคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และก่อนจะเข้ามาทำงานในวงการก่อสร้างกับสามี เธอทำงานประจำในหน่วยงาน Creative Economy Agency (CEA) จากนั้นเป็นฟรีแลนซ์ผู้รับบรีฟจากลูกค้ามากหน้าหลายตา แต่คำถามที่มักเกิดกับงานลักษณะนี้คือ “มันจะเป็นไปได้ไหมที่เราได้ทำงานศิลปะโดยที่ยังเป็นตัวเองอยู่” ดังนั้นเมื่อโอกาสมาถึง สัญชาตญาณศิลปินของเอ่เอ๊จึงบอกให้ใช้ศิลปะเข้าช่วยจัดการขยะ

Sariya

‘Rusting in the Cement Fields’ คือคอลเลกชันล่าสุดและคอลเลกชันลำดับที่ 2 ของ Sariya โดยยึดคีย์เวิร์ด ‘Resurrection’ ที่แปลว่า ‘ฟื้นคืนชีพ’ เป็นคอนเซปต์ต่อเนื่องมาจากคอลเลกชันแรก หากใครไม่รู้ ต้นกำเนิดของวัสดุก่อสร้างจำพวกหิน ดิน ทราย บางทีถึงขั้นต้องระเบิดภูเขาเพื่อให้ได้มาเลยทีเดียว เอ่เอ๊จึงนำขยะจากการก่อสร้างมาชุบชีวิตให้กลายเป็นต้นไม้ ภูเขา และทุ่งหญ้า ราวกับส่งมันไปเบ่งบานในถิ่นกำเนิดอีกครั้ง

Sariya

จากคอลเลกชันแรกที่เข้าร่วม Bangkok Design Week 2024 จนถึงคอลเลกชันที่ 2 ซึ่งจัดแสดง ณ Erawan Bangkok รวมถึงเวิร์กช็อปที่โฮสต์เอง และได้รับเชิญไปจัดเวิร์กช็อปให้สายการบิน Air Canada เอ่เอ๊ใช้ขยะจากการก่อสร้างไปแล้วกว่า 100 กิโลกรัมภายในระยะเวลาไม่ถึง 4 เดือน

Sariya

“เราไม่ได้มองว่า Sariya ต้องโด่งดัง กำไรของเราคือการได้รู้ว่า เรากำจัดขยะไปเท่าไหร่แล้ว เราทำให้ใครมีส่วนร่วมกับโปรเจกต์นี้ได้บ้าง คนที่มาร่วมเวิร์กช็อปหรือมาดูงานดีใจเป็นพิเศษที่ได้กำจัดขยะ ช่วยสังคม ช่วยสิ่งแวดล้อม นี่คือเป้าหมายหลักของเรา”

Sariya

Sariya

ไม่เห็นใครทำ ไม่ได้แปลว่าเราทำไม่ได้

ซิกเนเจอร์ของ Sariya หนีไม่พ้นเศษกระเบื้องบนเฟรม ซึ่งครอบคลุมด้วยการเพนต์สีหวานสดใส ทั้งสองส่วนมาจากขยะก่อสร้างทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่สีที่ใช้เพนต์ก็ด้วย

“เราเอายาแนวที่เหลือมาทำ ผสมยาแนวกับปูนชนิดต่างๆ เพื่อหาสัดส่วนกับความข้นที่เหมาะสม เอาผงแม่สีที่ใช้ผสมปูนซีเมนต์ที่เหลือมาใช้ มีสีเขียวบ้างสีแดงบ้าง เลยกลายเป็นสีละมุนๆ”

Sariya

เอ่เอ๊บอกว่า ผลงานของเธอมีความเฟมินีน และผลงานเหล่านี้เป็นตัวแทนของนักก่อสร้างหญิง ซึ่งมีสัดส่วนน้อยกว่าผู้ชายมาก ในการก่อสร้างนั้นคนมักนึกถึงผู้ชายก่อนเสมอ นำไปสู่การเลือกปฏิบัติโดยไม่รู้ตัว เอ่เอ๊ก็มีประสบการณ์ตรงกับเรื่องนี้เมื่อเทียบกับสามีผู้เข้ากับช่างได้ง่ายกว่า ดังนั้นเธอจึงไม่มองข้ามการกำหนดบทบาททางเพศในอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่เธอมีส่วนร่วม

ส่วนการนำโมเสกมาผสมกับการเพนต์นั้นแทบไม่มี แม้ว่าเทคนิคโมเสกจะมีมานานแล้วก็ตาม ความพิเศษของ Sariya คือโมเสกสร้างมิตินูนต่ำในภาพ เอ่เอ๊เตรียมวัสดุเหลือใช้ โดยการทุบด้วยค้อนกับตัดด้วยเครื่องตัดกระเบื้องเป็นรูปเรขาคณิตต่างๆ จากนั้นยึดวัสดุกับเฟรมด้วยยาแนว

Sariya

“เราทำเป็น เพราะเราฝึกระดับนั้นเลย เราฉาบผนัง โป๊วผนัง ทาสี เพื่อให้เข้าใจช่างมากขึ้น เรากับแฟนคุยกันว่า ไม่ว่ายังไงต่างฝ่ายก็ต้องทำงานของอีกฝ่ายได้ เราไม่แบ่งแยกว่า ผู้หญิงต้องทำฝ่ายขาย ผู้ชายต้องดูหน้างาน ดังนั้นเราจะอยู่ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ”

เอ่เอ๊หาวิธีบาลานซ์ศักยภาพด้านศิลปินกับนักก่อสร้างจนได้ เธอลุยหน้างานควบคู่กับทำตำแหน่งในฝ่ายบริหาร กระตุ้นตัวเองให้คิดวิเคราะห์เก่งขึ้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็ตื่นเต้นดีใจเวลาเลือกกระเบื้องสำหรับปูแต่ละห้อง รู้สึกสนุกกับการเนรมิตรูปในกระดาษให้กลายเป็นอาคาร และอิ่มเอมใจกับการรีโนเวตบ้านโทรมๆ ให้สวยขึ้น ไหนจะแบรนด์ Sariya ของเธออีก

“ทั้งบู๊ทั้งบุ๋นน่ะค่ะ เรารักการก่อสร้างพอๆ กับรักงานศิลปะ มันทำควบคู่กันได้” เอ่เอ๊พูดยิ้มๆ เมื่อย้อนมองเส้นทางอาชีพของตัวเอง

Sariya

ศิลปะบนกำแพงคืออัตลักษณ์ของชุมชน

ทำงานบนผืนผ้าแล้วขยับไปลองพื้นผิวอื่นกันดีกว่า เอ่เอ๊ตั้งใจพัฒนาชุมชนบ้านครัว ชุมชนแขกจามเก่าแก่ในกรุงเทพฯ ผ่านโปรเจกต์ ‘กำแพง ตัวตน นำทาง’ ที่เธอผสานศิลปะจากขยะกับอัตลักษณ์ชุมชนอิสลามมาทำป้ายบอกทางด้วยเทคนิคโมเสก

Sariya

Sariya

Sariya

งานนี้มีกลุ่มนักพัฒนาเมืองรุ่นใหม่อย่าง Mutual Ground และริทัศน์ บางกอก เป็นหัวหอกในการจัดและคิดคอนเซปต์กิจกรรม ส่วนเอ่เอ๊รับบทเป็นดีไซเนอร์ร่วมออกแบบลายกระเบื้องที่จะนำไปติดบนกำแพง โดยทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือดึงคนดึงรายได้มาสู่ชุมชนเก่าแก่นี้มากขึ้น

Sariya

Sariya

ชุมชนบ้านครัวทำศิลปะโมเสกกันอยู่แล้ว หน้าที่หลักของมันคือบอกซอกซอยในชุมชนแออัดแห่งนี้ ส่วนผู้เนรมิตป้ายขึ้นมาคือผู้หญิงบ้านครัว ในทางศาสนานั้น บทบาทของพวกเธออาจต่างจากผู้ชายมาก แต่กลุ่มออมทรัพย์ของชุมชนก็เข้มแข็งได้ เพราะพวกเธอโดยเฉพาะ เอ่เอ๊ถึงกับต้องยืนยันแพสชั่นอันล้นเหลือในการพัฒนาชุมชนของพวกเธอ

Sariya

Sariya

Sariya

Photo Credit : Sariya

เอ่เอ๊ออกแบบ ‘Islamic Flower’ จากกระเบื้อง ดอกไม้ซึ่งเป็นตัวแทนของสตรีบ้านครัวที่แม้อ่อนโยนแต่ก็เข้มแข็ง ลายดอกไม้มาจากศาสนสถานของอิสลามที่ผ่านการปรับให้โมเดิร์นขึ้น พอทำจากกระเบื้องสีหวานก็ยิ่งน่ามอง แต่ยังคงสีเขียว ซึ่งเป็นสีแห่งความรุ่งเรืองของชาวมุสลิมไว้ โดยลวดลายเหล่านี้ผ่านการอนุมัติจาก ‘มะ’ ของบ้านครัวแล้ว

Sariya

Photo Credit : Sariya

“โปรเจกต์นี้มีคติว่า Wallflower is blooming. คำว่า Wallflower เป็นสแลง หมายถึง คนหลังห้อง หรือไม้ประดับที่ไม่มีใครเห็น แต่โปรเจกต์นี้ดันสตรีมุสลิมที่อยู่เบื้องหลังให้มีโอกาสผลิบาน

“ศิลปะมีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมมาก มันเป็นภาพสะท้อนสังคมในขณะนั้น และในมุมของเรา ภาพสะท้อนก็ทำให้เห็นว่า สังคมสนใจความยั่งยืนมากขึ้นด้วย”

Sariya

Photo Credit : Sariya

Sariya

Photo Credit : Sariya

เวิร์กช็อปในบ้านครัวดำเนินไปอย่างราบรื่น ท่ามกลางบรรยากาศเป็นกันเอง มองจากมุมคนนอกก็ยิ่งน่าสนใจ เนื่องจากเทคนิคโมเสก ซึ่งมีไม่เยอะในตลาดเวิร์กช็อป ประเด็นเกี่ยวกับขยะที่ Sariya พูดถึงมาตลอด และประเด็นทางสังคมในชุมชนบ้านครัว สิ่งเหล่านั้นหลอมรวมกันอย่างพอเหมาะพอดีและดึงดูดแบรนด์ต่างๆ มาติดต่อขอร่วมงานกับ Sariya ไม่น้อย

Sariya

Photo Credit : Sariya

“เราเห็นงานโมเสกมีในต่างประเทศมากขึ้น งานตามฝาผนังในไทเป ถ้าเราทำสักที่หนึ่งในไทยก็คงจะดี” เอ่เอ๊พูดทิ้งท้ายถึงความคาดหวังในอนาคต ซึ่งเราเชื่อว่า เมื่อมันเกิดขึ้นก็จะส่งผลให้การรณรงค์เกี่ยวกับขยะจากการก่อสร้างและประเด็นอื่นๆ ทางสังคมก้าวหน้าขึ้นอย่างแน่นอน

ติดตามผลงานศิลปินกันได้ที่ IG : sariya.studio

Tags: