About
ART+CULTURE

SUPH for All

SUPH อาร์ตสเปซย่านปิ่นเกล้าที่เปิดกว้างเพื่อศิลปิน แค่มีงาน 1 ชิ้นก็จัดแสดงได้

เรื่อง สุธาสินี สุทธะโส ภาพ นรวีร์ ศรีมะโน Date 13-12-2023 | View 2489
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ตึกเก่าสีขาวที่ชื่อว่า SUPH Art Space ย่านปิ่นเกล้า ของ ‘วิช – ศุภวิชญ์ อินทร์งาม’ และ ‘ส้มโอ – เปรมมิกา ชัยพรหม’ ที่ตั้งใจอยากให้ที่นี่เป็นเสมือนพื้นที่แห่งการทดลองจัดแสดงผลงานของศิลปิน ที่มาเป็นอย่างไร ทั้งคู่จะมาเล่าให้ฟังรวมถึงแชร์ประสบการณ์การเป็นอาร์ตสเปซที่ฝังตัวอยู่ในชุมชนด้วย

เอาจริงๆ เรานึกภาพไม่ค่อยออกว่า การมีอาร์ตสเปซที่กลมกลืนไปกับบ้านเรือน ร้านขายของชำในชุมชนนั้นจะเป็นอย่างไร ความสงสัยนี้คือจุดตั้งต้นให้อยากรู้จัก SUPH Art Space

พอได้เดินเลี้ยวเข้ามาในซอยสมเด็จพระปิ่นเกล้า 9 มองผิวเผินเกือบแยกไม่ออกว่าตึกไหนเป็นตึกไหน แต่ซอยนี้มีกลับเสน่ห์อย่างหนึ่งที่สร้างความประทับใจได้ดี ถ้าคุณเดินเข้ามาเจอแก๊งเด็กๆ วิ่งเล่นด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มพร้อมเสียงหัวเราะเจี๊ยวจ๊าว เจอคนรุ่นปู่ รุ่นยายเข็นรถเข็น หรือนั่งชมอากาศอยู่หน้าบ้าน และเหล่าแมวเหมียวที่นอนกลิ้งตัวบ้าง นั่งมองคนเดินไปมาด้วยหน้านิ่งๆ แต่เห็นแล้วอยากอุ้มสุดๆ บ้าง นั่นแหละคุณไม่ได้หลงทางหรอก เพราะทั้งหมดนี้คือวิถีชีวิตปกติของคนในซอยนี้ที่วิชและส้มโอบอกกับเรา

จะไป SUPH Art Space อาจเดินทางยากนิดนึง เลยเป็นสเปซที่ค่อนข้างคัดเฉพาะคนที่ตั้งใจอยากมาจริงๆ แต่ถ้าคุณคลิกเข้ามาอ่านบทความนี้ ก็แสดงว่าสถานที่แห่งนี้เลือกคุณให้เป็นหนึ่งในนั้นแล้ว

SUPH

ส้มโอ – เปรมมิกา ชัยพรหม, วิช – ศุภวิชญ์ อินทร์งาม

เปลี่ยนพื้นที่กว้างเป็นอาร์ตสเปซ

ตึกแถวสีขาวที่นี่คือบ้านที่ใช้อยู่อาศัยเป็นปกติของวิชกับส้มโออยู่แล้ว แต่การริเริ่มทำอาร์ตสเปซมาตอนช่วงล็อกดาวน์โควิดที่เปลี่ยนรูปแบบชีวิตให้ส้มโอพนักงานเอกชนได้ใช้เวลาทำงานที่บ้านมากขึ้น ส่วนวิชที่เป็นศิลปินสร้างสรรค์ศิลปะโดยใช้พื้นที่ในบ้านเป็นสตูดิโออยู่แล้ว ก็ดูไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่อะไร แต่การอยู่แต่ในบ้านก็ทำให้เริ่มมองเห็นว่าสเปซนี้ชักจะใหญ่และกว้างเกินไปสำหรับสองคนซะแล้ว

SUPH

ช่วงเดียวกัน Bangkok Design Week 2020 กำลังเปิดรับสมัครนักสร้างสรรค์หลายๆ ฝ่ายให้มาร่วมเติมเต็มงานนี้ด้วยกัน ทั้งคู่มีความตั้งใจอยากส่งเสริมศิลปินรุ่นใหม่เป็นทุนเดิมก็เลยขอสมัครเข้าร่วมเข้าด้วย

“พื้นที่ในบ้านเรามันโล่งอยู่แล้ว ก็เลยไม่ต้องปรับปรุงอะไรมาก เราก็แค่ทาสีใหม่ ทำความสะอาด เปลี่ยนไฟอาคารทั่วไปเป็นไฟรางคู่เพื่อให้หันมาฉายผลงานศิลปะ แล้วหลังจากนั้นเราก็ Open Call หาศิลปิน ส่วนเราเองก็มีผลงานเอามาจัดแสดงด้วย” วิชเล่าถึงการวางแผนเตรียมงานครั้งแรกให้เราฟัง

SUPH

หลังจากนั้นก็มีศิลปินสมัครเข้ามากันมากมาย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่ละคนขนผลงานกันมาหลายแขนง ทั้งประติมากรรม จิตรกรรม ภาพดิจิทัล ภาพพิมพ์ ภาพจัดวาง มีเดียอาร์ต จนนึกสงสัยว่า ที่นี่จะรองรับการจัดแสดงศิลปะเกือบๆ ทุกรูปแบบได้ไหมนะ ทั้งคู่ก็พยักหน้าเป็นสัญญาณว่า ทำได้สิ

SUPH

SUPH

SUPH

“ตอนเปิดนิทรรศการจัดแสดงงานศิลปะแรกๆ มีศิลปินเข้ามาฟีดแบ็กว่าเขาชอบที่นี่ เพราะมันไม่ค่อยมีพื้นที่ที่ รวมความหลากหลายแบบที่เอื้อให้ศิลปินได้แลกเปลี่ยนแนวคิดกันมากเท่าไหร่”

SUPH

SUPH

จากจุดนั้นนำมาต่อยอดเป็นแนวคิดหลัก SUPH จะเป็นอาร์ตสเปซที่เน้นความหลากหลายของศิลปะและประเด็นที่ศิลปินต้องการนำเสนอ “ในส่วนของการทำพื้นที่ให้คนอื่นได้รู้จัก ด้วยความที่เพจเรา คนยังกดติดตามน้อยอยู่ เราก็มีไปเข้าร่วมเทศกาลศิลปะและนิทรรศการต่างๆ มันก็ช่วยโปรโมตไปในตัวด้วย”

SUPH

พื้นที่แห่งการทดลองที่ไม่ปิดกั้นตัวตนใคร

“ศิลปินส่วนมากที่เข้ามาจัดนิทรรศที่นี่ มีงานหลักกันแล้วทั้งนั้น เพราะเขาไม่สามารถสร้างรายได้จากอาชีพศิลปินโดยตรงได้ เขาทำเพราะความชอบล้วนๆ แล้วอย่างศิลปินโนเนม ถ้าจะต้องไปจัดแสดงผลงานก็ต้องมีชิ้นงานจำนวนหนึ่ง บางคนไม่มีงบจะผลิตงานด้วยซ้ำ จะเอาที่ไหนไปจัดแสดงล่ะ ไหนจะค่ากินอีก ค่าอุปกรณ์ก็แพง” ส้มโอเล่าถึงปัญหาที่ศิลปินต้องพบเจอให้เราฟัง

SUPH

SUPH

SUPH

SUPH

ที่นี่จึงไม่อยากกำหนดกฎเกณฑ์มากมายในการคัดเลือกศิลปิน ถ้าคุณเป็นศิลปินเดี่ยวหรือศิลปินกลุ่มที่มีโปรเจ็กต์มากมาย แต่ไม่รู้จะไปปลดปล่อยที่ไหน แต่จะมีผลงานเพียงแค่ 1 ชิ้นก็ได้ หรือใครสนใจอยากจัดเวิร์กช้อป SUPH Art Space ก็อ้าแขนโอบรับ

SUPH

“พวกเราขอแค่คุณมีความตั้งใจก็พอ ศิลปินพอมีโอกาสจัดแสดงผลงาน บางคนเขิน พูดไม่เก่ง เขาก็จะได้ฝึกอธิบายผลงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถ้าวันนี้เขาได้เห็นว่าคนคิดกับงานเขายังไง แล้วมันส่งผลกับเขายังไง หรือคนที่มาซื้อผลงานเขาเป็นลูกค้ากลุ่มไหน ศิลปินก็จะรู้ว่าจะปรับ แก้ตรงไหน เราอยากให้ศิลปินได้ภูมิใจกับสิ่งที่เขาทำ” วิชเล่าเสริมด้วยรอยยิ้ม

SUPH

ได้ฟังแบบนี้ก็ดีใจแทนศิลปินคนอื่นจริงๆ ที่อย่างน้อยก็ส้มโอและวิชก็เข้าใจความลำบากของเส้นทางนี้ และอาจเพราะตัววิชก็มีประสบการณ์ร่วมด้วย เราเลยไม่แปลกใจที่ทั้งคู่จะพัฒนา SUPH Art Space ให้เป็นพื้นที่ที่เป็นมิตร มอบความจริงใจให้ศิลปินทุกๆ คนแบบนี้

SUPH

ยิ่งเป็นมิตรเท่าไหร่ ชุมชนยิ่งซึมซับศิลปะง่ายขึ้น

‘พื้นที่แห่งมิตรภาพ’ คงเป็นคำที่เราอยากใช้เรียกที่นี่อีกบ่อยๆ เพราะทั้งคู่เล่าว่า ย่านนี้เคยคึกคักไปด้วยห้างพาต้าและสถานบันเทิงมากมายก่อนที่จะค่อยๆ เงียบหายไปตามความซบเซาของเศรษฐกิจ จนพูดได้ว่าน่าจะเป็นย่านที่ตายไปแล้ว

SUPH

แต่การมีอาร์ตสเปซที่แทบจะกลมกลืนไปกับบ้านเรือนและชาวบ้านในละแวกนี้กลับช่วยเติมสีสันให้ผู้คนพอสมควร วิชเล่าว่า ตกเย็นในซอยจะมีคนรุ่นปู่รุ่นยายออกมาเดินเล่น บางทีจะแวะเข้ามาทักทายทั้งคู่อยู่บ่อยๆ “เขาก็ทักว่า จัดงานศิลปะเหรอ สวยดีจัง ถึงแม้มาดูแล้วไม่ได้อะไร แต่มันดูแปลกใหม่สำหรับเขานะ เพราะสมัยก่อนศิลปะถูกทำให้เป็นเรื่องที่ไกลตัวมากๆ การได้เห็นซ้ำๆ เขาก็ชินและไม่เกร็ง แล้วก็จะค่อยๆ ซึมซับไปด้วยไม่รู้ตัวเอง”

SUPH

ระหว่างที่บทสนทนาของเรา 3 คนกำลังไหลลื่น จู่ๆ เด็กกลุ่มเดิมก็วิ่งเข้ามาดูงานศิลปะและทักทั้งคู่ด้วยความสนิทสนม พร้อมกับอุ้มแมวมาด้วย ส้มโอเลยต้องรับบทเป็นคุณแม่จำเป็นคุยเล่นกับเด็กๆ พร้อมเลี้ยงแมวไปด้วยอย่างงงๆ แทน

SUPH

“บางทีก็มานอนกลิ้งเล่นบ้าง เพราะแถวนี้ไม่มีสวนสาธารณะให้พวกเขาได้วิ่งเล่น ตรงนี้มันก็เลยเป็นเซฟโซนของพวกเขา แต่เด็กจะซึมซับศิลปะมากขึ้น ตัดภาพมาที่เราตอนเด็ก มันไม่มีชุดความรู้ให้เราดูผ่านการเล่น หรือการเสพอะไรแบบนี้เลย มีแต่ความรู้จากตำราเรียนอย่างเดียว เราเลยไม่รู้ว่าศิลปะมันอยู่ใกล้เรามากแค่ไหน เราไม่อยากให้เด็กๆ เติบโตมาด้วยความไม่รู้เหมือนเรา ตอนนี้พวกเขากำลังอยู่ในวัยอยากรู้อยากเห็น บางทีเข้าไปคุยกับศิลปินเลย ซึ่งเด็กๆ อาจจะไม่ค่อยเข้าใจแนวคิด แต่พวกเขาจะรู้จักตัวเองมากขึ้น”

SUPH

วิชเล่าจบก็เดินไปสมบทกับแก๊งเด็กๆ เราหันไปมองแล้วก็อดยิ้มตามไม่ได้ การมีพื้นที่ทางเลือกหรือการมีอยู่ของอาร์ตสเปซที่ไม่ต้องเน้นพิธีอะไรมากมาย แต่เน้นความเรียบง่าย หรือความบ้านๆ กลับช่วยให้ศิลปะในตึกเก่าแห่งนี้ค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในชีวิตประจำวันของผู้คนได้ดีจริงๆ นี่สินะสิ่งที่ทั้งคู่อยากให้มันเป็น

SUPH

SUPH Art Space เป็นผู้ให้ไม่สิ้นสุด

อาร์ตสเปซแห่งนี้จะเปิดเพียงแค่ 2 ครั้งต่อปีเท่านั้น คือช่วงเดือนพฤศจิกายนและเดือนมกราคม เพราะส้มโอและวิชยังต้องทำงานประจำ ส่วนอีกเหตุผลเป็นเพราะตึกเก่าแห่งนี้เข้าหน้าฝนทีไร ก็จะประสบปัญหาไฟดับและน้ำรั่วที่ทำให้เกิดคราบบนกำแพงแล้ว ก็อาจส่งผลให้ชิ้นงานศิลปะชำรุดและเกิดความชื้นได้

SUPH

คุยมาตั้งนาน เราเพิ่งนึกได้ว่ายังไม่รู้ที่มาของชื่อเลย ถามออกไปก็ได้คำตอบมาว่า SUPH หยิบแค่พยางค์แรกของชื่อจริงของวิชมาตั้ง “แต่ที่จริงอยากตั้งชื่อว่าปิ่นเกล้าหรรษา แต่มันดูไม่น่าใช่ชื่อที่เรียกอาร์ตสเปซเท่าไหร่ (หัวเราะ)” วิชเล่า

SUPH

วันนี้ SUPH Art Space มีอายุใกล้ครบ 3 ปีแล้ว ทั้งคู่ไม่ได้มองว่าที่นี่คือธุรกิจ แต่เป็นงานอดิเรกที่ต้องการจะหารายได้ให้กับศิลปินโดยตรง ที่ผ่านมาวิชและส้มโอจึงตั้งใจว่าจะไม่เก็บค่าพื้นที่ ส่วนงานศิลปะชิ้นไหนถ้ามีลูกค้าซื้อไป รายได้ก็จะเข้าศิลปินโดยไม่มีการหักเปอร์เซ็นต์เด็ดขาด

SUPH

“ในอนาคตเราคิดทั้งสองแพลนกันไว้ว่าจะทำสินค้าในนาม SUPH Art Space โดยมีการคอลแล็บร่วมกับศิลปินเพื่อนำรายได้มาเป็นทุนสนับสนุนการสร้างผลงานศิลปะ โดยศิลปินหอบหิ้วแค่ไอเดียมาอย่างเดียวก็พอ “เรารู้ว่าความไม่มีมันเป็นยังไง เราก็เลยอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่แห่งการซัพพอร์ตของจริง”

ฟังแบบนี้แล้วก็อยากเอาใจช่วยให้ความตั้งใจของทั้งคู่เป็นจริงสักวัน

SUPH Art Space
ที่อยู่ : ซอยสมเด็จพระปิ่นเกล้า 9 แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700
เปิด-ปิด : 16.00 – 20.00 น.
Facebook Page : SUPH Art Space และ Instagram : SUPH Art Space
เว็บไซต์ : https://www.suph.one/

Tags: